Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คำปรารภ

“สันติวิธี” เป็นคำที่ผู้เขียนไม่ค่อยได้ใช้นัก เพราะเกิดความรู้สึกว่าคำนี้ถูกแปะป้ายและตีตราพร้อมทั้งให้คุณค่าอย่างครบสมบูรณ์ ดีงาม และค่อนข้างเบ็ดเสร็จไปเรียบร้อยแล้ว น่าสังเกตว่า “สันติวิธี” ในฐานะคำนามถูกใช้อย่างซ้ำๆคู่ขนานไปกับความสูญเสียอย่างซ้ำๆ ของประชาชนที่อยู่ภายในและรายรอบเหตุการณ์ชุลมุนอันมีเหตุมาจากการเมืองในแต่ละครั้ง น่าสนใจว่า “สันติวิธีในประเทศไทย” ไม่มีตัวแบบเชิงปฏิบัติที่เหมาะสมกับความเป็นคนไทยเสียที ทั้งที่มีสนามให้ลงมือปฏิบัติการจริงหลายต่อหลายครั้ง ดังนั้น อาจเป็นไปได้ที่คำนามคำนี้ ซึ่งผลิตออกมาจากโลกวิชาการสมัยใหม่จะเกิดการเลื่อนไหลกลายเป็นสันติวิธีเชิงวิชามารในประเทศไทยได้ อันเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสังเกตยิ่ง


1. ความเดิมของสันติวิธี

“สันติวิธี” (Peaceful means) เป็นคำนามที่ผลิตขึ้นจากโลกวิชาการสมัยใหม่ เหมือนเป็นความพยายามที่จะออกแบบ “เครื่องมือ” อันทรงประสิทธิภาพสำหรับการเคลื่อนไหวเชิงรัฐศาสตร์-สังคมศาสตร์ โดยมีข้อตกลงที่ค่อนข้างเป็นสากลว่า “ไม่มุ่งเน้นการทำร้ายอย่างน้อยที่สุดในแง่กายภาพกับคู่ขัดแย้ง” ดังนั้น สันติวิธีจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อหยุดการทำร้ายทางกายภาพเป็นเบื้องต้น จากนั้นจะมีพัฒนาการเชิงวิชาการกันไปอย่างไรก็ตามแต่การแบ่งของผู้ทำงานด้านนี้

ปัญหาที่น่าสนใจ คือ การดำรงอยู่ของสันติวิธีในโลกสะท้อนให้เห็นอะไร? จริงอยู่เราอาจชื่นชม “สันติวิธี” ในฐานะเครื่องมือที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกทำร้ายท่ามกลางความขัดแย้ง แต่ด้านหนึ่งการมีอยู่ของ “สันติวิธี” สะท้อนให้เห็นถึงภาวะปราศสันติซึ่งมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเปรียบสันติเป็นลักษณะทางพันธุกรรมที่พบในมนุษย์ ดูเหมือนว่าเราจะไม่พบสันติตามธรรมชาติอีกต่อไปแล้ว แต่เราจะพบ “สันติวิธี” ในห้องทดลองปฏิบัติการ ซึ่งความพยายามที่จะสร้างสันติให้เกิดขึ้นท่ามกลางข้อขัดแย้งยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในระดับสากล ซ้ำร้ายสันติวิธีบางแนวทางกำลังสร้างสันติวิธีเทียม (Pseudo-peaceful means) ซึ่งก่อรูปและกลายพันธุ์เป็นการสร้างอำนาจกดบังคับ (Authority)

ในทางปฏิบัติสันติตามธรรมชาติมักขาดแคลนเป็นพิเศษเมื่อเกิดความขัดแย้ง อาจกล่าวได้ว่า ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์มีแนวโน้มจะจบลงด้วยความรุนแรงมากกว่าจะจบลงอย่างสันติ พาลให้นึกถึงญาติสนิททางวิวัฒนาการของมนุษย์อย่างลิงชิมแปนซีแคระ (Dwarf chimpanzee) ที่ใช้เพศวิถี (Sexual orientation) เป็นสื่อกลางในการตกลงเจรจาเพื่อลดความรุนแรงและยุติสงครามในเผ่าพันธุ์ ความจริงวิธีการแบบญาติของเราก็มีใช้บ้างในประเทศไทยดังคำพูดคุ้นหูที่ว่า “ตกลงกันในมุ้ง” แต่วิธีคิดอย่างเป็นทางการของประเทศไทยกำหนดไว้อย่างไม่เป็นทางการว่า “เรื่องในมุ้งเป็นเรื่องห้ามพูด” โดยมากความรุนแรงในประเทศไทยเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence) เช่น การกดขี่ หรืออาจเรียกว่า การข่มขืนทางชนชั้น ทำนองทาสสาวในเรือนเบี้ยที่เป็นสมบัติของเจ้าขุนมูลนาย

จึงเป็นข้อน่าสังเกตว่า แท้จริงสันติมีอยู่ตามปกติ แต่ในบางภาวะสันติได้หายไป และไม่ยอมกลับมาจนต้องออกแบบสิ่งที่ช่วยทำให้สันติกลับมาตามเดิม ปัญหาคือทำไมสันติไม่กลับมา? หรือจริงๆ ตั้งใจให้ไม่เกิดสันติแต่แรก?


2. สันติวิถีและนักสันติวิธีไทย

ดูเหมือนสันติวิถีกับนักสันติวิธีไทยยังหาตัวแบบที่ไม่ลงรอยกันเท่าไรนัก ท่ามกลางจำนวนผู้สูญเสียและได้รับผลกระทบทั้งทางกายภาพหรือเชิงจิตวิทยาในวงกว้าง ฉะนั้น ระหว่างที่ “นักสันติวิธี” กำลังประมวลผลเชิงวิชาการเพื่อสังเคราะห์ตัวแบบที่เหมาะสมกับจริตของคนไทย อาจเป็นไปได้ว่าคนไทยต้องบาดเจ็บล้มตายไปพลางๆ  เช่นเดียวกับผู้บาดเจ็บล้มตายทั่วโลกด้วย ระหว่างการรอคอยประสิทธิภาพของเครื่องมือนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า “ความรู้แบบจัดหมวดหมู่และลำดับ” (Discipline) มีความเฟ้อและมากพอจะอำนวยให้ทุกอย่างขับเคลื่อนไปดั่งใจมนุษย์ปรารถนา แต่อีกแง่หนึ่ง มนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ได้กลายเป็น “ปัจเจกบุคคล” (Individual) และได้กลายเป็นหน่วยการผลิตในลักษณะที่เหมือนหุ่นยนต์ในสายพานการผลิตไปเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นความสร้างสรรค์ของวิธีการก็เป็นอันหวังได้ยากด้วย เนื่องจากปัจจัยในการก่อรูปมีไม่มากพอ เป็นต้น ความเฉื่อยชาและภาวะสมยอมให้มีการกดบังคับในตัวเอง การปิดกั้นเสรีภาพในการสื่อสาร หรือ การสร้างวาทกรรมเพื่อหล่อเลี้ยงระบบชนชั้น ดังนั้น พื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือระบายความอึดอัดคับข้องใจจึงเกิดขึ้นได้ยาก ในเมื่อพื้นที่ไม่มี วิถีจึงไม่อาจมีได้ สิ่งที่ถูกอนุญาตให้เกิดขึ้นได้คือการสถาปนาคำว่า “นักสันติวิธี” อันเป็นภาพพจน์ยิ่งใหญ่ของผู้เชี่ยวชาญด้านสันติวิถี ซึ่งไม่มีวิถีอยู่จริง?

โชคยังเข้าข้างโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและประเทศไทย เพราะข้อมูลส่วนหนึ่งในโลกที่ถูกจัดเก็บลงบนอินเตอร์เน็ตและมากเสียจนเฟ้อจึงทำให้ง่ายต่อการเข้าถึงและส่งต่อให้เกิดปัจจัยในการก่อรูปพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือระบายความอึดอัดคับข้องใจได้ ดังนั้น “วิถี” เป็นสิ่งที่พอจะเกิดขึ้นได้เริ่มต้นจากสังคมจำลองอย่างอินเตอร์เน็ต  ประเด็นคือ นักสันติวิธีปรากฏตัวในตำแหน่งแห่งที่ใดของพื้นที่ทางเลือกนี้ กล่าวได้ว่า นี่อาจเป็นทางออกเดียวของนักสันติวิธีที่จะสร้างตัวแบบที่เหมาะสมกับบริบทของเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์โดยอาศัยกระบวนการสานเสวนา (Dialogue) กับคนจำนวนมากที่มีความหลากหลายทางความคิดและอารมณ์สูง นี่อาจเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับนักสันติวิธี

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือนักสันติวิธีไทยอาจไม่รู้จักกระบวนการสานเสวนา (Dialogue) เนื่องมาจากความมีอันดับ (Hierarchy) ในสายพานการผลิต เฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย นักสันติวิธีชื่อดังที่พอจะเป็นความหวังในการผลักดันให้เกิดสันติวิถีท่ามกลางความขัดแย้งได้ อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงเชิงโครงสร้างเสียเอง เพราะวัฒนธรรมยศถาบรรดาศักดิ์ ปฏิกิริยาทางจิตวิทยาที่ผิดปกติ หรือที่เรียกกันภาษาชาวบ้านว่า “อีโก้” หรือไม่ก็เพราะมุมมองแบบค่านิยมไทยที่ว่า คนมีการศึกษาตามลำดับชั้น สูงส่งกว่าคนที่ไร้การศึกษาตามลำดับชั้นหรือไม่สำเร็จการศึกษาตามลำดับชั้น นั่นคือ มีคุณภาพทางความคิดแตกต่างกัน มีน้ำหนักที่ควรค่าแก่การรับฟังไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งน่าสนใจว่าจะมีนักวิชาการชาวไทยที่อ้าง “สันติวิธี” เป็นสัดส่วนเท่าไรที่มีฐานคติแบบนี้แต่ไม่เปิดเผยตัวตน


3. การเลื่อนไหลของคำว่าสันติวิธีในไทย

สำหรับประเทศไทย “สันติวิธี” เหมือนจะเป็นคำใหม่ด้วยซ้ำในแวดวงนักวิชาการ หลายคนไม่เข้าใจวิถีทางแห่งสันติหรือไม่ก็ไม่รู้ว่าตนอยู่ในตรงส่วนไหนของโลกสันติวิธีอันกว้างใหญ่ และสำหรับชาวบ้านแล้วก็ไม่ต้องพูดถึง ชาวบ้านย่อมไม่รู้จักและอาจไม่จำเป็นต้องรู้จักสันติวิธีและนิยามเชิงวิชาการอันยืดยาว เพราะชาวบ้านอาจมีสันติกันอยู่ก่อนแล้ว และนั่นอาจเป็นสันติวิธีลักษณะตกลงกันในมุ้ง และในสายตาของชนชั้นผู้มีการศึกษาอาจตัดสินใจว่าชาวบ้านกำลังพอใจอยู่กับสิ่งต่ำทรามโดยไม่ยอมฟังเหตุผลก็เป็นได้ 

ที่จริงแล้ว “สันติวิธี” น่าจะเป็นปัญหาของชนชั้นกลางมากกว่า เนื่องจากชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือระดับปริญญา ได้กลายเป็น “ปัจเจกบุคคล” อย่างสมบูรณ์ ซึ่งที่จริงไม่เกินร้อยปีบรรพบุรุษส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็เป็นชาวบ้านที่เคยมีสันตินั่นเอง และ “ความเป็นปัจเจก” นี้ทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวอย่างลึกซึ้ง ความรู้สึกคับแคบแบบล้นเกินจนรังเกียจกำพืดปูมหลังของตนเอง นำไปสู่การโหยหาความเป็นศิวิไลซ์จากเมืองหลวง (Civilization)

ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในชนชั้นผู้มีการศึกษา คือ ความรอบรู้ในคำและความหมาย เพราะดูเหมือนว่าระบบการศึกษาที่เปลี่ยน “ลูกคนรากหญ้า” ให้กลายเป็น “เทวดาเดินหน” ไม่ได้โปรแกรมพจนานุกรมที่มีจำนวนคำและความหมายมากพอที่จะทำให้คนเหล่านี้ย้อนกลับไปเข้าใจรากเหง้าของตน ซ้ำร้ายเมื่อคนเหล่านี้ประพฤติตนราวกับเป็นเจ้าของเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ สังคมจึงต้องประสบกับถ้อยคำและความหมายอันจำกัดจำเขี่ยและคับแคบปราศจากโลกทัศน์เนื่องมาจากการขาดสูญของวัฒนธรรมการเรียนรู้

จึงกลายเป็นว่าคำที่ถูกปรุงขึ้นใหม่และใช้กันเองนั้นในวงแคบๆ เป็นคำเชิงโฆษณาชวนเชื่อที่มีอิทธิพลแนบแน่นกับสื่อสารมวลชนและอินเตอร์เน็ต และมักมีลักษณะดูเหมือนจะสร้างสรรค์ มีความสวยหรู ประณีต คมคาย น่าเคารพ ซึ่งเบียดแทรกภาพพจน์จริงของสังคมที่เรียบง่าย ลูกทุ่ง และไม่สวยหรูนัก คำว่า “สันติวิธี” เช่นเดียวกัน  ถูกปรุงขึ้นและผลิตซ้ำให้มีภาพพจน์ที่สวยหรู ซึ่งชนชั้นกลางผ่านสื่อมวลชนได้ประทับภาพพจน์ของ “นักสันติวิธี” เอาไว้ในใจเรียบร้อย นั่นคือ ภาพคนกลางที่เป็นนักไกล่เกลี่ย ภายใต้บทสรุปแบบนิทานอ่านก่อนนอน คือ ปัญหาทั้งหลายจะจบลงอย่างสวยงามราวกับไม่เคยมีเรื่องราวเลวร้ายเกิดขึ้นที่นี่ นี่คือสิ่งที่ “สันติวิธี” ถูกแปะป้ายไปแล้ว และไม่มีความเคลื่อนไหวใดจาก “นักสันติวิธี” เพื่อรักษาทิศทางที่บิดเบี้ยวไปของคำนามคำนี้

เมื่อ “สันติวิธี” มีภาพประทับที่สวยงามเช่นนี้ ด้วยน้ำพักน้ำแรงของนักวิชาการ ใครก็ตามที่ต้องการสวมใส่ภาพพจน์ที่สวยหรูดูดีนี้ ก็ทำแต่เพียงอ้างและผลิตซ้ำให้มากพอ นั่นคือการเข้ามาฉกฉวยและใช้ประโยชน์จากภาพลักษณ์เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง ก็ในเมื่อ “สันติวิธี” ถูกออกแบบให้นำไปใช้กับการเคลื่อนไหวเชิงรัฐศาสตร์-สังคมศาสตร์ คนที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน คือ “นักการเมืองหรือนักเคลื่อนไหวทางการเมือง” ปัญหาที่พบบ่อยในประเทศไทย คือ นาย A ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นนักการเมืองสวมใส่คำว่า “นักสันติวิธี” หรืออ้าง “สันติวิธี” แล้วอาศัยการผลิตซ้ำในโลกสมัยใหม่ว่า นาย A คือนักสันติวิธีตัวจริง จนทำให้ชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาเชื่อตามการโน้มน้าวนี้  ในที่สุด อาศัยวาทศิลป์ นาย A ได้กลายเป็นนักสันติวิธีในใจของชนชั้นกลาง ทั้งๆที่มีหลักฐานว่า นาย A มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับความรุนแรงเชิงโครงสร้างไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง พอได้ความชอบธรรมเช่นนี้ นาย A และคณะผู้ร่วมก่อการย่อมออกลายโดยใช้อำนาจที่มีฐานมาจากการสนับสนุนของชนชั้นกลางสถาปนาคำว่า “สันติวิธี” ซึ่งประกอบด้วยชุดเรื่องเล่าใหม่ (Narrative) เมื่อมาถึงขั้นนี้ คำว่า “สันติวิธี” นับว่าเลื่อนไหลไปจากเดิมแล้ว

ยกตัวอย่างเช่น “สันติวิธี” ในภาพพจน์ของคนไทย คือ ความดีบริบูรณ์อย่างเหนือธรรมชาติ กระบวนที่เป็นตอนจบของเรื่องที่เหมือนไม่เคยมีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้น คนกลางที่เต็มเปี่ยมอัจฉริยภาพในการแก้ไขปัญหา


4. สันติวิธีเชิงวิชามาร

ถึงคำทุกคำจะมีสิทธิเลื่อนไหลไปอย่างไรก็ได้ แต่การเลื่อนไหลดังกล่าวไม่ควรมีผลกระทบต่อสวัสดิภาพในชีวิตจริงของผู้คน วันนี้ “สันติวิธีเชิงวิชาการ” ยังหาตัวแบบที่เหมาะกับเมืองไทยไม่พบ ในขณะที่ “สันติวิธีเชิงวิชามาร” กำลังอ้างความชอบธรรมอย่างหนักแน่น บนเลือดเนื้อ น้ำตาและความทุกข์ร้อนของผู้ได้รับผลกระทบ  เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจมากสำหรับนักปฏิบัติการที่มีจิตใจใฝ่สันติอย่างแท้จริง เพราะพื้นที่สื่อส่วนใหญ่อาจถูกครอบครองด้วยสันติวิธีเชิงวิชามารในฐานะส่วนหนึ่งของวาทกรรมที่อิงแอบกับพลังอำนาจแห่งการกดบังคับ ชนชั้น และผลประโยชน์ ซึ่งตั้งใจปฏิบัติการผลิตซ้ำผ่านสื่อของฝักฝ่ายตนเอง โดยจะไม่เหลือพื้นที่ไว้ให้สันติวิธีทางเลือกแบบอื่นๆเลย

อย่างไรก็ตาม เมื่อ “สันติวิธี” เป็นตัวละครในโลกสังคมศาสตร์ที่อยู่ภายใต้เกมที่แอบอิงกับแนวคิดแบบปฏิฐานนิยมอยู่ส่วนหนึ่ง ดังนั้น ตรรกะจะช่วยให้เราแยกแยะและจับพิรุธสันติวิธีเชิงวิชามารได้ ดังข้อสังเกตต่อไปนี้

- สันติวิธีเชิงวิชามารมักจงใจสื่อสารอย่างผิดฝาผิดตัว เช่น กับชาวบ้านรากหญ้าจะใช้ชุดคำที่ซับซ้อนและเข้าใจยากแต่สวยหรู ในขณะกับนักวิชาการหรือผู้มีการศึกษาจะใช้ชุดคำที่ตื้นเขิน บ่อยครั้งอาจหยาบโลน

- สันติวิธีเชิงวิชามารมักจะเห็นสันติวิธีในมือของตนเป็นคฑาวิเศษซึ่งจะเสกให้โลกสวยและงดงามขึ้นได้ ทั้งที่สันติวิธีเป็นเครื่องมือที่ถูกออกแบบมาเพื่อเยียวยาความล้มเหลวเลยเถิดของมนุษย์ที่ไม่สามารถเจรจากันได้

- สันติวิธีเชิงวิชามารมักไม่เห็นชีวิตและความเป็นความตายของผู้คนอยู่ในสายตา นั่นคือ ไม่มีการเตรียมการ วางแผนดำเนินการ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง โดยมากจะพยายามผลักให้เป้าหมายสำเร็จไปให้ได้ โดยใช้วิธีโน้มน้าวมวลชนและผลิตซ้ำคำว่า “สันติวิธี” รัวๆ

- สันติวิธีเชิงวิชามารมักแสดงตัวอย่างไม่ได้ตั้งใจว่าเป็นหนึ่งในความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เช่น การแสดงให้เห็นถึงค่านิยมเกี่ยวกับการศึกษา หรือดูถูกสติปัญญาคนอื่น หรือหมิ่นแคลนคนจน คนบ้านนอก

- สันติวิธีเชิงวิชามารมักใช้ตรรกะวิบัติร่วมด้วยหลากหลายประเภทโดยมากอาจใช้ประกอบกับทฤษฎีสมคบคิดเพื่อประกอบสร้างเรื่องเล่าใหม่ที่น่าเชื่อถือ เช่น อภินิหาร หรือตำนานเพื่อประกอบการเคลื่อนไหว

สุดท้าย ถ้าเราไม่ต้องการให้เกิดการประทุษร้ายชีวิตและจิตใจของกันและกัน ควรที่จะพิจารณา “ปัจเจกสภาพ” ของตนเองในฐานะวัตถุในสายพานแห่งการกดบังคับ เพื่อรับรู้ ยอมรับ และเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งที่ดีกว่า สำหรับวิถีทางแห่งสันตินั้น ความจริงแล้วทุกคนรู้แก่ใจดีว่าควรจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะเกิดสันติ ซึ่งข้อมูลและสิ่งที่จะช่วยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และเคลื่อนไหวค่อนข้างมีอยู่อย่างสมบูรณ์ในอินเตอร์เน็ตแห่งนี้ แต่จะก้าวข้ามความรู้สึกของตนเองได้หรือไม่ว่า ความเป็นไปของโลกไม่ได้จบลงสวยงามเสมอไปเหมือนในนิทานก่อนนอน ไม่มีคนกลางที่จะมีคฑาวิเศษเสกเป่าคาถาให้คนรักกันราวกับไม่เคยทะเลาะเบาะแว้งกัน  ควรตื่นแล้วพบกับโลกที่ยังเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ เสียงร่ำไห้ ความยากจน และความโหยหาสันติจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ก่อนที่จะปฏิรูปอะไรก็ตาม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net