Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

                                                                                                                                                

บทนำ

ตามที่มีข่าวว่าแกนนำค.ป.ท.จะนำผู้ชุมนุมประท้วงบุกยึดสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยนั้น เป็นประเด็นที่มีความสำคัญยิ่งเพราะเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต โดยเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1979 นักศึกษาและประชาชนชาวอิหร่านที่ไม่พอใจการกระทำของรัฐบาลอเมริกันได้บุกรุกและทำลายทรัพย์สินของสถานทูตอเมริกาประจำกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน รวมทั้งจับคณะผู้แทนทางทูตและประชาชนชาวอเมริกันอีกหลายร้อยคนเป็นตัวประกันเป็นเวลาหลายเดือน[1] การบุกยึดสถานทูตเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงและทำให้สหรัฐอเมริกาฟ้องอิหร่านต่อศาลโลกมาแล้วจนเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกว่าเป็นคดีจับตัวประกัน (The Hostage case)

หากผู้ชุมนุมประท้วงมีการบุกยึดสถานทูตสหรัฐอมริกาประจำประเทศไทยจริง จะเป็นการละเมิดหลักความละเมิดมิได้ในสถานที่ของคณะผู้แทน (Inviolability of Mission Premises) อันเป็นหลักกฎหมายสำคัญของความสัมพันธ์ทางการทูตซึ่งได้รับการรับรองไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961 (Vienna Convention on Diplomatic Relations) (ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีด้วย) ดังนี้

หลักความละเมิดมิได้ในสถานที่ของคณะผู้แทน (Inviolability of Mission Premises)

ประเทศไทยในฐานะรัฐผู้รับ (Receiving state) มีพันธกรณีตามข้อบทที่ 22 (2) ของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961 ที่จะดำเนินการทั้งมวลที่เหมาะสม เพื่อคุ้มครอง “สถานที่ของคณะผู้แทน” (หรือที่คนทั่วไปเรียกว่าสถานทูต) ของประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะรัฐผู้ส่ง (Sending state) จากการบุกรุก หรือความเสียหายใด และที่จะป้องกันการรบกวนใดๆต่อความสงบสุขของคณะผู้แทน หรือการทำให้เสื่อมเสียเกียรติของคณะผู้แทน โดยหน้าที่คุ้มครองสถานที่ของคณะผู้แทนโดยรัฐผู้รับนี้แบ่งได้ออกเป็นสามกรณีใหญ่ๆคือ หน้าที่ป้องกันมิให้เกิดการบุกรุก (intrusion) การทำความเสียหาย และการรบกวนใดๆ(disturbance)

สำหรับตัวอย่างของการบุกรุก (intrusion) และการทำความเสียหายให้แก่สถานทูตนั้นที่รู้จักกันทั่วโลกได้แก่กรณีที่นักศึกษาและประชาชนอิหร่านได้บุกยึดสถานทูตอเมริกาประจำกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่านและยังได้จับนักการทูตและประชาชนชาวอเมริกันหลายร้อยคนเป็นเวลาปีเศษ สหรัฐอเมริกาฟ้องต่อศาลโลกว่าอิหร่านได้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ศาลโลกได้ตัดสินว่าอิหร่านละเมิดอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ที่น่าสนใจของคดีนี้ก็คือศาลโลกได้ตัดสินว่าแม้การกระทำดังกล่าวจะเกิดจากเอกชนหรือประชาชนก็ตามแต่เจ้าหน้าที่ของอิหร่านมิได้ทำการป้องกันอย่างเต็มที่ในอันที่จะมิให้เกิดความเสียหายขึ้น จึงมีผลเท่า กับว่าการทำลายสถานทูตและการจับนักการทูตถือเป็นการกระทำของรัฐบาลอิหร่าน อิหร่านจึงมีความผิดและต้องรับผิดชอบตามกฎหมายระหว่างประเทศ[2] ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะรัฐผู้รับจึงต้องใช้มาตรการที่เหมาะสมที่จะต้องป้องกันมิให้กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงบุกยึดสถานทูตสหรัฐอเมริกาได้ มิฉะนั้นแล้ว ประเทศไทยอาจละเมิดข้อบทที่ 22 (2) ของอนุสัญญาเวียนนาและก่อให้เกิดความรับผิดในทางระหว่างประเทศได้

สำหรับกรณีของการป้องกันการรบกวนใดต่อความสงบสุขของคณะผู้แทน หรือการทำให้เสื่อมเสียเกียรติของคณะผู้แทนนั้น เป็นกรณีที่ผู้ชุมนุมประท้วงยังมิได้บุกรุกเข้าไปในสถานทูตแต่ทำการใดๆที่มีลักษณะเป็นการรบกวนหรือขัดขวางต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนทางทูตหรือมีการกระทำใดอันเป็นการหมิ่นเกียรติของทูต ก็ถือว่าเป็นการละเมิดข้อบทที่ 22 (2) เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยในฐานะรัฐผู้รับยังมีหน้าที่ที่จะต้องป้องกันมิให้กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง ก่อความวุ่นวายหรือสร้างความรบกวนจนมีผลกระทบต่อการปฎิบัติหน้าที่หรือเป็นการหมิ่นเกียรติของตัวแทนทางทูตด้วยแม้ว่าจะมีการประท้วงบริเวณรอบๆสถานทูตด้วย

บทส่งท้าย

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ (Public assembly) และการเดินประท้วง (Procession) ในหลายประเทศได้มีกฎหมายนี้ สำหรับกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมในที่สาธารณะของต่างประเทศนั้นจะมีลักษณะการใช้บังคับที่ค่อนข้างเคร่งครัด กล่าวคือ มีการใช้ระบบอนุญาต ระบบการแจ้งล่วงหน้ามีมาตรการควบคุมการชุมนุมทั้งก่อนและระหว่างการชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจออกกฎ ระเบียบ หรือคำสั่งในระหว่างการชุมนุมได้ หากเห็นว่าการชุมนุมนั้นอาจนำไปสู่ ความขัดแย้ง วุ่นวาย หรือไม่สงบเรียบร้อย รวมทั้งมีอำนาจในการสั่งให้ยุติการชุมนุมได้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเกี่ยวกับเงื่อนเวลา เช่น ในบางประเทศมีการกำหนดให้บุคคลจะใช้เสรีภาพในการชุมนุมในที่สาธารณะได้ต้องเป็นภายหลังช่วงเวลาเร่งด่วน เช่น ภายหลัง 07.00-09.00นาฬิกา เป็นต้นไป บางประเทศก็กำหนดให้ชุมนุมได้ถึงเวลา 21.00-23.00 นาฬิกา เท่านั้น การที่ประเทศไทยยังขาดกฎหมายการชุมนุมและเดินประท้วงทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงอ้างสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญจนเกินขอบเขตและอาจนำไปสู่สภาวะความไร้ขื่อแปของกฎหมายในที่สุด

 




[1] สาเหตุของการเกิดวิกฤติการณ์การจับตัวประกันครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่มีการปฎิวัติใหญ่ในประเทศอิหร่าน โดยมีการโค่นล้มระบอบการปกครองเเบบกษัตริย์ ซึ่งมีกษัตริย์ ชาห์ ปาเลวี (Muhammad Reza Shah Pahlevi) เป็นประมุข ซึ่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุน หลังจากที่มีการโค่นล้มชาห์สำเร็จเเล้ว ชาห์ได้ลี้ภัยที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งสร้างความไม่พอใจเเก่นักศึกษาอิหร่านเป็นอย่างมากจนนักศึกษาอิหร่านจำนวนมากบุกยึดสถานทูตอเมริกา ณ กรุงเตหะรานเเละจับนักการทูตเป็นตัวประกัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในครั้งนั้น คือจิมมี่ คาร์เตอร์ พยามยามเเก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งนี้ทั้งทางการทูตเเละการใช้กำลังโดยหน่วยคอมมมานโดเเต่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฮลิคอปเตอร์สามลำได้ประสบอุบัติเหตุท่ามกลางพายุทะเลทรายเสียก่อน วิกฤตการณ์นี้คลี่คลายลงโดยคณะกรรมาธิการของสหประชาชาติ ซึ่งในนั้นมีนักการทูตชาวอัลจีเรียประจำสหประชาชาติอย่างท่าน Mohammed Bedjaoui อยู่ด้วย ต่อมาท่าน Bedjaoui ได้รับเลือกให้เป็นผู้พิพากษาศาลโลก

[2] See UNITED STATES DIPLOMATIC AND CONSULAR STAFF IN TEHRAN (UNITED STATES OF AMERICA v. IRAN), I.C.J. Report 1980, para. 95 (2)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net