อวัตถุศึกษากับอธิป: Game of Thrones ยังครองแชมป์ซีรีส์ที่คน ‘ไพเรต’ มาดูมากสุด

‘อธิป จิตตฤกษ์’ ประมวลข่าวสารด้านลิขสิทธิ์รอบโลก นำเสนอข่าวผู้ผลิต Games of Thrones เห็นการโหลดสำเนาเถื่อนมีผลดีมากกว่าผลเสีย, ศาลนิวยอร์กตัดสินการสอดส่องของ NSA ไม่ผิดกฎหมาย

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก
 
 

Game of Thrones ครองแชมป์ซีรี่ส์ที่คน "ไพเรต" มาดูมากที่สุดเป็นปีที่ 2

หลังจากปี 2012 Game of Thrones สามารถโค่นแชมป์เก่าอย่าง Dexter ไปได้ Game of Thrones ก็ยังครองแชมป์ซีรีส์ที่ "นักโหลด" ทั้งหลายทำการสำเนาเถื่อนผ่านระบบบิตทอร์เรนต์มาดูมากที่สุด

โดย Game of Thrones  มียอดดาวน์โหลดทั่วโลกเฉลี่ยในแต่ละตอนถึง 5,900,000 ดาวน์โหลด เยอะเสียยิ่งกว่ายอดผู้ชมโดยเฉลี่ยของซีรีส์นี้ในอเมริกาเองเสียอีก ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรที่ซีรีส์เรื่องนี้จะเป็นที่โด่งดังและกล่าวขวัญกันในโลกอินเทอร์เน็ตกันมากๆ

สำหรับทางผู้กำกับซีรีส์นี้อย่าง David Petrarca ก็กลับมองว่าชื่อเสียงอันล้นหลามของซีรีส์นี้แยกไม่ออกจากการที่ผู้คน "ไพเรต" ซีรี่ส์นี้กันอย่างมากหมายขนาดนี้ และทาง Jeff Bewkes ผู้เป็น CEO ของต้นสังกัดของซีรี่ส์อย่าง Time Warner (ที่เป็นเจ้าของ HBO อีกที) ก็บอกว่าการเป็นแชมป์ของการถูกไพเรตเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจกว่าการได้รางวัล Emmy ซะอีก และมันก็ยังทำให้ยอดสมัครสมาชิกช่อง HBO เพิ่มขึ้นอีก

ส่วน Vince Gilligan ผู้สร้าง Breaking Bad ที่เป็นซีรี่ส์ที่ยอดผู้ชมในอเมริกาสูงกว่า Game of Thrones ราวเท่าตัว แต่ยอดไพเรตน้อยกว่าและตามมาเป็นอันดับ 2 ก็มีความเห็นในทำนองเดียวกันว่าไพเรตมีผลดีมากกว่าผลเสีย

แต่ทาง Gale Anne Hurd ผู้อำนวยการสร้าง The Walking Dead อันมียอดไพเรตเป็นอันดับ 3 ในปีนี้ (แต่ยอดผู้ชมในอเมริกาสูงกว่า Game of Thrones ราว 3 เท่า) กลับไม่เห็นผลดีของการถูกไพเรตนัก และมองว่ามันเป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้ผู้ชมเสียมากกว่า

ทั้งนี้ไม่ว่าผู้ผลิตจะเห็นว่าการถูกไพเรตนั้นมีทั้งดีและไม่ดี งานวิชาการหลายชิ้นก็ดูจะชี้ตรงกันว่าภูมิภาคที่มีการสำเนาเถื่อนซีรี่ส์กันกระหน่ำที่สุดก็คือภูมิภาคที่ซีรี่ส์เหล่านี้ไม่มีฉายอย่างถูกต้อง หรือฉายล่าช้ากว่าอเมริกาไปเยอะ

ซึ่งนี่ก็นำมาสู่ทางออกที่ดีกว่า "ไล่ปราบการละเมิดลิขสิทธิ์" ดังที่นักวิชาการชี้อย่างปากเปียกปากแฉะว่าโดยพื้นฐานแล้วก็ควรจะให้ผู้คนนอกอเมริกาสามารถดูซีรีส์ได้พร้อมๆ อเมริกาในช่องทางที่ถูกกฎหมายภายใต้ราคาอันสมเหตุสมผล

