สรุปปี 56 กระทรวงแรงงานสุดอัปลักษณ์ในยุคยิ่งลักษณ์ : 20 เรื่องล้มเหลวในรอบ 20 ปี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในรอบปี 2556 ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานมีรัฐมนตรีประจำกระทรวง 2 คน คือ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ และร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง พบว่ามีการประกาศใช้นโยบายเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตแรงงานที่เห็นได้ชัดเพียง 2 เรื่องเท่านั้น คือ การที่สำนักงานประกันสังคมได้ขยายสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ (เงินบำนาญ) ให้แก่แรงงานนอกระบบที่สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 กับคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และ สภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) พ.ศ.... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบต่อไป

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาลงไปในรายละเอียดของการแก้ไขปัญหาให้กับแรงงานกลุ่มต่างๆ แล้ว ต้องกล่าวว่ารัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานโดยเฉพาะในสมัยร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รวมถึงการขึ้นมาดำรงตำแหน่งของปลัดกระทรวงแรงงานคนปัจจุบัน (นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ) ที่อิงกับฝ่ายการเมืองเป็นสำคัญ ต่างมิได้แสดงผลงานใดๆ ให้ประจักษ์หรือดำเนินการต่อยอดการทำงานจากรัฐมนตรีคนที่ผ่านมาซึ่งได้มีข้อตกลงหลายเรื่องกับผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่างๆ กล่าวได้ว่านี่เป็น “ความล้มเหลวในการทำงานที่เห็นได้ชัด” นี่ไม่นับว่ายังขาดการประสานงานการทำงานระหว่างกรมกองต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ข้าราชการไร้เอกภาพในการทำงาน หลายกรมกองมีสภาพ “เกียร์ว่าง” จนสถานการณ์ในหลายพื้นที่เลวร้ายลงและปล่อยให้เป็นการแก้ไขปัญหาระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างโดยตรง จนกล่าวได้ว่าเป็นกระทรวงแรงงานยุคอัปลักษณ์ที่สุดในรอบ 20 ปี ตั้งแต่ก่อตั้งมาเมื่อปี 2536

ต่อไปนี้เป็นการประเมินการดำเนินงานของรัฐบาลต่อแรงงานกลุ่มต่างๆ ในประเทศไทยในรอบปี 2556 ที่ผ่านมา

ความล้มเหลวเชิงนโยบาย 13 เรื่อง

(1) การที่รัฐสภาไม่รับร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ

21 มีนาคม 2556 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่เสนอโดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย และคณะ (ฉบับ 14,264 รายชื่อ) กับฉบับที่เสนอโดยนายนคร มาฉิม และคณะ และได้รับหลักการเฉพาะร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี กับร่างพ.ร.บ.ประกัน สังคม ฉบับที่เสนอโดยนายเรวัติ อารีรอบและคณะ เพียงเท่านั้น

แม้ว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ.... สภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จสิ้นมาตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2556 และจัดส่งรายงานการพิจารณาให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม แต่ยังมีหลายประเด็นสำคัญที่ไม่สอดคล้องกับร่างกฎหมายที่เสนอโดยผู้ใช้แรงงาน
โดยเฉพาะองค์ประกอบและที่มาของคณะกรรมการประกันสังคม ที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมาเป็นประธานกองทุน ถือว่าเป็นการให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีอำนาจบริหารจัดการในกองทุนประกันสังคมแบบเบ็ดเสร็จ, สำนักงานประกันสังคมยังไม่อิสระ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากฝ่ายผู้ประกันตนในการดำเนินงานและการตรวจสอบ ขาดความโปร่งใสด้านข้อมูล รวมถึงไม่มีการกำหนดเรื่องคณะกรรมการการลงทุน เพื่อเข้ามาทำหน้าที่แบบมืออาชีพในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน และคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของสำนักงานและการดำเนินงานต่างๆ ให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เป็นต้น

(2) การที่รัฐบาลไทยยังไม่รับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98

แม้ว่ารัฐบาลโดยพลตำรวจเอกประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี จะได้ทำข้อตกลงกับคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งนำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และองค์กรแรงงานต่างๆ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2556 เรื่องการนำอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในเดือนตุลาคม 2556 และจะตั้งคณะทำงานฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายผู้ใช้แรงงานเพื่อกำหนดกรอบระยะเวลา รวมทั้งกระบวนการที่รัฐบาลจะดำเนินการให้สัตยาบันให้ชัดเจน โดยให้แล้วเสร็จภายใน 1 พฤษภาคม 2557 นั้น

แต่ภายหลังจากการเข้าติดตามและพบผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะนายพานิช จิตร์แจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง กลับแจ้งว่าทางคณะรัฐมนตรีมีข้อเสนอแนะเรื่องการให้แก้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้เรียบร้อยก่อนจึงจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป นี้จึงเป็นภาพสะท้อนสำคัญของการไม่จริงใจและบิดพลิ้วของรัฐบาลชุดนี้อย่างยิ่ง

(3) การที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่ยอมเซ็นรับรองร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับบูรณาการแรงงาน หรือฉบับ 12,567 รายชื่อ กับร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ฉบับ 10,300 รายชื่อ ในฐานะร่างกฎหมายการเงิน

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและคณะ นำโดยนายชาลี ลอยสูง และนายยงยุทธ เม่นตะเภา ได้นำรายชื่อผู้ใช้แรงงานจำนวน 12,567 รายชื่อ ยื่นเสนอร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับบูรณาการแรงงาน ต่อประธานรัฐสภา และเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2555 องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย นำโดยนายมนัส โกศล และคณะ ได้นำรายชื่อผู้ใช้แรงงาน จำนวน 10,300 รายชื่อ เข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับผู้ใช้แรงงาน ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตามเนื่องจากร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยเรื่องการเงินที่นายกรัฐมนตรีต้องลงนามรับรองเห็นชอบก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การบรรจุวาระในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป แต่ผ่านมากว่า 1 ปี นายกรัฐมนตรีก็กลับไม่มีท่าทีใดๆ ต่อเรื่องดังกล่าวนี้แม้แต่น้อย

(4) การประกาศนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่มาพร้อมกับการเลิกจ้างแรงงานในพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆ

ภายหลังจากการประกาศใช้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 ภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือนของการประกาศใช้ พบว่า มีนายจ้างในหลายพื้นที่อุตสาหกรรมได้ใช้ข้ออ้าง 300 บาท มาเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่เป็นธรรม  ไม่ว่าจะเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างโรงงานวีณาการ์เม้นต์ จ.สระบุรี โรงงานมาสเตอร์พีซ การ์เม้นท์แอนด์เท็กไทล์ จ.นครปฐม และโรงงานแอร์โร่เวิร์ค เอเชีย จ.ชลบุรี อีกทั้งในหลายสถานประกอบการได้ลดเวลาทำงานล่วงเวลา (โอที) ของลูกจ้างลง เพื่อไม่ให้นายจ้างมีภาระต้นทุนค่าจ้างที่สูงเกินไป แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อลูกจ้าง ทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมถึงยังมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน เช่น การปรับวันการทำงาน หรือ ปรับเวลาการเข้าออกงานใหม่ เป็นต้น

สถานการณ์ที่รุนแรงและเห็นได้ชัดในรอบปี 2556 ที่ผ่านมา ได้แก่
- กรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย ถูกเลิกจ้าง 129 คน เนื่องจากสหภาพแรงงานได้มีการยื่นข้อเสนอกับสถานประกอบการเพื่อขอให้พิจารณาปรับค่าจ้างตามนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ให้สอดคล้องกับฐานเงินเดือนและอายุการทำงานของลูกจ้าง และการบรรจุพนักงานเหมาค่าแรงที่มีอายุงาน 6 เดือนขึ้นไป ให้มีสิทธิสอบบรรจุเป็นพนักงานประจำ รวมถึงการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี, โบนัส

- สหภาพแรงงานเจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย ถูกสถานประกอบการยื่นข้อเรียกร้องสวนกลับ ภายหลังจากที่สหภาพแรงงานได้มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส เพาเวอร์เทรน (ประเทศไทย ) จำกัด โดยสถานประกอบการได้ยื่นข้อเรียกร้องเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน จากเดิมพนักงานทำงาน 5 วัน ต่อสัปดาห์ หยุดวันเสาร์ และวันอาทิตย์ เปลี่ยนเป็นให้ทำงาน 6 วัน ต่อสัปดาห์ หยุดวันอาทิตย์เพียงวันเดียว โดยอัตราค่าจ้างยังเท่าเดิม ทั้งนี้ในระหว่างที่การเจรจายังไม่ยุติ สถานประกอบการก็ได้มีการนำสภาพการจ้างงานแบบใหม่มาใช้กับพนักงานที่กำลังจะบรรจุเป็นพนักงานประจำ หรือพนักงานที่กำลังจะเลื่อนตำแหน่งงานเรียบร้อยแล้ว เพื่อกดดันลูกจ้าง โดยเฉพาะที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ยังไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

- สมาชิกสหภาพแรงงานขนส่งแห่งประเทศไทย ในฐานะลูกจ้างบริษัทลินฟ๊อกซ์ ทรานสปอร์ตแห่งประเทศไทย จำนวน 50 คน ถูกเลิกจ้าง ภายหลังจากที่ลูกจ้างได้รวมตัวกันหยุดงาน เพื่อเจรจาให้บริษัทมีการจัดสวัสดิการ วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดประจำปี 13 วัน ให้แก่พนักงาน รวมถึงขอให้มีการจ่ายเงินค่าทำงานในวันหยุดให้แก่พนักงานที่ต้องทำงานด้วย แต่ทางบริษัทไม่ได้ตอบรับข้อเรียกร้องดังกล่าว แต่กลับแจ้งบอกเลิกสัญญาจ้างพนักงานที่มารวมตัว ทั้งๆ ที่ในข้อเท็จจริงแล้วลูกจ้างต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่เลวร้าย ทั้งค่าแรงและสวัสดิการต่ำ นี่ไม่นับความไม่ปลอดภัยในการจ้างงานที่พนักงานต้องขับรถส่งสินค้าทั่วประเทศยาวนานกว่า 12 ชั่วโมงโดยไม่ได้หยุดพัก ไม่มีวันหยุดใดๆ ทั้งสิ้นตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่บริษัทก็ไม่ได้ตระหนักถึงสภาพการทำงานดังกล่าว

- สหภาพแรงงานเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง ถูกทางนายจ้างได้มีการยื่นข้อเรียกร้องสวนกลับ ภายหลังจากที่สหภาพแรงงานได้มีการยื่นข้อเรียกร้องเรื่องการปรับสวัสดิการให้สอดคล้องกับสถานการณ์การจ้าง โดยบริษัทได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง รวม 4 ข้อ คือ
(1) เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน เวลาทำงานปกติ งานล่วงเวลาและการคิดค่าจ้างรายชั่วโมง วันลา ยกเลิกโครงสร้างตำแหน่งงาน โครงสร้างค่าจ้าง และตารางการขึ้นค่าจ้างจากการประเมินผลงาน (2) การเลื่อนตำแหน่งของพนักงานรายวันออกจากข้อตกลงสภาพการจ้าง (3) การยกเลิกเงินช่วยเหลือพนักงานที่ประสบภัยธรรมชาติ และ (4) ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้มีกำหนดเวลา 3 ปี  ทั้งนี้ทางลูกจ้างเห็นว่าเป็นสภาพการจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง โดยเฉพาะการทำงานแบบ 4 วัน หยุด 2 วัน โดยบริษัทใช้ข้ออ้างเรื่อง จรรยาบรรณทางธุรกิจในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์ ELECTRONIC INDUSTRY CODE OF CONDUCT (EICC) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 23 ที่เวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง

- ลูกจ้างบริษัทเวีย โลจิสติกส์ จำกัด ซึ่งได้มีการเจรจากับนายจ้างเพื่อขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน แต่นายจ้างไม่ยอมเจรจา อีกทั้งยังได้ประกาศเลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 105 คน ที่ลงลายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าวอีกด้วย

(5) พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 ต่อการสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานที่ไม่มั่นคงแบบเหมาค่าแรง แต่ไม่คุ้มครองแรงงาน

ผลจากการแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาเป็นพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ซึ่งมีการตัดนิยามความหมายของคำว่า “นายจ้าง” ตามมาตรา 5 (3) แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ออกไป และได้กำหนดหลักการ ซึ่งมีเนื้อหาลักษณะเช่นเดิมนั้นมาแยกบัญญัติไว้ในส่วนของมาตรา 11/1 วรรคหนึ่งแทน ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลใดเป็นผู้จัดหาคนมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ และโดยบุคคลนั้นจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานหรือรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่มาทำงานนั้นหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าว"

การบัญญัติเช่นนี้ทำให้ขาดความเชื่อมโยงกับความเป็นนายจ้างโดยตรงเพราะทำให้มีนายจ้างเกิดขึ้นเพียงคนเดียว คือ ผู้ประกอบกิจการ ส่วนผู้รับเหมาค่าแรงไม่ต้องมีฐานะเป็นนายจ้างของลูกจ้างรับเหมาค่าแรงดังเช่นในอดีตอีกต่อไป  การกำหนดสาระสำคัญเช่นนี้เองที่ทำให้เป็นการเพิ่มภาระด้านการบริหารจัดการและต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบกิจการ และยิ่งทำให้ผู้ประกอบกิจการต้องแสวงหาหนทางหลีกเลี่ยงกฎหมายอย่างไม่สิ้นสุด และก่อให้เกิดเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างมากยิ่งขึ้น เพราะผู้ประกอบกิจการสามารถทำสัญญาจ้างเหมาค่าแรงได้อย่างกว้างขวางและแพร่หลาย โดยไม่จำกัดลักษณะของงานหรือความจำเป็นแท้จริงในการดำเนินธุรกิจ หรืออาจกล่าวได้ว่ากิจการใดสามารถมอบหมายให้ผู้อื่นกระทำแทนได้โดยชอบด้วยกฎหมาย กิจการนั้นย่อมสามารถที่จะทำการจ้างเหมาค่าแรงได้

ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้ในสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะภาคยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์ รวมถึงภาคสิ่งทอ เต็มไปด้วยลูกจ้างรับเหมาค่าแรง หลายสถานประกอบการมีจำนวนมากกว่าลูกจ้างประจำ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วลูกจ้างเหล่านี้ไม่อาจเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานภายในสถานประกอบการได้ ย่อมทำให้สหภาพแรงงานมีขนาดเล็กลง ส่งผลให้มีอำนาจในการต่อรองน้อยลงตามไปด้วย จนในที่สุดนายจ้างก็จะไม่ให้ความสำคัญอีกต่อไป

นอกจากนี้การที่ผู้ประกอบกิจการสามารถทำสัญญาจ้างเหมาค่าแรงได้อย่างเสรี ยังส่งผลกระทบต่อกระบวนการเจรจาต่อรองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์อีกด้วย เพราะเมื่อสหภาพแรงงานนัดหยุดงานเพื่อกดดันให้นายจ้างยอมตกลงตามข้อเรียกร้อง แต่ในระหว่างนั้นนายจ้างสามารถไปทำสัญญาจ้างเหมาค่าแรง เพื่อให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงมาทำงานทดแทนลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงที่กำลังหยุดงานประท้วง ซึ่งปัจจุบันก็ไม่มีกฎหมายห้ามการดำเนินการลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด นายจ้างจึงไม่ได้รับผลกระทบจากการหยุดงานประท้วงของพนักงาน เพราะมีลูกจ้างรับเหมาค่าแรงเข้ามาทำงานแทน ส่งผลให้กระบวนการเจรจาต่อรองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ไม่อาจบรรลุผลได้ตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้

(6) คณะรัฐมนตรีมีมติเรื่องการยกเลิกการใช้แร่ใยหินมาตั้งแต่ปี 2554 แต่ไม่มีกลไกปฏิบัติตาม

แม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2554 เป็นต้นมา ที่เห็นชอบในมาตรการผลักดันให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน รวมถึงการขับเคลื่อนของเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (ทีแบน) และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่มีมติไปถึงรัฐบาลเพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่พบว่ากลับไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร โดยเฉพาะในโครงการก่อสร้างต่างๆ ยังคงมีการใช้วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างที่ประกอบด้วยแร่ใยหิน ซึ่งทำให้พิษภัยจากแร่ใยหินส่งผลกระทบต่อแรงงานในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอย่างมาก ในขณะเดียวกันการที่รัฐยังไม่สามารถประกาศยกเลิกการใช้แร่ใยหินได้อย่างเด็ดขาด อาจเป็นเพราะต้องการเอาอกเอาใจภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เห็นแก่ผลประโยชน์ทางการค้ามากกว่าชีวิตและความเป็นความตายของแรงงานและผู้เกี่ยวข้องในกิจการต่างๆ ที่ใช้แร่ใยหิน มีรายงานข่าวจากสื่อมวลชนเมื่อเดือนธันวาคม 2556 ทางกระทรวงสาธารณสุขมีแนวโน้มที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้คงการใช้แร่ใยหินไว้ อีกทั้งมีความพยายามที่จะให้ข้อมูลลดทอนความเป็นอันตรายของแร่ใยหิน ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การว่าจ้างทำวิจัย จัดประชุมนำเสนอข้อมูล เพื่อทำให้สังคมสับสน เป็นต้น

(7) การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554

แม้ว่าพ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 จะมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2554 หรือกว่า 2 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งคณะรัฐมนตรีก็ได้มีรับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ.2554 เรื่องการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมและการบริการ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 แต่สถานการณ์ปัจจุบันกลับพบว่ากฎหมายฉบับนี้ยังมิสามารถบังคับใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง ยังคงมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในสถานประกอบการต่างๆ มิใช้น้อย แต่มิได้มีการแจ้งตัวเลขดังกล่าวให้กระทรวงแรงงานทราบ เนื่องจากมีผลต่อการเพิ่มอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน อีกทั้งโครงการ Zero Accident ที่มุ่งให้อุบัติเหตุในสถานประกอบการเป็นศูนย์ ยิ่งทำให้สถิติอุบัติเหตุถูกปกปิด มีนายจ้างบางสถานประกอบการที่จูงใจลูกจ้างว่า “หากแผนกใดไม่เกิดอุบัติเหตุจะได้รับรางวัลพิเศษ ทำให้เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายถ้าไม่ร้ายแรงจริงๆ ก็ไม่ยอมแจ้งนายจ้าง” เป็นต้น 

อีกทั้งเมื่อมาพิจารณาที่ตัวกฎหมายฉบับนี้เองก็พบข้อจำกัดที่ไม่เอื้อในการส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น

- สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ไม่มีเงินในการทำงาน กล่าวคือ กองทุนส่งเสริมความปลอดภัยฯนี้เป็นกองทุนหนึ่งในกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ไม่ใช่ของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯโดยตรง อีกทั้งในกฎหมายยังกำหนดให้ใช้กองทุนนี้ในอีก 5 กิจการ จึงมีคำถามว่า แล้วจะเหลืองบประมาณจัดสรรให้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยใช้เท่าใด นี่ไม่นับว่ากองทุนนี้ใช้จ่ายภายใต้ความเห็นชอบของอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่เป็นประธานกองทุน แต่ไม่มีคนของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯนั่งเป็นกรรมการด้วยเลย

- อำนาจหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ของสำนักความปลอดภัยแรงงาน และของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ มีความซ้ำซ้อนกันมาก ไม่ว่าในเรื่องการรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัย การพัฒนาและจัดทำมาตรฐานด้านความปลอดภัย และการศึกษาวิจัย นี่ยังไม่นับรวมไปถึงสำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย (กรมโรงงานอุตสาหกรรม) และสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม (กรมควบคุมโรค) ที่มีอำนาจหน้าที่คล้ายกันนี้ด้วย

- การให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมของแรงงานในงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยน้อยเกินไป มีแต่การตั้งรับมากกว่างานเชิงรุก ทั้งๆ ที่แรงงานเป็นตัวแปรสำคัญในเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน เป็นคนที่อยู่หน้างาน สัมผัสกับอันตราย ดังนั้นหากคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีบทบาทที่เหมาะสมในเรื่องนี้ ก็ย่อมลดหรือเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จในการดำเนินงานอย่างแน่นอน
สถานการณ์ดังที่กล่าวมา กระทรวงแรงงานยังไม่มีมาตรการใดๆ ทั้งสิ้นในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น แม้ว่าผู้ใช้แรงงานที่นำโดยสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยจะเรียกร้องมาโดยตลอดก็ตาม

(8) การไม่ประกาศใช้ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554

พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ได้บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2554 และตามกระบวนการกระทรวงการคลังจะต้องเริ่มเปิดรับสมัครสมาชิกตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นมา แต่นับตั้งแต่ที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จนมาถึงเมื่อสิงหาคม 2555 จึงได้เสนอให้มีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายแต่อย่างใด

ล่าสุดเมื่อ16 สิงหาคม 2556 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เสนอร่างพ.ร.บ.ยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. .... เนื่องจากเห็นว่าซ้ำซ้อนกับพระราชกำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของผลประโยชน์ ทดแทนตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกันตน พ.ศ.2556 ที่เสนอโดยกระทรวงแรงงาน หรือประกันสังคม มาตรา 40 ที่เพิ่มประโยชน์ทดแทนในรูปบำนาญชราภาพขึ้นมาอีกทางเลือกหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการลดภาระงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานของกองทุนการออม

ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว กฎหมายประกันสังคมมาตรา 40 และกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติมีเจตนารมณ์กฎหมายแตกต่างกัน เพราะกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมเป็นเรื่องการจัดสวัสดิการเสริมการสังคมเพื่อคนทำงานเป็นสำคัญ ต่อยอดเชื่อมเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานที่มีมาก่อนแล้ว ขณะที่กฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติมีเจตนารมณ์สร้างหลักประกันชราภาพโดยตรงเพื่อการดำรงชีพในยามชรา

(9) การไม่ออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553

15 พฤษภาคม 2554 เป็นวันที่ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ทั้งนี้กระทรวงแรงงานต้องออกกฎหมายลำดับรองเพื่อบังคับใช้รวมจำนวน 14 ฉบับ จากข้อมูลเมื่อธันวาคม 2556 พบว่า ขณะนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้มีการออกกฎหมายรองซึ่งได้มีการประกาศใช้แล้วจำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ 1. แบบคำร้องและแบบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน 2. แบบบัตรประจำตัวพนักงานตรวจแรงงาน 3. แต่งตั้งพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 4. มอบหมายอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 5. การตรวจแรงงาน 6. การรับคำร้องและการพิจารณาคำร้องของพนักงานตรวจ

ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่ากฎหมายลำดับรองทั้ง 6 ฉบับ “ไม่เป็นประโยชน์” หรือ “มีผล” ต่อการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพราะไปออกกฎหมายในเชิงเทคนิคและการจัดการมากกว่าการคุ้มครอง ที่ยังเหลืออีก 8 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างกฎกระทรวงเรื่องการกำหนดงานที่มีลักษณะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของหญิงตั้งครรภ์ 2. ร่างกฎกระทรวงเรื่องการกำหนดงานที่ห้ามผู้จ้างงานหรือผู้รับงานไปทำที่บ้าน 3. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพและค่าทำศพของแรงงาน 4. ร่างกฎกระทรวงเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวแทนผู้จ้างงานและผู้รับงานไปทำที่บ้าน 5. ร่างกฎกระทรวงเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน. 6. ร่างกฎกระทรวงเรื่องบัตรประจำตัวกรรมการและอนุกรรมการคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน 7. ร่างประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากผู้รับงานไปทำที่บ้าน 8. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยงานอื่นๆ ตามนิยามมาตรา 3 “งานที่รับไปทำที่บ้าน” (ดำเนินการต่อเมื่อมีการขยายความคุ้มครองไปยังงานอื่นๆ ) ซึ่งทั้ง 8 ฉบับนี้ จะเห็นได้ว่าเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตผู้รับงานไปทำที่บ้านโดยตรง แต่กระทรวงแรงงานก็ยังให้ความสำคัญน้อยกว่าในการที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนแทน

(10) การเข้าไม่ถึงหลักประกันทางสังคมที่เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติ

ปกติแล้วแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วจะต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมในปีแรก คือปี 2553 แต่เมื่อเดือนตุลาคม 2556 สำนักงานประกันสังคมระบุว่ามีแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบประกันสังคมประมาณ 250,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนสถิติตัวเลขที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนของแรงงานข้ามชาติทั้งหมด ปัจจุบันยังคงมีแรงงานจำนวนมากที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน อีกทั้งนายจ้างบางรายไม่ยอมแจ้งนำลูกจ้างเข้าสู่ระบบประกันสังคม แต่หักเก็บเงินค่าจ้างลูกจ้าง แล้วอ้างว่าจะนำเงินส่งประกันสังคมให้ หรือกรณีการเข้าไม่ถึงข้อมูลในด้านการใช้สิทธิ และช่องทางการไปใช้สิทธิประกันสังคม ทำให้แรงงานข้ามชาติที่เป็นสมาชิกประกันสังคมส่วนใหญ่ จะไปหาซื้อยาตามร้านขายยา หรือไปรักษาที่คลินิกใกล้สถานที่พักของตนเองแทน

(11) อุบัติเหตุจากการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน

ในรอบปี 2556 มีแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ที่หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ต้องประสบอุบัติเหตุจากการเดินทางรวม 12 ครั้ง มีแรงงานข้ามชาติเสียชีวิตรวม 37 คน และบาดเจ็บรวม 172 คน ในจำนวนนี้มีทั้งผู้หญิงและเด็กรวมอยู่ด้วย การเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักจะมาจากการหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งได้แก่ การฝ่าด่านจนรถคว่ำ การชนจนกลิ้งตกคลองหรือแม่น้ำข้างทาง สภาพยานพาหนะไม่เหมาะสมต่อการเดินทาง อีกทั้งยังพบว่ารัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ใส่ใจหรือเอาจริงเอาจังกับการดูแลและเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุให้เป็นไปตามกฎหมาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงงานกลุ่มนี้เข้าเมืองโดยไม่ถูกกฎหมายด้วยเช่นเดียวกัน

(12) มีกฎกระทรวงว่าด้วยแรงงานคนทำงานบ้าน ฉบับที่ 14 พ.ศ. 2555 ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แต่ชีวิตคนทำงานบ้านก็ยังไร้หลักประกัน

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ.2555) ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เพื่อให้ “ลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย” สิทธิบางอย่างที่ลูกจ้างทำงานบ้านได้รับการคุ้มครองเพิ่มตามกฎกระทรวงฉบับนี้ (2555) รวม 6 ข้อ คือ มีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน, กำหนดวันหยุดตาม ประเพณีให้ลูกจ้างปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสิบสามวัน, มีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง แต่จ่ายค่าจ้างไม่เกิน 30 วันทำงาน, จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานสำหรับวันหยุด (1) วันหยุดประจำสัปดาห์ (2) วันหยุดตามประเพณี (3) วันหยุดพักผ่อนประจำปี, จ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง

อย่างไรก็ตามปัญหาของกฎกระทรวงฉบับใหม่ (2555) ก็มิให้ใช้บังคับในหลายเรื่อง เช่น กำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงานแต่ละวัน วันหนึ่งต้องไม่เกินแปดชั่วโมงและเมื่อรวม เวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง, การให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ ทำงานในระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกา ถึงเวลา 06.00 นาฬิกา ทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด รวมถึงค่าจ้างขั้นต่ำก็ยังไม่ได้ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะอยู่ในข้อยกเว้นของประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฉบับล่าสุด อีกทั้งการเข้าสู่ประกันสังคม ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ก็เข้าได้เฉพาะมาตรา 40 ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มแรงงานนอกระบบ แต่มาตรา 33 ยังไม่สามารถเข้าได้

(13) พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ยังมีช่องว่างที่ทำให้นายหน้าสามารถหลอกลวงคนงานได้ง่ายขึ้น โดยที่กระทรวงแรงงานไม่สามารถเอาผิดได้

ในมาตรา 38 ของพ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ได้มีการเปิดช่องให้มีการเรียกเก็บเงินค่าบริการสำหรับคนที่จะไปทำงานต่างประเทศได้มากกว่าความเป็นจริง จึงทำให้ผู้รับอนุญาตจัดหางานสามารถเรียกหรือรับค่าบริการและค่าใช้จ่ายจากคนหางานได้ ยิ่งเมื่อคนหางานมีความต้องการไปทำงานมากเท่าใดก็จะเป็นช่องทางให้มีการเรียกเก็บค่าบริการและค่าใช้จ่ายสูงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด จึงพบว่ายังคงมีคนงานถูกหลอกลวงในกรณีดังกล่าวนี้ซ้ำซาก และกระทรวงแรงงานไม่สามารถจัดการได้ ที่เห็นได้ชัดในปี 2556 คือ

มีกลุ่มแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศจากจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และชัยภูมิกว่า 120 คน ถูกบริษัทเอ็ม ฟินิกซ์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจัดหางานแห่งหนึ่งใน จ.ชัยภูมิ เรียกเก็บเงินคนละประมาณ 100,000 บาท เพื่อแลกกับการได้ไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดนเมื่อกรกฎาคม 2556 แต่เมื่อไปถึงประเทศสวีเดน บริษัทจัดหางานได้จัดให้กลุ่มแรงงานเก็บลูกเบอร์รีนานกว่า 1 เดือน แต่กลับไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญา แม้ว่าบริษัทเจ้าของไร่ลูกเบอร์รีในประเทศสวีเดนได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า ได้จ่ายค่าจ้างให้กลุ่มแรงงานผ่านบริษัทจัดหางานจากประเทศไทยแล้วก็ตาม จนในที่สุดแรงงานกลุ่มนี้จึงเข้าขอความช่วยเหลือจากสถานทูตไทยประจำประเทศสวีเดน เพื่อเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อกันยายน 2556 ในช่วงเกิดเรื่องมีแรงงานคนหนึ่ง คือ นายบัวลา เหล่าพรม อายุ 39 ปี ทนความเครียดไม่ไหวและได้ผูกคอจนเสียชีวิตอยู่ในประเทศสวีเดน

ความล้มเหลวเชิงพื้นที่ 7 เรื่อง

ในรอบปี 2556 พบสถานการณ์เรื่องการยื่นข้อเรียกร้องสวนและการปิดงานของนายจ้างหลายๆ แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัททุนข้ามชาติ เพื่อตอบโต้สหภาพแรงงานที่นัดหยุดงาน เพื่อเจรจาต่อรองในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิแรงงานและสวัสดิการในการจ้างงาน โดยเฉพาะในพื้นที่กลุ่มย่านอุตสาหกรรมต่างๆ ในจังหวัดสระบุรี และพื้นที่ภาคตะวันออก อีกทั้งในระหว่างการปิดงาน รัฐยังปล่อยให้นายจ้างส่งผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เช่น ทหาร ตำรวจ มาข่มขู่และทำร้ายคนงาน โดยที่กฎหมายก็ไม่เอื้อต่อการรวมตัวและเจรจาต่อรองของกลุ่มลูกจ้างแต่อย่างใด

มีตัวอย่างสำคัญที่เห็นได้ชัด คือ

(1) การนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานไทยเรยอน ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งมากของประเทศไทย ตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 จนถึงบัดนี้ แต่ยังไม่มีข้อยุติแต่อย่างใด ซึ่งสมาชิกสหภาพฯ ได้รวมตัวชุมนุมอยู่ที่บริเวณหน้าบริษัทไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) จังหวัดอ่างทอง จำนวน 800 กว่าคน เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมต่อนายจ้าง เพราะถูกนายจ้างลดสวัสดิการที่เคยได้รับมา อาทิเช่น การลดเงินโบนัสลงจากเดิม 136 วัน เป็น 45 วัน โดยบริษัทฯ อ้างว่าเพื่อความอยู่รอดของบริษัทฯ ทั้งที่ความเป็นจริงบริษัท มีการลงทุนในต่างประเทศและมีกำไรสะสมเกือบ 20,000 ล้านบาท เป็นต้น

(2) บริษัท สมบูรณ์ โซมิค แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์(ลูกหมาก) ส่งให้กับบริษัท Toyota, Honda, Isuzu และ Mitsubishi ได้สั่งพักงานกรรมการบริหารของสหภาพแรงงานสมบูรณ์โซมิค เพื่อรอคำสั่งศาลเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง ซึ่งเป็นกรรมการบริหารของสหภาพแรงงานสมบูรณ์โซมิค จำนวน 5 คน โดยระบุว่ากรรมการบริหารของสหภาพแรงงานสมบูรณ์โซมิคทั้ง 5 คนนี้ ได้กระทำการปลุกปั่น ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือกระทำด้วยวิธีการอื่นใด เพื่อให้พนักงานคนอื่นๆ ของบริษัท ชะลอการทำงานในเวลาทำงานปกติ และหยุดงานล่วงเวลาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร อันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้อง และทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ในช่วงปี 2555 ที่ผ่านมา

(3) นายจ้างบริษัทสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ จำกัด ได้สั่งปิดงานพนักงานจำนวน 44 คน ในที่นี้มีแรงงานหญิงที่กำลังตั้งครรภ์รวม 4 คน โดยไม่ได้รับค่าจ้างและห้ามเข้าบริษัทแต่อย่างใด ทั้งนี้พนักงานกลุ่มนี้เป็นสมาชิกสหภาพสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ ประเทศไทย ซึ่งไม่ยอมรับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่บริษัทได้ทำขึ้นกับสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ ที่เป็นสหภาพแรงงานแห่งใหม่ที่บริษัทได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำลายสหภาพแรงงานที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้บริษัทมีเงื่อนไขว่าจะรับพนักงานกลุ่มนี้เข้าทำงานก็ต่อเมื่อยอมรับเงื่อนไขตามที่บริษัทได้กำหนดไว้ทุกประการโดยไม่มีการเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น

(4) นายจ้างบริษัทรอยัลปอร์ซเลน จำกัด (มหาชน) หรือ RPC ซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่ที่ ต.ตาลเดี่ยว อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานระดับปฏิบัติการ จำนวน 357 คน ทั้งนี้พนักงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานรอยัลปอร์ซเลน ทั้งๆ ที่ผ่านมาเมื่อเดือนกันยายน 2556 สหภาพแรงงานฯได้นัดหยุดงาน 11 วัน และเจรจาตกลงได้ในเรื่องจำนวนวันโบนัสและข้อเรียกร้องต่างๆ ก็ตาม การเลิกจ้างครั้งนี้บริษัทได้จ่ายโบนัสตามข้อตกลงและค่าชดเชยตามกฎหมายตามอายุงานแต่ละคน มีการคาดการณ์ว่าการเลิกจ้างครั้งนี้บริษัทต้องการรับบริษัทรับเหมาค่าแรงเข้ามาทำงานแทนพนักงานกลุ่มนี้ เพื่อลดภาระบริษัท กับบริษัทต้องการปรับจากพนักงานประจำ มาเป็นพนักงานสัญญาจ้าง 11 เดือน แล้วเลิกจ้าง 1 เดือน จ่ายค่าชดเชย แล้วรับเข้ามาทำงานใหม่ กลายเป็นลูกจ้างสัญญาจ้างระยะสั้นของบริษัทแทน

(5) การเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นแกนนำในการเจรจาข้อเรียกร้องเพื่อขอปรับปรุงสภาพการจ้างงาน และก่อตั้งสหภาพแรงงานซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย จำนวนกว่าสิบคน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556

(6) นายจ้างบริษัทนครหลวงยิ่งเจริญการทอ จำกัด ไม่จ่ายค่าชดเชยให้ครบตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้กับลูกจ้างจำนวน 46 คน ที่ถูกเลิกจ้าง ทั้งนี้นายจ้างได้จ่ายเงินค่าชดเชยให้เพียงคนละ 10,000 บาทเท่านั้น ต่อมาคนงานได้ไปร้องเรียนกับพนักงานตรวจแรงงาน จ.นครปฐม และกระทรวงแรงงานได้ใช้เงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจ่ายแทน กลับพบว่า คนงานที่ทำงาน 10 ปีขึ้นไป ได้รับคนละ 27,000บาท ไม่ถึง10 ปีได้รับ 18,000 บาทเพียงเท่านั้น โดยที่รัฐไม่สามารถเอาผิดใดๆ กับนายจ้างที่ไม่รับผิดชอบได้แม้แต่น้อย

นอกจากนั้นแล้วยังพบตัวอย่างสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ
สืบเนื่องจากเมื่อปลายปี 2554 บริษัทยัม ผู้ดำเนินธุรกิจร้านเคเอฟซี (KFC) ได้มีคำสั่งเลิกจ้างผู้จัดการร้าน 3 คน ที่เผยแพร่ข้อเรียกร้องของพนักงานผ่านคอมพิวเตอร์ไปยังสาขาต่างๆ เพื่อให้มีการปรับปรุงสภาพการจ้างงานและการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมา ทั้งนี้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) วินิจฉัยว่าการเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม จึงออกคำสั่งให้รับอดีตผู้จัดการทั้งสามกลับเข้าทำงานตำแหน่งเดิมพร้อมทั้งจ่ายค่าเสียหาย เท่ากับค่าจ้างตลอดเวลาที่ออกจากงานจนกว่าจะรับกลับเข้าทำงานตามเดิม

ต่อมาบริษัทฯได้ยื่นฟ้องศาลแรงงานเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ทั้งนี้ในช่วงระหว่างรอคำพิพากษา บริษัทฯได้กดดันให้ผู้จัดการร้านทั้ง 3 คน เลือกรับเงินและลาออก คงเหลือแต่เพียงนางอภันตรี เจริญศักดิ์ เพียงคนเดียว ที่ยืนหยัดรอคำตัดสิน จนในที่สุดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2556 ศาลแรงงานได้พิจารณายกคำร้องของบริษัท และให้รับนางอภันตรี เจริญศักดิ์กลับเข้าทำงาน รวมถึงให้จ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างบวกดอกเบี้ย 15% ตลอดเวลาช่วงรอคำพิพากษา

อย่างไรก็ตามผลจากการที่กลับเข้าไปทำงาน พบว่า ลูกจ้างถูกกดดันจากบริษัทนานัปการเพื่อให้ลาออกจากงาน เช่น ห้ามเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการเรียกร้องใดๆ ในการปรับปรุงสภาพการจ้างงานทั้งสิ้น, ห้ามเข้าร่วมงานใดๆ ที่บริษัทจัด, ห้ามพนักงานในบริษัทพูดคุยด้วย, มีการติดกล้องวงจรปิดในระหว่างการปฏิบัติงาน ซึ่งบริษัทไม่ได้มอบหมายงานใดๆ ให้ทำทั้งสิ้น นอกจากให้เข้ามานั่งในสถานที่ทำงานเท่านั้น ฯลฯ

บทสรุป

จากสถานการณ์ดังที่กล่าวมาทั้งหมด ในนามของฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ดิฉันไม่มีข้อเรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้นต่อภาครัฐและกระทรวงแรงงานแล้ว การแถลงข่าว การเข้าพบ การเจรจากับกระทรวงแรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชีวิตผู้ใช้แรงงานทุกคนต้องได้รับการปกป้องและคุ้มครอง ก็เป็นแนวทางที่ผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่างๆ ต่างเรียกร้องมาตลอด และรัฐก็ไม่เคยได้ยินและรับฟังอย่างใส่ใจ

ว่าไปแล้วเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ที่ทุนเคลื่อนย้ายได้โดยเสรีทำให้โลกใบนี้เล็กลง อำนาจต่อรองของบรรษัทข้ามชาติจึงสูงขึ้น ขณะที่อำนาจต่อรองของแรงงานลดต่ำลงในทางตรงข้าม แรงงานเป็นเพียงอะไหล่ชิ้นหนึ่งที่ถอดเปลี่ยนเมื่อใดก็ได้ของปัจจัยการผลิตเท่านั้น

รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานชื่อ เฉลิม อยู่บำรุง รวมถึงรัฐบาลที่ผ่านมา ต่างก็พยายามดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศด้วยวิถีทางมักง่าย กดค่าจ้างแรงงานให้ต่ำ แข่งขันกันลดค่าจ้าง ไม่ใส่ใจสวัสดิการของแรงงาน แข่งขันกันลดภาษี หามาตรการลดต้นทุนการผลิต ด้วยหวังจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติอยากเข้ามาลงทุน

ในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าสถานการณ์ดังที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ถือเป็นตัวบ่งชี้ความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและแนวทางการพัฒนาประเทศไทย ทั้งยังเป็นชนวนสำคัญของความขัดแย้งในสังคม เพราะสร้างให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพราะเครื่องชี้ความสำเร็จของการพัฒนาประเทศที่แท้จริงแล้ว หาใช่อยู่ที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การลดความเหลื่อมล้ำของผู้ใช้แรงงาน ทั้งด้านรายได้ คุณภาพชีวิต การมีสุขภาวะที่ดีทั้งในระหว่างการทำงานและเกษียณอายุจากการทำงาน ความอยู่ดีกินดีอย่างถ้วนหน้า

อีกทั้งวันนี้ก็ปรากฏชัดเจนว่ารัฐบาลและกระทรวงแรงงานก็ไม่มีความเข้มงวดที่จะลงโทษกับนายจ้างที่เพิกเฉย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ผลประโยชน์ของกระบวนการผลิตไม่ได้ตกถึงผู้ใช้แรงงานในฐานะฟันเฟืองสำคัญในระบบดังกล่าว แรงงานต้องทำงานหนักขึ้น คุณภาพชีวิตก็ด้อยลงเพื่อแลกกับค่าจ้างที่สูงขึ้นให้เพียงพอกับค่าครองชีพ

ทิศทางการพัฒนาที่มุ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลักตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำทางรายได้ การขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต มีสิทธิ มีเสียง มีศักดิ์ศรี และมีอำนาจต่อรอง

ถึงเวลาแล้วที่พี่น้องแรงงานต้องประกาศร่วมกันว่า “แรงงานจะต้องมาก่อน” พวกเราไม่ว่าจะเป็นแรงงานจากแห่งหนไหน จะต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิและมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติใดๆ ทั้งสิ้น

กฎหมายคุ้มครองแรงงานทุกฉบับจักต้องทำหน้าที่ให้สมกับเป็นกฎหมายเพื่อผู้ใช้แรงงานทั้งหมดอย่างแท้จริง มิใช่เพียงถ้อยคำสวยหรูในกฎหมายที่ปราศจากความศักดิ์สิทธิ หรือเป็นเกราะป้องกันได้แต่เพียงชื่นชมความสวยงาม แต่ป้องกันอันตรายใดๆ มิได้เลย อย่าให้กฎหมายแรงงานเป็นเพียงกุศโลบายทางการเมืองที่จะหลีกเลี่ยงการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงให้แก่ผู้ใช้แรงงาน เพราะนั่นคือ ภาพสะท้อนความล้มเหลวของกระทรวงแรงงานและรัฐบาลไทยนั้นเอง !!!!

 

 

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม: ประเมินผลงานรัฐบาลด้านแรงงานในรอบปี 2556 “กระทรวงแรงงานสุดอัปลักษณ์ในยุคยิ่งลักษณ์ : 20 เรื่องล้มเหลวในรอบ 20 ปี”

หมายเหตุจากผู้เขียน: 
เอกสารฉบับนี้เป็นความคิดส่วนตัวของผู้เขียน ที่เกิดจากการหารือร่วมกับพี่น้องแรงงานที่เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2556 ที่ห้องประชุมมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ทั้งนี้องค์กรสมาชิกในคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและองค์กรแรงงานอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป ขอขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับ
http://voicelabour.org ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล รวมถึงคุณชาลี ลอยสูง คุณยงยุทธ เม่นตะเภา คุณพรนารายณ์ ทุยยะค่าย รวมถึงคุณวิสุทธิ บุญญะโสภิต สำหรับคำแนะนำต่างๆ ในการจัดทำรายงานฉบับนี้ให้สมบูรณ์ขึ้น ทั้งนี้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนเพียงคนเดียว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท