Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อ ธีรยุทธ บุญมี ได้กล่าวโจมตีว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้นเป็นพญาแร้งดำหรือ (นัก) อนาธิปไตย "ที่ปฏิเสธอำนาจรัฐที่เป็นอุปสรรคในการหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง แต่ยอมรับในมุมมองที่เป็นเครื่องมือในการคอร์รัปชั่น" ทำให้ผู้เขียนรู้สึกประหลาดใจมากว่าเหตุใดนักคิดนักเขียนซึ่งมีความรู้อย่างลึกซึ้งในหลายด้านไม่ว่าด้านสังคมวิทยา  ปรัชญา  รัฐศาสตร์หรือแม้แต่ศิลปะท่านนี้จะแสดงความเห็นที่ไม่ค่อยรอบคอบนักเพราะคำว่าอนาธิปไตยมีความหมายที่ซับซ้อนกว่านั้นมากโดยเฉพาะอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ผู้เขียนก็พอจะเดาเอาว่าเขาอาจติดอยู่กับความหมายของคำว่า "อนาธิปไตย" ที่คนทั่วไปเข้าใจมากกว่าความหมายทางวิชาการ

แน่นอนว่าการที่ธีรยุทธมุ่งทาสีให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณไปที่การเป็นนักสร้างสภาวะที่เรียว่าอนาธิปไตย (Anarchy) หรือวุ่นวายสับสน (chaos) แต่เพียงผู้เดียวย่อมสร้างพลังให้กับวาทกรรมแห่งความเกลียดทักษิณ + ยิ่งลักษณ์อย่างมหาศาลแต่เป็นการวิเคราะห์ที่ขาดความลุ่มลึกและเต็มไปด้วยอคติโดยมองข้ามถึงบทบาทของสถาบันและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคมว่าก็มีส่วนในการนำสังคมไทยไปสู่ความวุ่นวายเช่นกัน  คำพูดเช่นนี้ย่อมทำให้ธีรยุทธเป็น "สลิ่มเสื้อกั๊ก" ไปโดยปริยาย

ถ้ามองในเชิงชื่นชมก็จะขอยกย่องว่าธีรยุทธมีความเก่งกาจในการสร้างคำศัพท์ใหม่ แต่หากพิจารณาดูให้ดีแล้วจะพบว่าเป็นความผิดพลาดของธีรยุทธที่ได้ตีตราให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณให้เป็นนักอนาธิปไตยทั้ง 2 ความหมายดังต่อไปนี้

1.คำว่าอนาธิปไตยที่แปลว่าความวุ่นวายสับสน

คำกล่าวหาเช่นนี้ของธีรยุทธต่อทักษิณถือได้ว่าเป็นการมองข้ามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง หากข้อกล่าวหาทั้งหลายทั้งปวงที่ผ่านมาของผู้ต่อต้านทักษิณมีความเป็นจริงอยู่  ทักษิณก็คงได้เป็นแค่ผู้นำเผด็จการอำนาจนิยมที่ใช้ระบบการเมืองและกฎหมายกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อแสวงหาอำนาจของตัวเองและพวกพ้องแบบจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์หรือจอมพลถนอม กิติขจรหรือผู้นำทางทหารอีกเป็นจำนวนมากในประวัติของชาติไทยเสียกว่าจะเป็นผู้ก่อให้เกิดความวุ่นวายสับสนแก่ประเทศในตอนที่เขามีอำนาจ  ในทางกลับกันว่าทักษิณเองก็ใช้กฎแบบกำปั้นเหล็ก (Iron Fist) ที่ทำให้คนจำนวนมากในสมัยนั้นชื่นชอบทักษิณอันเป็นเหตุให้การฆ่าตัดตอนกว่า 3 พันศพจึงเป็นการสังหารหมู่ที่ผ่านมาและผ่านไปในประวัติศาสตร์ไทย ทำให้ใครหลายคนที่ถูกจัดว่ามีแนวคิดเสื้อแดงชื่นชอบทักษิณว่าสร้างความมั่นคงให้กับประเทศไม่ต่างอะไรกับผู้ชื่นชอบระบอบสฤษดิ์ซึ่งมักจะอยู่ในกลุ่มเสื้อเหลืองและเป็นพวกนิยมเจ้าอย่างเหลือล้น  อย่างมากทักษิณก็เป็นผู้นำที่นำรัฐไทยเข้าสู่รัฐประชาธิปไตยเทียมหรือรัฐเผด็จการแบบมั่นคง หรือ Stable authoritarianism ซึ่งก็เป็นสิ่งที่รัฐไทยเป็นมาเนิ่นนานแล้ว แต่แน่นอนว่าทักษิณก็หลีกหนีไม่พ้นที่ต้องรับคำตำหนิด้วย (ซึ่งการเมืองไทยควรจะมีการพัฒนาที่ก้าวล้ำการเมืองแบบทักษิณไปโดยไม่ต้องพึ่งกลุ่มทางอำนาจอื่นซึ่งเผด็จการไม่น้อยกว่าทักษิณ)

หากจะมองว่าทักษิณนั้นสร้างความวุ่นวายก็คงในความหมายที่ว่าทักษิณก็ได้ทำให้ระบบอำนาจเก่าซึ่งมีพฤติกรรมเช่นเดียวกับทักษิณมานานเกิดความวุ่นวายสับสนเพราะความสามารถในการแย่งชิงความศรัทธาและการสนับสนุนจากมวลชนรากหญ้าของประเทศอันเป็นสาเหตุที่ทำให้แกนนำของ กปปส.ล้วนมาจากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นตัวแทนของอำนาจเก่าซึ่งหันมาเป็นพรรคการเมืองที่เล่นการเมืองบนท้องถนน ก่อความวุ่นวาย ก่ออาชญากรรมต่างๆ เช่นบีบบังคับให้ผู้อื่นอยู่ภายใต้ความคิดของตัว ทำร้ายร่างกายนักข่าวหรือตำรวจ ตัดน้ำตัดไฟ ปิดถนน เข้ายึดสถานที่สำคัญของราชการ รวมไปถึงการขัดขวางการเลือกตั้ง (โดยพยายามผูกขาดคำว่าความรุนแรงไปกับการก่อจลาจลเพียงอย่างเดียว) ระดมข้อมูลแห่งการเกลียดชังและต่อต้านรัฐบาลไปทั่วซึ่งจะทำให้ประเทศเกิดความแตกแยกและเข้าสู่ใกล้สภาวะรัฐล้มเหลว อาจแตกเป็นเสี่ยง ๆ  ในที่สุด ดังนั้นคำกล่าวหาของธีรยุทธจึงกลายเป็นสิ่งที่ย้อนกลับมายังตัวกลุ่ม กปปส.และขั้วอำนาจเก่าที่อยู่เบื้องหลังกปปส.อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ส่วนการจะโทษว่าเพราะรัฐบาลของยิ่งลักษณ์เป็นสาเหตุที่ทำให้กลุ่มกปปส.มีพฤติกรรมเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการแก้ตัวหรือไม่ เพราะกลุ่มกปปส.มีทางเลือกที่จะไม่ขยายระดับของการประท้วงไปยังพฤติกรรมแบบนอกกฎหมายซึ่งจะเป็นการดีสำหรับตัวของกลุ่มเองที่จะสามารถดึงดูดความนิยมชมชอบจากประชาชนซึ่งไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดนัก  ในการออกมาส่งเสียงกดดันรัฐบาลนั้นสำหรับผู้เขียนเองยอมรับว่าเป็นสิทธิโดยชอบธรรมที่ประชาชนจะสามารถเดินออกมาประท้วงไม่ต้องรอให้เลือกตั้งใหม่และยังถือว่าเป็นการกระทำที่น่าชื่นชมในระดับหนึ่งโดยเฉพาะตอน พรบ.นิรโทษกรรม แต่การที่กลุ่ม กปปส.พยายามสนับสนุนองค์กรอิสระซึ่งล้วนเป็นเครือข่ายที่ไม่มีความเป็นมิตรกับรัฐบาลอยู่มากในการตีความรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่ามีพฤติกรรมขององค์กรเหล่านั้นย่อมเกินกว่าจะใช้คำว่าเข้ามาตรวจสอบหรือถ่วงดุลรวมไปถึงความพยายามของผู้นำกลุ่มกปปส.ในการร้องขอให้ทหารทำการรัฐประหารอีกครั้ง

มิใยรวมไปถึงการใช้ถ้อยคำหยาบคายทางเพศต่อตัวของนายกรัฐมนตรีอย่างรุนแรงในระหว่างการประท้วงย่อมเป็นการกระทำที่ไม่น่าสรรเสริญ แทนที่จะเน้นถึงการพูดถึงสัจจะความจริงและอุดมการณ์ ซึ่งผู้เขียนเองรู้สึกตกใจว่าผู้ประท้วงที่เป็นชนชั้นกลางโดยเฉพาะผู้ที่เป็นเพศหญิงกลับหัวเราะชอบใจกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อเพศเดียวกันผ่านวาจาของผู้พูดบนเวที ดังนั้นการที่ชนชั้นกลางมักดูถูกชาวบ้านว่าหยาบคายลามกนั้นเป็นอคติที่ชนชั้นกลางพยายามยัดเหยียดให้พวกเขาแต่เพียงกลุ่มเดียว   แต่เพื่อชัยชนะ กลุ่ม กปปส.จึงสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างโดยเฉพาะความวุ่นวาย สับสนเพื่อเป็นการโยนความผิดให้กับรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว 

นอกจากนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียใจและน่าประณามผู้ก่อการร้ายซึ่งการกราดยิงและการโยนระเบิดอันเป็นเหตุให้สมาชิกของกลุ่ม กปปส.เสียชีวิตหลายคน แม้ว่าจะไม่ทราบว่าใครอยู่เบื้องหลังหากเป็นรัฐบาลหรือกลุ่มเสื้อแดงก็ต้องถูกกฎหมายลงโทษ แต่ผู้ที่ต้องถูกกล่าวโทษเป็นกลุ่มแรกคือผู้นำกลุ่มกปปส.นั้นเองที่ผลักดันให้ผู้ประท้วงเดินทางหรือประกอบกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการถูกโจมตีซึ่งผู้เขียนมิอาจทราบว่าเป็นเจตนาของผู้อยู่เบื้องหลังการประท้วงหรือไม่เพื่อจะเป็นการทำลายภาพพจน์ของรัฐบาลหรือเป็นการปลุกระดมให้มวลชนเกิดความไม่พอใจรัฐบาลยิ่งขึ้นไปอีก                       

2.คำว่าอนาธิปไตย (Anarchism) ในมิติของอุดมการณ์

คนระดับ ธีรยุทธ บุญมี น่าจะใส่ใจหรือเข้าใจดีต่อคำศัพท์นี้เสียมากกว่า อนาธิปไตยในความหมายตามรัฐศาสตร์หมายถึงอุดมการณ์ที่ให้ความสำคัญต่อการปกครองที่มุ่งเน้นที่สังคมซึ่งไร้รัฐบาลปกครองโดยเน้นให้องค์กรหรือกลุ่มทางสังคมต่างๆ เข้ามาร่วมมือหรือประสานกันในการปกครองประเทศแทน   ดังนั้นคำว่าอนาธิปไตยของธีรยุทธน่าจะถูกนำมาตีตราแนวคิดบางแง่มุมในกลุ่ม กปปส.เสียมากกว่า   ด้วยแนวคิดการมีสภาประชาชนซึ่งถูกนักคิดกลุ่มนิติราษฎร์กล่าวหาว่าไปลอกมาจากแนวคิดฟาสซิสต์ของมุสโสลินีมาน่าจะเกิดจากนักคิดหรือบุคคลที่มีแนวคิดอนาธิปไตยซ้อนเร้นอยู่หลายคนในกลุ่ม กปปส.  แม้ว่านักคิดเหล่านั้นจะระแวงอยู่ลึกๆ  ว่าพวกผู้นำของกลุ่มจะมีเจตนาแอบแฝงว่าจะนำประเทศไปสู่การปกครองแบบเผด็จการที่มีพรรคการเมืองเดียวปกครองคือพรรคประชาธิปัตย์แต่ก็ขาดแนวร่วมที่จะทำให้ความคิดของตนเกิดเป็นรูปธรรม 

ด้วยเหตุนี้การประท้วงต้านทักษิณครั้งใหญ่คราวนี้จึงเป็นการร่วมสังวาสทางความคิดกันระหว่างกลุ่มซ้ายคือแนวคิดเสรีนิยมที่เป็นเงาของแนวคิดอนาธิปไตยกับกลุ่มขวาคือแนวคิดเผด็จการอำนาจนิยมซึ่งเป็นอุดมการณ์ของผู้ที่คอยกดปุ่มรีโมทควบคุมนายสุเทพ เทือกสุบรรณอยู่เป็นระยะๆ 

ผู้เขียนคิดเล่นๆ ว่าหากกปปส.สามารถยึดอำนาจรัฐและสถาปนารัฐใหม่ขึ้นมาได้ก็อาจจะเกิดความแตกแยกระหว่างนักคิดอนาธิปไตยเหล่านั้นกับกลุ่มผู้มีอำนาจ  เพราะรัฐใหม่มีแนวโน้มที่จะกระทำตนเยี่ยงรัฐบาลชุดเก่าๆ โดยการใช้การปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยมที่ใช้บุญเก่าหรือภาพลักษณ์ของอุดมการณ์แบบเดิมๆ ที่ถูกผลิตซ้ำในการควบคุมมวลชนมานานแสนนาน  เว้นแต่เสียว่านักคิดหรือพวกปัญญาชนเหล่านั้นจะโดนเอาตำแหน่งสำคัญของรัฐบาลมาปิดปาก (เช่นผู้เขียนพอเดาได้ว่าปลัดกระทรวงๆ หนึ่งซึ่งประกาศแข็งขืนต่ออำนาจของรัฐบาล หากว่ามีรัฐบาลใหม่ที่ไม่ใช่เครือข่ายทักษิณก็พอเดาได้ว่าน่าจะได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำกระทรวงของตัวเอง)

ในทางกลับกัน หากกลุ่มนักคิดอนาธิปไตยกลุ่มนี้ยังคงอุดมการณ์ตัวเองอยู่ก็น่าจะเป็นตัวผลักดันให้รัฐใหม่ของกลุ่มกปปส.มีความเป็นเสรีนิยมแฝงอยู่อันจะทำให้ไปไม่ถึงขั้นเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างเช่นฟาสซิสต์ดังคำพยากรณ์ของนักคิดกลุ่มนิติราษฎร์

ขอย้อนกลับไปที่ผู้เขียนกล่าวว่าแนวคิดของนักวิชาการของกลุ่ม กปปส.เป็นเงาของลัทธิอนาธิปไตยเท่านั้นก็เพราะแนวคิดของ กปปส.แม้จะให้ความสำคัญต่อบทบาทของสถาบันหรือกลุ่มทางสังคมต่างๆ ในบทบาทมากกว่ารัฐบาล แต่ก็ไม่ถึงกลับปฏิเสธตัวตนของรัฐอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่แนวคิดอนาธิปไตยแบบสุดขั้วปฏิเสธ (ดังนั้นจึงอาจเรียกอีกคำหนึ่งว่ามีแนวคิดแบบอนาธิปไตยปีกเสรีนิยมหรืออีกคำที่ดูขัดแย้งในตัวเองแต่ก็สามารถผสมเข้ากันได้คือแนวคิดอนาธิปไตยที่นิยมเจ้าหรือ Royalist Anarchism หรือพวกอนาธิปไตยที่ยอมรับและภักดีต่อกษัตริย์)    ดังเช่นนักคิดและประชาชนอีกไม่น้อยรวมถึงนายธีรยุทธ ที่อยากให้รูปแบบของรัฐบาลแบบเก่าเช่นการมีรัฐสภา มีการเลือกตั้งแบบซื้อเสียงขายเสียงที่นำนักการเมืองหน้าเก่าเข้ามาในระบบต้องปราศนาการสูญหายไป โดยการให้เกิดการปกครองแบบใหม่ที่มีประชาชนปกครองตนเองอย่างเต็มที่ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรืออย่างน้อยที่สุดถ้าจะแช่แข็งการเมืองก็จะต้องแช่แข็งไปนานหลายทศวรรษ         

ในที่สุดไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าอุดมการณ์ของพวกอนาธิปไตยก็คงจะเป็นเพียงความฝันแบบลมๆ แล้ง ๆ เพราะภายหลังจากรัฐใหม่ถูกสถาปนาขึ้น สถาบันของขั้วอำนาจเก่าไม่ว่าข้าราชการ ทหาร นายทุนนอกกลุ่มทักษิณ หรือพวกนิยมเจ้าก็คงจะเข้ามาร่วมและเบียดบังบทบาทของภาคประชาสังคมหรือกลุ่มประชาชนรากหญ้าไม่น้อย ตัวอย่างชัดเจนเช่นประชาชนก็จะไม่มีสิทธิที่จะรับรู้ว่าทหารได้ใช้งบประมาณไปเท่าไรเหมือนกับทุกรัฐบาลที่ผ่านมา  นอกจากนี้ ผู้เขียนคิดว่าคงมีนักคิดหรือปัญญาชนในกลุ่ม กปปส.โดยเฉพาะพวกที่ทำงานในองค์กรไร้รัฐหรือเอ็นจีโอ (ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกโลกสวย) จำนวนมากที่มีความคิดเหมือนกับกลุ่มอนาธิปไตยในสหรัฐฯ อันมีนักคิดคนสำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ นอม ชอมสกีและ นาโอมี ไคลน์ คือต่อต้านระบบทุนมาก่อนเช่นกัน (จึงทำให้จงเกลียดจงชังทุนสามานย์ของทักษิณเป็นพิเศษ อันเป็นเรื่องตลกร้ายที่นายธีรยุทธได้ยกให้ทักษิณเป็นนักอนาธิปไตย) แต่เมื่อได้มาร่วมประท้วงแล้วก็คงได้สำนึกว่าอย่างไรแล้วก็คงหนีไม่พ้นจากการถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนซึ่งให้การสนับสนุนการประท้วงทางด้านการเงินรวมไปถึงการอยู่เบื้องหลังหรือร่วมเป็นพันธมิตรกับสถาบันต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

นอกจากนี้ยังมีลักษณะสำคัญประการหนึ่งของพวกอนาธิปไตยให้ความสำคัญแก่ชนชั้นรากหญ้าและแนวคิดที่ให้ความสำคัญแก่ชุมชนดังที่เรียกว่าลัทธิชุมชนาธิปไตย (Communitarianism) มากกว่าอำนาจจากรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ  แต่พวกอนาธิปไตยก็คงพบกับความผิดหวังเมื่อได้พบกับความจริงในช่วงการประท้วงว่าชนชั้นกลางซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ของกลุ่ม กปปส.มีแนวคิดแบบอภิชนาธิปไตย (Aristocracy) คือมุ่งเน้นให้คนมีการศึกษาและมีคุณภาพมาปกครองประเทศมากกว่าบุคคลที่มาจาการเลือกตั้งรวมไปถึงการดูถูกคนจนที่ด้อยการศึกษา ดังจะวัดได้จากเสียงเฮฮา สนับสนุนคำพูดของคนอย่างเช่นเสรี วงษ์มนฑาและสมบัติ ธำรงธัญญาวงศ์

พวกเขาจึงได้แต่ปลอบใจตัวเองว่าประเทศอาจจะต้องถอยหลังไปสู่เผด็จการอำนาจนิยมเสียก่อนเพื่อเตรียมการให้ประชาชนรากหญ้ามีความพร้อมในเรื่องประชาธิปไตยและมีความเจริญก้าวหน้าดังประเทศแม่แบบเช่นจีนและสิงคโปร์ (ซึ่งมีบริบททางการเมืองและเศรษฐกิจแตกต่างจากไทยแบบคนละเรื่อง) โดยลืมไปว่าประชาธิปไตยแท้ที่จริงจะเกิดขึ้นมาได้ก็ต้องผ่านการปฏิบัติและการทดลองจริงๆโดยมวลชน ไม่ใช่การหยุดนิ่งเพื่อรอรับความเมตตากรุณาหรือการศึกษาจากชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูงที่คิดว่าตัวเองชาญฉลาดกว่าชาวบ้าน  ดังนั้นเขาก็น่าจะพอตระหนักได้ว่าในเวลานี้ แนวคิดของตนซึ่งใกล้เคียงกับคำสัญญาของกลุ่ม กปปส.ในเรื่องของการกระจายอำนาจเช่นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกจังหวัดเพื่อซื้อใจชนรากหญ้าซึ่งสมาชิกกลุ่ม กปปส.เหยียดหยามน่าจะเป็นเพียงสัญญาที่สร้างขึ้นมาลอยๆ  เพื่อตอบโต้กับข้อกล่าวหาของฝ่ายตรงข้ามที่ว่ากลุ่ม กปปส.ไม่มีความคิดอะไรที่แน่ชัด

นายธีรยุทธ บุญมีน่าจะรวมอยู่ในกลุ่มนักคิดเหล่านี้ถึงแม้เขาจะให้นิยามแก่ลัทธิอนาธิปไตยแบบผิดๆ  ถูกๆ ก็ตาม

 

 

หมายเหตุ: อ่านคำแถลงของธีรยุทธ บุญมีได้ที่http://www.matichon.co.th
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net