เพราะอย่างน้อยๆ เหล่า “ไพเรต” ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้จงใจเป็นไพเรต แต่พวกเขาก็เป็นเพราะนี่เป็นคนทางที่เขาจะได้ดูซีรี่ส์เรื่องโปรดได้อย่างรวดเร็วที่สุดในต้นทุนที่สมเหตุสมผลเท่านั้นเอง

Source: http://torrentfreak.com/game-of-thrones-most-pirated-tv-show-of-2013-131225/, http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/12/17/walkingdead

 

Iron Maiden วงเฮฟวี่เมทัลค่าตัวระดับท็อปของโลกวางแผนทัวร์ไปตามภูมิภาคที่คน "โหลด" งานของวงมากที่สุด

สำหรับค่ายเพลงและนักดนตรีจำนวนมาก การ "โหลด" เพลงทั้งหลายทั้งมวลคือหายนะทางเศรษฐกิจที่ต่อต้านกันจนหมดแรงกันไปแล้ว

อย่างไรก็ดีแนวโน้มใหม่ๆ ของโมเดลทางเศรษฐกิจของธุรกิจดนตรีก็ดูจะเป็นไปในทางที่จะปรับตัวเข้าหาการโหลดเพลงฟรีกันอย่างหูดับตับไหม้ของคนในยุคนี้

การตระเวนแสดงสดเป็นทางออกหนึ่งของวงดนตรีจำนวนมากในการที่จะได้รายได้เท่าเดิมในโลกที่คนโดยรวมๆ แทบจะไม่จับจ่ายซื้องานบันทึกเสียงกันอีกแล้ว

Iron Maiden อันเป็นวงเฮฟวี่เมทัลที่อยู่ยงคงกระพันมากว่า 30 ปีตั้งแต่เป็นตัวหอกของกระแส New Wave of British Heavy Metal ก็เป็นวงหนึ่งที่น่าจะมีรายได้หลักมาจากการแสดงสดมาช้านานแล้ว

โชว์ของวง Iron Maiden ขึ้นชื่อลือชาในความตระการตามาตั้งแต่ยุค 1980's แล้วในแบบที่เรียกได้ว่าแทบจะหาวงรุ่นเดียวกันที่มีชื่อเสียงด้านการแสดงสดในระดับเดียวกันยาก

ล่าสุด วงได้วางแผนการทัวร์ไปตามประเทศที่มียอดการสำเนาเถื่อนหรือยอดดาวน์โหลดทอร์เรนต์สูง ซึ่งก็คือกลุ่มประเทศในอเมริกาใต้

ผลคือคอนเสิร์ตของวงนั้น "SOLD OUT" ทุกประเทศที่ไปเล่น

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะวงอย่าง Iron Maiden นั้นคำถามเวลาไปเล่นในหลายๆประเทศคงไม่ใช่ว่าตั๋วจะ "SOLD OUT" หรือไม่ แต่คงต้องถามว่า "SOLD OUT" ไปกี่รอบมากกว่า ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่เรื่องปกติที่วงรุ่นเดียวกัน รุ่นก่อนหน้า หรือรุ่นหลังจะทำได้ง่ายๆ แต่อย่างใด

Iron Maiden ดูจะใช้ข้อมูลการดาวน์โหลดเพลงแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อหาตัวว่าแฟนๆ ของวงไปหลบอยู่ที่ไหนในโลกเพื่อเพิ่มรายได้จากการแสดงสดได้ แต่ทางออกแบบนี้ก็คงจะใช้ไม่ได้เสมอไปกับวงดนตรีทุกรุ่น ทุกแนว ทุกวงแต่ประการใด เพราะแนวดนตรีอื่นๆ ก็ยากจะมีแฟนๆ อยู่ทั่วโลกมากมายอย่างเฮฟวี่เมทัล และในบรรดาวงเมทัลเอง ก็มีไม่กี่วงที่คนแทบทุกรุ่นจะนิยามชมชอบร่วมกันอย่าง Iron Maiden

แต่ทั้งหมดนี้ ทางออกของ Iron Maiden ก็ดูจะย้ำบทเรียนพื้นๆ ที่งานวิจัยจำนวนไม่น้อยชี้ตรงกันในช่วงหลังๆ ว่านักโหลดเพลงรายใหญ่ทั้งหลายนั้นก็เป็นคนกลุ่มเดียวกับคนที่จะยอมจับจ่ายเงินกับสินค้าและกิจกรรมทางดนตรีนั่นแหละ

[Update: หลังจากสื่อออนไลน์จำนวนมากผลิตซ้ำข่าวนี้ มีการเปิดเผยมาแล้วว่าข่าวนี้ไม่เป็นความจริงในความหมายที่ว่า Iron Maiden ไม่ได้ “วางแผน” ทัวร์ตามที่วงโดนสำเนาเถื่อน แต่ทางบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลได้เห็นว่ามันมีความสัมพันธ์กันระหว่างภูมิภาคที่ Iron Maiden ไปทัวร์แล้วขายตั๋วหมดว่าเป็นภูมิภาคที่คนโหลดงานของวงมาฟังอย่างหูดับตับไหม้เหมือนกัน แต่ก็ไม่มีการยืนยันใดๆ ว่าทางวงรู้ข้อมูลดังกล่าวก่อนวางแผนทัวร์แต่อย่างใด]

Source: http://torrentfreak.com/iron-maiden-tracks-down-pirates-and-gives-them-concerts-131224/

 

ศาลนิวยอร์คตัดสินว่าโครงการสอดส่องประชาชนของ NSA ไม่ผิดกฎหมาย

ทางศาลให้เหตุผลว่าไม่ผิดกฎหมายเพราะทาง NSA เอาข้อมูลการติดต่อสื่อสารประชาชนมาจากบริษัทที่ให้บริการด้านโทรคมนาคมอีกที ซึ่งภายใต้ "หลักการของบุคคลที่สาม" (Third Party Doctrine) ศาลเห็นว่าประชาชนไม่สามารถจะคาดหวังความเป็นส่วนตัวได้อีกเมื่อข้อมูลอยู่ในมือบรรดาผู้ให้บริการด้านการสื่อสารทั้งหลาย

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้สองสัปดาห์ทางศาลวอชิงตันดีซีก็ได้ตัดสินไปก่อนอย่างแตกต่างออกไปแล้วว่าโครงการสอดส่องของ NSA ผิดกฏหมายและละเมิดรัฐธรรมนูญ

ก็คาดได้เลยว่าคงจะมีการต่อสู้กันในประเด็นด้านการความชอบด้วยกฎหมายของการสอดส่องของ NSA ขึ้นไปจนถึงศาลสูงสหรัฐแน่นอน

Source: http://gigaom.com/2013/12/27/courts-split-over-nsa-phone-records-new-ruling-says-spy-program-is-legal/

 

ศาลอเมริกันชี้ตัวละครเชอร์ล็อคโฮล์มเข้าไปในคลังทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะเรียบร้อยแล้ว

ปี 1923 เป็นตัวแบ่งสำคัญในสารบบลิขสิทธิ์ในอเมริกาเพราะนี่เป็นปีแรกที่การคุ้มครองของกฎหมายลิขสิทธิ์ในปี 1976 ขยายย้อนกลับไปถึง กล่าวคือการแก้กฏหมายลิขสิทธิ์ในปี 1976 ได้ยืดอายุการคุ้มครองงานมีลิขสิทธิ์ทุกชิ้นที่ยังไม่หมดอายุเมือวันที่ 1 มกราคม 1978 อันเป็นเวลาที่กฎหมายเริ่มบังคับใช้ และการคุ้มครองนี้เป็นไปโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องนำงานอันมีลิขสิทธิ์ไปขึ้นทะเบียน

ก่อนหน้านี้การคุ้มครองลิขสิทธิ์ในอเมริกามีระยะเวลาคุ้มครองเต็มที่ 56 ปีหลังการเผยแพร่งานครั้งแรก และงานจะได้รับการคุ้มครองหลังจากนำไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานลิขสิทธิ์เท่านั้น นี่หมายความว่างานที่สร้างมาในปี 1922 ก็จะไปหมดอายุเต็มที่ตอนขึ้นปี 1978 พอดี ซึ่งหมายความว่าการคุ้มครองลิขสิทธิ์งานที่สร้างมาในปี 1922 ยังไงก็ถือว่าหมดอายุการคุ้มครองแล้ว ก่อนที่กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับปี 1976 จะบังคับใช้

ในกรณีของเชอร์ล็อค โฮล์ม ปัญหามีอยู่ว่างานในชุดเชอร์ล็อค โฮล์มของเซอร์ Arthur Conan Doyle ส่วนใหญ่จะออกมาในปี 1922 แต่ก็มีงานบางส่วนหลังจากนั้น

ปัญหาบนฐานของระบบกฎหมายอเมริกันคือถ้าเป็นเช่นนั้น ตัวเชอร์ล็อค โฮล์ม และบรรดาตัวละครที่รู้จักกันดีอย่างหมอวัตสัน หรือด็อกเตอร์มอริอาร์ตี้ นั้นจะถือว่าหมดลิขสิทธิ์ไปแล้วหรือไม่ ซึ่งนี่เป็นคำถามที่สำคัญว่าบรรดาเรื่องแต่งต่อยอดจากเรื่องเก่า (ที่ทุกวันนี้เรียกกันว่า "แฟนฟิค" (Fanfic)) อันมีตัวละครเหล่านี้จะเขียนได้โดยไม่ต้องรับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่ ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์ดังกล่าวก็คือกองมรดกของเซอร์ Arthur Conan Doyle นั่นเอง

(อย่างไรก็ดีในอังกฤษไม่มีปัญหานี้เพราะงานทั้งหมดของ Arthur Conan Doyle หมดลิขสิทธิ์ไปแล้วก่อนอังกฤษจะยืดอายุลิขสิทธิ์เมื่อไม่นานมานี้ และกรณีไทยก็น่าจะเช่นเดียวกับอังกฤษ)

ศาลอเมริกันตัดสินว่าตัวละครเชอร์ล็อค โฮล์ม ไปจนถึงรายละเอียดของเชอร์ล็อค โฮล์มก่อนปี 1923 ถือว่าไม่มีลิขสิทธิ์แล้วในอเมริกา ข้อโต้แย้งของทางกองมรดกฯ ที่ว่าต้องนับเริ่มนับถอยหลังการหมดลิขสิทธิ์ของตัวเชอร์ล็อค โฮล์มเมื่อตอนซีรีส์จบแล้วเพราะถือว่าตัวละครยังพัฒนาไม่เต็มที่นั้น ศาลเห็นว่าเป็นการอ้างที่ไม่ได้สอดคล้องกับหลักกฎหมายและเจตนารมย์ของกฎหมายลิขสิทธิ์แต่อย่างใด

ดังนั้นการเขียน "แฟนฟิค" ของเชอร์ล็อค โฮล์มจึงไม่ต้องมีใบอนุญาตอีกต่อไปอย่างเป็นทางการแล้วในอเมริกา (เพียงแต่ต้องระวังไม่ใช้รายละเอียดตัวละครตั้งแต่ปี 1923 เช่น หมอวัตสันเล่นรักบี้ เป็นต้น)

อนึ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องเป็นราวมาเนื่องจากมีผู้รวม "แฟนฟิค" ของเชอร์ล็อค โฮล์มมาขาย เตรียมจะพิมพ์แล้ว แต่สำนักพิมพ์ไม่ยอมพิมพ์ เพราะโดนจดหมายขู่จากกองมรดกว่าห้ามไปขายออนไลน์ตามพวกเว็บอย่าง Amazon ก่อนจะจ่ายค่าใบอนุญาตอีกก้อน

แน่นอนว่าผู้รวม "แฟนฟิค" ดังกล่าวก็ต้องฉุนแน่ๆ เพราะก่อนหน้านี้ก็ได้จ่ายเงินกับกับกองมรดกไป 5,000 ดอลลาร์สหรัฐแล้วเพื่อจะผลิตงานรวม "แฟนฟิค" ดังกล่าว พวกเขาจึงยื่นเรื่องให้ศาลพิจารณาว่าตัวละครต่างๆ ในซีรีส์เชอร์ล็อค โฮล์มนั้นถือว่าหมดลิขสิทธิ์ไปหรือยัง แล้วศาลก็ตัดสินออกมาดังที่เล่ามา

ทั้งนี้ทางกองมรดกฯ ก็ยังไม่ยอมแพ้ กล่าวจะยื่นอุทธรณ์และจะตามราวีด้วยกฎหมายเครื่องหมายการค้าต่อไป

 

งานวิจัยชี้ว่า "การโหลดเพลง" ในภาพรวมไม่ได้ทำให้มีเพลงฮิตน้อยลง แต่ทำให้มี "ศิลปิน" หน้าใหม่น้อยลงที่แต่ละ "ศิลปิน" จะมีเพลงฮิตมากขึ้น

งานวิจัยนี้เป็นของนักกฎหมายจากวิทยาลัยกฎหมายของมหาวิทยาลัย Tulane นาม Glynn S. Lunney, Jr. ที่มีดีกรีปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ด้วย โดยเขาทำการศึกษาจำนวนเพลงและศิลปินใหม่ๆ ใน Billboard Hot 100 ตั้งแต่ปี 1985-2013

ผลการวิจัยชี้ว่าเอาจริงๆ แล้ว หลังยุคที่จะมี "การโหลดเพลง" (ซึ่งในทางเทคนิคน่าจะเรียกว่าการแชร์ไฟล์มากกว่า) ในปี 1999 (เริ่มจาก Napster) เพลงฮิตโดยรวมใน Billboard Hot 100 เพิ่มขึ้นกว่ายุคก่อนด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดีเขาก็ชี้อีกว่าทั้งๆ ที่เพลงฮิตมีปรากฎมามากขึ้น แต่จำนวน "ศิลปินหน้าใหม่" กลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม แต่พวกศิลปินหน้าเก่าที่เคยมีเพลงฮิตกันอยู่แล้วกลับมีเพลงฮิตซ้ำมากขึ้นกว่าช่วงก่อน

ดังนั้นเขาจึงสรุปแบบพูดให้ง่ายขึ้นว่า การโหลดเพลงทำให้คนทำเพลงกันน้อยลง แต่ทำให้คนที่ทำเพลงอยู่แล้วทำเพลงมากขึ้น

นี่นำไปสู่ข้อสรุปของเขาในฐานะของนักกฎหมายที่มีพื้นเพทางเศรษฐศาสตร์ว่า การแชร์ไฟล์ไม่ได้ทำให้งานดนตรีในระบบลดลงดังที่อุตสาหกรรมบันทึกเสียงกล่าวอ้าง แต่มันทำให้การผลิตงานดนตรีเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ และรัฐธรรมนูญอเมริกาก็กำหนดว่ากฎหมายลิขสิทธ์มีไว้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตงานศิลปะที่มากขึ้นในระบบ ดังนั้นเขาจึงเห็นว่าการแชร์ไฟล์จึงควรจะเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ไม่ใช่ผิดกฎหมายดังที่เป็นอยู่

เว็บไซต์สองเว็บไซต์รายงานข่าวนี้ด้วยจุดยืนที่ต่างกัน ทางด้าน TorrentFreak รายงานโดยเน้นไปที่ข้อสรุปของนักกฎหมายท่านนี้และเน้นการ "เพิ่มเพลงฮิต" ในระบบของการแชร์ไฟล์ ส่วนเว็บไซต์ Digital Music News ก็ไปเน้นการ "ลดศิลปินหน้าใหม่" อันเกิดจากการแชร์ไฟล์ ซึ่งนี่ก็ดูจะเป็นการสะท้อนจุดยืนด้านการเมืองลิขสิทธิ์ที่ต่างกันของทั้งสองเว็บเป็นอย่างดี

ผู้เขียน ในฐานะนักวิจัย มองว่างานชิ้นนี้ของ Lunney มีความผิดพลาดด้านข้อมูลและข้อสรุปจำนวนมาก

โดยพื้นฐานที่สุด งานชิ้นนี้สรุปเพลงใหม่ในระบบจาก "เพลงฮิต" ที่โผล่มาใน Billboard Hot 100 ซึ่งดูจะไม่สอดคล้องกับเพลงใหม่ที่มีในระบบทั้งหมดจริงๆ กล่าวคือ “จำนวนเพลงใหม่” เป็นคนละเรื่องกับ “จำนวนเพลงฮิต”

หากใครตามสถิติการทำลำดับเพลง Billboard Hot 100 ก็จะพบว่าอันดับเพลงนี้วัดเพลงฮิตจาก "ยอดขาย" และ "ยอดเปิดวิทยุ" เป็นหลัก

จากจัดอันดับการเพิ่มยอดขายออนไลน์เข้าไปในสารบบการนับด้วยในปี 2005 และเพิ่มการ "สตรีม" หรือฟังออนไลน์ตามเว็บไซต์ดนตรีต่างๆ เข้ามาในปี 2007 และเพิ่ม "ยอดวิว" ใน Youtube มาในปี 2013 (อ่านรายละเอียดได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Billboard_Hot_100)

แน่นอนว่านี่ดูจะเป็นการพัฒนาการจัดอันดับให้น่าเชื่อถือขึ้น แต่มันก็เกิดหลังจากที่สื่อเหล่านี้แทบจะพัฒนาเต็มที่จนไม่อาจละเลยได้แล้วเท่านั้น เพราะอย่างน้อยๆ โปรโมเตอร์คอนเสิร์ตจำนวนมากก็ได้โฆษณาศิลปินว่ามียอดวิวบน YouTube เท่านั้นเท่านี้ ก่อนที่ Billboard Hot 100 จะรวมยอดวิวบน YouTube เข้ามาในสารบบ

คำถามที่จะส่งผลต่อการสรุปในงานวิจัยคือ ถ้า Billboard Hot 100 ปรับตัวกับสื่อดนตรีใหม่ๆ เร็วกว่านี้ จำนวน "ศิลปินหน้าใหม่" จะเพิ่มขึ้นหรือไม่? เพราะอย่างน้อยๆ ที่ทางของ "ศิลปินหน้าใหม่" จำนวนมากก็วางอยู่บนการสร้างชื่อเสียงในสื่อใหม่ๆ มากกว่าเสื่อเก่าๆ อย่างซีดีซิงเกิล วิทยุภาคพื้นดิน หรือกระทั่ง iTunes อย่างน้อยๆ พวกที่เปิดให้โหลดเพลงฟรีโดยตรงตามเว็บไซต์ตัวเองหรือ BandCamp และให้ฟังฟรีบน YouTube ก็น่าจะไม่ได้อยู่ในสารบบการนับนี้ก่อนปี 2013

พูดง่ายๆ คือการนับเพลงฮิตแบบเก่าๆ ทำให้ "ศิลปินหน้าใหม่" ที่มีทางในการจัดอันดับน้อยลงอยู่แล้ว การจัดอันดับจึงดูจะน่ากังขาในตัวเองในฐานะของมาตรวัดศิลปินหน้าใหม่

ประการต่อมา หากจะว่ากันตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญอเมริกันในส่วนที่เป็นฐานให้กฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว เพลงที่ฮิตหรือไม่ฮิต ก็ดูจะไม่ใช่ประเด็น เพราะรัฐธรรมนูญพูดถึงการผลิตงานสร้างสรรค์ทั้งหมดในระบบไม่ใช่แค่งานสร้างสรรค์ที่ได้รับความนิยม ดังนั้นจึงดูไม่มีเหตุสมควรใดๆ ที่จะไม่นับการทำเพลงที่ไม่ฮิตออกมาด้วย

ในแง่นี้การออกแบบการวิจัยจึงดูผิดแต่แรกแล้ว เพราะโจทย์มันน่าจะเป็นการหา "จำนวนเพลงที่ผลิตมาทั้งหมดในอเมริกาช่วงปี 1985-2013" มากกว่า "เพลงฮิตในอเมริกาช่วงปี 1985-2013"

ซึ่งหากโจทย์เป็นแบบแรก การนั่งนับการเกิดวงดนตรีสัญชาติอเมริกันที่ผลิตงานออกมาผ่านเว็บอย่าง Myspace หรือ Sound Cloud และ BandCamp ในยุคนี้ก็ดูจะเป็นคำตอบที่ดีกว่า (และยากกว่า เพราะข้อมูลกระจัดกระจายมาก)

ทั้งหมดนี้จากการวิจัยภาคสนามของผู้เขียนเกี่ยวกับดนตรีเฮฟวี่เมทัลและดนตรีพังค์ใต้ดินในโลก ผู้เขียนคิดว่าข้อสรุปว่า "ศิลปินหน้าใหม่น้อยลง" ของงานวิจัยของ Lunney เป็นสิ่งที่เกินหน้าขันด้วยซ้ำ

เพราะปัญหาที่แวดวงดนตรีย่อยๆ แทบจะทั่วโลกประสบทุกวันนี้คือ มีวงดนตรีเกิดขึ้นมากเกินไปจนผู้สนับสนุนดนตรีเหล่านี้เกินจะสนับสนุนกันหวาดไหว

การบันทึกเสียงคุณภาพดีมีต้นทุนที่ถูกลงพร้อมๆ กับราคาของปัจจัยการผลิตและเผยแพร่ดนตรีอีกสารพัด วงดนตรีจากทั่วทุกสารทิศทั่วโลกก็ดาหน้ากันเข้ามาในโลกออนไลน์ และนำเพลงมาเสนอให้ฟังฟรีๆ แบบฟังกันไม่หวาดไม่ไหว

ปรากฎการณ์แบบนี้เกิดขึ้นทั่วไปในเมืองใหญ่ทั่วโลก และวงดนตรีเหล่านี้แทบทั้งสารบบก็จะอยู่นอกโลกของ Billboard เพราะไม่มี "เพลงฮิต" (ยังไม่ต้องนับปัญหาการนับรวมที่ได้กล่าวไปแล้ว)

แน่นอนว่าอเมริกาก็เป็นศูนย์กลางสำคัญของปรากฎการณ์นี้ ดังนั้นการละเลยการผลิตดนตรีเหล่านี้ในงานวิจัยที่ว่าด้วยความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญของลิขสิทธิ์จึงเป็นการละเลยที่ใหญ่หลวงมาก

ทั้งนี้ จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ติดตามข่าวสารมา ในยุคนี้เป็นยุคที่ "การกระจายรายได้" ของนักดนตรีอาชีพในอเมริกาดูจะแย่ที่สุดด้วย ภาคการผลิตดนตรีประกอบไปด้วยดาราดนตรีบนยอดที่มีรายได้มหาศาลยามเล่นสดที กับนักดนตรีทั่วๆ ไปที่แทบจะไปขอเจ้าของงานเจ้าของสถานที่เล่นฟรีๆ กล่าวคือ "ชนชั้นกลางทางดนตรี" ดูจะแทบหายไปหมด คนที่จะหากินกับดนตรีได้ เป็นอัตราส่วนน้อยลงของคนเล่นดนตรีทั้งหมดในระบบ

อย่างไรก็ดี กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ว่าที่ไหนในโลกก็ไม่ได้มีพันธกิจใดๆ ที่จะยืนยันว่าผู้ผลิตศิลปวัฒนธรรมจะต้องมีรายได้จากการผลิต และในของอเมริกาเอง กฎหมายลิขสิทธิ์ก็ดูจะมีเจตจำนงตามรัฐธรรมนูญว่ามันต้องสร้างหลักประกันว่าจะมีงานในระบบผลิตออกมามากที่สุด ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีความเกี่ยวพันกันกับความอิ่มท้องของผู้ผลิตแต่อย่างใด

ดังนั้นทั้งหมดจึงไม่ใช่ปัญหาของกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ควรจะไปเอาผิด "คนโหลดเพลง" เพราะระบบใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ก็ไม่ได้ทำให้การผลิตดนตรีในระบบลดลงแต่อย่างใด

และหนทางที่จะทำให้การบันทึกเสียงงานดนตรีมีต่อไป ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องไปไล่จับคนโหลดเพลงทั้งหลาย และฟื้นฟูระบอบเก่าของ CD ขึ้นมา เพราะอย่างน้อยๆ นักดนตรีและวงดนตรีจำนวนไม่น้อยก็สามารถระดมทุนบนเว็บอย่าง Kickstarter และ Indiegogo มาทำอัลบั้มที่มีต้นทุนหลักแสนหลักล้านบาทได้สำเร็จ (อันเป็นงบบันทึกเสียงในสตูดิโอระดับ “มืออาชีพ” ได้สบายๆ) โดยมีผู้สนับสนุนไม่เกิน 200 คนด้วยซ้ำ ดังนั้นปัญหาจึงไม่ใช่การที่จะทำให้ยอดขายสูงๆ ดังเช่นในอดีต แต่เป็นการเฟ้นหาทางตอบสนองกลุ่มแฟนเพลงเล็กๆ ที่มีกำลังสนับสนุนสูงเพื่อให้เขาสนับสนุนวงดนตรีมากขึ้นได้อย่างไม่ลังเลใจมากกว่า

ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าการเติบโตของบรรดาเว็บ "สตรีม" ทั้งหลายจะไม่ใช่ “ปัญหา” ที่ต้องพิจารณา เพราะ "ตัวกลาง" หน้าใหม่เหล่านี้ก็มีรายได้มากขึ้นเรื่อยๆ และรายได้เหล่านี้ก็ไม่ได้กลับมาสร้างงานดนตรีใหม่ๆ ผลิตศิลปินใหม่ๆ ดังเช่น ตัวกลางหน้าเก่าอย่างพวกพวกค่ายเพลงใหญ่ๆ

ทว่าเอาจริงๆ การปั้นศิลปินใหม่ๆ ของค่ายเพลงก็ดูจะน้อยลงตั้งแต่ทศวรรษ 1980's เป็นต้น มาอย่างนมนานแล้ว เพราะตั้งแต่ยุคนั้นพวกค่ายเพลงใหญ่ก็นิยมจะ "เด็ดยอด" นักดนตรีจากค่ายเพลงอิสระมาออกงาน มากกว่าจะมาปั้นนักดนตรีหรือวงดนตรีใหม่จากศูนย์ดังเช่นยุคก่อนหน้านั้น

Source: http://torrentfreak.com/file-sharing-boosts-creation-of-hit-music-research-finds-140102/ , http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2014/01/02/filesharingstudy

 

Facebook โดนผู้ใช้ฟ้องฐานแอบดู "ข้อความหลังไมค์"

คำว่า "ข้อความหลังไมค์" ที่ใช้กันในภาษาไทยนั้นในภาษาอังกฤษคือคำว่า Private Message ดังนั้น ก็จึงไม่แปลกที่ผู้ใช้จะคาดหวัง "ความเป็นส่วนตัว" (Privacy) ในการส่งข้อความเหล่านี้

อย่างไรก็ดี ชาวอเมริกันสองคนคาดว่าทาง Facebook ได้แอบดูข้อความหลังไมค์ของเขาและร่วมกันฟ้อง Facebook ฐานละเมิดรัฐบัญญัติความเป็นส่วนตัวของการสื่อสารอิเล็กทรอนิก (Electronic Communications Privacy Act) ซึ่งในทางปฏิบัติคือการแอบดูข้อความหลังไมค์ของพวกเขา

สำนวนฟ้องกล่าวหา Facebook ว่าทางบริษัทได้แอบอ่านข้อความหลังไมค์ของผู้ใช้ และขายข้อมูลดังกล่าวให้กับพวกบริษัทข้อมูลต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ใช้ถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อเพียงเพราะเขาเคยเข้าเว็บบางเว็บ

แน่นอนว่า Facebook ปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการแอบอ่านข้อความหลังไมค์ อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ก็มีงานวิจัยด้านความปลอดภัยที่ชี้ว่า Facebook น่าจะมีการสแกนข้อความหลังไมค์เพื่อตรวจหาชื่อเว็บไซต์ที่มีการส่งกันหลังไมค์ เพื่อวางแผนพัฒนาการขายโฆษณา

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ทาง Google และ Yahoo ก็โดนคดีทำนองเดียวกันแล้วในการแสกนอีเมลล์ และคดีก็ยังไม่สิ้นสุด

Source: http://gigaom.com/2014/01/02/facebook-reads-private-messages-to-boost-likes-lawsuit-claims/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท