Skip to main content
sharethis

เสวนาเรื่องสันติวิธีทางเลือก กับนักวิชาการนักกิจกรรมรุ่นใหม่และผู้คลุกวงในสันติวิธี แลกเปลี่ยนนิยาม ถึงที่ทางของถ้อยคำที่ถูกใช้มากที่สุดในยุคนี้

15 ธ.ค.2556  ที่ Reading Room มีการเสวนาเรื่อง “สันติวิธีทางเลือกในสังคมไทย” โดย จันจิรา สมบัติพูนศิริคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทำวิทยานิพนธ์เรื่องอารมณ์ขันกับการต่อสู้สันติวิธีในเซอร์เบีย, กิตติชัย งามชัยพิสิฐ สถาบันต้นกล้า ผู้มีประสบการณ์การทำงานกับคนรุ่นใหม่ให้ฉุกคิดในประเด็นทางสังคมอย่างสร้างสรรค์, วิจักขณ์ พานิช  นักวิชาการด้านศาสนา,ชาญชัย ชัยสุโกศล จาก สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และทำวิจัยเรื่อง hate speech กับการเมืองไทย


จันจิรา  กล่าวว่า ช่วงนี้มีการพูดถึงเรื่องสันติวิธี สันติอหิงสา อารยะขัดขืน จึงอยากนำเสนอว่าสิ่งเหล่านี้มีความต่างกันอย่างไร ในการศึกษาสันติวิธีมีความหลากหลายในการพูดถึงเรื่องนี้มาก สายที่สุดโต่งคือกลุ่มทางศาสนา ซึ่งเห็นว่าการไม่ใช้ความรุนแรงคือการไม่ทำลายชีวิต เพราะชีวิตมีคุณค่า รวมไปถึงการแสดงเจตนาในการทำลายล้าง เช่น การพูดจาหยาบคาย การใส่เสื้อสัญลักษณ์นาซี การคิดร้ายในใจ ฯลฯ ก็ถือว่าเกี่ยวข้องกับความรุนแรง อีกฝั่งหนึ่งเห็นสันติวิธีเป็นปฏิบัติการทางการเมือง หรือเห็นสันติวิธีเป็นอาวุธ ซึ่งแน่นอนมันอาจทำร้ายคน แต่ไม่ฆ่า รูปแบบสำคัญ เช่น การบอยคอย การเดินขบวน การชูป้ายวิพากษ์วิจารณ์ การใช้คำหยาบ การล้อเลียน รวมถึงการเผาตัวประท้วง เป็นต้น ล่าสุดมีขบวนการที่ยอมให้มีการทำร้ายตัวผู้กระทำการ แล้วเรียกว่า ปฏิบัติการสันติวิธี 

เวลาพูดถึงการเมือง คือ การพูดเรื่องอำนาจในความขัดแย้ง การศึกษาสันติวิธีส่วนใหญ่ศึกษาในส่วนของผู้ไร้อำนาจ ในแวดวงการศึกษาสันติวิธีที่เริ่มตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 เป็นการต่อสู้กันในเชิงความรู้ เพราะมองว่ารัฐศาสตร์กระแสหลักนั้นมีลักษณะเป็นก้อนเดียว เป็นการใช้อำนาจแบบบนลงล่าง เน้นการศึกษาเรื่องกองทัพ ระบบราชการ แต่สายสันติวิธีจะศึกษาว่าอำนาจมีหลายก้อนและใช้ได้หลายทิศทาง บางสายที่พยายามเปิดหรือตั้งคำถามกับสิ่งที่ผู้คนเคยชินในชีวิตประจำวันด้วย

เมื่อพูดถึงสันติวิธีหลายคนคิดว่ามันทำงานอย่างอัตโนมัติ การชุมนุมด้วยจำนวนคนเยอะๆ ไม่ได้ทำให้เกิดอำนาจ นำสู่การเปลี่ยนแปลงได้ทันที การศึกษาสันติวิธีทางการเมืองจึงเน้นย้ำยุทธศาสตร์ การวางแผน เพราะสันติวิธีไม่ใช่เวทมนต์ ดังนั้นจึงมีหลายครั้งที่ใช้สันติวิธีแล้วไม่ประสบผล นอกจากนี้สิ่งที่หลายกลุ่มลืมคือ การฝึกฝนเพื่อไม่ให้เราหลุดจากหลักการสันติวิธี เพราะนัยของสันติวิธีเป็นการสู้กันเรื่องความชอบธรรม

หลายคนอาจเลือกทางนี้เพราะมิติด้านศีลธรรมของมัน แต่ส่วนใหญ่ใช้เพื่อให้ภาพที่ออกไปมีความชอบธรรมมากกว่าคนที่เป็นฝ่ายใช้ความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันทำให้สนใจจะเขียนเปเปอร์ว่าด้วยเรื่องเมื่อใดที่ขบวนการสันติวิธีไร้ความชอบธรรม  หากรัฐบาลเข้าใจตรรกะเดียวกันและไม่ใช้ความรุนแรง จะเกิดอะไรขึ้นกับขบวนการสันติวิธี

ผู้ดำเนินรายการ ถามว่า รูปแบบสันติวิธีหากถูกใช้เพื่อเป้าหมายอันไม่เป็นประชาธิปไตย ยังถือว่ามีความชอบธรรมอยู่หรือไม่ 

จันจิรากล่าวว่า หลายที่เริ่มเจอสถานการณ์อย่างนี้ เช่น เวเนซุอาลา มีงานที่เริ่มถกเถียงกันเรื่องประชาธิปไตยที่อายุเยอะ ( aging democracy) ทั้งในอเมริกาและยุโรป เราพูดราวกับว่าประชาธิปไตยเป็นจุดหมายอันดีงามสูงสุด สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยที่หยั่งรากพบว่า ประชาธิปไตยเอื้อต่อกลุ่มทุน คนที่ออกมาต่อสู้พยายามสู้กับนิยามของประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้ง ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงไม่ได้มีรูปแบบเดียว การชุมนุมประท้วงก็นับเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและปรึกษาหารือ

“แต่สิ่งที่เห็นในเมืองไทยนั้นเป็นโพสต์โมเดิร์นโคตรๆ เรามีสังคมสมัยใหม่ ก่อนสมัยใหม่ และหลังสมัยใหม่ เป็นแกงโฮะอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน”

จันจิรากล่าวว่า วิกฤตการณ์ประชาธิปไตยของสังคมไทยตอนนี้คือการปะทะกันระหว่างประชาธิปไตยที่ไม่เคยสุกงอมในประเทศไทย กับการโหยหาประชาธิปไตยแบบใหม่ที่เกิดในอเมริกาและยุโรป ที่กล่าวว่าที่ไม่สุกงอมคือ เราแทบไม่เคยมีรัฐบาลที่อยู่ครบเทอม มีการรัฐประหารหลายสิบครั้ง มีกลุ่มอนุรักษ์นิยม ขณะที่ในยุโรปเราเห็นประวัติศาสตร์ของการพัฒนาประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่มั่นคงก่อนแล้วจึงพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวก็ไม่อยากดูแคลนการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์ซึ่งมีความพยายามจะหาโมเดลของการตรวจสอบที่ไปไกลกว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทนเช่นกัน

ผู้เข้าร่วมเสวนา ถามว่า การใช้สันติวิธีนับเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของผู้ชุมนุมได้หรือไม่ เช่นในกรณีของสถานการณ์ปัจจุบัน และในระดับโลกมีการศึกษาเรื่องนี้หรือไม่?

จันจิราตอบว่า มีแคมเปญสันติวิธีอันไหนบ้างที่ไม่พรอพพากันดา ทั้งนี้เพราะผู้ใช้สันติวิธีสนใจภาพลักษณ์ของขบวนการจึงเลือกใช้วิธีนี้ ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ ตอนนี้ทั้งสองฝ่ายของคู่ขัดแย้งในการเมืองไทย มีฝ่ายกองกำลังของตนเอง ประเด็นสำคัญคือทำอย่างไรที่จะทำให้สายที่ใช้สันติวิธีเบียดขับกลุ่มติดอาวุธ ไม่ให้กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงเป็นกุนซือ กำหนดยุทธศาสตร์หรือกลยุทธกลุ่ม อันที่จริงเกือบทุกกลุ่มสันติวิธีในโลกก็ไม่ได้ใช้สันติวิธี 100%

กิตติชัย นำเสนอ 3 ประเด็น คือ 1.เราวุ่นวายกับการนิยามคำว่าสันติวิธีมากเกินไป 2.ทำไมสันติวิธีของไทยที่มีอยู่จึงมาได้แค่นี้ 3.การขาดแคลนเครื่องมือ
เขากล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีวิกฤตการณ์เล็กๆ ที่คุยกันในหมู่นักกิจกรรมคือ อำนาจในการนิยามสันติวิธีมักอยู่ในรุ่นอาจารย์ผู้ใหญ่ที่มีการตีตราสันติวิธีไว้แล้วไม่กี่คน การมาลองมานิยามกันเองดูบ้างก็อาจนับได้เป็นสงครามแย่งชิงนิยาม หลังจากครุ่นคิดดูพบว่านิยามเรื่องนี้มีหลากหลาย และเราใช้เวลาในการนิยามเยอะมากว่าอะไรใช่หรือไม่ใช่สันติวิธี เอาเข้าจริงคนปฏิบัติการจำนวนมากไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ทำเป็นหรือไม่เป็นสันติวิธี

“ผมเคยทำวิจัยให้มหิดลว่าใครใช้สันติวิธีบ้าง มีน้องกลุ่มหนึ่งมาถามว่า ที่ผมทำเป็นสันติวิธีไหม ผมบอกไม่เป็นไรน้อง เดี๋ยวพี่สแตมป์ให้ ดังนั้น การนิยามว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นสันติวิธีก็เป็นอำนาจแบบหนึ่ง และอย่างไรก็ตาม การพยายามวิเคราะห์ก็ทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ และออกแบบการปฏิบัติการได้ สิ่งที่นับว่าสำเร็จก็คือตอนนี้ทุกฝ่ายต่างก็แย่งกันใช้สันติวิธี พยายามจะบอกและพยายามแสดงให้เห็นว่าตนใช้สันติวิธี ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องดี คำถามคือ สันติวิธีไทยมาได้แค่นี้เองหรือ หมายถึงมันเป็นได้แค่เพียงคำพูดเท่านั้นหรือ" กิตติชัยกล่าว

คนที่สนใจสันติวิธีในปัจจุบันค่อนข้างเน้นไปทางการนิยามว่าตัวเองเป็นคนกลางที่อยู่เหนือความขัดแย้ง ในขณะที่คนที่สนใจปฏิบัติการไร้ความรุนแรงต่อคู่กรณีนั้นมีน้อยเกินไป ทำให้ในที่สุดสันติวิธีกลายเป็นเรื่องอยู่เหนือการทะเลาะกัน อยู่เหนือความขัดแย้ง หรือแบบรอเขาตีกันเสร็จแล้วค่อยเข้ามาเยียวยา

ประเด็นสุดท้าย คือหลังจากทำการอบรมหลายครั้งพบว่ายากมากที่ปัจเจกจะออกมาปฏิบัติการ เพียงแค่การพ่นสีตามที่สาธารณะคนก็กลัวมาก กลัวผิดกฎหมาย กลัวทำลายความสะอาดของบ้านเมือง การที่เราไปชุมนุมแล้วมีแกนนำ ส่วนใหญ่ความรับผิดชอบอยู่ที่แกนนำ แต่ปฏิบัติการแบบพ่นสีความรับผิดชอบอยู่ที่ “ฉัน” เอง จึงมีคำอธิบายมากมายที่ทำให้ไม่กล้าปฏิบัติการ นอกจากนี้หลายคนรู้จักคำใหญ่ๆ มากมายแล้ว เช่น ประชาธิปไตย ความเท่าเทียม ฯลฯ แต่ที่สำคัญคือ ขาดเครื่องมือ คนคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรดี ทำอย่างไรจะคิดเครื่องมือและขยายออกไปในสังคม เพื่อลดความสำคัญของแกนนำ ข้อเสนอเบื้องต้นคือ เราควรใช้เวลาคิดค้นปฏิบัติการดีกว่า แล้วเดี๋ยวนักวิชาการจะมานิยามให้เองว่ามันเป็นหรือไม่

วิจักขณ์ กล่าวว่า สันติวิธีในเมืองไทยดูเหมือนจะเป็น “ฝั่งที่ 3” ในระหว่างคู่ขัดแย้ง เหตุการณ์ปัจจุบันกรณี กปปส. ก็พยายามหา “คนกลาง” ในการเจรจา ฝั่งที่สามมีอำนาจมากในสังคมไทย ออกพื้นที่สื่อ พูดคุยและนิยามทุกอย่างได้เยอะมาก ขณะที่สันติวิธีในต่างประเทศจะมีท่าทีของการต่อต้านอำนาจบางอย่าง กรณีเมืองไทยการต่อต้านอำนาจมีหลายมุม กปปส.ต่อต้านทักษิณ เสื้อแดงก็ต่อต้านอำนาจที่กระเถิบขึ้นไปอีก เป็นการมองโครงสร้างของความรุนแรงโดยที่แต่ละฝ่ายอาจมองเห็นไม่เหมือนกัน ประเด็นคือ ฝ่ายที่สามหรือฝ่ายสันติวิธี ไม่สนใจเรื่องพวกนี้เลย พยายามเกลื่อนประเด็นที่ทำให้สุดท้ายก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ

เมื่อย้อนดูว่าความเป็นสันติวิธีฝั่งที่สามว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร จะพบว่าประเด็นสำคัญคือ ศาสนา ในโลกตะวันตกมันเป็นสันติวิธีแบบการเมือง แบบฆราวาส แต่สันติวิธีในเมืองไทยเป็นสันติวิธีศาสนา มีเรื่องความเป็นคนดีเข้ามาเกี่ยวข้องสูงมาก มากไปกว่านั้น มันกำหนดสถานะของสันติวิธีด้วย บ้านเรายังไม่แยกรัฐกับศาสนาออกจากกันอย่างชัดเจน สถานะของศาสนายังมีความเป็นรัฐ มีอำนาจของของมันอยู่ สันติวิธีจึงเป็นฝั่งที่สามที่แอบอิงอยู่กับรัฐ

ในเหตุการณ์ ปี 2553 มีสันติวิธีอาสาสักขีพยานเกิดขึ้นโดยมีอาสาสมัครเยอะมากติดตามม็อบเสื้อแดง คราวนี้ก็มีเหมือนกันแต่ปริมาณและความเข้มข้นต่างกันโดยสิ้นเชิง มันบ่งบอกปัญหาบางอย่างที่มากกว่าเรื่องความรุนแรง ที่ผ่านมาในช่วงที่เกิดความรุนแรงนั้นกิจกรรมของกลุ่มสันติวิธีคือ ให้อาสาสมัครใส่เสื้อสกรีนคำว่า “สันติ” ไปขึ้นรถไฟฟ้า จุดเทียนในระหว่างเริ่มมีการปะทะ มีกลุ่มเพื่อนภาวนารวมตัวที่สวนเบญจสิริ มีกลุ่มเพื่อนรับฟัง เริ่มตั้งแต่ก่อนสลายการชุมนุม แต่เน้นหนักกิจกรรมหลังสลายการชุมนุม ทำหน้าที่ไปฟังทหาร ฟังผู้ชุมนุม จริงๆ เรื่องการรับฟังนี้เป็นไอเดียที่ดีมาก แต่ปัญหาคือ เมื่อฟังแล้วพบว่ามีเรื่องราวเยอะแยะไปหมด เขาพยายามบันทึกสิ่งเหล่านี้ออกมาเผยแพร่สู่สาธารณะ แต่ไม่มีการสรุป ตัดสิน เป็นคนดีที่แขวนคำตัดสินเอาไว้ จึงทำให้ไม่มีพลังในการขับเคลื่อน ไม่มีข้อสรุปเช่น ทหารต้องเข้ากรมกอง ฯลฯ  หลังจากนั้นมีกิจกรรมเดินสันติปัตตานี ทั้งที่ความรุนแรงเกิดขึ้นที่ราชประสงค์ แต่ไม่ได้เริ่มเดินที่ราชประสงค์ เป็นการเดินจากศาลายาไปปัตตานี 

“นี่คือกิจกรรมตัวอย่างของสันติวิธีในเมืองไทย เป็นสันติวิธีแบบพระ แบบฝ่ายที่สาม ผมมองว่ามันเป็นปัญหา คนรอบๆ ตัวผมก็อยากจะทำอะไรพวกนี้ อยากทำให้บ้านเมืองดี แต่ผมมองว่ามันหน่อมแน้มมากและมองไม่เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทั้งสองฝ่ายพยายามพูดถึง เกลื่อนประเด็นสำคัญทั้งหมดมาอยู่ที่สันติวิธี กระทั่งบางคนพูดเรื่อง “ความรัก” อย่างฟุ่มเฟือย ผมเข้าใจในความปรารถนาดีแต่มันไปเกลื่อนประเด็นเขา และมองข้าม แรงผลักดัน (passion) ของคนที่เขาเอาชีวิตแลกเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง”

ผู้ร่วมเสวนาที่เคยทำเครือข่ายสันติวิธี แลกเปลี่ยนว่า นอกจากคำว่าสันติวิธีจะถูกปล้น คำว่าคนกลางก็ถูกปล้นไปแล้ว แม้แต่นายกพระราชทานก็ใช้คำว่า คนกลาง ในประเด็นอาสาสักขีพยานนั้นไม่ได้หมายความว่าอาสาสมัครเหล่านั้นไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ต้องเข้าใจว่านักสันติวิธีที่ทำงานปี 2553 ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง มีวิธีคิด มีความเข้าใจทางการเมืองหลากหลายมาก แต่พอรู้ตัวว่าเขาเริ่มเอียงเขาก็ถอยออกมา ตอนนั้นการก่อตัวเป็นภาวะที่เกิดขึ้นมาแบบฉุกละหุกมาก ไม่มีการวางแผน และไม่ใช่ว่าอาสาสมัครรุ่นใหม่ๆ จะชอบหรือเห็นด้วยกับทุกอย่างที่เครือข่ายทำ มันมีความหลากหลายอยู่ในนั้น เวลาพูดสันติอาสาสักขีพยานกับกิจกรรมอื่นๆ มันแยกขาดจากการโดยสิ้นเชิง

ที่สำคัญ ต้องถามว่าคนที่เป็นนักสันติวิธีจำเป็นต้องมีข้อเสนอทางการเมืองไหม ในช่วงการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง ข่าวบอกว่ามันน่ากลัว เป็นไปในทิศทางนั้นทั้งหมด แต่เมื่อเราเข้าที่ชุมนุม มันไม่ได้น่ากลัวอย่างนั้น ชาวบ้านไม่ได้น่ารังเกียจอย่างที่ข่าวบอก กลุ่มที่เข้าไปทำงานเป็นกลุ่มเฉพาะกิจที่ตั้งมาเพราะรู้สึกว่าความจริงคือสิ่งแรกที่มันถูกทำลายไปเมื่อเกิดความรุนแรง แต่ปัญหาก็มีมากในการทำงานโดยเฉพาะจำนวนอาสาสมัครที่มีเพียง 5-10  คนขณะที่การชุมนุมใหญ่มาก คนเท่านี้ทำอะไรได้ไม่เยอะพวกเขาก็ยอมรับ

สิ่งที่น่าสนใจและสำคัญที่ควรดู คือ มันมีปฏิบัติการเล็กๆน้อยๆ ที่เกิดจริง เช่น กรณีเผชิญหน้าที่วัดแคนางเลิ้ง ระหว่างที่ผู้ชุมนมกับเจ้าหน้าที่ ในนาทีที่ทั้งสองจะเริ่มตะลุมบอน การเข้าไปขวางและบอกห้ามของอาสาสมัครเหล่านี้มันช่วยให้สถานการณ์ยุติลงได้ ไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนดี เป็นพระ แต่เพราะเวลานั้นคู่ขัดแย้งเขาคิดไม่ออกว่าจะทำอะไร คนกลุ่มนี้ไปเสนอทางออกอื่นๆ อาจไม่ใช่ข้อเสนอทางการเมือง แต่เป็นระดับปฏิบัติการเฉพาะหน้าที่ทำให้หลีกเลี่ยงความรุนแรงได้

จันจิรา กล่าวเสริมว่า มันต้องมีคนที่ทำให้ความขัดแย้งเกิดเพื่อความเปลี่ยนแปลง แต่ก็ต้องมีคนที่จะช่วยประคองให้มันลงก่อนจะไปสู่สงครามกลางเมือง กรณีที่ความขัดแย้งเกิดขึ้นแล้วดำเนินไปเรื่อยๆ จนมีแนวโน้มจะไปสู่ความรุนแรง อาจมีความจำเป็นต้องมีกลไกที่จะคลี่คลายมันลง ข้อดีของคนที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งคือ เขามีระยะห่าง ไม่ใช่ไม่เข้าข้าง แต่ไม่อินเท่าคู่ขัดแย้ง

ชาญชัย กล่าวเริ่มต้นด้วยข้อสังเกตว่า สันติวิธีได้รับการยอมรับ(treat)ในเมืองไทยนั้น ดูเหมือนว่าจะอยู่ที่ความสูงส่งทางศีลธรรมกว่าอย่างอื่น ไม่รู้ว่าเป็นเพราะบุคลิกของผู้ใหญ่หัวขบวนหรือสื่อต่างๆ ไปอวยเรื่องนี้เอง ส่วนวิธีที่พูดถึงสันติวิธี เรามักใช้สันติวิธีเป็นไม้บรรทัดไปวัด ไปวิพากษ์คนอื่นๆ ว่าเป็นหรือไม่เป็น เป็นไปได้ไหมที่จะเปลี่ยนจาก สันติวิธีที่วิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหว(critical definition) มา เป็น สันติวิธีในลักษณะที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวที่มีลักษณะสันติวิธี (constructive definition )คือ เห็นว่าตรงไหนเป็นสันติวิธีแล้ว และควรเพิ่มสันติวิธีที่จุดไหน แต่ที่ผ่านมาเรามักไปจับตรงส่วนน้อยของขบวนการที่ไม่เป็นสันติวิธีแล้วปฏิเสธขบวนการทั้งหมด

ประเด็นต่อมา สันติวิธีนั้นเป็นเครื่องมือที่ใครใช้ก็ได้ อุดมการณ์ไหนก็ใช้ได้ จะเป็นฟาสซิสม์แบบสันติวิธีก็ได้ เป็นคอนเซอร์เวทีฟแบบสันติวิธีก็ได้ เพราะมันเป็นวิธีการ ทั้งนี้ สันติวิธีแบ่งได้เป็น 2 แบบใหญ่ คือ สันติวิธีขั้นต่ำกับสันติวิธีขั้นสูง เข้าใจว่าสังคมไทยถูกชักชวนให้เห็นสันติวิธีขั้นสูงมาเป็นเวลานาน แบบคานธี แบบมาร์ติน ลูเธอร์ คิง แต่สิ่งสำคัญคือ สันติวิธีมีขั้นต่ำที่ห้ามตกต่ำไปกว่านี้นั่นคือ ไม่ทำร้ายคน ไม่ใช้ความรุนแรงในเชิงกายภาพ และไม่ใช่คนอื่นเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายของตนเอง ในแง่หนึ่ง สันติวิธีคล้ายกับชุดอุดมการณ์สำเร็จรูป(packaging) เหมือนกัน  คือไม่ใช้ความรุนแรงกับใคร แต่ใครจะสมาทานอุดมการณ์อื่นๆมาบวกด้วยแค่ไหน อย่างไรก็แล้วแต่คน

จุดเริ่มต้นของสันติวิธี คือ การต่อสู้กับอำนาจ แล้วปลายทางของมันคืออะไร? เอาอำนาจ เอาเผด็จการลงหรือเปล่า? การศึกษาสันติวิธีกระแสหลักบอกว่า จุดมุ่งหมายหนึ่งของสันติวิธีคือเพื่อทำให้สุดท้ายแล้วคนยังอยู่ด้วยกันได้แม้จะเห็นต่างกัน มีอุดมการณ์แตกต่างมากก็ตาม แต่ดูเหมือนขบวนการสันติวิธีไทยตอนนี้ powerful มากจนจะไปปฏิเสธคนอีกครึ่งประเทศ แล้วมันจะอยู่กันอย่างไร ?

“ผมเพิ่งเข้าใจที่วิจักขณ์พูด ผมเข้าใจว่าสิ่งที่หลายคนเซ็งพวกสันติวิธีกระแสหลัก หนึ่ง ยึดครองพื้นที่สื่อเยอะ ในขณะที่สองฝ่ายมีอุดมการณ์บางอย่าง แต่ฝ่ายที่สามไม่พูดถึงอุดมการณ์ของทั้งสองฝ่ายแต่พูดถึงอุดมการณ์ของตัวเองเท่านั้น สันติวิธีจึงเป็นไตรขัดแย้งไปด้วยในตัว วิจักขณ์พูดได้ชัดมากขึ้นอีกคือ จุดที่หลายคนเฮิร์ทกับสันติวิธีกระแสหลักก็คือ การที่นักสันติวิธีกระแสหลักพูดถึงแต่ความรุนแรงเชิงกายภาพ แต่ไม่แตะต้องความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ซึ่งไอเดียของแต่ละฝ่ายมองต่างกัน” 

หากเห็นว่าสันติวิธีกระแสหลักมีอำนาจมาก เป็นไปได้ไหมที่จะปฏิบัติต่อพวกเขาให้เข้ากันโดยการสนทนากับพวกเขา เพราะการยอมรับหรือการต่อต้านสันติวิธีกระแสหลัก โดยนัยคือการยอมรับว่าเขามีอำนาจเหนือกกว่าเรา แต่การใช้วิธีคุยกับเขาแสดงว่าไม่ได้มีใครอยู่เหนือกว่ากัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net