Skip to main content
sharethis

ผลสำรวจพบเด็กปฐมวัยในครอบครัวยากจนเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์ แพทย์ยืนยันโภชนาการ-การเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมในวัยเด็กเป็นพื้นฐานสร้างกำลังแรงงานมีคุณภาพ ยูนิเซฟแนะรัฐจัด “เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตร” 600 บาท/คน/เดือน องค์กรด้านเด็กผนึกกำลังหวังผลักดันเป็นนโยบาย เชื่อลดความเหลื่อมล้ำ-เพิ่มความเป็นธรรมทางสังคม

เนื่องในโอกาสวันเด็ก ปี 2557 คณะทำงานด้านเด็ก และคณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟ และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “โอกาสและการลงทุนเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย: เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตร” โดยมีนักวิชาการและตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนเข้าร่วม

วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเด็กปฐมวัย (อายุ 0-6 ปี) รวมทั้งพิจารณาเกี่ยวกับนโยบายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะจากองค์การยูนิเซฟ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการด้านการคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กปฐมวัย ซึ่งถือเป็นกลุ่มประชากรที่ยังขาดการคุ้มครองทางสังคมเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงวัยอื่นๆ ที่สังคมไทยมีการพัฒนากลไกสวัสดิการขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ฯลฯ

ทั้งนี้ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตร ที่จ่ายเป็นประจำให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อให้มีเงินจับจ่ายใช้สอยในรายการที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต ยูนิเซฟเสนอว่าควรอยู่ในวงเงิน 600 บาทต่อเดือน สำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 6 ปี

 

ชี้ลงทุนช่วงปฐมวัยให้ผลตอบแทนสูงสุด

นายแพทย์ศุภสิทธิ์ พรรณนารุโณทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร รวบรวมข้อมูลตัวเลขงบประมาณการลงทุนของรัฐเพื่อการศึกษาของเด็กและเยาวชนพบว่ารัฐมีการลงทุนสูงสุดในเด็กประถม (37,194 บาทต่อคนต่อปี) ขณะที่มูลค่าการลงทุนในเด็กปฐมวัย ต่ำที่สุด (23,282 บาทต่อคนต่อปี) (ดูตารางที่ 1) อย่างไรก็ตาม มีผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศที่ยืนยันว่า การใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัยให้ผลตอบแทนสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงวัยอื่นๆ (ดูตารางที่ 2)

 

ตารางที่ 1

ที่มา: รายงานสถานการณ์ปัญหาปัจจุบันที่กระทบต่อการดูแลและพัฒนาการเด็กปฐมวัย

 

ตารางที่ 2

ที่มา: รายงานสถานการณ์ปัญหาปัจจุบันที่กระทบต่อการดูแลและพัฒนาการเด็กปฐมวัย

 

นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ยืนยันว่าช่วงปฐมวัยมีความสำคัญที่สุดสำหรับพัฒนาการทางสมองของเด็ก โดยเฉพาะในช่วงสองขวบปีแรก ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องและยั่งยืนไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ดังนั้นเด็กในวัยนี้จึงควรได้รับการเลี้ยงดูแลและมีโภชนาการที่เหมาะสม โดยเฉพาะการได้รับสารอาหารประเภทโปรตีน ธาตุเหล็ก ไอโอดีน และโฟลิก ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างเซลล์ประสาท อย่างไรก็ตาม พบว่ามีผู้ปกครองจำนวนเพียงไม่มากที่มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้

นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรมอนามัยที่ทำการสำรวจระหว่างปี 2542-2553 ยังพบว่าเด็กปฐมวัยของไทยมีพัฒนาการลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านภาษา การใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็ก รวมถึงด้านสังคมและการช่วยเหลือตนเอง ซึ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเรียนรู้ (ดูตารางที่ 3) เช่นเดียวกับฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวก็มีผลต่อพัฒนาการของเด็กอย่างมีนัยยะสำคัญด้วยเช่นกัน

“พบว่าครอบครัวฐานะดี และครอบครัวที่พ่อแม่มีเวลาพูดคุยกับลูกมากกว่า จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาและการเรียนรู้มากกว่าครอบครัวที่ไม่ค่อยมีการพูดคุยกัน หรือพ่อแม่ไม่มีเวลาอยู่กับลูก”

 

ตารางที่ 3

นายแพทย์สุริยเดว กล่าวถึงเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตรว่าเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ แม้เงิน 600 บาทจะไม่เพียงพอในการดำรงชีวิต แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยเฉพาะครอบครัวที่มีฐานะยากจน

 

เชื่อลงทุนเพื่อเด็กคุ้มค่า

นายแอนดรูว์ เคลย์โพล หัวหน้าแผนกนโยบายสังคม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่ามีหลายประเทศที่เริ่มดำเนินนโยบายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตร อาทิ ประเทศอัฟริกาใต้ บราซิล อินโดนีเซีย เป็นต้น ทั้งนี้ แต่ละประเทศมีรายละเอียดของนโยบายที่แตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสมกับบริบทของสังคม โดยภาพรวมผลการดำเนินงานแสดงให้เห็นถึงระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งสำหรับเด็กและครอบครัว โดยครอบครัวยากจนจะเกิดความมั่นใจว่าจะมีเงินที่จะได้รับเป็นประจำเพื่อใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากเหตุไม่คาดฝัน เช่น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ตกงาน ภัยธรรมชาติ หรือการเสียชีวิตของผู้หารายได้หลักของครอบครัว ทำให้เด็กมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น รวมทั้งช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างบรรยากาศที่ดีในการอยู่ร่วมกันในสังคม

หัวหน้าแผนกนโยบายสังคม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ยังระบุถึงตัวเลขงบประมาณหากมีการจัดสรรให้เด็กปฐมวัยคนละ 600 บาทต่อเดือน

“การดำเนินนโยบายใดๆ ย่อมต้องอาศัยงบประมาณด้วยกันทั้งสิ้น จึงควรพิจารณาในเรื่องความคุ้มค่าเป็นสำคัญ ส่วนรายละเอียดเรื่องจำนวนเงิน จะจ่ายให้เด็กทุกคน หรือเฉพาะเด็กยากจน รวมถึงการบริหารจัดการ เป็นสิ่งที่ต้องออกแบบเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย” เจ้าหน้าที่องค์การยูนิเซฟ กล่าว

นางประทีป อึ๊งทรงธรรม ฮาตะ เลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป ให้ความสำคัญกับปัญหาช่องว่างรายได้ที่เป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางสังคม จึงเห็นด้วยหากรัฐจะจัดให้มีเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตร และกล่าวถึงการริเริ่มในประเด็นดังกล่าวว่าจะต้องทำให้สังคมเห็นความสำคัญและยอมรับในปัญหา เพื่อสร้างให้เกิดพลังที่จะผลักดันเพื่อให้เกิดเป็นนโยบายต่อไป

นางปรียานุช ป้องภัย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน อิสาน (กป.อพช.อิสาน) ยอมรับว่ายังมีเด็กอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องเผชิญปัญหาคุณภาพชีวิตอันเนื่องมาจากความยากจน อย่างไรก็ตาม อีกประเด็นที่ต้องคำนึงถึงคือการพัฒนาเศรษฐกิจที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยพ่อแม่จากชนบทจำนวนมากเดินทางไปทำงานในเมือง และทิ้งให้ลูกอยู่กับปู่ย่าตายาย แม้ครอบครัวเหล่านี้จะพ้นจากความยากจนระดับหนึ่ง แต่กลับต้องประสบปัญหาครอบครัวและปัญหาในการเลี้ยงดูบุตรหลานอย่างเหมาะสม จึงเห็นว่านอกจากผลักดันเรื่องเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตรแล้ว ควรมีการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองไปพร้อมกัน

ในช่วงท้ายของการสัมมนา คณะทำงานด้านเด็กและเครือข่ายพันธมิตร มีการอ่านคำประกาศเนื่องในวันเด็ก “ร่วมกันใส่ใจดูแลเด็กปฐมวัยอย่างใกล้ชิด” โดยมีเนื้อหาสำคัญคือการกล่าวถึงเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตรว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ และเรียกร้องรัฐบาลให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การจัดทำเป็นนโยบายซึ่งจะเอื้อให้เด็กปฐมวัยได้รับโอกาสในการพัฒนาความเจริญเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่ดีกว่าในอนาคต

 

 

คำประกาศ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ

(ประกาศเมื่อ 9 มกราคม 2557)

ร่วมกันใส่ใจดูแลเด็กปฐมวัยอย่างใกล้ชิด

 

การให้ความสำคัญกับเด็กในแต่ละปีของประเทศไทยโดยจัดงานวันเด็กแห่งชาติเพียงหนึ่งวัน แต่บทบาทความรับผิดชอบของผู้ใหญ่ที่จะส่งเสริมพัฒนาเด็กทุกๆคนนั้น  คงไม่ได้เกิดขึ้นและจบสิ้นลงเพียงแค่ในวันเด็กนี้เพียงวันเดียว  ในปี 2557 นี้  อาจเป็นอีกหนึ่งปีที่เรามีโอกาสร่วมกันสร้างความตระหนักในการดูแลเอาใจใส่เด็กเล็กอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา  ข่าวเกี่ยวกับการสูญเสียชีวิตของเด็กเล็กที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในสังคมกำลังส่งสัญญาณให้เราเห็นว่าการดูแลเอาใจใส่เด็กเล็กในสังคมไทยนั้นอาจยังไม่เพียงพอ  สะท้อนได้จากภูมิหลังของผู้กระทำเอง  ซึ่งก็เคยเป็นเด็กที่ถูกปล่อยปละละเลยและเร่ร่อนมาก่อน   ปรากฎการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นว่าการที่เด็กคนหนึ่งขาดโอกาสในการได้รับการดูแลที่ดีอาจส่งผลกระทบเชิงลบแก่ตนเองและสังคมในระยะยาว  เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหา  เป็นประชากรที่ไม่มีคุณภาพ  ที่สร้างวงจรของความรุนแรงต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

เช่นเดียวกับต้นไม้  ก่อนที่จะเติบโตกล้าแกร่งเป็นไม้ใหญ่   ครั้งหนึ่งก็เป็นเพียงต้นไม้อ่อน  ต้นไม้ใหญ่ที่สามารถยืนหยัดต้านทานแรงลมและเป็นร่มเงาให้กับสรรพสัตว์ได้พักพิงนั้นจำเป็นต้องมีรากแก้วที่มั่นคงและรากฝอยที่ประสานข่ายใยเหนียวแน่น   คุณภาพประชากรก็ไม่แตกต่าง  หากเราต้องการคนที่มีคุณภาพ  ในการพัฒนาประเทศต่อไป  การเริ่มต้นที่เด็กเล็กให้รับโอกาสในการดูแลอย่างใกล้ชิดและการพัฒนาที่เป็นไปอย่างมีคุณภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง   นับเป็นการลงทุนระยะยาวที่มีความคุ้มค่าและถือเป็นก้าวแรกของการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น  ซึ่งผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิดที่มีอิทธิพลเป็นเสมือนต้นแบบชีวิต    ให้เกิดการเรียนรู้ซึบซับสิ่งต่าง ๆ ของเด็กเล็กในช่วงวัยพื้นฐานของชีวิตนี้คงเป็นใครไปไม่ได้  นอกเสียจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง  ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครอง และครอบครัวจึงมีความสำคัญเปรียบเสมือนผืนดินอุดมสมบูรณ์ที่จะคอยสนับสนุนให้ยอดอ่อนต้นเล็กๆเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแกร่งในอนาคต

กระนั้นก็ตาม  ในปัจจุบันครอบครัวจำนวนมากประสบปัญหาในการดูแลบุตรหลานตนเองอย่างใกล้ชิด สาเหตุ ส่วนหนึ่งอันเนื่องมาจากปัญหาทางทุนทรัพย์  การขาดความรู้ความเข้าใจ  และความขาดแคลนของบริการที่เกี่ยวข้องกับแม่และเด็ก  ส่งผลให้เด็กจำนวนมากในประเทศไทยยังคงเติบโตบนความเสี่ยงทางสุขภาพ   ภาวะโภชนาการที่ไม่เหมาะสม  การเข้าไม่ถึงบริการทางการศึกษา  ขาดความสามารถและทักษะที่สำคัญ  และ ปราศจากภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับเหตุการณ์ภัยร้ายต่าง ๆ ในสังคม    หลายประเทศทั่วโลกจึงได้มีการจัดบริการและสวัสดิการขั้นพื้นฐานสนับสนุนให้กับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก หนึ่งในบริการดังกล่าวคือ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตร 

ดังนั้นคณะทำงานด้านเด็กและเครือข่ายพันธมิตรตระหนักถึงปัญหาที่น่าห่วงใยเกี่ยวกับการดูแลและพัฒนาเด็กเล็กนี้  เห็นความจำเป็นในการสร้างความตระหนักต่อสังคมเกี่ยวกับความสำคัญของการดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด  รวมถึงการร่วมกันพิจารณาหาทางออกให้กับครอบครัวจำนวนมากที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก   เพื่อสร้างรากฐานให้กับครอบครัว  สังคมและอนาคตของประเทศไทย  โดยพิจารณาแล้วว่าโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตรถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีความน่าสนใจมากที่สุด  คณะทำงานด้านเด็กและเครือข่ายพันธมิตร  จึงขอเรียกร้องให้รํฐบาลจัดสรรให้มีเงินอุดหนุนทางสังคมรายเดือนให้กับครอบครัวที่มีเด็กเล็กเพื่อเป็นการเกื้อกูลให้เด็กเล็กหรือเด็กปฐมวัยทุกคนได้รับโอกาสในการพัฒนามีความเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน  นับเป็นการลงทุนที่มีความคุ้มค่าในระยะยาว   เป็นการพัฒนาต้นทุนประชากรที่มีคุณภาพของสังคม  เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของพวกเราทุกคนในประเทศไทย

 

คณะทำงานด้านเด็ก และ คณะทำงานวาระทางสังคม  สถาบันวิจัยสังคม  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม   มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล  สหทัยมูลนิธิ  มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ  

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก  มูลนิธิดวงประทีป   มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ     

กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี  สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา  

สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ   เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ

มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย   เครือข่ายสลัม ๔ ภาค

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net