รอบโลกแรงงานธันวาคม 2013

กัมพูชาเตรียมถกปรับเพิ่มเงินเดือนลูกจ้างโรงงานสิ่งทอ

1 ธ.ค. 2013 - กระทรวงแรงงานกัมพูชา ผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป และสหภาพแรงงาน จะจัดการหารือเกี่ยวกับการปรับเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำในปี 2557 ให้แก่แรงงานโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอ ในเดือน ธ.ค. นี้
       
“การหารือจะมีขึ้นในวันที่ 16 ธ.ค. กระทรวงต้องการที่จะเรียกร้องให้แรงงานสิ่งทอทั้งหมดอยู่ในความสงบเรียบร้อย เพื่อให้คณะกรรมการ 3 ฝ่ายหารือถึงการปรับเพิ่มค่าแรงในปี 2557” คำแถลงฉบับหนึ่งของกระทรวงแรงงาน ระบุ
       
ค่าแรงใหม่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ม.ค. ปีหน้า แต่ยังไม่ได้ระบุตัวเลขชัดเจนในเวลานี้
       
ปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอ อยู่ที่ 80 ดอลลาร์ต่อเดือน รวมทั้งค่ารักษาพยาบาล 5 ดอลลาร์ แต่ประเด็นปัญหาค่าแรงต่ำได้จุดชนวนให้เกิดการผละงานประท้วงขึ้นบ่อยครั้งในกัมพูชา
       
เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ สหภาพแรงงานได้เรียกร้องให้สมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอกัมพูชา (GMAC) ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแรงงานที่ 154 ดอลลาร์ต่อเดือน และขู่ว่าจะผละงานประท้วงทั่วประเทศ

“เราเรียกร้องให้มีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 154 ดอลลาร์ต่อเดือน” สหภาพแรงงาน ระบุในคำแถลงร่วมที่ส่งถึงประธานสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอกัมพูชา (GMAC)
       
อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอ เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้แก่ประเทศแหล่งใหญ่ที่สุด คิดเป็น 80% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของประเทศ ซึ่งในภาคส่วนนี้มีโรงงานอยู่ราว 500 แห่ง และแรงงาน 510,600 คน
       
รายงานของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า กัมพูชาทำรายได้จากการส่งออกสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป 4,660 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2556 เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบปีต่อปี.

ไฟไหม้โรงงานสิ่งทอจีนในอิตาลี เสียชีวิต 7 คน

2 ธ.ค. 2013 - เกิดเหตุไฟไหม้โรงงานสิ่งทอชาวจีนในเขตอุตสาหกรรมของเมืองปราโต ทางตอนกลางของอิตาลี ทำให้คนงานที่ติดอยู่ในที่พักซึ่งดัดแปลงขึ้นเองภายโรงงานเสียชีวิตอย่างน้อย 7 คน

สื่ออิตาลีรายงานว่า คนงาน 11 คนนำกล่องกระดาษมาดัดแปลงเป็นที่นอนบนโกดังของโรงงานดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมของเมืองปราโต อันเป็นแหล่งโรงงานสิ่งทอขนาดใหญ่ของประเทศ ทางการแคว้นทัสกานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองนี้กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าละอายใจมากเพราะต้องยอมรับว่าเขตดังกล่าวเป็นแหล่งจ้างงานผิดกฎหมายที่หนาแน่นที่สุดทางตอนกลางและตอนเหนือของประเทศ

ข้อมูลของทางการอิตาลีระบุว่า เมืองปราโตเป็นเมืองที่มีชุมชนชาวจีนหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของอิตาลี มีผู้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมายอย่างน้อย 15,000 คน จากจำนวนประชากรทั้งหมดเกือบ 200,000 คน และมีธุรกิจของชาวจีนมากกว่า 4,000 แห่ง

บริษัทต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาออกนโยบายไม่ติดต่อพนักงานช่วงหยุดงาน

4 ธ.ค. 2013 - ปัจจุบันนี้เป็นยุคที่การสื่อสารสามารถทำได้ง่าย ทำให้เจ้านายมักจะติดต่อลูกน้องด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าเป็นอีเมล หรือผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ในโทรศัพท์สมาร์ทโฟน อย่างเช่น ไลน์ และเฟซบุค

แต่ตอนนี้ บริษัทบางส่วนในนิวยอร์กมีนโยบายให้พนักงาน ยกเว้นพนักที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการบริการลูกค้า หยุดงาน 1 สัปดาห์ ทุกๆ 1 ไตรมาส และจะไม่มีการติดต่อผ่านช่องทางใดทั้งสิ้น โดยใช้ชื่อเรียกว่า blackout week

นายเบน คอฟแมน ผู้บริหารบริษัทที่ใช้นโยบายนี้กล่าวว่า เขาต้องการให้พนักงานหยุดงานพักผ่อนพร้อมๆ กัน และกลับมาทำงานใหม่หลักจากได้พักผ่อนอย่างเต็มที่

ด้านนางชิริน มาจิด พนักงานตำแหน่งด้านการตลาดกล่าวว่า นโยบายเป็นนโยบายที่ดี เนื่องจากเธอรู้สึกเหนื่อยจากการทำงานมาก จนแทบไม่มีเวลาดูและลูกสาววัย 9 เดือนของเธอ อีกทั้งหลังการพักพ่อนเธอก็สามารถทำงานได้มากขึ้นด้วย

นอกจากวิธีการนี้ บริษัทอื่นก็ทดลองวิธีการลดการสื่อสารด้วยเช่นกัน เช่น โฟล์คสวาเก็นจะปิดอีเมลของพนักงานบางส่วนหลังเลิกงาน 30 นาที โกล์ดแมน แซคแนะนำให้พนักงานระดับล่างหยุดงานช่วงสุดสัปดาห์ และ บีเอ็มดับเบิลยูเตรียมออกกฎใหม่ที่จะตัดการติดต่อกับพนักงานหลังเลิกงาน

H&M แบรนด์เสื้อผ้ารายใหญ่ของสวีเดนประกาศแผน 5 ปี เพื่อปรับค่าแรงคนงานภาคสิ่งทอ

5 ธ.ค. 2013 - เมื่อเดือนตุลาคม นาย Karl-Johan Persson ผู้เป็น CEO ของบริษัท H&M ซึ่งเป็นผู้ทำธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่นรายใหญ่ของสวีเดนเดินทางไปกัมพูชาเพื่อหารือกับนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็นและพบกับตัวแทนกลุ่มแรงงาน ขณะนี้เศรษฐกิจของกัมพูชาต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมด้านสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มเป็นอย่างมาก และคนงานสิ่งทอของกัมพูชาราวสี่แสนคนได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเพียงเดือนละ 75 ดอลลาร์หรือราว 2,300 บาทไทยเท่านั้น กัมพูชาเป็นที่ตั้งของโรงงานหลายแห่งซึ่งผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่มป้อนให้กับแบรนด์ใหญ่ระดับระหว่างประเทศหลายราย หลังจากนั้นไม่นานบริษัท H&M ได้ประกาศนโยบายห้าปีที่จะช่วยสร้างหลักประกันเรื่องรายได้ที่เป็นธรรม รวมทั้งจะปรับปรุงมาตรฐานและความสัมพันธ์ด้านแรงงานของคนงานในบริษัทผู้ทำสัญญาจ้างผลิตให้กับแบรนด์ H&M ทั่วโลก โดย H&M จะเริ่มทดลองแผนงานเรื่องนี้ที่โรงงานหนึ่งแห่งในกัมพูชาและอีกสองแห่งในบังคลาเทศในปีหน้า
 
เป้าหมายของบริษัท H&M คือการช่วยให้คนงานในภาคสิ่งทอซึ่งผลิตสินค้าตามสัญญาจ้างผลิตให้กับตน ได้รับค่าจ้างเงินเดือนในระดับที่เป็นธรรมและเพียงพอสำหรับความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต โดย H&M จะจ่ายเงินเพิ่มให้กับบริษัทผู้ผลิตตามสัญญาจ้างเพื่อให้คนงานของบริษัทเหล่านี้ได้ค่าจ้างสูงขึ้น และ H&M หวังว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือในปี 2561 โรงงานของบริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มตามสัญญาจ้างให้กับตนรวม 750 แห่งในประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะใช้มาตรฐานใหม่นี้ และจะเป็นประโยชน์ต่อค่าจ้างและมาตรฐานด้านแรงงานของคนงานสิ่งทอราว 850,000 คนทั่วโลกด้วย

ฟิลิปปินส์สั่งห้ามแรงงานไปทำงานในเยเมน

9 ธ.ค. 2013 - ทางการฟิลิปปินส์ประกาศห้ามพลเมืองไปหางานทำที่เยเมน ภายหลังกลุ่มติดอาวุธสังหารผู้คนหลายสิบคน รวมถึงชาวฟิลิปปินส์ที่ทำงานด้านสาธารณสุข 7 คน

นายอัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ แถลงว่า รัฐบาลยังได้เสนอที่จะอพยพพลเมืองราว 1,000 คน ซึ่งทำงานในภาคสาธารณสุขและก่อสร้างเดินทางกลับประเทศ ส่วนสำนักงานแรงงานจะออกประกาศห้ามชาวฟิลิปปินส์ไปทำงานที่เยเมน สำหรับคนที่เดินทางไปเพื่อจุดประสงค์อื่นขอแนะนำให้เลื่อนการเดินทาง

เหตุกลุ่มติดอาวุธโจมตีที่ศูนย์กลาโหมเยเมนเมื่อวันเสาร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 56 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวฟิลิปปินส์ 7 คน และยังมีชาวฟิลิปปินส์บาดเจ็บ 29 คน

พนักงานแควนตัสฟ้องคดีเครื่องบินพ่นยาฆ่าแมลงจนเป็นโรคพาร์กินสัน

9 ธ.ค. 2013 - ทนายความแถลงว่า นายเบรตต์ วอลลัส อดีตพนักงานสายการบินแควนตัสของออสเตรเลีย ซึ่งเชื่อว่าตนเองป่วยเป็นโรคพาร์กินสันเพราะทำงานบนเครื่องบินพ่นยาฆ่าแมลงมาหลายครั้งตามที่รัฐบาลว่าจ้าง จะดำเนินคดีทางกฎหมายฟ้องร้องรัฐบาลออสเตรเลีย
       
อดีตพนักงานวัย 52 ปี ทำงานบริการบนเครื่องบินสายการบินแควนตัสมา 27 ปีจนกระทั่งมีอาการป่วยด้วยโรคพาร์กินสันทำให้ต้องถูกปลดออกจากงานเมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้  เขาจึงได้ปรึกษานางทันยา เซอเกลอฟ ทนายความผู้เชี่ยวชาญในคดีดังกล่าว ซึ่งทนายความกล่าวว่า นายวอลลัสไม่เคยมีบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน และเชื่อว่าเป็นเพราะการทำงานสัมผัสกับยาฆ่าแมลงบนเครื่องบินพ่นยาฆ่าแมลงในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในทางการแพทย์แล้วยาฆ่าแมลงมีความเชื่อมโยงกับการเกิดโรคพาร์กินสันและความผิดปกติทางเซลประสาทต่างๆ  ส่วนการฟ้องร้องจะดำเนินการในศาลสูงนิวเซาท์เวลส์ปีหน้า  ทนายความผู้เชี่ยวชาญของออสเตรเลียกล่าวว่า คดีนี้จะเป็นคดีตัวอย่างทั้งในออสเตรเลียและประเทศอื่นๆที่มีการใช้เครื่องบินพ่นยาฆ่าแมลง รวมถึงในเอเชียบางประเทศ เช่น อินเดีย  รัฐบาลออสเตรเลียเป็นผู้ควบคุมการพ่นยาฆ่าแมลงตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกเพื่อป้องกันการระบาดของโรคมาลาเรียที่มียุงเป็นพาหะ เป็นต้น

แรงงานชาวเอเชียใต้หลายร้อยคนในสิงคโปร์ก่อการจลาจล

9 ธ.ค. 2013 - แรงงานชาวเอเชียใต้ 400 ร้อยคน ก่อการจลาจลในบริเวณย่าน "ลิตเติ้ลอินเดีย" บนเกาะสิงคโปร์ มีการเผารถยนต์ และทำลายทรัพย์สินสาธารณะหลังกลุ่มผู้ก่อการไม่พอใจที่รถประจำทางพุ่งชนแรงงานชาวอินเดียอายุ 33 ปีผู้หนึ่งเสียชีวิต คาดว่าเป็นผลมาจากนโยบายควบคุมแรงงานของรัฐบาลและการเหยียดเชื้อชาติ
 
ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวเชื่อว่า แม้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้ยากในสิงคโปร์ แต่เขามองว่าสถานการณ์อาจปะทุขึ้นอีก และอาจรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พวกเขาหวังว่า รัฐบาลสิงคโปร์จะสามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ได้ในอนาคต
 
หลายฝ่ายเชื่อว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้น นอกจากจะมาจากนโยบายควบคุมแรงงานต่างชาติที่เข้มงวดแล้ว หัวหน้านักเคลื่อนไหวเพื่อแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่าเหตุการณ์นี้ไม่ใช่การจลาจลตามที่ตำรวจกล่าวหา แต่เป็นความไม่พอใจของแรงงานข้ามชาติที่ได้รับแรงกดดันในหลายๆ ด้านมาเป็นเวลานาน
 
เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมแรงงานชาวเอเชียใต้ได้ 27 คนในข้อหาก่อการจลาจลครั้งนี้ โดยพวกเขาอาจถูกลงโทษด้วยการจำคุก 7 ปี หรือถูกโบย ขณะที่ความเสียหายล่าสุดพบว่า มีรถยนต์ 5 คัน รวมถึงรถตำรวจถูกเผา และเศษข้าวของกระจัดกระจายตามท้องถนน
 
ส่วนนายลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวว่า เหตุจลาจลครั้งนี้ยังไม่มีการตั้งข้อหาก่อความรุนแรง อย่างไรก็ตาม ทางการจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างถึงที่สุด ขณะที่ผู้บัญชาการตำรวจกล่าวว่า การก่อการจลาจลและทำลายสาธารณสมบัติเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ไม่ใช่วิถีทางของชาวสิงคโปร์
 
ทั้งนี้ การก่อจลาจลของแรงงานชาวเอเชียใต้ กลายเป็นกระเเสการโจมตีจากชาวสิงคโปร์จำนวนมากบนโลกออนไลน์ ขณะที่ทางการต้องเรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบ โดยเหตุจลาจลจากปัญหาการเหยียดเชื้อชาติในสิงคโปร์ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2512 เป็นต้นมา

ตร.สิงคโปร์ สอบสวน “แรงงาน” เอเชียใต้ 3,700 คน หลังเกิดจลาจล ทำ จนท.เจ็บหลายสิบ

11 ธ.ค. 2013 - แรงงานชาวอินเดียอีก 3 คนถูกศาลตั้งข้อหาก่อเหตุจลาจลวันนี้ (11 ธ.ค.) ภายหลังที่วานนี้ (10 ธ.ค.) เพื่อนร่วมชาติของพวกเขา 24 คน ถูกรวบตัวไปในความผิดเดียวกันซึ่งอาจได้รับโทษสูงสุด คือจำคุก 7 ปี และถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยน
       
เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (8 ธ.ค.) แรงงานชาวเอเชียใต้ประมาณ 400 คนออกอาละวาดสร้างความเสียหาย หลังจากมีคนงานก่อสร้างชาวอินเดียคนหนึ่งถูกรถบัสส่วนบุคคลพุ่งชนจนเสียชีวิต ในย่านลิตเติลอินเดีย ของสิงคโปร์ โดยเหตุชุลมุนในคืนนั้นได้ทำให้ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนบาดเจ็บรวม 39 คน
       
โฆษกหญิงของสำนักงานตำรวจกล่าวกับเอเอฟพีว่า จนถึงตอนนี้ ชาย 176 คน ซึ่งรวมถึงผู้ถูกจำคุก ได้ถูกส่งตัวไปยังกองบัญชาการตำรวจเพื่อบันทึกคำให้การแล้ว
       
นอกจากนี้ เธอกล่าวว่า ตำรวจได้เดินทางไปยังไซต์ก่อสร้าง เพื่อเข้าสอบสวนแรงงานต่างชาติราว 3,700 คน ที่อาศัยอยู่ตามหอพักอีกด้วย

ภายหลังการก่อจลาจล มียานพาหนะได้รับความเสียหายบางส่วน หรือมอดไหม้ทั้งหมด 25 คัน โดยเป็นรถตำรวจ 16 คัน
       
ส่วนคนขับรถบัสชาวสิงคโปร์ วัย 55 ปี ที่เป็นคนชน สักธิเวฬ กุมาราเวฬุ คนงานก่อสร้างชาวอินเดียวัย 33 ปี จนเสียชีวิตเสียชีวิต ได้รับการประกันตัวออกไปแล้ว หลังถูกตั้งข้อหาประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
       
ฝ่ายบรรดานักเคลื่อนไหวได้ออกมาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสิงคโปร์ตรวจสอบว่า เหตุจลาจลที่เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (8 ธ.ค.) เป็นสิ่งบ่งชี้ว่า พวกแรงงานอพยพรู้สึกไม่พอใจที่ได้รับค่าแรงต่ำหรือไม่
       
ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์กล่าวว่า กำลังประสานงานกับเอกอัครราชทูตอินเดียประจำสิงคโปร์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เข้าไปเยี่ยมคนงานชาวอินเดียเหล่านี้ในฐานะตัวแทนของประเทศ และให้ความช่วยเหลือพวกเขา รวมทั้งจัดหาทนายความเพื่อสู้คดี
       
ทั้งนี้ ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ร่ำรวย แต่เป็นเกาะขนาดเล็กที่มีประชากรเพียง 5.4 ล้านคนแห่งนี้ จำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติอย่างมาก โดยที่แรงงานส่วนใหญ่ในภาคก่อสร้างเป็นชาวเอเชียใต้

มาเลเซียตรวจตราย่านแรงงานต่างชาติ หวั่นเกิดจลาจลแบบสิงคโปร์

13 ธ.ค. 2013 - ทางการมาเลเซียเพิ่มการเฝ้าระวังแหล่งชุมนุมของแรงงานต่างชาติทั่วประเทศ เกรงเกิดเหตุจลาจลเหมือนที่เกิดขึ้นในย่านลิตเติลอินเดียของสิงคโปร์เมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากมาเลเซียมีแรงงานต่างชาติอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดอะสตาร์ของมาเลเซียรายงานอ้างคำกล่าวของ ดร.อาหมัด ซาฮิด ฮามิดี รัฐมนตรีมหาดไทยว่า ได้สั่งการให้ตำรวจและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพิ่มการเฝ้าระวังที่พักและแหล่งชุมนุมของแรงงานต่างชาติทั่วประเทศ โดยเฉพาะย่านที่เสี่ยงเกิดปัญหา เช่น ใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ ทางการเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวของแรงงานต่างชาติอยู่เสมอและพร้อมขจัดภัยที่อาจเกิดขึ้น ขอให้ประชาชนไม่ต้องเป็นกังวล และในเร็ว ๆ นี้จะออกบัตรบันทึกข้อมูลด้านชีวภาพและรหัสแท่งสำหรับแรงงานต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงาน เพื่อให้สามารถติดตามและตรวจสอบผู้กระทำผิดได้ดีขึ้น

ด้านสหพันธ์นายจ้างมาเลเซียขอให้นายจ้างและทางการร่วมกันร่างมาตรการป้องกันไม่ให้แรงงานต่างชาติก่อเหตุจลาจล เพราะจะส่งผลเสียต่อการทำงานของภาคเอกชน และขอให้มีโครงการสร้างความตระหนักเรื่องวัฒนธรรมและธรรมเนียมท้องถิ่นให้แรงงานต่างชาติได้รับรู้ เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างคนพื้นที่กับแรงงานต่างชาติ

ตัวเลขจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนปีนี้พบว่า แรงงานต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงานในมาเลเซียมีทั้งหมด 2.11 ล้านคน ส่วนตัวเลขแรงงานผิดกฎหมายอยู่ที่ 1.3 ล้านคนเมื่อนับถึงเดือนสิงหาคมปีก่อน

คนงานสร้างสนามบอลโลกบราซิลจ่อประท้วงอีก

15 ธ.ค. 2013 - เหล่าคนงานที่กำลังเร่งสร้าง สนามกีฬา ณ เมืองเซา เปาโล ซึ่งถูกวางโปรแกรมจัดการฟาดแข้งเกมแรก ศึกฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิล จ่อประกาศเลิกทำงานหลังไม่พอใจนโยบายป้องกันภัย
       
หลังจากเกิดเหตุการณ์เครนถล่มสนามเมืองเซาเปาโล ที่ใช้สำหรับนัดเปิดฟุตบอลโลก ปี 2014 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 จนมีคนงานเสียชีวิต 2 ราย ทำให้ตอนนี้สหภาพแรงงานของประเทศบราซิล เตรียมที่จะออกมาประท้วงเพื่อประกาศให้โลกรู้ว่าพวกเขาไม่พอใจกับ มาตรการรักษาความปลอดภัยที่มีอยู่ ซึ่งจะทำให้บราซิลต้องประสบปัญหาในการเตรียมการจัดการแข่งขัน ฟุตบอลโลกเพิ่มมากขึ้น
       
“การหยุดงานประท้วงมันคือความคิดที่ดี เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น และรัฐบาลบราซิลแสดงความผิดชอบเพียงนิดเดียวสำหรับชีวิตคนงานที่ตายไป สุดท้ายก็ทำเป็นลืมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น วันจันทร์นี้เราจะออกมาประท้วงเพื่อทวงสิทธิ และเผยความจริงทุกอย่าง” ซิเซโร คัสตูดิโอ ประธานบริษัทซินโคเมคกล่าว
       
“เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะไม่มีผู้ควบคุมความปลอดภัยในงาน รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานควรลุกออกจากเก้าอี้และลงมาช่วยพวกเราทำ แม้เวลากลางคืนที่พวกยังทำงานกันอยู่” คัสตูดิโอ ปิดท้าย
       
จากการเกิดอุบัติเหตุเครนถล่มเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน จนมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ทำให้ตอนนี้ทำให้รัฐบาลบราซิลต้องเร่งสร้างสนามเพื่อให้ทันกำหนดส่งต่อ ฟีฟา สำหรับการแข่งขันบอลโลก ปี 2014

ศาลบราซิลสั่งหยุดก่อสร้างสนามฟุตบอลโลกบางส่วนหลังมีคนงานเสียชีวิต

17 ธ.ค. 2013 - ศาลแรงงานบราซิลสั่งระงับการก่อสร้างบางส่วนที่สนามอารีนาอามาโซเนียซึ่งเป็นหนึ่งในสนามแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 หลังจากมีคนงานตกจากหลังคาเสียชีวิต จุดกระแสวิตกเรื่องความปลอดภัยในการเร่งสร้างสนามเพื่อให้ทันการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเดือนมิถุนายน

อัยการได้ขอให้ศาลสั่งระงับการก่อสร้างทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับที่สูงระหว่างรอการสอบสวนเหตุคนงานตกจากหลังคาเสียชีวิตเมื่อวันเสาร์ที่สนามกีฬาดังกล่าวในเมืองมาเนาส์ ทางตอนเหนือของประเทศ ด้านผู้ประสานงานองค์กรดูแลโครงการฟุตบอลโลกทั้งหมดในเมืองมาเนาส์เผยว่า ได้รับคำสั่งศาลแรงงานเมื่อวันอาทิตย์ให้ระงับการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับที่สูง

คนงานที่เสียชีวิตรายล่าสุดถือเป็นรายที่ 5 ที่เกิดขึ้นขณะก่อสร้างสนามกีฬาเพื่อใช้แข่งขันฟุตบอลโลกทั้งหมด 12 เมือง โดยเกิดเหตุขึ้นแล้วที่เมืองมาเนาส์ กรุงบราซิเลีย และนครเซาเปาโล บราซิลเป็นประเทศแรกในลาตินอเมริกาที่ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกนับตั้งแต่อาร์เจนตินาได้เป็นเจ้าภาพครั้งหลังสุดในปี 2521 การก่อสร้างสนามประสบปัญหามากมายทั้งเรื่องความล่าช้า อุบัติเหตุ ค่าใช้จ่ายบานปลาย และประชาชนไม่พอใจจนมีการชุมนุมตามท้องถนนทั่วประเทศเมื่อปีก่อน

เอธิโอเปียเผชิญปัญหาใหญ่ แรงงานคืนถิ่นนับแสนถูกขับออกจากซาอุฯ กลับประเทศแบบตัวเปล่า

18 ธ.ค. 2013 - ทางการเอธิโอเปียต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนด้านมนุษยธรรมในการรองรับพลเมืองของตน จำนวนเกือบ 140,000 รายที่เดินทางกลับจากซาอุดีอาระเบีย ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยในวันพุธ (18) ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดราว 1 เดือน หลังทางการซาอุดีอาระเบียเริ่มดำเนินมาตรการผลักดันแรงงานที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายออกนอกประเทศหลังจากหมดระยะเวลาผ่อนผันนาน 7 เดือนที่สิ้นสุดลงไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน
       
รายงานของไอโอเอ็มระบุว่า เอธิโอเปียต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนสำหรับการรองรับการไหลบ่าของแรงงานคืนถิ่นจำนวนเกือบ 140,000 รายจากซาอุดีอาระเบีย หลังจากเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า รัฐบาลเอธิโอเปียไม่มีขีดความสามารถเพียงพอ ในการรองรับการอพยพกลับประเทศของแรงงานเอธิโอเปียจำนวนดังกล่าว จากเมืองต่างๆ ของซาอุดีอาระเบียได้ด้วยตัวเอง
       
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเอธิโอเปียภายใต้การนำของประธานาธิบดี มูลาทู เทโชเม และนายกรัฐมนตรีไฮเลมาเรียม เดซาเลกน์ ประเมินว่า แรงงานคืนถิ่นชาวเอธิโอเปียน่าจะมีจำนวนราว 30,000 คนเท่านั้น แต่ในขณะนี้กลับกลายเป็นว่า แรงงานเอธิโอเปียในแผ่นดินซาอุฯ ที่ต้องการเดินทางกลับบ้านเกิดนั้นมีจำนวนมากเกือบ140,000 ราย หรืออาจมีถึง 150,000 คน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการไหลบ่ากลับประเทศครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และเหนือกว่าความสามารถของรัฐบาลในการรองรับคนกลุ่มนี้
       
ขณะเดียวกัน รัฐบาลเอธิโอเปียยังต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญทางสังคม จากการที่แรงงานคืนถิ่นจากซาอุดีอาระเบียส่วนใหญ่เดินทางกลับประเทศแบบ “ตัวเปล่า” โดยที่ไม่มีเงินออม และไม่มีทรัพย์สินใดๆ นอกจากนั้น แรงงานจำนวนมากยังถูกล่วงละเมิดทั้งทางร่างกายและจิตใจ
       
ในแต่ละปี ชาวเอธิโอเปียจำนวนมากจะเดินทางไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางเพื่อหางานทำ โดยในปีที่แล้วข้อมูลของกระทรวงแรงงานเอธิโอเปียพบว่า มีแรงงานเฉพาะที่เป็นสตรีชาวเอธิโอเปียสูงถึง 200,000 ราย ออกไปหางานทำในต่างแดน
       
ทั้งนี้ แม้เอธิโอเปียจะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในดินแดนที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดของแอฟริกา แต่ทว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศยังคงมีรายได้น้อยกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อวัน ขณะที่อัตราการว่างงานในเขตเมืองใหญ่ของเอธิโอเปียล่าสุดอยู่ที่ราว 20 เปอร์เซ็นต์

สิงคโปร์ส่งกลับแรงงานเอเชียใต้ที่พัวพันเหตุจลาจล

20 ธ.ค. 2013 - ทางการสิงคโปร์แถลงข่าวเนรเทศแรงงานเอเชียใต้จำนวน 53 คน ที่มีส่วนร่วมในเหตุจลาจลครั้งแรกของสิงคโปร์ในรอบ 40 ปี ขณะที่มีอีก 4 คน รอการส่งตัวออกจากประเทศด้วย

เจ้าหน้าที่สิงคโปร์กล่าวว่า ในจำนวนแรงงานชาย 53 คน ที่ถูกเนรเทศออกจากสิงคโปร์เป็นชาวอินเดีย 52 คน และบังกลาเทศ 1 คน รวมทั้งยังดำเนินคดีอาญากับอีก 28 คน ที่มีส่วนร่วมในการก่อความรุนแรงเมื่อ 8 ธันวาคม

เหตุจลาจลที่แทบไม่ค่อยเกิดขึ้นในสิงคโปร์ครั้งนี้ ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 39 คน ซึ่งรวมถึงตำรวจ รถยนต์ 25 คันเสียหายและถูกวางเพลิง เหตุรุนแรงดังกล่าวมีชนวนเหตุมาจากคนงานก่อสร้างชาวอินเดียถูกคนขับรถบัสสิงคโปร์ชนเสียชีวิตในย่านลิตเติลอินเดีย ซึ่งเป็นที่อยู่ของแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะชาวเอเชียใต้หลายหมื่นคนและเกิดเหตุในวันหยุดสุดสัปดาห์

เลขาฟีฟ่าเน้นปลอดภัยไว้ก่อนในการก่อสร้างสนามกีฬาบราซิล

21 ธ.ค. 2013 - นายเจโรม วัลค์เก เลขาธิการสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) กล่าวว่า การก่อสร้างสนามกีฬาเพื่อจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ในบราซิลจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของคนงานก่อสร้างเป็นสำคัญ ขณะที่ผู้จัดงานพยายามเร่งดำเนินการให้เสร็จทันกำหนดการแข่งขันในปีหน้า

เลขาธิการฟีฟ่ากล่าวว่า ความปลอดภัยต้องมาก่อนเป็นอันดับแรกทั้งต่อคนงาน นักกีฬาและผู้ชมอย่างเท่าเทียมกัน ภายหลังมีคนงานเสียชีวิต 3 คนในรอบ 1 เดือน ก่อนหน้านี้คนงานคนหนึ่งเสียชีวิตหลังตกลงมาที่ความสูง 35 เมตรระหว่างการก่อสร้างที่เมืองมาเนาส์เมื่อวันเสาร์ที่แล้ว ส่วนคนงานอีก 2 คนเสียชีวิตเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนจากเครนพังลงมาที่สนามกีฬาซึ่งเร่งก่อสร้างเพื่อใช้เป็นสถานที่จัดพิธีเปิดการแข่งขันฟุตบอลโลกในนครเซาเปาโลวันที่ 12 มิถุนายนปีหน้า

รมว.แรงงานเผยฝรั่งเศสเตรียมเริ่มสร้างงานในช่วงกลางปี 2014

24 ธ.ค. 2013 - นายมิแชล ซาแปง รัฐมนตรีแรงงานของฝรั่งเศสกล่าวว่า รัฐบาลจะสร้างตำแหน่งงานสำหรับผู้ต้องการหางานหลายล้านคนในช่วงกลางปี 2014 เนื่องจากรัฐบาลพยายามอย่างหนักเพื่อลดอัตราการว่างงานที่สูงเป็นประวัติการณ์

นายซาแปงคาดว่าในปีหน้า “ความไม่ชัดเจน" ด้านการเงินและด้านเศรษฐกิจของประเทศจะสิ้นสุดลง และกล่าวว่า "อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจช่วงกลางปี 2014 จะเพียงพอสำหรับการสร้างตำแหน่งงาน"

แม้ว่าข้อมูลเศรษฐกิจจะซบเซาและมีการคาดการณ์ในเชิงลบ แต่พรรคสังคมนิยมให้คำมั่นว่าจะทำให้แนวโน้มการว่างงานอยู่ในช่วงขาลงภายในสิ้นปี

รมว.แรงงานกล่าวกับช่องข่าว BFMTV ว่า “เป้าหมายของเราในปัจจุบันนี้คือการทำให้แนวโน้มการว่างงานปรับตัวลง นี่เป็นการต่อสู้ที่เรามุ่งมั่น และเรากำลังดำเนินการไปทีละขั้น ทีละเดือน"
นายซาแปงระบุว่า “จำนวนผู้ว่างงานจะยังคงลดลงในช่วงหลายเดือนข้างหน้า"

สำหรับในเดือนต.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานลดลง 0.6% แตะระดับ 3.275 ล้านคน สำนักข่าวซินหัวรายงาน

เกิดเหตุปะทะกันระหว่างตำรวจกัมพูชากับคนงานโรงงานสิ่งทอ

27 ธ.ค. 2013 - เจ้าหน้าที่กัมพูชารายงานว่า ตำรวจกัมพูชาได้ยิงปืนขู่ระหว่างการปะทะกันชั่วขณะกับคนงานโรงงานสิ่งทอที่ออกมาประท้วงเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าแรง

เจ้าหน้าที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนในท้องถิ่นรายงานว่า เหตุรุนแรงครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามกวาดต้อนผู้ประท้วงออกไปจากถนนบริเวณชานกรุงพนมเปญ และคนงานได้ขว้างปาก้อนหินเข้าใส่เจ้าหน้าที่ทางการซึ่งยิงปืนขึ้นฟ้าหลายนัดและใช้กระบองทุบตีผู้ประท้วง มีรายงานว่ามีผู้บาดเจ็บหลายรายจากทั้ง 2 ฝ่าย

ความขัดแย้งเกี่ยวกับค่าแรงและความปลอดภัยในการทำงานเกิดขึ้นบ่อยครั้งในอุตสาหกรรมสิ่งทอของกัมพูชาซึ่งผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ต่างชาติ อาทิ แกป ไนกี และเอชแอนด์เอ็ม โดยในอุตสาหกรรมสิ่งทอของกัมพูชามีการจ้างแรงงานราว 650,000 คน และเป็นแหล่งสร้างรายได้จากต่างชาติให้กับประเทศ

หลังจากคนงานโรงงานสิ่งทอหลายหมื่นคนต่างผละงานประท้วงทั่วประเทศในวันนี้ นักเคลื่อนไหวแสดงความกังวลว่าอาจเกิดเหตุรุนแรงอีก ด้านเจ้าหน้าที่ความมั่นคงกล่าวว่า เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องยิงปืนขู่หลังจากที่คนงานสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของโรงงาน ขณะที่ประธานสหภาพแรงงานกัมพูชาออกมาประณามเจ้าหน้าที่ทางการที่ใช้ความรุนแรงต่อคนงานที่ออกมาเรียกร้องค่าแรงที่เหมาะสม

คนงานโรงงานสิ่งทอหลายพันคนออกมาประท้วงนอกกระทรวงแรงงานหรือเข้าร่วมการประท้วงกับฝ่ายค้านในกรุงพนมเปญในวันนี้ เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีฮุน เซนลาออกและจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ ก่อนหน้านี้ รัฐบาลกัมพูชาประกาศว่าจะขึ้นค่าแรงให้กับคนงานโรงงานสิ่งทอจาก 80 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,560 บาท) เป็น 95 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,040 บาท)โดยเริ่มจากเดือนเมษายนปีหน้า แต่คนงานเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเดือนละ 160 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5,120 บาท) ในปีหน้า

จีนยกเลิก “ค่ายแรงงาน” และผ่อนปรน “นโยบายลูกเดียว” อย่างเป็นทางการ

28 ธ.ค. 2013 - คณะกรรมการบริหารประจำสภาผู้แทนประชาชน (NPC) ของจีน ได้มีมติอย่างเป็นทางการในการยกเลิก “ระบบค่ายแรงงาน เพื่ออบรมการศึกษาใหม่” (re-education through labor system) ที่จัดตั้งขึ้นในปี 2500 ซึ่งยกอำนาจสิทธิ์ขาดแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในการจับกุมและสั่งลงโทษคุมขังผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดไว้ในค่ายแรงงานได้นานถึง 4 ปี โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาจากสำนักงานศาลยุติธรรม สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูในประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชนและบ่อนทำลายหลักนิติธรรมอยู่ตลอดมา
       
ภายใต้แผนนโยบายใหม่ที่รับรองโดยที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติของจีน ซึ่งเริ่มอภิปรายมาตั้งแต่วันจันทร์ (23 ธ.ค.) และสิ้นสุดลงวานนี้ (28 ธ.ค.) จะมีผลให้เหล่านักโทษที่ยังอยู่ในค่ายแรงงานได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระทั้งหมด
       
“ค่ายแรงงานเป็นเรื่องน่าอับอายของจีน” หวง เชิงเชิง ชายชาวฉงชิ่งวัย 31 ปี ที่ถูกกักตัวเป็นเวลากว่า 2 ปีในค่ายแรงงานท้องถิ่น หลังเขาโพสต์ข้อคิดเห็นออนไลน์เกี่ยวกับกระแสการปฏิวัติของโลกอาหรับ (Arab Spring) ที่ผู้คนทั่วโลกต่างให้ความสนใจ
       
“ผมดีใจและมีความสุขมากในวันนี้ วันที่มัน (ค่ายแรงงาน) ถูกขจัดทำลายลงไปจนหมดสิ้น”
       
อย่างไรก็ดี กลุ่มแอมเนสตี้ (Amnesty International) ซึ่งเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้เผยแพร่รายงานประจำเดือน ธ.ค. ระบุว่า แม้ทางการจีนจะสั่งยกเลิกระบบค่ายแรงงานลงไปแล้ว แต่ก็พบระบบการตัดสินลงโทษในรูปแบบอื่นๆ เช่น “คุกมืด”, “การใช้ยาเพื่อการบำบัดฟื้นฟู” และ “ศูนย์ล้างสมอง” มาใช้ทดแทน

นอกจากนั้นคณะกรรมการฯ ยังได้สนับสนุนมาตรการผ่อนปรน “นโยบายลูกคนเดียว” ที่ใช้มานานกว่า 30 ปีลงอีกด้วย โดยจีนจะอนุญาตให้คู่สามี ภรรยาสามารถมีลูก 2 คนได้ภายใต้เงื่อนไขที่สามีหรือภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นลูกคนเดียว
       
ทั้งนี้ แผนการผ่อนปรนดังกล่าวบังเกิดขึ้นท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาสัดส่วนประชากรภายในประเทศที่มีแนวโน้มว่า ชาวจีนวัยทำงานจะมีจำนวนลดลงจนสวนทางกับประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
       
“การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดได้แสดงให้เห็นว่าบรรดาผู้นำระดับสูงเริ่มทำตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชนจีน” หวัง อี้วไค่ ศาสตราจารย์ประจำสถาบันบริหารกิจการบ้านเมืองแห่งชาติจีน กล่าว
       
“สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม ... ก้าวแรกที่มั่นคงย่อมนำพาไปสู่ผลลัพธ์ที่น่ายินดียิ่งขึ้น”

พนง.รถไฟเกาหลีใต้ยอมยุติผละงานนานร่วมเดือน

30 ธ.ค. 2013 - พนักงานการรถไฟเกาหลีใต้หลายพันคนยอมยุติการผละงานบางส่วนที่ดำเนินมานาน 3 สัปดาห์แล้ว หลังจากสมาชิกสภานิติบัญญัติรับปากจะคำนึงถึงความกังวลของพวกเขาที่มีต่อแผนของรัฐบาลเรื่องปรับโครงสร้างองค์กรการรถไฟ

พนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพการรถไฟเกาหลี (โคเรล) กว่า 6,000 คน หรือราว 1 ใน 3 ของพนักงานทั้งหมด ผละงานมาตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม เพื่อประท้วงแผนการปรับโครงสร้างองค์กรที่พวกเขาเกรงว่าจะเกิดการลอยแพพนักงานจำนวนมากและลดเงินเดือน ล่าสุดโฆษกสหภาพเผยในวันนี้ว่า ตกลงจะยุติการผละงานแล้ว หลังจากสมาชิกสภานิติบัญญัติรับปากจะตั้งคณะกรรมการขึ้นดูแลกระบวนการปรับโครงสร้างองค์กรว่าจะไม่ละเลยความกังวลของพนักงาน คณะกรรมการ 8 คน จะตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในวันนี้

การผละงานที่ดำเนินมานาน 3 สัปดาห์ ถือว่านานที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทำให้การเดินรถไฟและรถไฟใต้ดินทั่วประเทศล่าช้าหรือยกเลิก และเมื่อวานนี้มีการชุมนุมใหญ่ใจกลางกรุงโซล มีพนักงานการรถไฟและนักเคลื่อนไหวเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ถือว่ามากที่สุดในปีนี้

ที่มาเรียบเรียงจาก: ประชาไท, ว๊อยซ์ ออฟ อเมริกา, มติชน, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, ไทยรัฐ, เดลินิวส์, โพสต์ทูเดย์, สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท