ประวัติศาสตร์ลิขสิทธ์ (1): จากวัฒนธรรมลิขสิทธิ์ถึงลิขสิทธิ์วัฒนธรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

อธิป จิตตฤกษ์ เขียนแนะนำบทความชุดใหม่ภายใต้ประเด็นประวัติศาสตร์ “วัฒนธรรมลิขสิทธิ์” บอกเล่าเรื่องราวของลิขสิทธิ์และการทำสำเนาเถื่อนในรอบ 300 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน

 

ในปัจจุบัน มโนทัศน์ที่เกิดขึ้นในระบบกฎหมายอังกฤษตอนต้นศตวรรษที่ 18 อย่าง Copyright หรือที่รู้จักกันในโลกภาษาไทยว่า ลิขสิทธิ์ มีอายุมาได้กว่า 300 ปีแล้ว

ตอนที่มันถือกำเนิดขึ้นก็คงจะมีไม่กี่คนที่จะคิดว่าสิ่งประกอบสร้างทางวัฒนธรรมกฎหมายของอังกฤษอันเป็นการมอบอำนาจรัฐในการผูกขาดการพิมพ์หนังสือนี้ เมื่อ 300 ปีให้หลังมันจะขยายตัวมายังประเทศอื่นๆ จนครอบคลุมไปทั้งโลก และพร้อมกันนั้น ขอบเขตของสิทธิในการผูกขาดมันก็ขยายไปยังศิลปวัฒนธรรมแทบทุกแขนงที่มนุษย์รู้จัก และในตอนนี้มันก็ไม่ได้แค่ผูกขาดเพียงแค่การผลิตซ้ำหรือการ “ทำสำเนา” อย่างที่มันถือกำเนิดมาอีกแล้ว แต่ยังครอบคลุมทั้งการผูกขาดการ “นำแสดงต่อสาธารณะ” การ “ดัดแปลง” หรือในทางปฏิบัติมันก็รวมการ “ใช้” ด้วยซ้ำ

นี่ทำให้ทุกๆ ด้านของชีวิตดิจิทัลของเราต้องอยู่กับลิขสิทธิ์ทั้งนั้นไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ ข้อเขียนที่คุณอ่านอยู่มีลิขสิทธิ์ และมันก็อาจจะเขียนอยู่บนแบบอักษรหรือ “ฟอนท์” อันมีลิขสิทธิ์บนสื่อที่คุณอ่านอยู่ ถ้าคุณอ่านมันบนเว็บ “ซอร์ซโค้ด” ของเว็บที่เขียนเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ให้คุณเห็นเว็บอย่างที่เป็นอยู่ก็มีลิขสิทธิ์ ถ้าคุณอ่านมันบนโปรแกรม ตัวโปรแกรมก็มีลิขสิทธิ์เช่นกัน

