ทางออกประเทศไทย: จดหมายถึงพี่น้อง "เสื้อแดง"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมเชื่อว่าคนจำนวนมากในสังคมไทยเข้าใจดีว่าเรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลและลึกซึ้ง

การเกิดขึ้นของพี่น้อง “เสื้อแดง”เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างชัดเจน ไม่มีใครที่จะห้ามหรือขัดขวางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่ทำให้เกิดพี่น้อง “เสื้อแดง” ได้ แต่น่าเสียดายที่การเปลี่ยนพี่น้องจากชาวนามาสู่ชนชั้นกลางใหม่ (ที่ใช้ทักษะความสามารถส่วนตัวในการประกอบอาชีพ) กลับไม่ได้ถูกผนวกให้เข้าเป็นเนื้อเดียวของกระบวนการความคลี่คลายทางประวัติศาสตร์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ เพราะคนจำนวนมากมองเพียงว่า “พี่น้องเสื้อแดง” เป็นกลุ่มคนที่ “โง่ จน” และเป็นฐานให้แก่นักการเมืองชั่วช้าบางคน/บางกลุ่มเท่านั้น

พี่น้อง “เสื้อแดง” ครับ ผมอยากจะบอกกับพี่น้องว่าไม่เป็นไรหรอก ปล่อยให้คนกลุ่มที่มองเราอย่างนั้นไปเถิด สิ่งที่สำคัญกว่า ก็คือ เราต่างหากจะจัดความสัมพันธ์ทางสังคมการเมืองกันใหม่อย่างไรเพื่อที่จะทำให้เสียงของเรามีความหมายและมีความชอบธรรมมากที่สุด ซึ่งในที่สุดแล้วพวกเขาเองก็จะยอมรับความสำคัญของเราไปเอง

สิ่งที่เราต้องเข้าใจกันก่อน ก็คือ พี่น้อง “เสื้อแดง” มีความหลากหลาย และกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ชีวิตของพวกเราผูกอยู่กับการทำมาหากินเสียมากกว่าคนกลุ่มอื่นในสังคม เมื่อกลุ่มนปช.เรียกระดมคราวที่แล้ว พี่น้องทางเชียงรายก็ติดเกี่ยวข้าวและนำข้าวไปรอคิวจำนำที่โรงสีจนมาร่วมไม่ได้

ความหลากหลายและกระจัดกระจายของพี่น้อง “เสื้อแดง” ได้ทำให้คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งสร้างตนเองขึ้นมาเป็น “แกนนำ” ของกลุ่มในพื้นที่ (นักวิชาการทางอีสานเรียกคนกลุ่มนี้ว่าเป็น “ผู้ประกอบการทางการเมือง”) เพื่อที่จะเป็นแกนกลางในการสื่อสารและเร้าระดมให้พี่น้องมีบทบาทเคลื่อนไหวในเรื่องต่างๆ แกนนำที่เกิดขึ้นใหม่นี้โดยมากแล้วก็จะเป็นคนที่เติบโตมาจากระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ขยายตัวมากในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ทำให้มีเครือข่ายลูกน้อง/เพื่อนร่วมอาชีพ/หรือเครือข่ายอุปถัมภ์รองรับการนำของเขา

“แกนนำ” หรือผู้ประกอบการทางการเมืองเหล่านี้สามารถใช้เงื่อนไขของการมีมวลชนอยู่ในพื้นที่เป็นตัวเชื่อมต่อกับนักการเมืองระดับชาติ หากใครสามารถระดมมวลชนได้มากก็จะต่อได้ในระดับบน เช่น การก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงครั้งแรกๆ สามารถเชิญเอาอดีตนายกรัฐมนตรี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ไปเปิดงาน เป็นต้น

ด้วยความหลากหลายและกระจัดกระจายของพี่น้องเสื้อแดง ประกอบกับโอกาสที่เปิดกว้างขวางของการที่จะเป็นแกนนำ จึงทำให้แกนนำพี่น้องเสื้อแดงก็มีความหลากหลายตามไปด้วย ในจังหวัดเชียงใหม่ที่กล่าวอ้างกันว่าเป็นเมืองหลวงของพี่น้องเสื้อแดง ก็มีกลุ่มเสื้อแดงที่แตกต่างทางความคิดอยู่ไม่น้อยกว่าสิบกลุ่ม

แม้ว่ามีความหลากหลาย แต่แกนนำจะเป็นแกนนำต่อเนื่องไปได้ ก็ต้องรักษาความสัมพันธ์กับนักการเมืองระดับชาติเอาไว้ให้ได้ หากใครถอยจากความสัมพันธ์ก็จะเกิดคนใหม่ที่เน้นความใกล้ชิดกับนักการเมืองก้าวขึ้นมาแทน แกนนำที่ก้าวหน้าบางคนอาจจะเคยเสนอความคิดดีๆ เช่น ให้พรรคเพื่อไทยคัดเลือกคนสมัคร ส.ส.ตามความต้องการของคนเสื้อแดงในพื้นที่ ก็ต้องยุติการผลักดันนี้เพราะนายใหญ่ไม่โปรด เป็นต้น

จึงไม่น่าแปลกใจที่แกนนำต้องทำตามความต้องการของนักการเมืองเสมอเพื่อรักษาสถานะความเป็นแกนนำของพี่น้อง “เสื้อแดง” เอาไว้ แม้ว่าในบางกรณีพวกเขาเองก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เช่น การสนับสนุนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเหมาเข่ง หรือ การทำตัวเงียบเชียบในเรื่องการประกันตัวผู้ต้องหาเสื้อแดง

ส่วนมากแล้ว แกนนำในพื้นที่ก็ไม่ได้ทำงานการเมืองในการปรับปรุงชีวิตของพี่น้อง “เสื้อแดง” ให้ดีขึ้นแต่ประการใด วิทยานิพนธ์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของอัตลักษณ์พี่น้องในหมู่บ้านเสื้อแดงภาคอีสาน ก็พบว่าแกนนำหลังจากเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงแล้วก็ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้แก่ชาวบ้าน มิหนำซ้ำยัง “กร่าง” จนชาวบ้านเสื้อแดงเบื่อหน่าย งานเดียวที่แกนนำจะพลิกสถานการณ์ได้ก็คือเมื่อเกิดวิกฤติทางการเมืองแล้วจะต้องระดมพลเข้ากรุงเทพฯหรือชุมนุมในพื้นที่จังหวัดเท่านั้น

พี่น้อง “เสื้อแดง” ทั่วไปจึงตกอยู่ในสภาพไร้อำนาจต่อรองทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติ ในระดับพื้นที่ก็เป็นเช่นที่รับรู้กันทั่วไปว่าหากไม่สนิทสนมกับแกนนำก็จะเข้าไม่ถึงกองทุนหมู่บ้าน ในระดับชาติก็ถูกหักหลังมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการพายเรือไปส่งแล้ว เขาจะหาทางเดินไปเอง (ฮา) หรือ การจำนำข้าวรุ่นหลังนี้ที่ต้องรอคอยกันจนหนี้เพิ่มขึ้นบานเบอะ

ผมไม่คิดว่ารัฐบาลนี้ได้ทำอะไรให้พี่น้องเสื้อแดงมีความมั่นคงในชีวิตเพิ่มขึ้นเลย การจำนำข้าวที่ขาดทุนมากมายมหาศาลจะนำมาซึ่งการตัดงบประมาณด้านอื่นๆ ที่กระทบกระเทือนพี่น้องเสื้อแดง เช่น การตัดงบประมาณกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งเป็นกองทุนสร้างอนาคตให้แก่ลูกหลานพี่น้องเองไปเจ็ดพันล้านบาท โครงการจัดการน้ำสามแสนห้าหมื่นล้านก็ทำร้ายพี่น้องเสื้อแดงในหลายจังหวัด เป็นต้น

ทางออกของพี่น้อง “เสื้อแดง” ก็คือ ต้องเป็น “อิสระ” จากการเรียกร้องของแกนนำในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยจะต้องให้แกนนำเสื้อแดงในพื้นที่ทำตัวเป็นตัวแทนปัญหาของพี่น้อง มากกว่าเป็นตัวแทนพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่จะขอให้เราไปทำโน่นทำนี่เพื่อตอบสนองการเมืองของนักการเมืองเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ก็ต้องกดดันแกนนำในพื้นที่ให้เรียกร้องต่อพรรคการเมืองและนักการเมืองให้รับผิดชอบและกราบขอโทษพี่น้องในการกระทำผิด เช่นที่ผ่านมา และให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ใช้เสียงข้างมากจากพี่น้องไปทำสิ่งที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะทำ

ที่สำคัญ หากพี่น้องคิดว่าพรรคการเมืองเป็นตัวแทนของพี่น้อง ก็ต้องทำให้พรรคการเมืองทำตามที่พี่น้องต้องการให้ได้ ด้วยการลงโทษการทำผิดต่อพี่น้องในวันนี้ให้แรงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่พรรคการเมืองจะได้ไม่ตระบัดสัตย์ต่อไปอีก

พี่น้องเสื้อแดงต้องคิดว่านักการเมือง พรรคการเมือง เป็นเสมือนลูกหลานที่เมื่อทำผิดแล้วต้องถูกตี/ถูกลงโทษเพื่อจะได้หลาบจำ ไม่ทำผิดซ้ำซากอีก ห้ามคิดว่านักการเมืองหรือพรรคการเมืองเป็นเจ้านายหรือลูกพี่ที่เราต้องยอมเขาตลอดไปครับ

 

ที่มา:  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท