กองบก.วอชิงตันโพสต์วิเคราะห์ การลุกฮือของชนชั้นนำในการเคลื่อนไหวรอบโลก

กอง บก. วอชิงตันโพสต์เขียนบทวิเคราะห์กล่าวถึงการประท้วงในหลายประเทศช่วงปี 2556 นี้ว่ามาจากความไม่พอใจของกลุ่มชนชั้นนำ ขณะเดียวกันก็ชี้แนะว่ารูปแบบการประท้วงแบบที่ไม่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยจะทำให้ประเทศเข้าสู่ทางตันและยิ่งอาจทำให้รัฐบาลที่พวกเขาต่อต้านได้รับการสนับสนุนมากขึ้น

26 ธ.ค. 2556 แจ็กสัน ดีลห์ รองบรรณาธิการฝ่ายบทบรรณาธิการของวอชิงตันโพสต์นำเสนอบทวิเคราะห์เหตุวุ่นวายทางการเมืองในหลายประเทศในช่วงปี 2556 โดยกล่าวถึงเหตุการณ์ทั้งในอียิปต์ ตุรกี ยูเครน และประเทศไทย

แจ็กสัน ดีลห์กล่าวในบทวิเคราะห์ว่า กลุ่มฝูงชนที่เรียกร้องให้มีการปฏิวัติในประเทศต่างๆ ดังกล่าวในช่วงปีนี้ไม่ได้เป็นกลุ่ม 'ผู้แพ้' ในยุคโลกาภิวัตน์ แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มที่มีชัยชนะทางเศรษฐกิจ โดยอาจนับว่าเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง คนมีการศึกษา ผู้นิยมการปกครองแบบไม่ยึดศาสนา คนที่มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการหนุนหลังจากนักธุรกิจที่ร่ำรวยจากการค้าขาย และครึ่งหนึ่งก็มีใจให้กับรัฐบาลโอบามาหรือรัฐบาลตะวันตกอื่นๆ

"ถึงแม้จะมีคนบอกว่าพวกเรากำลังอยู่ในยุคสมัยโลกาภิวัตน์ที่กลุ่มชนชั้นนำในประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้รับผลประโยชน์ขณะที่ประชาชนไม่มีการศึกษาหรือทักษะในการเข้าร่วมแข่งขัน แต่ในปี 2556 ก็กลับกลายเป็นปีที่จะถูกจดจำไว้ในฐานะที่ในพื้นที่เมืองหลวงของหลายประเทศมีกลุ่มชนชั้นนำที่ไม่พอใจและรู้สึกเสียผลประโยชน์ออกมาชุมนุมกัน" ดีลห์กล่าวในบทความ

แจ็กสัน ดีลห์กล่าวถึงสาเหตุที่พวกเขาออกมาประท้วงว่า เป็นเพราะโลกาภิวัตน์ไม่ได้แค่เปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ แต่ยังทำให้เกิดการขยายตัวของระบอบการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและมีความครอบคลุมมากขึ้นในประเทศที่เคยมีการห้ามการเลือกตั้งหรือมีการโกงการเลือกตั้งมาก่อน

ดีลห์กล่าวต่อในประเด็นเดียวกันว่า การขยายตัวของการเลือกตั้งยังทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "นักประชานิยม" (populists) ที่เอาใจ 'ผู้แพ้' จากโลกาภิวัตน์และสัญญาว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งเก่าๆ หรือกระทั่งมีการให้รางวัลผู้สนับสนุน ทำให้ในหลายประเทศพวกเขาประสบความสำเร็จในการ 'ผูกขาด' ระบบการเมือง ทำให้กลุ่มชนชั้นนำออกมาต่อต้าน

ดีลห์มองว่าฮูโก้ ชาเวซ อดีต ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาเป็นผู้เริ่มต้นเทรนด์การเมืองแบบประชานิยมทำให้มีนักการเมืองของประเทศต่างๆ ทำตาม ไม่เพียงแต่ในละตินอเมริกา แต่รวมไปถึงเรเซป ตอย์ยิป เออโดแกน ผู้นำตุรกี, ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ของไทย, วิคเตอร์ ยานุโควิช ประธานาธิบดียูเครน, โมฮัมเหม็ด มอร์ซี อดีตประธานาธิบดีอียิปต์ และผู้นำประเทศอื่นๆ ผู้นำทางการเมืองเหล่านี้อาจจะมีส่วนต่างกันแต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขามีเหมือนกันคือพวกเขาได้รับการสนับสนุนจากคนจน คนที่มีการศึกษาน้อยกว่า และผู้มีสิทธิเลือกตั้งในชนบท ขณะเดียวกันก็มีผู้ต่อต้านพวกเขาเป็นคนที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ๆ โดยเฉพาะในเมืองหลวง

อย่างไรก็ตาม ดีลห์วิจารณ์ว่าผู้นำแนวประชานิยมมักจะปกครองได้ไม่ดี เว้นแต่เรื่องการนำผลประโยชน์ให้กับผู้สนับสนุนตนเท่านั้น และผู้นำเหล่านี้โดยส่วนใหญ่พวกเขายังไม่เคารพต่อสถาบันประชาธิปไตยเช่นกรณีของชาเวซที่พยายามรักษาอำนาจด้วยแก้รัฐธรรมนูญ บางครั้งก็มีการพยายามปิดกั้นสื่อที่มีความคิดเห็นตรงกันข้าม

แต่ขณะเดียวกันดีลห์ก็มองว่าฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่มาจากชนชั้นนำก็มีปัญหา พวกเขาไม่ได้ใส่ใจในเรื่องประชาธิปไตยมากไปกว่าฝ่ายตรงข้ามเลย ดีลห์ยกตัวอย่างการที่พรรคการเมืองในอียิปต์สมรู้ร่วมคิดกับกองทัพทำการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2556 ซึ่งส่วนใหญ่ยกย่อง นายพลอับเดล ฟัตตาร์ อัล-ซีซี ผู้พยายามดำรงอำนาจของตนไว้ในรูปแบบเผด็จการทหารยุคนัสเซอร์ (Neo-Nasserist ซึ่งกล่าวอ้างถึงกามาล อับเดล นัสเซอร์ อดีตผู้นำที่ขึ้นสู่ตำแหน่งโดยการรัฐประหารในปี 2495)

ดีลห์ยังได้ยกตัวอย่างกรณีของประเทศไทยที่ผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้รัฐบาลที่เข้ามาจากการเลือกตั้งลาออกและให้แทนที่โดยสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ขณะที่ในยูเครน ผู้ต่อต้านยานุโควิชในเรื่องการไม่ยอมลงนามตกลงเข้าร่วมสหภาพยุโรปก็มีการเรียกร้องให้ยานุโควิชออกจากตำแหน่งทั้งที่เขายังดำรงตำแหน่งไม่ครบวาระ

ดีลห์กล่าวว่าวิธีการเหล่านี้มีแต่จะทำให้ไปสู่ทางตันเช่นในประเทศอียิปต์ที่มีนักโทษการเมืองถูกกุมขังอยู่หลายพันคน และต้องอาศัยเงินช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจหลายพันล้านจากกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซียเนื่องจากรัฐบาลทหารไม่สามารถสร้างเสถียรภาพให้ประเทศได้ ผู้สนับสนุนมอร์ซึ่งเป็นคนจนและคนชนบทจะต่อต้านการปฏิรูปเศรษฐกิจและบางคนอาจไปเข้าร่วมกับฝ่ายก่อการร้าย ส่วนประเทศไทยก็เสี่ยงต่อการแบ่งแยกระหว่างคนต่างภูมิภาค และในกรณีของยูเครนอาจทำให้เกิดการแบ่งแยกประเทศเป็นฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก

บทวิเคราะห์ในวอชิงตันโพสต์ปิดท้ายด้วยการกล่าวว่าอยากให้กลุ่มชนชั้นนำในประเทศเรียนรู้จากกรณีของเวเนซุเอลา ซึ่งฝ่ายต่อต้านใช้วิธีการต่างๆ ทั้งการประท้วง การเรียกร้องหยุดงาน การพยายามรัฐประหาร บอยคอตการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายแล้วกลับยิ่งทำให้ชาเวซสามารถรักษาอำนาจได้มากยิ่งขึ้น โดยแม้ว่าผู้นำยุคใหม่เวเนซุเอลาจะยังมีทั้งด้านที่ดีและด้านที่แย่ แต่อย่างน้อยก็สามารถมองเห็นอนาคตที่ประชาธิปไตยและโลกาภิวัตน์อยู่ร่วมกันได้

 

เรียบเรียงจาก

Why the elites are rising up, Jackson Diehl, Washington Post, 23-12-2013
http://www.washingtonpost.com/opinions/jackson-diehl-why-the-elites-are-rising-up/2013/12/22/5ca3041e-68c7-11e3-ae56-22de072140a2_story.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท