กลุ่มสิทธิมนุษยชนกัมพูชาเรียกร้องเปิดเผยแหล่งกักขังผู้ประท้วงขึ้นค่าแรงคนงานสิ่งทอ

กลุ่มสิทธิมนุษยชนในกัมพูชาสองกลุ่มเรียกร้องให้ทางการเปิดเผยสถานที่กักขังผู้ชุมนุม 23 คนที่ถูกจับในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 2 ม.ค. หลังการเรียกร้องค่าแรงคนงานสิ่งทอถูกทางการปราบปรามด้วยความรุนแรง ซึ่งกลุ่มสิทธิฯ กังวลว่าการปิดบังของรัฐบาล จะทำให้เกิดการลักลอบทรมานผู้ถูกจับและสร้างความหวาดกลัว

6 ม.ค. 2557 กลุ่มสิทธิมนุษยชนในกัมพูชาเรียกร้องให้ทางการกัมพูชาเปิดเผยสถานที่กุมขังผู้ชุมนุม 23 คนต่อสาธารณชน หลังจากมีการปราบปรามและจับกุมคนงานที่ประท้วงเรียกร้องค่าแรงในกรุงพนมเปญเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้พวกเขาสามารถเข้าถึงคนงานที่ถูกจับกุมตัวได้

กลุ่มสันติบาตชาวกัมพูชาเพื่อการคุ้มครองและสนับสนุนสิทธิมนุษยชน (LICADHO) และศูนย์ศึกษากฎหมายชุมชน (CLEC) กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า ทางการกัมพูชาปฏิเสธที่จะเปิดเผยที่สถานที่กุมขังคนงาน 23 คนที่ถูกจับกุมตัวไปทั้งต่อครอบครัวผู้ต้องขัง ต่อทนาย หรือต่อแพทย์

เหตุการณ์ปราบปรามและจัมกุมคนงานดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในเหตุการณ์บอกว่า คนงานหลายพันคนได้ปิดถนนหน้าโรงงานแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญเพื่อเรียกร้องการขึ้นค่าแรงเป็นเดือนละ 160 ดอลลาร์ (ราว 5,000 บาท) ซึ่งกลุ่มคนงานบางส่วนได้ใช้ท่อนไม้ ก้อนหินและระเบิดเพลิงเป็นอาวุธ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อเป็นการเตือนผู้ประท้วงก่อนที่ต่อมาจะยิงใส่ผู้ประท้วง โดยการประท้วงเรียกร้องขึ้นค่าแรงในกัมพูชาเป็นสถานการณ์ที่ยืดเยื้อมานานแล้ว

กลุ่มสิทธิมนุษยชนสามารถระบุตัวผู้ถูกจับกุมได้ 10 คน มีอยู่อย่างน้อย 3 คนที่เป็นนักสิทธิมนุษยชน พวกเขาถูกจับที่หน้าโรงงานยักจิน ในวันที่ 2 ม.ค. ก่อนที่ทั้งหมดจะปรากฏตัวที่ศาลแขวงพนมเปญในวันที่ 3 ม.ค. โดยถูกตั้งข้อหา "จงใจให้เกิดความรุนแรงจากการยั่วยุสถานการณ์" และ "จงใจให้เกิดความเสียหายจากการยั่วยุสถานการณ์"

ในแถลงการณ์ของกลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า ผู้ถูกจับกุมทั้ง 23 คนถูกกุมขังก่อนการพิจารณาคดีเป็นเวลาอย่างมาก 18 เดือน และอาจถูกพิจารณาตัดสินจำคุก 5 ปี รวมถึงถูกปรับเป็นเงิน 1,000 - 2,500 ดอลลาร์ (ราว 33,000 - 82,000 บาท)

แถลงการณ์ยังระบุอีกว่าพวกเขามีความกังวลในเรื่องสุขภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง เนื่องจากทีมงานของ LICADHO เห็นว่าตำรวจได้ทุบตีผู้ชุมนุมขณะจับกุมตัว และคิดว่าผู้ต้องขังเหล่านี้ต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยด่วน นอกจากนี้ยังมีผู้ถูกจับกุมส่วนใหญ่เป็นคนงานสิ่งทอที่อายุต่ำกว่า 30 ปี

กลุ่มสิทธิกล่าวอีกว่ามีความเป็นไปได้ที่ผู้ถูกจับกุมถูกส่งตัวไปยังทัณฑสถานที่ 1 กับ 3 ในจังหวัดกำปงจาม ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นทัณฑสถานที่มีสภาพแย่มากในกัมพูชา นอกจากนี้ทัณฑสถานที่ 3 ยังอยู่ในพื้นที่กันดารเข้าถึงยาก อย่างไรก็ตามพวกเขายังไม่ได้รับข้อมูลที่แน่ชัดในเรื่องนี้

ผู้อำนวยการของ LICADHO กล่าวว่า ผู้คนที่ถูกจับเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกพิพากษาว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหา ดังนั้นพวกเขาควรถูกขังแยกจากนักโทษที่ได้รับการตัดสินคดีแล้ว อีกทั้งการที่รัฐบาลกัมพูชาปิดบังข้อมูลเรื่องแหล่งกุมขังโดยไม่จำเป็น ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าพวกเขาต้องการปิดบังการได้รับบาดเจ็บของผู้ชุมนุม การทรมานจากในเรือนจำ และต้องการสร้างบรรยากาศของความกลัว

ในขณะที่มีการเรียกร้องเปิดเผยตัวผู้ถูกจับกุม 23 คน ก็มีนักกิจกรรมด้านที่ดิน 5 คนถูกจับกุมตัวเพิ่มอีกหลังจากที่พวกเขาพยายามทำเรื่องร้องเรียนสถานทูตฝรั่งเศสเพื่อให้มีการแทรกแซงช่วยเหลือปล่อยตัวผู้ต้องขังทั้ง 23 คน ก่อนที่ในอีก 8 ชั่วโมงต่อมาพวกเขาจะได้รับการปล่อยตัวหลังจากที่สำนักงานสิทธิของสหประชาชาติและกลุ่มด้านสิทธิมนุษยชนยื่นมือเข้าช่วย โดยพวกเขาถูกทางการกำชับห้ามไม่ให้มีการประท้วง ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงกิจการภายในของกัมพูชาก็ได้ประกาศห้ามไม่ให้มีการชุมนุมประท้วงจนกว่าเหตุการณ์จะสงบ

นอกจากนี้หน่วยงาน LICADHO ยังได้เผยแพร่วิดีโอเหตุการณ์ความรุนแรงวันที่ 2-4 ม.ค. ในเว็บไซต์ มีภาพของเจ้าหน้าที่เข้าทุบตีผู้ชุมนุมและจับกุมตัวนักกิจกรรม ช่วงต่อมาของวิดีโอเผยให้เห็นผู้คนวิ่งหนีเสียงปืนและมีภาพชายเลือดท่วมตัวถูกประชาชนหามออกไป

ช่วงท้ายของวิดีโอเป็นภาพการชุมนุมของฝ่ายผู้ต่อต้านรัฐบาลในวันที่ 4 ม.ค. โดยทางการประกาศให้คนออกจากพื้นที่ลานฟรีดอมพาร์ค ก่อนที่อีกไม่ถึงหนึ่งนาทีถัดมาจะมีเจ้าหน้าที่มาไล่รื้อเต็นท์และเวที ขณะที่มีประชาชนรวมถึงพระสงฆ์หลายรูปวิ่งหนีออกจากพื้นที่

สมาคมผู้ประกอบการสิ่งทอ (GMAC) ซึ่งเป็นตัวแทนเจ้าของโรงงานที่ถูกประท้วงกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่าพวกเขาต้องใช้วิธีการปราบปรามคนงานเนื่องจากผู้ประท้วงปฏิเสธไม่ยอมเชื่อฟังคำเตือนจากเจ้าหน้าที่และเริ่มใช้ความรุนแรงเช่นการขว้างปาก้อนหินใส่เจ้าหน้าที่

เลขาธิการสมาคม GMAC อ้างอีกว่าโรงงานของเขาสูญเสียรายได้หลังจากการประท้วงของคนงานเป็นเงิน 200 ล้านดอลลาร์ (ราว 6,600 ล้านบาท) และยังได้เรียกร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้อนุญาตดำเนินการผลิตส่วนหนึ่งจากนอกประเทศ แต่ในการให้สัมภาษณ์ต่อวอลล์สตรีทเจอนัลเลขาธิการสมาคมบอกว่าโรงงานร้อยละ 80 ในสมาคมกลับมาเปิดทำการตามปกติในวันจันทร์แม้ว่าจะมีคนงานร้อยละ 50-60 กลับเข้าทำงาน

ทางการแกนนำสหภาพแรงงานประกาศว่าภวพเขาจะไม่ยอมหารือเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำในขณะที่รัฐบาลยังคงข่มขู่และตั้งเป้าฟ้องร้องพวกเขาในข้อหายุยงให้เกิดความรุนแรงอยู่

 

เรียบเรียงจาก

Rights Groups Demand Information on Detained Cambodian Strikers, Radio Free Asia, 06-01-2014
http://www.rfa.org/english/news/cambodia/detainees-01062014183232.html

Video: Workers & Political Activists under Attack in Cambodia, LICADHO, 07-01-2014
http://licadho-cambodia.org/video.php?perm=43

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท