Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในประเทศที่ประชาธิปไตยพัฒนาแล้ว กองทัพจะแยกออกจากการเมืองแทบจะเด็ดขาด ซึ่งพบได้ในประเทศส่วนใหญ่ในทวีปยุโรป หรือประเทศนอกยุโรป อย่างเช่น อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมถึงอินเดีย เป็นต้น อินเดียนี้น่าสนใจยิ่ง เพราะประเทศมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษาสูงมาก แต่อินเดียไม่เคยมีรัฐประหารเลย ทำให้เกิดความคิดว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะยอมรับว่าประเทศไทยมีความเป็นพหุสังคมไม่แพ้ประเทศอินเดีย ซึ่งความเป็นกลางของกองทัพสำคัญต่อความเป็นปึกแผ่นและความอยู่รอดของประเทศ

ส่วนในประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่พัฒนา เราจะเห็นกองทัพเข้ามามีบทบาททางการเมืองเสมอ ซึ่งพบได้ในประเทศพม่า เกาหลีเหนือ กลุ่มประเทศลาตินอเมริกาและแอฟริกา รวมถึงไทยเรา และประเทศไทยวันนี้กำลังจะไปไกลกว่าประเทศในกลุ่มนี้โดยมีความพยายามสร้างกระแสเพื่อบอกว่าการรัฐประหารเป็นประเพณีทางการเมืองปกติของไทยที่สังคมไทยควรยอมรับ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเส้นทางไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบที่สมบูรณ์ในประเทศไทยยังอีกยาวนาน โดยจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะของกองทัพไทยนั่นเอง

มาวันนี้กองทัพไทยได้แสดงแล้วว่ากองทัพได้กลับมาเป็นตัวของตัวเอง ได้ปฏิเสธใบสั่ง พร้อมทั้งแสดงจุดยืนที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุดในระยะยาว คำถามคือมีอะไรที่ดลใจให้กองทัพเลือกที่จะเป็นกลางมากที่สุดในสถานการณ์วันนี้และควรจะเป็นในวันต่อๆ ไป

ประเด็นที่พอจะวิเคราะห์ได้คือการรัฐประหารไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้อีกต่อไปในสถานการณ์ที่คนไทยมีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันแบบ 2 ขั้วในปัจจุบัน และความเสี่ยงที่การรัฐประหารอาจจะไม่ประสบความสำเร็จหรือแม้สำเร็จก็ยากลำบากในการรักษาความสงบของประเทศ

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นไปได้คือความผิดพลาดด้านนโยบายที่ส่งผลให้ศักยภาพของกองทัพในภารกิจป้องกันประเทศ (ศัตรูนอกประเทศ) ถดถอยลง เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาภารกิจการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศได้กลายเป็นภารกิจหลักของกองทัพ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการต่อสู้กับคนไทยด้วยกันเองกำลังจะกลายเป็นงานหลักของกองทัพ ในขณะที่กองทัพถูกออกแบบมาเพื่อต่อสู้กับศัตรูนอกประเทศ แต่ภัยคุกคามจากนอกประเทศดูจะลดลงทุกขณะ โดยเฉพาะการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนยิ่งทำให้การหาศัตรูเพื่ออ้างเหตุผลคงกองทัพให้มีขนาดใหญ่และมียุทโธปกรณ์ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาจึงกลายเป็นคำถาม

นอกจากนี้ การรักษาความสงบเรียบร้อยโดยการต่อสู้กับคนไทยด้วยกันย่อมไม่สร้างความภาคภูมิใจให้หมู่ทหารระดับล่าง และการสั่งฆ่าประชาชนอาจเป็นคำสั่งที่ผิดกฎหมาย ผิดมโนสำนึก ที่ทหารระดับล่างอาจปฏิเสธได้ ซึ่งต่างจากการหันหลังให้อริราชศัตรู โดยเฉพาะในกรณี worst case scenario ที่กองทัพต้องออกไปรักษาความสงบเรียบร้อยในภูมิภาคโดยการกระจายกำลังเป็นหน่วยทหารขนาดเล็กไปตามจุดต่างๆ ที่ห่างไกลกรุงเทพ ทหารระดับล่างที่ไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้ว อาจปฏิเสธคำสั่งและหันไปเข้าร่วมกับพี่น้องของตนในพื้นที่โดยนำอาวุธที่ติดตัวไปด้วย ซึ่งจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น ซึ่งภาพแบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในยุคการล้มสลายของยูโกสลาเวีย

ดังนั้นการใช้การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศมาเป็นภารกิจหลักสำคัญและเป็นข้ออ้างในการคงขนาดและงบประมาณของกองทัพจึงเป็นข้ออ้างที่ผิดพลาดเพราะไม่สามารถทำได้จริง เช่น การจะจับหรือสังหารคนไทยด้วยกันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีกฎหมายที่ซับซ้อนมารองรับ และการปราบปรามประชาชนย่อมทำให้ผู้ที่ถูกปราบมองว่าทหารเป็นศัตรูของตนอยู่วันยังค่ำ เหตุการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้จึงเป็นบทเรียนสำคัญ

ดังนั้นจะปล่อยให้กองทัพคงกำลังคนและงบประมาณจำนวนมากโดยอ้างภารกิจหลักที่ทำไม่ได้จริงในทางปฏิบัติจึงเป็นคำถามที่คนไทยผู้เสียภาษีทุกคนควรตั้งคำถาม แต่เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ การคงสภาพเดิม (คน+งบประมาณ) ของกองทัพไว้เพื่อแลกกับความเป็นกลางและการบรรลุวุฒิภาวะของกองทัพจึงยังคุ้มค่าอยู่สำหรับชาวไทยผู้เสียภาษีทุกคน

 


 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net