ถ้อยคำแห่งความเกลียดชัง (Hate speech) กับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทนำ

วิกฤติการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติลงในอนาคตอันใกล้หรืออันไกลนี้ได้ทำให้สังคมไทยเริ่มชินกับ “ถ้อยคำแห่งความเกลียดชัง” (Hate speech) และมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ หากยังไม่มีการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ล่าสุดที่มีนักการเมืองคนหนึ่งกล่าวว่า “คนชนบทขาดความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย” นับเป็นสัญญาณเตือนสำหรับสังคมไทยที่จะต้องให้ความสนใจกับเรื่อง hate speech ได้แล้ว อย่าปล่อยให้ hate speech ตอกลิ่มความขัดแย้งสร้างความเกลียดชังในหมู่คนไทยมากไปกว่านี้จนสายเกินการ การยุยงปลุกปั่นให้เกลียดคนในชาตินั้นนอกจากจะเป็นความผิดโดยตัวมันเองแล้ว ยังละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลอื่นอีกด้วยเช่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การมีส่วนร่วมทางการเมือง สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งสิทธิเหล่านี้ได้รับการรับรองอย่างชัดเจนภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR)  ข้อเขียนนี้จะกล่าวถึง hate speech ในแง่มุมของกฎหมายสิทธิมนุษยชนพอสังเขป ดังนี้

1. ความหมายและประเภท Hate speech

ทั้งกฎหมายภายในของแต่ละประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศได้ให้คำนิยามของคำว่า Hate speech (ถ้อยคำแห่งความเกลียดชัง) แตกต่างกันไป แต่เพื่อความสะดวกต่อความเข้าใจ สาระสำคัญของลักษณะ hate speech คือ การแสดงออกด้วย “คำพูด” หรือ “วิธีการอื่นใด” ก็ได้ อันเป็นการเหยียดหยาม ดูถูก หรือลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์หรือเป็นการเลือกปฎิบัติ โดยอาศัยเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา ชาติพันธ์ สีผิว ภาษา ชาติกำเนิด สถานะทางสังคม เพศ ลฯล ซึ่งการแสดงออกนั้นอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือต่อเฉพาะกลุ่มเป้าหมายได้  อนึ่ง มีข้อควรตระหนักว่า คำหยาบคายหรือด่าทออย่างรุนแรงไม่จำเป็นต้องเป็น hate speech เสมอไป การด่าทอด้วยคำหยาบคายหรือการใส่ร้ายเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือการดูหมิ่นซึ่งเป็นคนละฐานความผิดกับ hate speech  ในทางกลับกัน hate speech ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นการกล่าวด้วยถ้อยคำหยาบคาย เช่น การสดุดี ชื่นชมการกระทำของ Hitler ก็เข้าข่ายเป็น hate speech ได้

สำหรับประเภทหรือตัวอย่างของ hate speech มีได้หลายรูปแบบ เช่น การดูถูก การเลือกปฏิบัติ การยั่วยุให้เกิดความรุนแรง รวมถึง “การแก้ไขข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์” (historical revisionism) หรือ “การปฎิเสธเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ว่าไม่มีอยู่จริง” เช่น การปฎิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยฮิตเลอร์ ที่เรียกว่า “Holocaust denial [1] เพราะการปฎิเสธดังกล่าวเป็นการเหยียดหยามดูถูกชาวยิว อนึ่ง มีข้อน่าคิดว่า หากมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือการปฎิเสธการล้อมปราบนักศึกษากรณีเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 หรือการปฏิเสธการปราบปรามกรณีราชประสงค์ (หรือการปฎิเสธว่าไม่มีคนตายมากขนาดนั้น)  จะถือว่าเป็น hate speech หรือไม่

2. ทำไมต้องห้ามเรื่อง Hate speech

ก่อนอื่นต้องแยกเรื่อง Free speech กับ hate speech ออกจากกันก่อน โดยหลักทั่วไปแล้ว กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎหมายรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น (รวมถึงเสรีภาพทางวิชาการ) ที่เรียกว่า Freedom of speech หรือ freedom of expression สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย แต่สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนี้มิใช่สิทธิเด็ดขาด (Absolute right) ที่รัฐไม่อาจจำกัดได้ ในทางตรงกันข้าม สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิสัมพัทธ์ (Relative right) ที่รัฐอาจตรากฎหมายจำกัดได้แต่ต้องสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ตามข้อบทที่ 19 ส่วน hate speech นั้นเป็นกรณีของการแสดงออกไม่ว่าจะโดยคำพูดหรือกริยาอื่นใดที่เป็นการแสดงออกถึงความเกลียดชังหรือการดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือการเลือกปฏิบัติ โดยอาศัยเหตุทาง เชื้อชาติ ศาสนา ชาติพันธ์ สีผิว ภาษา สถานะทางสังคม ฯลฯ โดยการแสดงออกนั้นนำไปสู่ความรุนแรง หรือความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มบุคคลได้ hate speech ในตัวมันเองนั้น ไม่มีคุณค่าทางความคิดแต่อย่างใดเลย ฉะนั้น hate speech จึงไม่สมควรได้รับการปกป้องทั้งในระดับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและระดับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายอาญาของหลายประเทศยังได้บัญญัติให้hate speech เป็นความผิดอาญาด้วย นอกจากนี้ ผลกระทบของ hate speech  นั้นมีอานุภาพมหาศาลเพราะอาจเป็นการกรุยทางต่อการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) สมัยฮิตเลอร์ที่กระทำต่อชาวยิว หรือการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาที่สื่อมีบทบาทมากในการปลุกระดมให้มีการฆ่าอีกเผ่าหนึ่ง [2] ฉะนั้น ทั้งกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎหมายภายในจึงห้ามมิให้มี hate speech

3. กฎหมายระหว่างประเทศกับเรื่อง Hate speech

มีกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับได้กล่าวถึงเรื่อง hate speech ทั้งในระดับสากลเละระดับภูมิภาค ฉบับแรกสุดคือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มีข้อสังเกตว่า แม้ว่า ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจะมิได้ห้ามเรื่อง hate speech ไว้โดยตรงแต่นักกฎหมายส่วนใหญ่เห็นว่า หลักการไม่เลือกปฏิบัติในข้อที่ 7 สามารถนำมาใช้กับเรื่อง hate speech ได้ โดยข้อที่ 7 บัญญัติว่า “ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันจากการเลือกปฏิบัติใด อันเป็นการล่วงละเมิดปฏิญญา” กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ห้ามเรื่อง hate speech ไว้โดยชัดแจ้งคือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) โดยในข้อบทที่ 20 (2) บัญญัติว่า “การสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังในชาติ เผ่าพันธุ์ หรือศาสนา ซึ่งยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การเป็นปฏิปักษ์ หรือการใช้ความรุนแรง เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย” ส่วนอนุสัญญาอีกฉบับที่ห้ามเรื่องการเลือกปฏิบัติอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติในทุกรูปแบบ(Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination: CERD) โดยข้อบทที่ 4 (a) ได้ห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยการเผยแพร่ข้อมูลหรือความคิดเกี่ยวกับความเหนือกว่าของเชื้อชาติ ความเกลียดชังทางเชื้อชาติหรือการปลุกระดมให้มีการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ

4. กฎหมายต่างประเทศ [3]

หลายประเทศในยุโรป รวมทั้งประเทศ คานาดา  แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ฯลฯ ได้บัญญัติให้ hate speech เป็นความผิดทางอาญา ที่น่าสนใจก็คือประมวลกฎหมายอาญาของเยอรมันมาครา 130 (1) บัญญัติให้การหมิ่นประมาทกลุ่มของประชากร (defaming segments of the population) เป็นความผิดอาญาด้วย ฉะนั้น การแสดงทัศนคติดูถูกคนเหนือ - อีสานนั้น หากวัดจากมาตรฐานของกฎหมายเยอรมันก็อาจมีความผิดได้

5. Hate speech ในสังคมไทย

ตั้งแต่สังคมไทยติดหล่มความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองมาเกือบ 10 ปีมานี้ ได้มีนักการเมือง นักจัดรายการ นักแสดง ฯลฯ ได้ใช้คำพูดอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติที่มีต่อคนชนบท คนจน หรือคนที่มีการศึกษาไม่สูง (เช่น ไม่จบปริญญาตรี) ดังปรากฏให้เห็นจากข้อความต่อไปนี้ “คนชนบทขาดความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย” “ หรือที่นักแสดงคนหนึ่งเปรียบคนจนชนบทว่าเป็น “ลิงบาบูน” หรือ การตอกย้ำวาทกรรม “เผาบ้านเผาเมือง” อยู่เรื่อยๆ กรณีการเผา Central และ ศาลากลางนั้นควรปล่อยให้มีการพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรม ใครทำผิดก็ต้องถูกลงโทษตามกบิลเมือง แต่การที่มาผลิตซ้ำอยู่เรื่อยๆ นั้นเป็นการตอกลิ่มให้คนเกลียดชังกันเพราะว่าเป็นการเหมารวมว่ามวลชนเสื้อแดงเป็นพวกใช้ความรุนแรงสร้างความเกลียดชังให้กับฝ่ายตรงกันข้ามหรือคนที่ไม่ฝักฝ่ายใด

นอกจากนี้ การที่ผู้คนแสดงทัศนคติให้เอา “ความรู้การศึกษา” ก็ดี “ความสามารถในการเสียภาษี” ก็ดี มาเป็นเกณฑ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้น เช่น คนจบปริญญาเอกมีสิทธิลงคะแนนเสียงมากกว่าคนอื่น หรือใครเสียภาษีมากได้คะแนนมากกว่าคนเสียภาษีน้อยลดหลั่นกันลงไปนั้นเป็นการแสดงความเห็นในเชิงดูถูกเหยียดหยามแล้ว และเป็นการเลือกปฏิบัติอีกด้วยเนื่องจาก ICCPR ข้อ 25 รับรองว่า พลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิและโอกาส โดยปราศจากความแตกต่าง ในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐกิจโดยตรง หรือผ่านทางผู้แทนซึ่งได้รับเลือกมาอย่างเสรี รวมทั้งสิทธิในการลงคะแนนเสียง

บทส่งท้าย

ประเทศไทยในฐานะที่เป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ประเทศไทยมีพันธกรณีมีมาตรการทางนิติบัญญัติหรือมาตรการอื่นใดเพื่อให้การห้ามเรื่อง hate speech   ที่รับรองไว้ในกติกานี้ตามข้อบทที่ 20 (2) เป็นผล โดยข้อบทที่ 2 ของกติกานี้บัญญัติอย่างชัดเจนว่า “ รัฐภาคีแต่ละรัฐแห่งกติกานี้รับที่จะเคารพปละประกันแก่ปัจเจกบุคคลทั้งปวงภายในดินแดนของตนและภายใต้เขตอำนาจของตนในสิทธิทั้งหลายที่รับรองไว้ในกติกานี้โดยปราศจากการแบ่งแยกใด ๆ อาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือความคิดเห็นอื่นใด เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่น ๆ” ที่ผู้เขียนขีดเส้นใต้ก็เพื่อต้องการเน้นว่า ประชาชนคนไทยไม่ว่าจะมีทัศนคติทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมขวาจัดหรือเสรีก้าวหน้าประชาธิปไตยล้วนเท่าเทียมกันและได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างเสมอภาคกัน แต่ที่ผ่านมาประชาชนและนักวิชาการที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยมหรือหัวก้าวหน้ามักจะถูกคุกคามจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมขวาจัด

ผู้เขียนเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนใส่ใจกับการให้ความคุ้มครองและให้หลักประกันสิทธิมนุษยชนตามที่รับรองไว้ใน ICCPR ซึ่งประเทศไทยได้เป็นภาคี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะต้องแสดงบทบาทห่วงใยและเรียกร้องไม่ให้มีละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนจน คนชนบท คนด้อยโอกาสทางการศึกษามากกว่านี้ และให้ทุกฝ่ายต่างเคารพ “ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์” ด้วยเพราะทุกคนต่างเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันไม่มีใครเหนือกว่าใคร

.....................................

[1] Raphael Cohen-Almagor, HOLOCAUST DENIAL IS A FORM OF HATE SPEECH, Amsterdam Law Forum, Vol 2, No 1 (2009)

[2] See Keith Somerville, Radio Propaganda and the Broadcasting of Hatred: Historical Development and Definitions, (U.S.A: Palgrave Macmillan,2012)

[3] ผู้สนใจโปรดดู Thomas J. Webb, NOTE: Verbal Poison - Criminalizing Hate Speech: A Comparative Analysis and a Proposal for the American System, Washburn Law Journal, 2011

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท