ผ่าทางตันการเมืองไทยด้วย"ประชามติ"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ระบอบประชาธิปไตยของไทยกำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์อีกครั้ง  เมื่อศาลรัฐธรรมนูญให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาขัดกับหลักรัฐธรรมนูญ และซ้ำร้ายกว่านั้นคือการที่ กปปส.นำเสนอ"สภาประชาชน"ก่อนการเลือกตั้งซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะผ่านการลงประชามติมาก่อน แต่การลงประชามติในครั้งนั้นถือเป็นการลงประชามติภายใต้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และประชาชนถูกจำกัดไม่ให้มีการแสดงความเห็นอย่างเสรี สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันขาดการยอมรับจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการรรัฐประหาร

แต่่หากให้่รัฐสภาทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญเองก็อาจจะเกิดการต่อต้านจากนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม รวมถึงความหวาดระแวงที่จะมีต่อ"วาระซ่อนเร้น"เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในกรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ผ่านมา

เมื่อการเมืองไทยเดินทางมาถึงทางตัน ที่ต่างฝ่ายต่างพยายามที่จะให้มีการปฏิรูปการเมืองไทย โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของมหาประชาชนของฝ่ายตนเอง ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ไขวิกฤติรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็คือ การให้ประชาชนเป็นผู้ที่จะเลือกรัฐธรรมนูญฉบับที่ตนเองต้องการโดยการลง"ประชามติ"

ในอดีตเคยมีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็น"แกนหลัก" ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ในปัจจุบันการเมืองไทยได้ดำเนินมาถึงจุดที่เกิดความแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรง ร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญอาจไม่เป็นที่ยอมรับจากบางฝ่าย หากเนื้อหาในฉบับนี้ไม่ตรงกับสิ่งที่พวกเขาต้องการ ดังนั้นผมจึงเห็นว่านอกจากการที่จะให้สภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว  รัฐบาลยังควรเปิดโอกาสให้ นปช.,กปปส.หรือ สปป.สามารถนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญของฝ่ายตนเองให้ประชาชนได้เป็นผู้ตัดสินใจผ่านการลงประชามติได้ด้วยเช่นกัน 

ด้วยเหตุนี้ผมจึงขอเสนอทางออกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการทำประชามติดังนี้

1.ให้ทุกพรรคการเมืองรวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ส่งผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557

2.หลังการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลให้ทุกพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรร่วมกันผลักดันให้มีการจัดตั้ง"สภาร่างรัฐธรรมนูญ"ขึ้น

3.ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา 1 ฉบับเพื่อให้ประชาชนลงประชามติ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องเปิดโอการสให้ภาคประชาชนที่อาจไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูยที่ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ สามารถนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญของตัวเองขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนลงประชามติโดยการเข้าชื่อผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า50,000คน หรือเสนอร่างฯผ่านกลไกรัฐสภา

4.ให้รัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญและของภาคประชาชนทุกฉบับเพื่อให้ประชาชนได้ลงประชามติ

5.กกต.นำร่างรัฐธรรมนูญทุกฉบับมาจัดเรียงลำดับตามหมายเลข เช่นร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ก. ได้หมายเลข 1. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ข. ได้หมายเลข 2. โดยจัดทำบัตรลงคะแนนประชามติเรียงตามหมายเลข เพื่อให้ประชาชนได้ลงประชามติให้กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ตนเองต้องการ นอกจากนี้ยังมีช่อง"ไม่ประสงค์จะลงประชามติ"เพื่อที่จะให้ผู้ไม่ประสงค์จะลงประชามติให้กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดได้ลงคะแนน

6.กกต.กำหนดวันลงประชามติเพื่อให้ประชาชนได้ลงประชามติเลือกร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ตัวเองต้องการ  หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดผ่านการลงประชามติให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นประกาศใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่หากไม่มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดผ่านการลงประชามติ ให้นำร่างรัฐธรรมนูญสองฉบับที่ผ่านการลงคะแนนสูงสุดมาทำการลงประชามติใหม่อีกครั้ง หากไม่มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดในสองฉบับผ่านการลงประชามติ ให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันตามเดิม

กฎหมายกำหนดให้ร่างกฎหมายที่จะผ่านการลงประชามติต้องได้รับคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ปัจจุบันมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมดประมาณ 46ล้านคน ดังนั้นกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 23ล้านคนจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดจะผ่านการลงประชามติ แต่หากมีร่างรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติย่อมถือได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นผ่านการยอมรับจาก "มวลมหาประชาชน"อย่างแท้จริง ส่วนวิธีการลงประชามติของผมอาจจะไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.การทำประชามติ  ผมเห็นว่ารัฐสภาควรแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ตามแนวทางข้างต้นซึ่งเป็นสิ่งที่ดีกว่าการลงประชามติหลายครั้ง ซึ่งจะเป็นการสร้างความเบื่อหน่ายให้กับประชาชน และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน

นอกจากนี้หากว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการลงประชามติและมีผลบังคับใช้แล้ว รัฐบาลควรจะยุบสภาให้เร็วที่สุดเพื่อให้เป็นไปตามกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  แต่หากไม่มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดผ่านการลงประชามติ ประชาชนทุกคนก็ยังจำเป็นต้องยึดถือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต่อไป

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท