‘4 ปี ที่บ่อแก้ว’ การบริหารที่ดินโดยชุมชนเพื่อชุมชน และความเข้มแข็งของชุมชน

ชุมชนบ่อแก้วกับการบริหารจัดการที่ดินทำกินโดยชุมชน สู่ตลาดโลกสีเขียว ชูกฎหมายที่ดิน 4 ฉบับ เพื่อนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม
 
 
ลมหนาวที่โชยมาเตะต้องกายอย่างเย็นเฉียบ แผ่วซ่านอวดโฉมลูบผ่านความงดงามมาพร้อมกับแสงแรกของตะวัน ที่ค่อยๆกระจ่างรับอรุณรุ่งอีกวันของต้นปีแห่งการเปลี่ยน พ.ศ.ใหม่ 2557 เป็นเสมือนเป็นสัญญาณของชีวิตอีกมุมหนึ่ง แห่งการเริ่มต้นของทุกชีวิตที่นี่ ให้ตื่นขึ้นมาเริ่มขยับจังหวะชีวิต ในเช้าอีกวันหนึ่งของพวกเขา
 
“ชุมชนบ่อแก้ว” ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เป็นการปรากฏตัวของผู้ประสบปัญหาการสูญเสียที่ดินทำกิน ที่กำเนิดขึ้นมาด้วยความร่วมแรง รวมใจ ของผู้ที่ไม่ยอมจำนนต่อความไม่เป็นธรรม พวกเขาเลือกที่จะยืนหยัด ต่อสู้ เพื่อให้ข้ามผ่านไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง
 
หลังจากที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ยึดที่ดินทำกินของพวกเขาไปปลูกป่ายูคาลิปตัส เมื่อปี 2521 ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตการเกษตรของพวกเขามากว่า 40 ปี หลายครอบครัวถูกอพยพออกจากพื้นที่ บางรายอาศัยอยู่กับญาติ บางครอบครัวสูญสลาย บ้างไปเป็นแรงงานรับจ้าง เพราะไม่มีที่ดินทำกิน ท่ามกลางปัญหา อุปสรรค ที่พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้เป็นผู้สร้างขึ้นมา แต่เป็นปัญหาของสังคม ที่เบียดขับให้พวกเขาได้กลายเป็นคนตกขอบของแผ่นดิน
 
“17 ก.ค.2552 ถือเป็นวันแห่งความสำเร็จ ที่พวกเขาพร้อมใจกันเข้ามายึดพื้นที่ในบริเวณสวนป่าคอนสาร พร้อมลงหลักปักฐานในพื้นที่ทำกินเดิมของตนเอง ที่ถูก ออป.ยึดที่ของพวกเขาไป ทว่าในความสำเร็จนั้นยังไม่สามารถหยุดอยู่ตรงที่ยึดที่ทำกินกลับคืนมาได้ แต่ระยะเวลากว่า 4 ปี พวกเขาได้กลับเข้าไปพลิกฟื้นบริเวณพื้นที่พิพาทให้สมบูรณ์ขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการก้าวไปสู่ชุมชนเกษตรอินทรีย์ อันจะเป็นการนำมาสู่สิ่งที่ดีทั้งในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ รวมทั้งเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้เป็นแนวทางในการจัดการของชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชน เพื่อผืนดินที่ทำกินมีความมั่นคง และยั่งยืน สืบทอดไปถึงลูกหลาน” วิชชุนัย ศิลาศรี อีกสายเลือดหนึ่งของลูกหลานที่ได้รับผลกระทบ กล่าวถึงที่มาของบ่อแก้ว
 
 
กำเนิดชุมชนบ่อแก้ว สู่การทวงคืน และพลิกฟื้นผืนแผ่นดิน
 
วิชชุนัย เล่าต่อไปว่า การถูกละเมิดสิทธิข้อสู่ข้อพิพาทในที่ดินทำกิน ก่อนเข้ามาเป็นสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) เมื่อปี 2549 นั้น ได้รวมตัวกันในนาม เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน (คอซ.) ในปี 2547 มาก่อน พร้อมร่วมใจกันชุมนุมที่หน้าสำนักงานสวนป่าคอนสาร ในวันที่ 9 – 11 พ.ย. 2547 เพื่อผลักดันให้เกิดกลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีทั้งหน่วยงานภาครัฐ ร่วมกับฝ่ายประชาชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหน่วยงานระดับท้องถิ่น
 
ผลปรากฏตามมติมีความเห็นร่วมกันว่า “สวนป่าคอนสารปลูกสร้างทับที่ดินทำกินของประชาชน ให้ยกเลิกสวนป่าแล้วนำที่ดินมาจัดสรรแก่ผู้เดือดร้อนต่อไป”
 
อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวไม่ได้รับการปฏิบัติจาก ออป.แต่อย่างใด จึงเป็นที่มาของการเข้ายึดพื้นที่ของชาวบ้านผู้เดือดร้อนในวันที่ 17 ก.ค.2552 ถือเป็นต้นกำเนิดชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เป็นการปรากฏตัวของผู้ประสบปัญหาการสูญเสียที่ดินทำกิน ภายหลังจากที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ยึดที่ของพวกเขาไปปลูกยูคาลิปตัส เมื่อปี 2521 บนเนื้อที่กว่า 4,400 ไร่
 
วิชชุนัย กล่าว่า การเข้ายึดพร้อมลงหลักปักฐานเพื่อผืนดินที่อยู่อาศัยและเพื่อทำการผลิต ภายหลังต้องสูญเสียโอกาส ที่ ออป.นำไปใช้ประโยชน์โดยไม่เป็นธรรมนั้น ผลลัพธ์ที่ได้กลับถูกข่มขู่ คุกคาม มาโดยตลอด แม้ชาวบ้านจะร่วมกันติดตามปัญหาของพวกเขามาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้เข้าร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ในการผลักดันเชิงนโยบายกับหน่วยงานภาครัฐ
 
กระทั่งมีมติของหน่วยงานต่างๆ เป็นที่ยุติร่วมกันว่า สวนป่าคอนสารได้ปลูกสร้างทับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนจริง พร้อมมีมติให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารและนำพื้นที่มาจัดสรรให้กับชาวบ้าน โดยทุกขั้นตอนจะมี ออป.เข้าร่วมตรวจสอบด้วยทุกครั้ง แต่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวกลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในทางปฏิบัติ
 
 
พลิกฟื้นผืนดินจัดการรูปแบบการผลิต เกษตรอินทรีย์
 
จากวันเป็นเดือน จากเดือนเคลื่อนไปเป็นปี ภายหลังที่ชาวบ่อแก้วเข้ามายึดพื้นที่บริเวณสวนป่าคอนสารคืน ทุกช่วงของเวลาที่ล่วงผ่านมานั้น พวกเขาได้มีการสรุปบทเรียนเกี่ยวกับปัญหาการผลิตทางการเกษตรในปัจจุบัน การบริหารจัดการที่ดินของสังคมไทย การปลูกสร้างสวนป่าของหน่วยงานรัฐ ที่ไม่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต มาถึงการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่นั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างพวกเขาได้ กระทั่งพวกเขาได้ก้าวมาสู่การจัดการที่ดินเพื่อความยั่งยืน พร้อมทั้งได้ก้าวไปสู่การพัฒนาที่อยู่อาศัย ควบคู่ไปกับพัฒนาชุมชนเกษตรกรรมอินทรีย์ขึ้น
 
นายนิด ต่อทุน ประธานโฉนดชุมชนบ่อแก้ว กล่าวที่มากว่าจะมาถึง 4 ปี ของพวกเขาว่า ได้ร่วมกันพลิกฟื้นชีวิตรวมทั้งผืนดิน ด้วยการบริหารจัดการที่ดินทำกินของชุมชนโดยชุมชน และเพื่อชุมชน มาโดยตลอด กระทั่งครบรอบ 3 ปี บ่อแก้ว ในปี พ.ศ.2555 ได้ยกระดับเป้าหมายไปสู่การพัฒนาระบบการผลิต ตั้งเป็น “หมู่บ้านเกษตรกรรมอินทรีย์” ทั้งพื้นที่แปลงรวม และพื้นที่สิทธิการใช้ส่วนบุคคล ทั้งนี้ เพื่อทำหน้าที่พัฒนาพลังการผลิตของสมาชิกให้สามารถพึ่งตนเองได้ และเพื่อการฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับสวนป่ายูคาลิปตัสของ ออป. จะเห็นว่ามีนัยที่แตกต่างกันมาก
 
ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งความร่วมมือของคนท้องถิ่น ปัจจุบันสถานภาพการผลิตของชาวบ้านบ่อแก้วสามารถพึ่งตนเองในระดับครอบครัวได้ โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งอาหารจากภายนอก มีบางรายที่สามารถขายเป็นรายได้ในครัวเรือน จำพวกกล้วย ตะไคร้ งา ถั่วแดง ข้าวโพดและพืชผักบางชนิด นอกจากนั้น ชาวบ้านยังมีการจัดสร้างธนาคารเมล็ดพันธ์ ร้านค้าชุมชน โรงอบสมุนไพร โรงปุ๋ยหมัก และเรือนพักรับรองในชุมชน
 
“พวกเราต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อทวงคืนผืนแผ่นดินเดิม กระทั่งได้กลับเข้ามายึด พร้อมทั้งปักหลัก และได้จัดตั้ง ชุมชนบ่อแก้วขึ้นมา เพื่อแสดงสัญลักษณ์ความเป็นเจ้าของพื้นที่ พร้อมกับประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ในรูปแบบโฉนดชุมชนตามที่ได้ผลักดันให้รัฐบาลสมัยนั้นมีมาตรการทางนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิที่ดินดังกล่าว กระทั่งมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน ในเวลาต่อมา” นายนิดกล่าว
 
 
สู่การติดตั้งระบบไฟฟ้าในชุมชน
 
อย่างไรก็ตาม นับแต่ 17 ก.ค.2552 ที่ชาวบ่อแก้วเข้ามายึดพื้นที่บริเวณสวนป่าคอนสารกลับคืนมากว่า 4 ปี ที่ชุมชนไม่มีทั้งน้ำและไฟฟ้าใช้ กระทั่งปัจจุบันได้ขอใช้ไฟฟ้าเพื่อทำการเกษตร ด้วยที่ผ่านมาชาวบ้านได้ทำการพัฒนาระบบน้ำ เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง แทงค์น้ำที่ชาวบ้านช่วยกันทำเพื่อเก็บกักน้ำไม่เพียงพอ ทำให้มีปัญหาในการใช้น้ำเพื่อการเกษตรกรเป็นอย่างมาก
 
26 ม.ค.2556 ได้ทำการยื่นขอไฟฟ้าเพื่อใช้ในชุมชน และนำมาใช้กับเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำจากลำห้วยโปร่ง มาใช้ในการเกษตร ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาย่อยอำเภอคอนสารได้อนุมัติและดำเนินการติดตั้งเมื่อวันที่ 28 ม.ค.2556
ต่อมาวันที่ 3 ก.พ.2556 เจ้าหน้าที่ ออป.กว่า 5 นาย ลักลอบเข้ามาด้านหลังของชุมชน สั่งให้ชาวบ้านทำการรื้อถอนมิเตอร์ไฟฟ้า ทั้งข่มขู่ให้ออกจากพื้นที่ โดยอ้างว่าเป็นของเขตสวนป่าคอนสาร ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม และชาวบ้านต่างก็ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ แต่ชาวบ้านไม่ยอม พร้อมชี้แจงถึงสิทธิที่จะอยู่ทำมาหากินในพื้นที่ทำกินเดิม
 
เมื่อไม่สามารถทำอะไรได้ ในวันที่ 4 ก.พ.2556 เจ้าหน้าที่ ออป.จึงได้ทำหนังสือไปถึงผู้จัดการการไฟฟ้าสาขาย่อยคอนสาร และขอให้การไฟฟ้าทำการยกเลิกและรื้อถอนระบบไฟฟ้าในชุมชน รวมทั้งยังได้มีการไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจภูธรคอนสาร เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2556 เพื่อกดดัน ข่มขวัญให้ชาวบ้านหวาดกลัว
 
จากกรณีดังกล่าว เมื่อ 7 ก.พ.2556 ชุมชนบ่อแก้ว จึงรวมใจกันชุมนุมขอเข้าพบนายอำเภอคอนสาร เพื่อร้องเรียนถึงความไม่เป็นธรรม ที่ ออป.บุกเข้าไปสั่งให้ชาวบ้านทำการรื้อถอนระบบไฟฟ้าในชุมชน โดยชาวบ้านระบุข้อเรียกร้องให้นายอำเภอคอนสาร ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และร่วมเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างชาวบ้านกับหัวหน้าสวนป่าคอนสาร ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคอนสาร ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอคอนสาร กำนันตำบลทุ่งพระ และผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลทุ่งพระ เพื่อขอให้มีการชะลอและยุติการดำเนินการยกเลิกรื้อถอนระบบไฟฟ้าจากชุมชน
 
 
ล้มโต๊ะเจรจา เพื่อหาความเป็นธรรม
 
การเจรจาเพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาให้ได้ข้อยุติในการยกเลิกรื้อถอนไฟฟ้า ในวันที่ 11 ก.พ.2556 ที่มีนายอำเภอคอนสารเป็นประธาน ณ หอประชุมอำเภอคอนสาร ระหว่างชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอันล้มเหลว เนื่องจากหัวหน้าสวนป่าคอนสาร ในฐานะตัวแทน ออป.อ้างเงื่อนไขของข้อกฎหมาย แม้ชาวบ้านพยายามยืนยันถึงสิทธิในที่ดินทำกิน ก่อนที่ ออป.จะเข้ามาดำเนินการในพื้นที่เพื่อปลูกป่ายูคาฯ
 
ขณะเดียวกันนายอำเภอคอนสารก็ยืนยันตาม ออป.ให้เป็นผู้ตัดสินใจ ทำให้ชาวบ้านเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะร่วมประชุมกันต่อไป จึงได้พร้อมใจกันเดินออกจากที่ประชุมโดยที่การประชุมยังไม่ได้ข้อยุติ พร้อมประกาศยืนยันร่วมกันว่าจะชุมนุมเพื่อให้ได้ข้อยุติที่เป็นธรรม
 
จึงเป็นที่มาของการชุมนุมใหญ่ ปักหลักค้างคืน นับจากวันที่ 11 – 14 ก.พ.2556 ที่พวกเขาต้องกินนอนอยู่ด้านหน้าที่ว่าการอำเภอ พร้อมกับร่วมกันยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี(นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข) ในฐานะประธานคณะกรรมการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ นางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข กรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายอำเภอคอนสารนายไพศาล ศิลปะวัฒนานันท์ ที่ลงมาพบ พร้อมกับรับหนังสือข้อเสนอแนะแผนการปฏิรูปที่ดินของชุมชน จึงได้สลายการชุมนุม
 
 
ความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม
 
ความท้าทายในช่วงแรกของการเข้ายึดพื้นที่ นอกจากประสบการถูกข่มขู่ คุกคาม กระทั่งเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2552 ออป. ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายนิด ต่อทุน และพวกรวม 31 ราย นั้น โดยกล่าวหาว่าจำเลยและบริวารได้กระทำการบุกรุกเข้าไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนามโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงขอให้ศาลได้มีคำสั่งขับไล่จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ พร้อมกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และไม้ผลไม้ยืนต้นที่ปลูกไว้
 
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน ตามฟ้องโจทก์ และ ออป. ได้แจ้งพร้อมกับวางเงินกับเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการปิดหมายบังคับคดีไปแล้วนั้น ดังนั้นเมื่อไม่มีความเป็นธรรม จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านได้ลุกขึ้นสู้ โดยการเดินเท้าทางไกลจากคอนสารถึง กทม. ในวันที่ 4 ก.พ. – 16 มี.ค.2554 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งการให้ ออป.ถอนการบังคับคดี และเร่งประกาศพื้นที่โฉนดชุมชนในพื้นที่พิพาทสวนป่าคอนสาร
 
การเจรจาระหว่างผู้แทนชาวบ้านกับ ออป. เกิดขึ้นในวันที่ 2 มี.ค.2554 โดยบรรลุข้อตกลง 3 ข้อคือ ออป.จะไม่เร่งรัดบังคับคดี การนำพื้นที่จำนวนประมาณ 1,500 ไร่ ไปดำเนินการโฉนดชุมชน ให้ผู้แทน ออป. สำนักนายกรัฐมนตรี และชาวบ้านผู้เดือดร้อน ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกัน ส่วนการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว ให้นำข้อกำหนดของ ออป.มาปรับปรุงให้เกิดการยอมรับร่วมกัน
 
แม้ทั้ง 3 หน่วยงานข้างต้นจะลงสำรวจพื้นที่ร่วมกัน โดยมีเนื้อที่ที่ชาวบ้านเสนอให้นำมาดำเนินการในช่วงฤดูการผลิตปี 2554 จำนวน 250 ไร่ แต่เมื่อชาวบ้านจะเข้าไปทำประโยชน์กลับมีป้ายตรวจยึด จับกุมของเจ้าหน้าที่ป่าไม้
 
 
สู่ 4 ปี ก้าวต่อไปของชุมชนบ่อแก้ว
 
จาก 3 ปี ก้าวสู่ปีที่ 4 นั้น เป็นผลมาจากการสรุปบทเรียนเกี่ยวกับปัญหาการผลิตทางการเกษตรในปัจจุบัน การบริหารจัดการที่ดินของสังคมไทย การปลูกสร้างสวนป่าของหน่วยงานรัฐ ไม่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของชาวบ้านบ่อแก้ว
 
และผลพวงจาการที่ชุมชนได้เรียนรู้จากการบริหารจัดการที่ดินโดยการมีส่วนร่วม ที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และยั่งยืน คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการผลิตในชุมชน การบริหารจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน ทั้งการพัฒนาผู้นำชาวบ้าน ยกระดับคนรุ่นใหม่ในชุมชน และก้าวต่อไปคือกระทำการสู่ท้องตลาดโลกสีเขียว ที่พวกเขาสามารถทำการผลิตในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ที่ปลอดสารพิษให้กับสังคม
 
 
ชู กฎหมายกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม 4 ฉบับ
 
แผนงานต่อไปของชุมชนบ่อแก้ว ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) คือ การรณรงค์กฎหมายที่ดิน 4 ฉบับ เพื่อนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมในสังคม ได้แก่ พระราชบัญญัติภาษีที่ดินก้าวหน้า พระราชบัญญัติกองทุนธนาคารที่ดิน พระราชบัญญัติรับรองสิทธิที่ดินชุมชน และกองทุนยุติธรรม
 
ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยยังไม่มีภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ฉะนั้นผู้ที่ถือครองที่ดินจำนวนมากเท่าใด ต้องจ่ายภาษีในอัตราเดียวกัน ด้วยวิธีการดังกล่าวจะทำให้คนรวยที่ถือครองที่ดินมากแต่ไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว นอกจากต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงมาก จะทำให้คนรวยหรือนายทุนนั้นๆ จำหน่ายที่ดินออกไปสู่การปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้มีการกระจายการถือครองประโยชน์ในที่ดินเพื่อการผลิตสู่คนจนที่ไม่มีที่ดินทำกินได้
 
 
การต่อสู้เชิงนโยบาย จักต้องมีการสานต่อในหน่วยงานภาครัฐ
 
ปัจจุบันตามที่ประชุมได้มีการพิจารณาถึงผลการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐบาลกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2556 และตามมติของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ในการประชุมครั้งที่ 2/2556 วันที่ 27 พ.ค.2556 ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงสวนป่าคอนสาร
 
ทำให้ในวันที่ 17 ต.ค.2556 นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พร้อมรองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายอำเภอคอนสาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ ผู้อำนวยการอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้ลงพื้นที่ร่วมประชุมกรณีปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินสวนป่าคอนสาร ณ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคอนสาร จากนั้นนายสุภรณ์ ในนามตัวแทนของนายกรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการการให้ความคุ้มครองประชาชนให้สามารถอาศัยและทำมาหากินในที่ดินไปจนกว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ
 
 
แม้รัฐบาลจะประกาศยุบสภาไปเมื่อ 9 ธ.ค.2556 เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2556 ตามระบอบประชาธิปไตย และผลการเลือกตั้งจะตกสู่ในรัฐบาลของพรรคใดที่เข้ามาบริหารประเทศก็ตาม ทว่าการสานต่อนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน การต่อสู้ที่มีมาอย่างต่อเนื่องในระดับนโยบายนั้น จักต้องมีการดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง ตามมติ ครม.ที่ได้มีผลบังคับใช้มาแต่รัฐบาลชุดใดก็ตาม เพื่อให้ผืนดินทำกินนั้นกลับมาสู่อ้อมกอดอันอบอุ่นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ นำไปสู่การแก้ไข ที่ถูกต้อง เป็นธรรมเหมือนดังที่เคยเป็นต่อไป
 
เหลือเวลาสำหรับดวงตะวันอีกไม่มากนัก แสงหยาดสุดท้ายกำลังจะลับขอบโลก ความมืดกำลังคืบคลานเข้ามา และอีกไม่นานประกายแสงระยิบระยับที่ปรากฏความงดงามจากดวงดาวบนฟากฟ้า ก็จะส่องสะท้อนแสงมาแทนที่
ในวันที่โลกดูเหมือนแคบลง ด้วยระบบการสื่อสาร ความสะดวกในเส้นทางเดิน ตามมาด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ได้แทรกเข้าไปในทุกซอก ทุกมุม ในทุกภาคส่วนของสังคม หรือแม้แต่ละพรรคการเมืองจะหมุนเวียนพลัดเปลี่ยนกันมาบริหารประเทศ สักกี่ยุค กี่นายกรัฐมนตรีก็ตาม แต่ในทางตรงข้ามชาวบ้านผู้ทุกข์ยาก กลับถูกปิดกั้นจากข้อกฎหมาย จากนโนบายต่างๆ ที่เปรียบเสมือนเป็นกำแพงที่มองไม่เห็น แม้แสงตะเกียง ฟืน ไฟ จากคนในชุมชนบ่อแก้ว จะค่อยๆ ดับไป แต่ชีวิตของคนที่นี่ไม่เคยมอดดับไปตามอุปสรรค พร้อมจะลุกขึ้นมาขยับจังหวะชีวิต อาบอุ่นในอรุณรุ่งแสงวันใหม่อยู่โดยเสมอทั้งต้นและปลาย
 
จึงเป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้สำหรับผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมจำนน ในการที่พวกเขาเลือกที่จะยืนหยัด ต่อสู้ เพื่อให้ข้ามผ่านกำแพงที่มองไม่เห็น กำแพงจากทัศนคติ ที่บีบคั้น ที่ถูกปิดกั้นสิทธิการในการถือครองที่ดินทำกิน มาถึงการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่นั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้ กระทั่งชาวบ้านได้ก้าวมาสู่การจัดการที่ดินจัดการที่ดินของพวกเขา ไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องในการบริการจัดการในรูปแบบการสร้างชุมชนเกษตรกรรมอินทรีย์ เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งของคนในชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้สังคม เพื่อให้ผืนดินมีความยั่งยืน ตกทอดสืบไปสู่ลูกหลาน ของพวกเขาเหล่านั้นสืบไป
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท