Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากเทียบกับอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ผู้มีต้นทุนทางสังคมสูงลิบในฐานะวีรชน 14 ตุลาและปัญญาชนสาธารณะผู้มีชื่อเสียงระดับชาติ ผมก็แค่นักวิชาการฝึกหัดตัวเล็กตัวน้อยที่สังคมไม่ได้ให้ “ราคา” อะไร แต่นี่มันก็เป็นเพียงสมมติ ในความเป็นจริงเราคือคนเท่ากัน ทุกคนไม่ว่าจะตัวเล็กหรือใหญ่ย่อมมีสิทธิเท่าเทียมในการแสดงความคิดเห็น สำคัญอยู่ที่ “หลักการและเหตุผล” ไม่ได้อยู่ที่ต้นทุนทางสังคม

สารภาพว่า ผมติดตามการวิเคราะห์การเมือง และอ่านหนังสือของอาจารย์ธีรยุทธมาหลายเล่ม ตอนแรกๆ ก็รู้สึกว่าทรรศนะของอาจารย์มีความเฉียบคม ลุ่มลึก เป็นแสงสว่างทางปัญญาส่องให้เห็นความฉ้อฉลของอำนาจรัฐ คิดว่าสังคมเราโชคดีที่มีอดีตวีรชนประชาธิปไตยผู้ดำรงไว้ซึ่งอุดมการณ์ปกป้องเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรมทางสังคม

แต่เมื่อเห็นอาจารย์ธีรยุทธเสนอ “หลักการตรวจสอบถ่วงดุล (check and balance)” ว่า “ควรใช้กองทัพ ศาล อำนาจเชิงจารีตประเพณีขององคมตรี สถาบันกษัตริย์เข้ามาถ่วงดุลอำนาจของนักการเมือง”

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ มีประเทศอารยประชาธิปไตยที่ไหนในโลกกันหนอที่เขาเสนอให้เครือข่ายอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ หรือไม่ได้มี check and balance ในตัวเองมาเป็นพลังตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมืองซึ่งกฎหมายเปิดช่องทางไว้มากมายให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ ถอดถอน ดำเนินการเอาผิดทางกฎหมาย ชุมนุมประท้วง กดดัน ขับไล่ให้ลงจากอำนาจตามระบบได้

ฉะนั้น ข้อเสนอดังกล่าวของอาจารย์ธีรยุทธจึงไม่ใช่ข้อเสนอบน “จุดยืนประชาธิปไตย” เพราะเป็นข้อเสนอที่รับรองความชอบธรรมของอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ให้มีอภิสิทธิ์มากยิ่งขึ้นในการควบคุมกำกับอำนาจที่ตรวจสอบได้

ผลรูปธรรมที่เกิดตามมาอย่างสอดคล้องกับข้อเสนอของอาจารย์ธีรยุทธก็คือ รัฐประหาร 2549 รัฐธรรมนูญ 2550 ที่วางกลไกกระบวนการตุลาการภิวัตน์ “สองมาตรฐาน” องค์กรอิสระที่ขึ้นต่อและตอบสนองเป้าหมายทางการเมืองของเครือข่ายอำนาจนอกระบบที่ไล่ล้างทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง โดยไม่เคารพหลักนิติรัฐนิติธรรรมตามระบอบประชาธิปไตย

แต่จนถึงวันนี้ อาจารย์ธีรยุทธยังยืนยันว่า “ผู้ที่แก้วิกฤติต่าง ๆ ก่อนหน้านี้คือคนชั้นนำ ตั้งแต่ พระมหากษัตริย์ ทหาร ตุลาการ จนตอนนี้เป็นประชาชนที่ออกมาอารยะขัดขืน…” และออกมาสนับสนุนความชอบธรรมของแนวทางการต่อสู้ของ กปปส.ว่าเป็นแนวทาง “ปฏิวัติประชาชน” เป็น “สันติภิวัฒน์” ซึ่งเท่ากับรับรองว่า กปปส.มีสิทธิล้มเลือกตั้ง ยึดอำนาจรัฐ ตั้งรัฐบาลคนกลาง (?) สภาประชาชนคนดี (?) เพื่อปฏิรูปประเทศตามโมเดลของฝ่ายตน (?)

ข้อเสนอดังกล่าว เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและหลักการประชาธิปไตยอย่างโจ่งแจ้ง เนื่องจากความเป็นจริง ณ เวลานี้ ไม่ใช่การปฏิวัติประชาชน เพราะไม่ใช่การต่อสู้ระหว่าง “ประชาชนกับรัฐบาลที่หมดความชอบธรรม” เพราะรัฐบาลที่หมดความชอบธรรมได้ยุบสภาไปแล้ว คืนอำนาจให้ประชาชนแล้ว ความพยายามล้มเลือกตั้งในขณะนี้คือความพยายาม “คอร์รัปสิทธิเลือกตั้งของประชาชน” คือความพยายาม “ล้มอำนาจประชาชน” ทั้งประเทศ

ที่อาจารย์บอกว่า กปปส.”มีสิทธิ” ยึดอำนาจรัฐมาปฏิรูปประเทศ ถามว่ายึดอำนาจรัฐมาจากใครครับ? ที่อ้างว่ายึดอำนาจรัฐมาจากรัฐบาลภายใต้ระบอบทักษิณที่เลวร้าย แต่ตอนนี้รัฐบาลที่กล่าวหานั้นเขาคืนอำนาจให้ประชาชนแล้ว อำนาจที่ กปปส.พยายามยึดตาม “ทฤษฎีมะม่วงหล่น” ของอาจารย์อยู่ในขณะนี้คือ “อำนาจของประชาชน” ครับ กปปส.เอา “สิทธิ” อะไรมายึดอำนาจประชาชน สิทธินั้นรับรองโดยรัฐธรรมนูญมาตราไหนกันครับ?

ตัวอย่างที่ว่ามาคือปัญหาทาง “หลักการ” ที่แสดงว่าอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้มีจุดยืนบนหลักการประชาธิปไตยทั้งโดยข้อเสนอ check and balance และโดยการรับรองความชอบธรรมของความพยายามคอร์รัปและยึดอำนาจประชาชนโดย กปปส. โดยจุดยืนดังกล่าวนี้เท่ากับอาจารย์กำลังอ้าง “การทำผิดกติกา” เพื่อสนับสนุนให้ “ล้มกติกา” ด้วยวิถีทางรัฐประหารโดยเครือข่ายอภิสิทธิชนและมวลชนสนับสนุนเครือข่ายอภิสิทธิชน ซึ่งสะท้อนบุคลิกภาพ “ตลกร้าย” ของอดีตวีรชนประชาธิปไตย 14 ตุลาอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ อาจารย์ธีรยุทธยังเป็น “นักใช้คำย้อมสี” หรือที่เรียกให้สวยว่า “นักประดิษฐ์คำ” แต่ที่จริงคือการใช้คำย้อมสีที่จงใจให้มีความหมายเกินไปจากข้อเท็จจริงและหลักการเหตุผลในทางวิชาการ จงใจใช้คำเหล่านั้นเป็น “วาทกรรมการเมือง” เพื่อเป้าหมายทางการเมืองบางอย่าง

เช่นล่าสุดใช้คำเปรียบเทียบทักษิณว่าเป็นดัง “พญาแร้งดำหิมาลัย ” แม้จะมีคำอธิบายประกอบอุปมานี้ แต่คำอธิบายเหล่านั้นยังเป็นเพียง “ข้อกล่าวหา” ที่ไม่ต่างอะไรกับนักการเมืองฝ่ายค้านหรือสื่อที่เกลียดทักษิณกล่าวหา ไม่ใช่ข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบพิสูจน์ “ข้อเท็จจริง” อย่างน่าเชื่อถือตามกระบวนการที่ถูกต้องชอบธรรมแล้ว ฉะนั้น ลีลาการพูดของอาจารย์ธีรยุทธก็ไม่ต่างอะไรกับลีลาของบรรดา “นักการเมือง” ที่ตนเองแสดงความรังเกียจในพฤติกรรมของพวกเขาและหมดความเชื่อถือในพวกเขา

คำย้อมสีเช่นที่ว่า “พญาแร้งดำหิมาลัย” หรือ “ประชาซาเล้ง” มันคือคำย้อมสีที่มองคนไม่เป็นคน กดเหยียดให้เลวร้ายเกินจริง และตอกย้ำการสร้างความเกลียดชังในตัวบุคคล มากกว่าที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่าสังคมเราควรหาทางแก้ปัญหาความไม่ถูกต้องต่างๆตามหลักการ กติกาประชาธิปไตยกันอย่างไร คำพูดเช่นนี้น่าจะเป็นคำพูดของแกนนำบนเวทีหรือนักการเมืองที่อาจารย์ธีรยุทธไม่เชื่อถือมากกว่าจะเป็นคำพูดของนักวิชาการผู้มีต้นทุนทางสังคมสูงลิบ

จึงกลายเป็นว่า ขณะที่อาจารย์ธีรยุทธกล่าวหาว่านักการเมืองเลวร้ายไร้จริยธรรม แล้วนักวิชาการที่ถนัดใช้คำย้อมสี ประดิษฐ์คำสร้างวาทกรรมขยายความเกลียดชัง โดยไม่ได้ยืนยันจุดยืนประชาธิปไตย แต่บิดเบือนหลักการสนับสนุนเครือข่ายอภิสิทธิชนและมวลชนสนับสนุนเครือข่ายดังกล่าวทำรัฐประหาร คอร์รัปสิทธิเลือกตั้ง และปล้นอำนาจไปจากประชาชน จะถือว่าเป็นนักวิชาการที่มีจริยธรรมอย่างไร

การประดิษฐ์คำหรูว่า “การปฏิวัติโดย กปปส.” คือ “สันติอภิวัฒน์” โดยไม่เห็นหัวประชาชนเสียงข้างมาก และไม่แคร์ต่อความรุนแรงที่อาจตามมา หากอีกฝ่ายลุกขึ้นมาต้านรัฐประหาร แสดงให้เห็นว่าอาจารย์ธีรยุทธเป็นนักวิชาการที่สนับสนุนการมี “คุณธรรมจริยธรรม” ในทางการเมืองอย่างไรไม่ทราบ

ฉะนั้น หากจะประดิษฐ์คำเรียกอาจารย์ธีรยุทธบ้างว่า “นักประดิษฐ์คำย้อมสีผู้บิดเบือนหลักการ” คงไม่ผิดข้อเท็จจริงจนเกินไปกระมังครับ
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net