Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นับตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2554 ประเทศไทยได้มีนายกรัฐมนตรีหญิงเป็นคนแรก คือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในห้วงเวลาที่ผ่านมาคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ตลอดเวลาที่เธอดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงมากช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ และอีกประการหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้นี้คือ ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนั้น ประเด็นเรื่องความเป็นผู้หญิงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการโจมตีเธอเสมอมา ไม่ว่าจะโดยความตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ ? ของผู้เลือกสรรถ้อยคำทั้งหลายก็ตาม  เช่น กรณีของเอกยุทธ อัญชัญบุตร กับการโพสสเตตัสเฟซบุคส่วนตัวว่า

“ไม่อยากจะกล่าวคำแบบนี้ เพราะดูเหมือนจะดูถูกสตรี แต่ในความเป็นจริงนั้น สาวเหนือที่ ไร้การศึกษา ขี้เกียจ หรือด้อยปัญญา จะมาทำงานสบายที่หญิงปกติไม่ทำกัน หลักๆก็คือ ขายบริการ  ฉะนั้นสาวเหนือที่ไร้สติปัญญาและโง่เขลาขนาดหนัก แต่หน้าด้านมารับตำแหน่ง ก็ควรรู้นะว่าอาชีพ อะไรที่เหมาะแก่คุณ”

หรือกรณีชัย ราชวัตร กับประโยคที่สร้างความฮือฮาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นวงกว้างในสังคม ดังนี้

  “โปรดเข้าใจ กระหรี่ไม่ใช่หญิงคนชั่ว กระหรี่แค่เที่ยวขายตัว แต่หญิงคนชั่วเที่ยวเร่ขายชาติ”

โดยประโยคดังกล่าวทำให้เกิดการตีความไปต่างๆกันว่า การกล่าวเช่นนั้นของชัย ราชวัตรว่าเป็นการนำยิ่งลักษณ์ ไปเปรียบเทียบกับโสเภณีซึ่งเป็นอาชีพที่คนจำนวนมากในสังคมไม่ให้เกียรติหรือถูกมองว่า เป็นอาชีพที่ไม่มีคุณค่าหรือไม่ จนมาถึงกรณีเร็วๆนี้ที่ผ่านมากับกรณีของ ผศ.ดร. จักษ์ พันธ์ชูเพชร กับกรณีการปราศรัยบนเวที กปปส. โดยได้กล่าวบนเวทีว่า

“วันนี้เห็นบอกว่าท่าน ดร.เสรี กับพี่ปองไปบ้านนายกฯ ผมบอกไปตั้งแต่เมื่อคืนแล้ว ถ้าไปไล่ นะดร.เสรีกับพี่ปองน่ะไปได้ แต่ถ้าไปล่อนะต้องผม ผมจะส่งคนไปไล่มัน ก็ไม่อยู่บ้านสิ ถ้าส่งคนไปล่ออ ย่างผมนี่มันถึงจะออกมานะครับ รอบหน้าจัดเฉพาะหนุ่มๆ หน้าตาดีๆ ส่งไปล่อให้ดีๆ เดี๋ยวก็ได้ตัวครับ  เชื่อสิครับ มันใจครับ แล้วผมมั่นใจว่าผมน่าจะติด 1 ใน 50 เข้าไปบ้างนะผมว่า ขอไปล่อเพื่อชาติ หน่อยเถอะจะได้รู้ว่าเอาอยู่หรืเองไม่อยู่”

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากตัวอย่างคำกล่าวที่ได้มีการแสดงออกมา จะเห็นได้ว่าประเด็นจำนวนมากที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในทางการเมืองต่อตัวยิ่งลักษณ์ มีลักษณะการโจมตีโดยอาศัยฐานคิดเรื่องความเป็นผู้หญิง รวมถึงการใช้ภาพเหมารวมของผู้หญิงเพื่อลดคุณค่าของยิ่งลักษณ์ เช่น การสร้างภาพผู้หญิงเหนือกับการค้าบริการทางเพศ หรือกรณีล่าสุดกับการล่อเพื่อชาติ ของ ดร.จักร บนเวที กปปส. ซึ่งการปราศรัยโจมตีดังกล่าวปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อาศัยฐานคิดเรื่องเพศวิถีของผู้หญิงมาเป็นประเด็นสำคัญในการโจมตียิ่งลักษณ์

อย่างไรก็ตามสำหรับตัวผู้เขียนมีความสงสัยอีกประการที่อยากรู้ยิ่งไปกว่า ประเด็นที่ว่ายิ่งลักษณ์ถูกโจมตีทางการเมืองอย่างไรบนฐานคติเรื่องความเป็นผู้หญิง นั่นก็คือ กลุ่มผู้ที่เรียกตัวเองว่านักสตรีนิยม หรือเคลื่อนไหวประเด็นเรื่องผู้หญิงหายไปไหน? เหตุใดจึงยอมให้การมีการโจมตีในทางการเมืองโดยอาศัยฐานคิดเรื่องความเป็นผู้หญิงเช่นนี้นี้เกิดขึ้น?

หากย้อนกลับไปมองกลุ่มขบวนการสตรีนิยม จะพบว่าเป็นกลุ่มนักคิด และนักปฏิบัติการในทางการเมือง โดยวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อเรียกร้องความเสมอภาคระหว่างเพศ ในทุกมิติต่างๆไม่ว่าจะเป็นทางกฎหมาย สังคม วัฒนธรรม โดยนักสตรีนิยมแต่ละกลุ่มก็จะมีวิธีการต่อสู้ โดยอาศัยชุดความรู้ แนวคิดทฤษฎีที่ต่างกันออกไป เช่น แนวคิดเสรีนิยม มาร์กซิส แนวสุดขั้วหรือรากเหง้า และแต่ละกลุ่มก็มีการปฏิบัติการที่แตกต่างกันออกไปตามวิธีการที่ตนเองยึดถือ แต่จุดยึดโยงสำคัญคือทุกแนวคิดและการปฏิบัติการมุ่งหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศ และให้ความสำคัญกับผู้หญิงในฐานะศูนย์กลาง ซึ่งในส่วนของขบวนการสตรีนิยมไทยก็มีประวัติศาสตร์การต่อสู้ และการเรียกร้องสิทธิในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางกฎหมาย สังคม วัฒนธรรม เพื่อผู้หญิงที่เชื่อได้ว่ายาวนานพอสมควรเช่นเดียวกัน ตลอดห้วงเวลาที่ได้มีการต่อสู้เรียกร้องก็มีความสำเร็จหลายอย่างที่ปรากฏให้เห็น เช่น การแก้ไขกฎหมาย การพยายามปรับเปลี่ยนทัศนคติที่สังคมมีต่อผู้หญิง และการมีหลักสูตรสตรีศึกษา ซึ่งมุ่งหวังที่จะผลิตบัณฑิตให้มีความเข้าใจประเด็นต่างๆเกี่ยวกับผู้หญิง

แต่จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยในปัจจุบัน ทำให้เกิดสภาวะการแบ่งขั้วทางการเมืองที่ชัดเจน และเข้มข้น ขณะเดียวกันการมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง สำหรับนักสตรีนิยมหลายคนและหลายกลุ่มปรากฏการณ์ดังกล่าวก็น่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและควรจะยินดีไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นปรากฏการณ์ที่น่าอึดอัดใจสำหรับนักสตรีนิยมบางคนหรือบางกลุ่มที่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง อุดมการณ์ทางการเมืองที่พวกเขา/เธอยึดมั่น กับอุดมการณ์สตรีนิยมที่พวกเขา/เธอยึดมั่นว่าในท้ายที่สุดหากต้องเลือกพวกเธอจะต้องเลือกอุดมการณ์แบบใด และหากอุดมการณ์ทั้งสองไม่สอดรับพวกเขา/เธอ ควรจะต้องให้ความสำคัญกับชุดอุดมการณ์แบบใด

จริงอยู่ที่การมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง ไม่ได้หมายความว่าเธอจะต้องมีใส่ใจประเด็นเรื่องผู้หญิงและต้องเข้าอกเข้าใจผู้หญิง เพราะบ่อยครั้งในหลายๆประเทศเราก็จะพบว่าการมีนายกรัฐมนตรีหญิงไมได้เป็นหลักประกันในประเด็นดังกล่าวเลย แต่อย่างไรก็ตามก็เป็นที่น่าตั้งคำถามว่าเธอสมควรจะถูกประณามหรือโจมตีทางการเมืองโดยอาศัยฐานคิดเรื่องความเป็นผู้หญิงหรือไม่ และการที่ยิ่งลักษณ์ ถูกโจมตีโดยอาศัยฐานคิดเรื่องความเป็นผู้หญิงมาตลอด โดยไม่มีนักสตรีนิยมคนใดลุกขึ้นมาประณาม หรือต่อต้านการกระทำดังกล่าว อาจอนุมานได้หรือไม่ว่า ในการจัดลำดับความสำคัญเชิงอุดมการณ์ของนักสตรีนิยมไทยนั้น แท้ที่จริงแล้วให้ความสำคัญกับอุดมการณ์อื่นๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดยืนทางการเมืองที่ตนเห็นว่าสำคัญมากกว่า “ความเป็นผู้หญิง” ของยิ่งลักษณ์

และหากเป็นดังเช่นการอนุมานดังกล่าวจริงก็อาจไม่น่าแปลกใจอีกเช่นเดียวกัน หากว่าประเด็นเรื่องผู้หญิงในสังคมไทยมักจะถูกมองว่าเป็นประเด็นที่ไม่สำคัญเมื่อเทียบกับประเด็นอื่นๆ หรือ เมื่อปะทะกับอุดมการณ์ชุดอื่นๆแล้ว อุดมการณ์สตรีนิยมก็ดูเหมือนจะไม่มีพลังเพียงพอที่จะต้านทานไว้ได้ และกำลังค่อยๆเลือนหายไปในสายธารของความเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งนี้ก็คงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ ในเมื่อนักสตรีนิยมไทยก็ไม่ได้จัดลำดับให้ความเป็น “สตรี” เป็นสิ่งที่พวกเธอจะต้องต่อสู้ และปกป้อง เป็นลำดับแรกที่ต้องให้ความสำคัญ จนท้ายที่สุดขบวนการสตรีนิยมก็ประสบกับภาวะอัมพาต และขยับตัวไปไหนได้ยากกว่าที่ควรจะเป็น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net