Skip to main content
sharethis


ภาพจากเว็บ V-Reform
 

ชื่อ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ร่วมแถลงข่าวกับเครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา (อ่านข่าว) เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการกลุ่มสมัชชาเพื่อประชาธิปไตย (สปป.) ที่มีจุดยืนสนับสนุนการเลือกตั้ง 2 ก.พ.อาจทำให้หลายคนงุนงงสงสัย เนื่องจากที่ผ่านมาบุคลากรในแวดวงสาธารณสุขเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง (อ่านแถลงการณ์ประชาคมสาธารณสุข ฉบับที่ 3) และกลุ่มย่อยๆ เช่น ชมรมแพทย์ชนบทก็สนับสนุน กปปส.อย่างชัดเจน

ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าว ประชาไทพูดคุยกับ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เพิ่มเติมอีกเล็กน้อยเพื่อทำความเข้าใจจุดยืน และแนวคิดในการปฏิรูปของเลขา มสช.ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ นพ.สมศักดิ์ มีประสบการณ์โดยตรงเรื่องการปฏิรูปมาแล้ว เนื่องจากเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ ที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน มีคณะกรรมการ 27 คน สมัชชาฯ นี้ตั้งขึ้นเมื่อราว 1 เดือนให้หลังจากการสลายการชุมนุมปี 2553 ควบคู่ไปกับการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ที่มี อานันท์ ปันยารชุนเป็นประธาน มีคณะกรรมการ 19 คน  (อ่านดรายชื่อคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดได้ที่ http://prachatai.com/journal/2010/07/30255)

นพ.สมศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า คณะกรรมการทั้ง 2 ชุดมีอายุการทำงาน 3 ปี ดำเนินการจนหมดวาระและออกรายงานสรุปข้อเสนอการปฏิรูปแล้ว ชุดละ 2 เล่ม รวมเป็น 4 เล่ม งบประมาณที่ใช้ราว 60-70 ล้านบาท

 

 

ถาม: ที่ผ่านมาสายสาธารณสุขมีท่าทีค่อนข้างชัดเจนว่าจะให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง คุณหมอว่าอย่างไร ?

นพ.สมศักดิ์ : ผมไม่รู้ในรายละเอียด เพราะไม่ได้ยุ่งกับกลุ่มเหล่านั้น ประชาคมสาธารณสุขใช่ไหม พูดอย่างตรงไปตรงมาก็เป็นสิ่งดี ข้าราชการก็ควรแสดงจุดยืน ส่วนปฏิรูปก่อนเลือกตั้งหรือไม่ก็เป็นวาทกรรม ทำให้คนเข้าใจผิดได้เยอะ

ช่วยขยายความหน่อย

ก็อย่างที่ผมพูดว่าเรื่องปฏิรูปอย่างไรก็ต้องทำตลอด ต่อเนื่อง มันมีความคิดชุดหนึ่งที่สำคัญ คือ ก่อนจะไปเลือกตั้งหาทางทำให้เกิดกลไกที่จะมาจัดการการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่สภาปฏิรูปนะ สภาปฏิรูปก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง พูดง่ายๆ ว่า มีคนพยายามคิดว่าควรตั้งกลไกบางอย่างก่อนเลือกตั้ง หลังเลือกตั้งจะได้ไม่มีการบี้ยวเรื่องปฏิรูป อันนี้ก็เป็นวิธีคิดที่สำคัญ พูดง่ายๆ ว่าถ้าเลื่อนเลือกตั้งแล้วทำให้เกิดกลไกที่ชัดเจนก็จะดี แต่ไม่ได้หมายความว่าเลื่อนเลือกตั้งไปจนกว่าจะปฏิรูปเสร็จ อันนี้เป็นไปไม่ได้

หมายความว่าเห็นว่าควรเลื่อนเลือกตั้ง

เรื่องนี้มีความเห็นแตกต่างกันไป โดยส่วนตัวผมเห็นว่าเลือกตั้งไปก็ไม่มีประโยชน์ เสียเงินแล้วไม่ได้ของเท่าที่ควร ดูตามความเป็นจริงเลย เลือกไปก็ได้สมาชิกรัฐสภาไม่ครบ ฝ่ายค้านหลักไม่ยอมมาร่วม เลือกตั้งเสร็จก็ยังจะมีความขัดแย้งอยู่ พูดง่ายๆ ว่าเลือกได้ฝ่ายไหน ก็จะมีอีกฝ่ายที่คิดว่าฝ่ายนั้นไม่สมควรจะบริหารประเทศ แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร

กลไกที่อยากให้มีก่อนเลือกตั้ง จะตั้งอย่างไร ใครจะอยู่ในกลไกนี้ ?

มันมี 2 วิธีคิด วิธีคิดหนึ่งคือ มีสภาผู้แทน มาทำเรื่องปฏิรูป อย่างที่เราคุยวันนี้ก็ชัดว่า เถียงกันแบบนี้ไม่มีทางออก ก็จะเถียงกันว่าใครจะมีอำนาจตั้ง ใครจะมานั่ง อีกวิธีคิดหนึ่ง อ้างที่ทำมา 3 ปีว่า เราต้องการกลไกมาบริหารจัดการเพื่อสร้างโอกาสการมีส่วนร่วม กลไกแบบนี้อาจมีประโยชน์มากกว่า ไม่ใช่กลไกที่มาชี้ว่าจะปฏิรูปเรื่องอะไร แต่เป็นกลไกที่จะเชื่อมความเห็นผู้คนเชื่อมโยงกับกลไกอำนาจ วิธีที่จะทำให้เกิดเป็นจริงได้

ที่ผ่านมามีคณะปฏิรูปอย่างน้อย 2 ชุดที่ทำงานมาแล้ว ข้อเสนอต่างๆ ก็มีแล้ว อันนี้จะต่างอย่างไรกับที่เป็นมา ?

โมเดลที่ทำมา 3 ปีนั้นทำดีกว่านั้นได้ ภายใต้ความตื่นตัวขนาดนี้ เรามั่นใจว่าถ้ามีกลไกที่มีหน้าที่คล้ายๆ กัน อำนวยให้เกิดการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างการปฏิรูป แล้วกลไกอำนาจก็มี commitment ระดับหนึ่งที่จะต้องรับฟัง กลไกนี้อย่างน้อยที่สุดน่าจะมีอำนาจทำประชามติ สุดท้ายถ้าพูดกันไม่รู้เรื่องประชามติก็จะเป็นตัวช่วย นี่น่าจะเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการมีส่วนร่วม

ควรใช้เวลาเท่าไรในการสร้างกลไกนี้ ?

ก็ไม่น่าจะนานมาก

6 เดือนหรือมากกว่านั้น ?

ก็ไม่น่าจะเกินนั้น  เราไม่ควรจะเลื่อน (เลือกตั้ง) ไปนาน นี่ก็เป็นแค่ความคิดหนึ่ง

ใครจะเป็นตัวแทนคณะปฏิรูปที่เป็นที่ยอมรับ หมอประเวศ คุณอานันท์ ยังเวิร์คไหม ?

เราต้องทำให้คนที่มาดูแลกลไกนี้มีความเป็นกลาง คนต้อง trust คนต้องเชื่อว่าคนกลุ่มนี้จะไม่ปิดโอกาสใคร ฟังเป็น สังเคราะห์เป็น และกลไกนี้ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า มีการออกแบบเพื่อให้เชื่อมโยงกับกลไกอำนาจได้ เครื่องมืออย่างน้อยที่สุดคือประชามติ ตอนนี้ยังคิดออกแค่นี้ ไม่รู้จะเวิร์คไหม

จุดยืนของคุณหมอเหมือนหรือต่างกับแวดวงสาธารณสุขที่ออกมาเคลื่อนไหว หลายกลุ่มเคลื่อนไหวกับ กปปส.ชัดเจน ?

ตรงไปตรงมา บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ก็ชัดเจนมากว่าเขาอยากเห็นการปฏิรูปประเทศไทย ส่วนว่าเขาจะไปหนุน กปปส. หรือไม่ ผมไม่ทราบแล้ว แต่ที่แน่ๆ ก็คือว่าเมื่อมีปัญหาอย่างนี้ เขาก็ต้องออกมาช่วยบรรเทาความขัดแย้ง

ไม่ได้มีความขัดแย้งกันใช่ไหม จุดยืนแบบคุณหมอกับกลุ่มอย่างเช่น แพทย์ชนบท ?

แน่นอนๆ ผมไม่ขัดแย้งกัแพทย์ชนบทอยู่แล้ว อย่างที่ว่า เป้าหมายร่วมก็คือต้องการปฏิรูป

มีความต่างไหม วันนี้คุณหมอมาแถลงข่าวร่วมกับ สปป. ?

โน โน อันนี้ไม่ได้มาแสดงว่าเราต่างกับแพทย์ชนบท เรารู้สึกอย่างนั้นเหรอ

ถ้าเอาเรื่องเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นตัวตั้งก็ต่างกัน

พูดกันตรงไปตรงมากลุ่มนี้ (2 เอา 2 ไม่เอา) ก็ไม่ได้มีจุดยืนเดียวนะ กลุ่มนี้ก็มีความเห็นต่างกัน แถลงการณ์ถึงไม่พูดเรื่องเลื่อนหรือไม่เลื่อนเลือกตั้ง ทุกคนขณะนี้เห็นตรงกันว่าต้องเลือกตั้ง แต่เป็นปัญหาเรื่องเวลา อันนี้มันชัดเจน จนถึงวันนี้ยังขัดแย้งขนาดนี้ ไปเลือกตั้ง 2 ก.พ.จะมีประโยชน์อะไร ในกลุ่มก็เคารพเรื่องนี้ถึงไม่มีแถลง แต่ไม่มีเลือกตั้งไม่ได้ รัฐบาลปฏิวัติไม่เอา อันนี้ชัดเจน

องค์กรหรือกลไกที่คุณหมอเสนอเหมือนกับของคุณสุเทพไหม ?

สภา 400 คนอะไรนั่นใช่ไหม อันนี้ต้องคุยกัน ผมยังเชื่อว่าคุยกันได้

หมายความว่าอย่างไร ?

ในที่สุดต้องหาคนที่ทำให้เกิดการคุยกันให้ได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net