ภายใต้ระบบลิขสิทธิ์ (บางคนอาจจะอยากเรียกว่า “ระบอบลิขสิทธิ์” ด้วยซ้ำเพื่อสื่อถึงอำนาจในการปกครองชีวิต) เราๆ คุณๆ ที่เป็นผู้บริโภคนั้นไม่ใช่ “เจ้าของ” สินค้าแม้คุณจะซื้อมากับมือ เราเป็นเพียงแค่ “ผู้เช่า” หรือเป็นเพียงไพร่ติดที่ดินในโลกเสมือนที่มาขอยืมหรือเช่าสารพัดสิ่งอันมีลิขสิทธิ์ของบรรดาเจ้าที่ดินในยุคดิจิทัลใช้ พร้อมกับจ่ายส่วยเป็นตัวเงินหรือสิ่งอื่นๆ ที่บรรดาเจ้าที่ดินฉกฉวยไปทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยเราไม่รู้ตัว เพราะกระทั่งการซื้อคอมพิวเตอร์มียี่ห้อที่มาพร้อมโปรแกรมครบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สิ่งที่เราเป็นเจ้าของจริงๆ ก็คือตัวคอมพิวเตอร์หรือส่วน “ฮาร์ดแวร์” เท่านั้น โปรแกรมต่างๆ หรือ “ซอฟต์แวร์” นันไม่ได้เป็นของเราแบบที่เราเป็นเจ้าของฮาร์ดแวร์ เงินที่เราจ่ายไปพร้อมๆ กับค่าคอมพิวเตอร์นั้นก็เป็นเหมือนค่าเช่าซอฟต์แวร์ตลอดอายุการใช้งานมากกว่า เพราะเราก็ไม่มีสิทธิที่จะเอาซอฟต์แวร์เหล่านั้นที่เรา “ซื้อ” มาด้วยเงินของเราไปขายต่อ ในแบบที่เราจะทำได้กับทรัพย์สินที่จับต้องได้ต่างๆ ที่เราครอบครองอยู่ เพราะโดยทั่วไปเวลาเราลงโปรแกรมเราก็ได้ยอมรับ “เงื่อนไขการใช้” (ที่ไม่มีใครอ่าน) ไปแล้ว และโดยทั่วไปเงื่อนไขดังกล่าวก็จะห้ามเรานำโปรแกรมไปขาย ห้ามไรท์ไปแจกเพื่อน ห้ามคนอื่นที่ไม่ใช้เรามาใช้ ห้ามลงโปรแกรมในหลายๆ เครื่อง ไปจนถึงห้ามแฮคโปรแกรม ฯลฯ และที่สำคัญก็คือการยืนยันที่จะเปลี่ยนเงื่อนไขการใช้เมื่อใดก็ได้ (ก็ดังที่บอก ไม่มีใครอ่าน) ซึ่งแน่นอนการที่ “คนขาย” มาเจ้ากี้เจ้าการกับสินค้าแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้กับสินค้าที่จับต้องได้ ดังที่ถ้าคุณซื้อเก้าอี้มา คนขายก็ไม่อาจห้ามเพื่อนคุณนั่ง ห้ามคุณดัดแปลงเก้าอี้ได้ หรือกระทั่งห้ามคุณผลิตซ้ำเก้าอี้ตัวเดียวกันมาอีกด้วยวัตถุดิบที่คุณซื้อหามาเองก็ไม่ได้ เป็นต้น คุณเป็นเจ้าของเก้าอี้ที่คุณซื้อมาจริงๆ แต่คุณไม่ใช่เจ้าของซอฟต์แวร์ที่คุณ “ซื้อ” มาในแบบเดียวกัน ซึ่งพวกสินค้าทางศิลปวัฒนธรรมสารพัดที่คุณ “ซื้อ” มาจากโลกออนไลน์มาในรูปแบบดิจิทัลก็ดูจะอยู่ในสถานะที่ไม่ต่างกัน คุณคิดว่าคุณซื้อมันมา แต่จริงๆ คุณแค่เช่ามันมาเท่านั้น

โลกที่มีลักษณะแบบดิจิทัลมากขึ้นยิ่งทำให้แนวโน้มของการเปลี่ยน “ผู้ซื้อ” ให้กลายมาเป็น “ผู้เช่า” อยู่ในภาวะเร่งยิ่งขึ้น เพราะแน่นอนว่า  “สิ่งของฟุ่มเฟือย” ในแบบดิจิทัลจำนวนมากได้กลายมาเป็น “สิ่งของจำเป็น” ในชีวิตไปเรียบร้อย และโลกที่วัตถุสิ่งของในชีวิตประจำวันนั้นมี “โปรแกรม” ติดตั้งอยู่ทุกชิ้นในแบบภาพยนตร์ไซไฟก็ดูจะไม่ได้ห่างใกลจากความเป็นจริงนัก ทุกอย่างในโลกดิจิทัลก็ทำให้คุณกลายมาเป็น “ผู้เช่า” ซึ่งจะโดนไล่ที่เมื่อไรก็ไม่ทราบได้ ดังที่มีกรณีของการยกเลิกสิทธิการใช้ “แอปป์” (App) บนแทปเล็ตหรือสมาร์ตโฟนอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่างที่ปรากฎอยู่เนืองๆ ซึ่งความเสียหายนี้ก็ดูไม่ได้คอขาดบาดตายนัก อย่างน้อยๆ คงจะไม่คอขาดบาดตายเหมือนการยกเลิก “แอปป์” ที่ติดอยู่ในอวัยวะเทียมจักรกลในทางกายมนุษย์ที่ดูจะมีมาให้เห็นกันภายในศตวรรษนี้แน่ๆ ถ้าเทคโนโลยียังพัฒนาไปในอัตรานี้ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าร่างกายของคุณติดโปรแกรมแล้ว คำถามว่าคุณจะยังเป็นเจ้าของร่างกายของคุณอยู่หรือไม่ก็คงจะเป็นคำถามที่จริงจังขึ้นกว่าในตอนนี้ที่ผู้คนก็ยังไม่ได้มองว่าการเป็นเจ้าของซอฟต์แวร์เหล่านี้หรือไม่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย

  ...แต่ก่อนจะไปคาดเดาถึงอนาคตอันใกลโพ้น เรากลับมาเริ่มมองเมื่อราว 300 ปีก่อนกันก่อน

ทำไมสิทธิในการผูกขาดการพิมพ์หนังสือถึงได้ขยายและกลายเป็นสิทธิในการผูกขาดการ “ใช้” โปรแกรมได้ในที่สุด? ทำไมสิทธิการผูกขาดนี้ถึงขยายขอบเขตอำนาจจากแค่ศาลอังกฤษไปยังทั้งโลกได้ในที่สุด?

คำตอบนั้นไม่ใช่ง่ายๆ อย่างคำตอบที่ว่าเป็นเพราะ “ลัทธิเสรีนิยมใหม่” (neo-liberalism) ได้ขยายอาณาบริเวณการแปรรูปสิ่งที่เป็นสาธารณะให้เป็นของเอกชน (privatization) ทำให้ “ปัญญา” ที่เคยเป็นของสาธารณะได้กลายมาเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล ไม่ได้ต่างจากระบบสาธารณูปโภคในหลายๆ ประเทศที่กลายมาเป็นของบรรษัทเอกชนภายใต้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ [1]

นี่น่าจะเป็นคำอธิบายที่ผิด เพราะอย่างน้อยๆ ในประวัติศาสตร์ ความพยายามจะทำให้ความคิด (idea) นั้นเป็นทรัพย์สินของผู้คิดไปตลอดชั่วกัลปวสานก็มีมาแล้วอย่างต่ำๆ ก็ตั้งแต่ตอนกลางศตวรรษที่ 18 ก่อนที่คนอย่างคาร์ล มาร์กซ์จะถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก และมโนทัศน์ “ทรัพย์สินทางปัญญา” ก็เป็นผลผลิตของศตวรรษที่ 19 ในช่วงก่อนที่คนอย่างคาร์ล มาร์กซ์จะพูดเรื่อง “ปัญญาทั่วไป” (general intellect) ด้วยซ้ำ

เรื่องราวของกระบวนการขยายตัวของลิขสิทธิ์เกี่ยวพันกับธุรกิจหลายต่อหลายอย่างในรัฐหลายต่อหลายรัฐ ที่แต่ละผู้เล่นก็ไม่ได้เล่นบทบาทเดิมเสมอไป เพราะอย่างน้อยๆ พ่อค้าหนังสืออเมริกาก็ “ละเมิดลิขสิทธิ์” พ่อค้าหนังสืออังกฤษมาเป็นร้อยปีหลังประกาศอิสรภาพ ก่อนที่อเมริกาจะเซ็นสนธิสัญญายอมรับลิขสิทธิ์ของอังกฤษในที่สุด ผลก็คือราคาหนังสือพุ่งพรวด และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งให้มวลชนอเมริกันหันไปบริโภคสื่อที่ไม่ประเทืองปัญญาอย่างร้ายแรงในสายตาของปัญญาชนยุคนั้นอย่างภาพยนตร์แทนที่จะหาความบันเทิงจากหนังสือ และถ้าเราไม่หลงลืมจนเกินไปนัก อดีตของฮอลลีวูดก็คือผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตัวยงในตอนที่มันถือกำเนิดขึ้นด้วยการละเมิดสิทธิบัตรเครื่องถ่ายและฉายภาพยนตร์ของเอดิสัน พร้อมๆ กับไป “ลอก” เรื่องราวสารพัดจากวรรณกรรมมาทำเป็นภาพยนตร์โดยไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ใดๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็หายไปในความหลงลืมของประวัติศาสตร์และฮอลลีวูดทุกวันนี้ก็กลายมาเป็น “ผู้ล่า” ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์หรือ นักสำเนาเถื่อน (Pirate) รายใหญ่ไปแล้ว

เรื่องราวของลิขสิทธิ์ก็ไม่ได้ต่างจากเรื่องอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ที่เราบอกได้ยากว่าใครคือ “พระเอก” ใครคือ “ผู้ร้าย” เพราะตัวละครต่างๆ ในเรื่องราวระดับมหากาพย์นี้ก็มีความดีความเลวสลับสับเปลี่ยนกันไป อันที่จริงแล้วลิขสิทธิ์กับการทำสำเนาเถื่อนก็แทบจะมีเพียงเส้นแบ่งบางๆ ที่เรียกว่า “กฎหมาย” คั่น เท่านั้น และยิ่งบรรดาฟากผู้สนับสนุนลิขสิทธิ์พยายามแก้กฎหมายให้สิ่งที่เคยถูกกฎหมายกลายมาเป็นผิดกฎหมายดังเช่นในปัจจุบัน เราก็ยิ่งบอกได้ยากขึ้นไปอีกว่าบรรดานักสำเนาเถื่อนนี่เป็น “ผู้ร้าย” ไปหมดหรือไม่ และถ้าเราจะพักการประเมินค่าทางจริยธรรมที่ต้องตายตัวเป็นแบบเดียวเอาไว้ก่อน แล้วคิดบนฐานว่าความดีเลวของสิ่งหนึ่งนั้นต่างกันไปตามมุมมอง เราก็จะพบว่าสิ่งที่นักสำเนาเถื่อนทำก็อาจไม่ต่างจากวีรกรรมของโรบินฮู้ดไปจนถึงกลุ่มโจรสลัดหมวกฟาง ที่เป็น “โจร” แน่ๆ ในสายตาของทางการอังกฤษ หรือรัฐบาลโลก แต่กลับเป็น “วีรบุรุษ” ในสายตาของชาวบ้าน หรือชาวเกาะต่างๆ ที่เข็มทิศล็อกโพสต์ได้นำพาเรือไป

ไม่ว่าเรื่องราวของลิขสิทธิ์และการทำสำเนาเถื่อนเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน หรือจะเป็นเรื่องราวของคู่อริตลอดกาล สิ่งที่เราคงจะปฏิเสธได้ยากคือ หากเราต้องจะเข้าใจลิขสิทธิ์ในมิติ “วัฒนธรรม” หรือในแง่ของการเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของผู้คนจริงๆ สิ่งที่เราต้องพิจารณาควบคู่ไปด้วยตลอดก็คือการทำสำเนาเถื่อน เพราะนอกจากการทำสำเนาเถื่อนจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนมีลิขสิทธิ์แล้ว ตลอดเวลาในประวัติศาสตร์ ผู้คนจำนวนมากก็มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสินค้าสำเนาเถื่อนมาตลอด และหลายต่อหลายครั้ง มันก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายของลิขสิทธิ์อีกที ดังนั้นในแง่หนึ่ง ประวัติศาสตร์ของลิขสิทธิ์และการทำสำเนาเถื่อนจึงเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ด้วยซ้ำ

ชุดบทความอันยาวยืดนี้มุ่งจะเล่าเรื่องราวของลิขสิทธิ์และการทำสำเนาเถื่อนในรอบ 300 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบันเป็นหลัก ผู้เขียนจะพยายามเขียนแต่ละตอนให้มีลักษณะจบในตอน ในแบบที่ผู้สนใจเฉพาะเรื่องนั้นๆ ก็สามารถอ่านได้เข้าใจโดยไม่ต้องท้าวความถึงเรื่องอื่นๆ อย่างไรก็ดี การมองเห็นภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงของลิขสิทธิ์และการทำสำเนาเถื่อนก็อาจทำให้ผู้อ่านพอจะคาดเดาได้มากขึ้นว่าโลกเรากำลังจะหมุนไปทางใด หรือผู้อ่านก็อาจมองเห็นว่าโลกเราควรจะหมุนไปในทางใด

สุดท้ายผู้เขียนอยากจะย้ำเตือนว่าเรื่องราวทั้งหมดไม่ได้ต้องการจะบอกว่าลิขสิทธิ์ดี สำเนาเถื่อนเลว หรือ ลิขสิทธิ์เลว สำเนาเถื่อนดี เรื่องทั้งหมดมันสลับซับซ้อนกว่านั้นมากและผู้เขียนจะไม่พยายามตัดสินทางคุณค่าแทนผู้อ่านในประเด็นนี้ ที่ผู้เขียนต้องการจะชี้คือว่า ลิขสิทธิ์ควรจะเป็นประเด็นนโยบายรัฐที่รัฐสามารถปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม มากกว่าที่ควรจะเป็นเรื่องสิทธิตามธรรมชาติที่จะมีความสูงส่งศักดิ์สิทธิ์ในโลกทุนนิยมแบบเดียวกับสิทธิเหนือทรัพย์สิน อย่างน้อยๆ ในประวัติศาสตร์มันก็ไม่เคยเป็นแบบนั้นแม้จะมีผู้พยายามทำให้มันเป็นมาโดยตลอด และการเข้าใจลิขสิทธิ์ในฐานะของนโยบายนี่เองที่จะเปิดพื้นที่ของการพูดคุยและเจรจาเพื่อให้สังคมสามารถจัดการบริหารสิทธิเพื่อตอบโจทย์ของสังคมโดยรวมได้มากที่สุดผ่านโยบายรัฐภายใต้กระบวนการอันชอบธรรมบนกรอบของเสรีประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี ผู้อ่านจะอ่านเรื่องราวทั้งหมดในแบบฝ่ายซ้ายที่มองว่าเป้าหมายการปลดปล่อยมนุษยชาติโดยยกเลิกระบบทรัพย์สินและกรรมสิทธิๆ ใดๆ ทั้งหมดก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดกติกาแต่อย่างใด

 

อ้างอิง:

  1. ดู เดวิด ฮาร์วีย์, ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่, แปลโดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ และคณะ, (กรุงเทพฯ: สวนเงินมีมา, 2555)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท