Skip to main content
sharethis
ผู้ประสานงาน ศสส.อีสาน เผยจากการลงพื้นที่ติดตามข้อมูลพบชาวบ้านยังไม่รู้ว่าจะมีการทำเหมืองในชุมชน หลังหารือภาคประชาสังคมกาฬสินธุ์ เตรียมฝึกอบรมให้ข้อมูลการอนุญาตประกอบกิจการทำเหมืองแร่-สิทธิของชุมชนตาม รธน.
 
9 ม.ค.2556 เมื่อเวลา 13.30 น.ของวันที่ 8 ม.ค.56 แหล่งข่าวภายในกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ทำการตรวจสอบพื้นที่ของการยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจโครงการเหมืองแร่โปแตชกาฬสินธุ์ จำนวน 17 แปลง เนื้อที่กว่า 500,000 ไร่ แล้วพบว่าไม่อยู่ในเขตพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัย ตามมาตรา 6 ทวิ วรรคสอง ของ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ซึ่งจะต้องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศยกเลิกเสียก่อน ดังนั้น เอกชนจึงสามารถดำเนินการในขั้นตอนขออนุญาตประทานบัตรเพื่อประกอบกิจการทำเหมืองแร่ต่อไปได้
 
ทั้งนี้ พื้นที่ได้รับอาญาบัตรพิเศษสำรวจโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.กาฬสินธุ์ ประกอบด้วยคำขอที่ 1 ในพื้นที่ ต.โพนทอง ต.เหนือ และ ต.เชียงเครือ อ.เมือง, ต.ดอนจาน ต.นาจำปา และ ต.ม่วงนา อ.ดอนจาน, อ.กมลาไสย จำนวน 12 แปลง รวมเนื้อที่ 200,000 ไร่
 
คำขอที่ 2 ในพื้นที่ ต.เชียงเครือ ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมือง, ต.โคกสมบูรณ์ ต.หลักเมือง ต.โพนงาม อ.กมลาไสย และต.ร่องคำ อ.ร่องคำ จำนวน 5 แปลง เนื้อที่ 300,000 ไร่ โดยบริษัท แปซิฟิก มิลเดอรัล จำกัด เป็นผู้ยื่นคำขอ
 
“ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ในฐานะเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ ได้ลงนามในหนังสือที่ กส. 0033 (2) / 1296 ลงวันที่ 26 พ.ย.56 และส่งมาที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ว่าได้ตรวจสอบพื้นที่เหมืองแร่โปแตชกาฬสินธุ์แล้ว ไม่เข้าข่ายมาตรา 6 ทวิ วรรคสอง ของ พ.ร.บ.แร่ 2510 ซึ่งขั้นตอนต่อไปบริษัทฯ ก็จะยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ใต้ดิน ตามพ.ร.บ.แร่ 2545” แหล่งข่าวระบุ
 
ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน กล่าวว่า เมื่อมีการยื่นขออนุญาตประทานบัตรจะต้องมีกระบวนการปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสีย ตามขั้นตอนในมาตรา 88/9 ของ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2545 เพื่อให้ข้อมูลกับชุมชนก่อนเป็นลำดับแรก แล้วจึงจะทำการปักหมุดรังวัดเพื่อขึ้นรูปแผนที่ และจัดทำรายการการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ (EIA) ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม ปี 2535
 
นายสุวิทย์ กล่าวด้วยว่า การให้ข้อมูลโครงการกับชุมชนนั้น ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 และชาวบ้านจะต้องมีสิทธิตามมาตรา 66 และ 67 ในการตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่เอาโครงการ ไม่ใช่ว่าหน่วยงานของรัฐ และบริษัทฯ จะทำไปในลักษณะของการประชาสัมพันธ์โครงการ โดยการนำเสนอข้อมูลแต่ด้านดีของโครงการเพื่อให้ชาวบ้านเห็นด้วย
 
“จากการลงพื้นที่ติดตามข้อมูลพบว่า ชาวบ้านยังไม่รู้ว่าจะมีการทำเหมืองในชุมชนของตนเอง ซึ่งขณะนี้ทางศูนย์ฯ ก็ได้เข้าไปคุยปรึกษากับภาคประชาสังคมกาฬสินธุ์ เพื่อจัดเตรียมการฝึกอบรมให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการอนุญาตประกอบกิจการทำเหมืองแร่ รวมทั้งสิทธิของชุมชนตามรัฐธรรมนูญ” นายสุวิทย์ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net