นี่คือการต่อสู้ของพวกเราอย่างแท้จริง!*

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เจ็ดปีผ่านไปแล้ว และเรายังคงต้องรอดูว่าสถานการณ์จะลงเลยด้วยการแทรกแซงของกองทัพอีกหรือไม่ กระนั้น สิ่งที่พวกเราตระหนักดีก็คือ ประเทศขวานทองที่แตกแยกไปทั้งด้ามนี้จะไม่มีวันเหมือนเดิมอย่างที่มันเคยเป็นก่อนโศกนาฎกรรมทางการเมืองในปี 2549 อีกต่อไป

ทว่าคำถามที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ก็คือ นี่คือการต่อสู้ของประชาชนคนธรรมดาจริง ๆ หรือเปล่า บางคนโต้แย้งว่า การต่อสู้ครั้งนี้เป็นเพียงการประลองของชนชั้นนำที่หวังจะยึดครองอำนาจในการบริหารประเทศในระยะยาว ยิ่งกว่านั้น การต่อสู้ครั้งนี้ยังมีแต่จะทำให้ประชาชนกลายเป็นทั้งเครื่องมือทางการเมือง และเป็นพวกโง่เขลาที่โดนหลอกโดยพวกชนชั้นนำ ฉะนั้น สำหรับพวกเขาจึงดูเหมือน ไม่ว่าใครจะชนะ ประเทศไทยก็จะไม่แตกต่างอะไรจากแต่ก่อนมากนัก

เป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า รากฐานของความขัดแย้งทางการเมืองไทยในทุกวันนี้เป็นเรื่องของผลประโยชน์และความชอบธรรมของพวกชนชั้นนำที่โหยหาอำนาจในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองที่กำลังจะมาถึง อย่างไรก็ตาม เราสามารถพูดได้จริง ๆ หรือว่า ความปรารถนาในสังคมที่ดีกว่าของประชาชน ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับความขัดแย้งครั้งนี้เลย

ทุกวันนี้ ในขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลกำลังเป่านกหวีดและร้องเพลงปลุกใจ พวกเขาก็เรียกร้องถึงสังคมการเมืองที่พึงปรารถนาไปพร้อมกัน พวกเขาต้องการแทนที่เศษซากของระบอบทักษิณด้วยสภาผู้อาวุโสและคนดีส่วนน้อยที่ได้รับแต่งตั้งจากสรวงสวรรค์ กระนั้น ทั้งที่เรียกตัวเองว่า "มวลมหาประชาชน" เป้าหมายของพวกเขากลับอยู่บนประเด็นเรื่องศีลธรรมจรรยามากกว่าความเสมอภาคของพลเมืองชาวไทย ไม่นานนี้ พวกเขาปฏิญาณในนามของประชาชนผู้รักชาติ ว่าจะขัดขวางการเลือกตั้งในเดือนหน้า เพื่อให้แผนปฏิรูปการเมืองด้วยการตั้งสภาประชาชนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะคอยขับเคลื่อนประเทศในยามที่ประชาธิปไตยหยุดระงับชั่วคราว ดำเนินไปได้

ข้อเสนอที่น่าขันของสุเทพและคณะเหล่านี้ไม่ใช่อะไรเลย นอกเสียจากการปฏิเสธเจตจำนงและเสียงของคนส่วนใหญ่ เราต้องไม่ลืมว่า มีคนไทยจำนวนมากที่ต่อต้านความคิดแบบนี้ คนที่เชื่ออย่างสุดใจว่าการเดินหน้าของสุเทพและพรรคพวกจะไม่นำประเทศไปสู่ทางออก พวกเขาเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งในเดือนกุมภาฯ และเรียกร้องให้เคารพประชาธิปไตยและคะแนนเสียงของประชาชน แม้จะเป็นที่โต้แย้งได้เสมอว่า พวกเขาจำนวนหนึ่งยังคงตกเป็นทาสของนักการเมืองอยู่ร่ำไป

เป็นที่ถกเถียงได้เช่นกันว่า ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งของผู้ต่อต้านรัฐบาลนั้นมีข้อดีในตัวเอง ตรงที่ชี้ให้เห็นถึงหลุมพรางของระบบการเมืองไทย ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลที่ฉ้อฉลและเผด็จการรัฐสภา (ถึงแม้บางคนจะโต้แย้งว่าเรื่องนี้จะไร้สาระเต็มที) กระนั้นก็ดี ทางออกแบบเผด็จการที่พวกเขานำเสนอนั้นคือการประกาศสงครามอย่างตรงไปตรงมาต่อสาระที่แท้จริงของอธิปไตยของประชาชนที่พวกเขาเห็นว่าโง่เขลาเบาปัญญา

ถึงตรงนี้ เราจะกล้ายืนยันว่าการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชนคนธรรมดาอยู่อีกหรือเปล่า เราจะเชื่อกันจริง ๆ หรือว่า ไม่ว่าใครจะชนะ ประเทศไทยก็จะไม่แตกต่างไปจากเดิม ข้อเท็จจริงที่ว่า ส่วนสำคัญของความขัดแย้งทางการเมืองในวันนี้เป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำ ไม่ได้ยืนยันถึงความไม่เกี่ยวข้องของอำนาจและผลประโยชน์ของประชาชนแต่อย่างใด

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเราไม่อาจถอนตัวออกจากความขัดแย้งที่ปรากฎในทุกวันนี้ได้ง่าย ๆ และสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่อาจเป็นปัญหาที่หลับใหลและรอคอยวันปะทุมาตั้งแต่การปฏิวัติที่ยังไม่เสร็จสิ้นในปี 2475 นี่จึงไม่ใช่เพียงการเผชิญหน้าระหว่างคนเสื้อแดงกับคนเสื้อเหลือง ทั้งยังไม่ใช่เพียงการต่อสู้ระหว่างทักษิณและพรรคพวกกับสุเทพและพรรคพวก ทว่าเป็นความไม่ลงรอยขั้นมูลฐานระหว่างผู้คนที่โหยหาความเคารพในฐานะพลเมืองที่เท่าเทียมกัน และยืนหยัดบนอำนาจของตัวเองในฐานะต้นกำเนิดหลักของความชอบธรรมทางการเมือง กับผู้คนที่ปรารถนาการปกครองโดยชนชั้นนำที่อวดอ้างว่าตัวเองเป็น "คนดี" และยืนหยัดบนอำนาจของ "ผู้อื่น" แทน

ความขัดแย้งในตอนนี้ได้ลุกลามราวไฟป่า ค่อย ๆ แทรกซอนเข้าไปในทุกแง่มุมของชีวิต และต่อให้เราจะพยายามมากเพียงใดที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง มันก็ได้ปกคลุมสังคมที่เราอาศัยอยู่ไปทั่วทุกตารางนิ้วเสียแล้ว

ฉะนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า นี่คือการต่อสู้ของพวกเราอย่างแท้จริง!

การเพียรคิดว่าทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องของชนชั้นปกครองไม่ใช่อะไรเลย นอกเสียจากการยอมจำนน ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องเลือก ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องตระหนักว่าอะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นในอนาคตล้วนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเรา และผลลัพธ์ของความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้

นี่เป็นเพียงก้าวแรก ๆ เท่านั้น ถึงแม้ข้อถกเถียงเรื่องสิทธิการเลือกตั้งและการยอมรับในความเท่าเทียมกันของประชาชนจะเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้วในหลายประเทศ ทว่าสังคมไทยยังคงกำลังเผชิญกับคำถามนั้นพื้นฐานเหล่านี้อยู่ และเพราะมีเรื่องราวอีกมากมายที่เราพูดไม่ได้ หรือถูกหลงลืมไปโดยไม่เคยได้นึกถึง การจะไปถึงจุดนั้นได้จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างความตระหนักรู้กันทั่วไปว่า โดยเนื้อแท้แล้ว เราทุกคน ไม่ว่าใครหน้าไหนก็ตาม ล้วนเท่าเทียมกัน

อย่างที่เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์บางแบบแสดงให้เห็น ดูเหมือนชนชั้นนำและร่างทรงของพวกเขาจะเดินเฉิดฉายด้วยชัยชนะบนกองซากศพของประชาชนเสมอ โชคร้ายที่ว่าบ่อยครั้ง เรากลายเป็นทั้งเครื่องมือและคนโง่เขลาของพวกเขาอยู่ดี แม้ในขณะที่เราเลือกจะไม่ทำอะไร ในขณะที่เรายืนยันว่าจะเป็นกลาง หรือในขณะที่เราย้ำกับตัวเองว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

หนทางเดียวที่จะหลุดไปจากความกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นนี้ อาจเป็นการพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อต่อต้านความรู้สึกนึกคิดที่ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น ไม่ว่าจะโดยใคร และบีบบังคับชนชั้นนำทั้งหลายให้พวกเขาเคารพและยอมรับในสิทธิ อำนาจ และความเท่าเทียมของประชาชน

ดังนั้น คำถามที่ถูกต้องจึงได้แก่ "เราจะบรรลุเป้าหมายของเราได้อย่างไร" หรือพูดให้ชัดและค่อนข้างตลกร้ายก็คือ "เราจะบรรลุเป้าหมายของเราโดยไม่ตายได้อย่างไร" ต่างหาก

การปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรมเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจเลี่ยงได้ การสร้างและขยายสังคมแห่งปัญญาที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้ถกเถียงและแสดงความคิดเห็นระหว่างกัน อย่างที่กำลังเกิดขึ้นในบางจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ หรือ ปัตตานี เป็นทางเลือกที่น่าสนใจยิ่ง ฯลฯ

คำถามอันเร่งด่วนปรากฎขึ้นมาแล้ว และยังคงรอคอยคำตอบจากพวกเราอยู่.

 

 

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้แปลและดัดแปลงเล็กน้อยจากบทความภาษาอังกฤษของผู้เขียน เรื่อง This is our struggle, no doubt เผยแพร่ในเว็บไซต์ New Mandala

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท