นิติ ภวัครพันธุ์: ยิ่งเหยียดหยามกัน ยิ่งต้องสู้เพื่อความยุติธรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

"3 แสนเสียงใน กทม. แต่เป็นเสียงที่มีคุณภาพ ย่อมดีกว่า 15 ล้านเสียงใน ตจว. แต่ไร้คุณภาพ"

นี่คือเสียงที่คนไทยได้ยินได้รับรู้กันมากในช่วงนี้ และดูเหมือนว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยหรือคล้อยตามกับทัศนะดังกล่าว จริงๆ แล้วผมไม่แปลกใจเลยกับคำพูดประเภทนี้ คำดูหมิ่นเหยียดหยามคนต่างจังหวัดเช่นนี้ปรากฏขึ้นบ่อยๆ สองสามปีก่อนก็มีคำพูดโด่งดังที่ว่า “คนอีสานเป็นได้แค่คนรับใช้กับเด็กปั้ม” จนกลายเป็นเรื่องเป็นราว สร้างความโกรธเคืองในหมู่คนอีสานจำนวนมากมาย
 

นี่ไม่ใช่เพิ่งเกิด
นักวิชาการอเมริกันนาม ชาร์ลส์ คายส์ เคยเสนอความเห็นไว้ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แล้วว่าคนอีสานรู้สึกว่าพวกตนถูกดูแคลนว่ายากจน เป็นชนชั้นที่ต่ำกว่าคนในเมือง โดยเฉพาะในสายตาของคนกรุงเทพฯ (ซึ่งเราอาจสรุปได้ว่าการเหยียดหยามเช่นนี้เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขด้านชนชั้นหรือทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม) นอกจากนี้คนอีสานยังรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรม เพราะถูกสงสัยโดยรัฐบาลไทยว่าเกี่ยวพันกับผู้ก่อการร้ายและลัทธิคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็นอีกด้วย (ซึ่งก็อาจตีความได้ว่านี่คืออคติทางการเมืองในอดีต)

คำถามสำคัญประการหนึ่งที่คณะวิจัยของเรา (ดูรายละเอียดในงานวิจัยที่ตีพิมพ์แล้ว – อภิชาต สถิตนิรามัย ยุกติ มุกดาวิจิตร และ นิติ ภวัครพันธุ์, ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย (แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), 2556)) พยายามทำความเข้าใจและอธิบายคือความคับข้องใจ ความอัดอั้นตันใจ ของคนอีสานที่เรียกตนเองว่า “คนเสื้อแดง” ที่ถูกระบายออกมาจากความรู้สึกว่า

• ตนถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม เพราะ (คนในเมืองเห็นว่า) ตนมีฐานะยากจน (มี) ความรู้น้อย
• สังคมมีการแบ่งชนชั้น
• ไม่มีความยุติธรรมในสังคม เพราะ “(คน) เสื้อแดงทำอะไรก็ผิด” โดยยกตัวอย่างเรื่องการเดินทางเข้าไปร่วมประท้วงรัฐบาลอภิสิทธิ์กับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่กรุงเทพฯ ว่า “ไปม็อบ (ตนเอง) นั่งพื้นก็ผิด” คนเสื้อแดง “เฮ็ดหยังก็ผิด” จนทำให้ตนรู้สึกคับแค้นใจ ยิ่งรู้สึกว่าตนต้องต่อสู้ ต้องเข้ามาร่วมในการประท้วงของคนเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตย เพื่อ “ ขอ (ทวง) สิทธิเราคืน” (ด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่)
• “เมื่อก่อนไปกรุงเทพฯ ไม่กล้าพูดภาษาอีสาน เพราะกลัวคนกรุงจะดูถูก”
 

นัยของความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ
เราจะอธิบายความรู้สึก “น้อยเนื้อต่ำใจ” ที่คนเสื้อแดงอีสานใช้ในการแสดงความโกรธ ความขุ่นเคือง ไม่พอใจของพวกเขาได้อย่างไร? นักสังคมวิทยาที่ศึกษาอารมณ์ (emotions) ของผู้คนในสังคม ได้เสนอความเห็นไว้ว่าในความสัมพันธ์ทางสังคม โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความไม่เท่าเทียมกันและเกี่ยวกับอำนาจ เราจะพบว่ามีอารมณ์หรือความรู้สึกที่ผู้คนมีร่วมกันหลายลักษณะ แต่ที่น่าสนใจและอาจใช้วิเคราะห์ได้ในที่นี้คือ “Resentment” และ “Vengeance, vengefulness”

“Resentment” หมายถึงอารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดจากความโกรธหรือการไม่มีความสุขเพราะคนเราคิดว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรมในสังคม (ซึ่งมีความหมายแทนคำว่า “ความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม” อันเป็นคำพูดของชาวบ้านที่ใช้ระบายความรู้สึกของพวกเขา) ความรู้สึกไม่พอใจของคนเรานี้เป็นอารมณ์ที่ประสานหรือเชื่อมโยงไปสู่อารมณ์ประเภทอื่น เช่น ความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม (vengeance หรือ vengefulness) อารมณ์ที่เกิดจากความโกรธหรือการไม่มีความสุขเพราะผู้คนคิดว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรมในสังคมนี้ เป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีบนฐานแห่งความชอบธรรม (“moral” emotion) ในแง่ที่ว่าปัจเจกชนรู้สึกโกรธหรือไม่มีความสุขเพราะตนเห็นผู้อื่นได้มาซึ่งอำนาจหรือความร่ำรวยทางวัตถุ ทั้งๆ ที่เป็นการฝ่าฝืนบรรทัดฐานและความคาดหวังทางวัฒนธรรม ความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมอาจเป็นความรู้สึกที่เราตระหนักหรืออยู่ในจิตสำนึก แต่ก็เป็นไปได้ที่มันอาจมีอิทธิพลต่อความคิดของเราและมีผลต่อการกระทำของเราโดยที่เรามิได้สำนึกก็ได้ ทั้งนี้เพราะเกี่ยวข้องการกระจายของทรัพยากร ซึ่งมักเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม เมื่อคนเราเห็นว่าผู้อื่นได้รับทรัพยากรอะไรก็ตามที่คนๆ นั้นไม่ควรได้ คนก็มักเกิดความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม ยิ่งหากเป็นประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ต้องประสบกับการสูญเสีย ในขณะที่ประชากรอีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ได้ประโยชน์ ความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมก็จะยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกนี้มิได้เกิดขึ้นระหว่างคนต่างชนชั้นทางสังคมเท่านั้น หากยังอาจเกิดขึ้นในบางส่วนหรือบางกลุ่มคนในชนชั้นเดียวกันก็ได้ หากคนกลุ่มนั้นเห็นว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ควรได้ทรัพยากรแต่กลับได้รับ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทางชนชั้นหรือระหว่างกลุ่มคนในชนชั้นเดียวกันก็อาจเกิดความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมขึ้นได้ หากมีคนเห็นว่าการแบ่งปันทรัพยากรนั้นไม่เท่าเทียมกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมนั้นสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม (vengeance, vengefulness) ซึ่งในที่นี้มิได้มีความหมายเชิงจิตวิทยาที่เน้นความรู้สึกเคียดแค้นหรือต้องการล้างแค้นในระดับปัจเจกชนเท่านั้น หากมีนัยทางสังคมเพราะเป็นอารมณ์ที่เคลื่อนไหวไปกับอำนาจ ความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่มีอำนาจเมื่อคนกลุ่มนี้รู้สึกว่า “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ของตนถูกปฏิเสธหรือละเมิดโดยผู้มีอำนาจ สิทธิขั้นพื้นฐานเป็นคำที่มีความหมายเชิงปรัชญาสังคม อันมีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่ในที่นี้หมายถึงสิทธิที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางสังคม และความร่วมมืออย่างมีความหมายกับผู้อื่น ซึ่งผูกพันกับประเด็นเรื่องสถานภาพและบทบาท กล่าวคือเมื่อสิทธิที่นำมาซึ่งสถานภาพทางสังคมของปัจเจกชนและบทบาทที่จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ร่วมกันอย่างมีความหมายกับผู้อื่นของพวกเขาถูกปฏิเสธ นั่นก็เท่ากับว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของปัจเจกชนเหล่านั้นถูกปฏิเสธ เมื่อสิทธิที่ว่านี้ถูกละเมิด ผู้ที่ถูกละเมิดจะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจที่จะยืนยันในสิทธิของพวกเขา และพวกเขาก็อาจเรียกร้องให้มีการลงโทษผู้ที่ใช้อำนาจรังแกพวกเขา ดังนั้นการปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานจึงอาจกระตุ้นให้เกิดได้ทั้งความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมและความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม

ทว่าต้นเหตุของอารมณ์ทั้งสองนี้แตกต่างกัน ความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมเกิดขึ้นจากการรับรู้ว่ามีกลุ่มบุคคลที่สามใช้อำนาจปฏิเสธที่จะให้สถานะในความสัมพันธ์ทางสังคมแก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมจึงผลักดันให้คนกลุ่มนั้นลุกขึ้นมากู้สถานะของตน พร้อมๆ กับลงโทษผู้ที่ใช้อำนาจในการปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขา ตรงกันข้ามความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมเกิดขึ้นจากความรู้สึกที่ว่าผู้อื่นได้รับสถานภาพมากกว่าที่ผู้นั้นควรจะได้รับ (ซึ่งมีนัยว่าบุคคลผู้นั้น/กลุ่มนั้นจะได้รับทรัพยากรหรือผลประโยชน์มากกว่าที่ควรจะได้ ในขณะที่ผู้อื่น/กลุ่มอื่นที่ควรได้รับทรัพยากรหรือผลประโยชน์กลับต้องได้รับน้อยกว่าหรือไม่ได้เลย) ตามกฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจคือบ่อยครั้งที่ความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมนำไปสู่ความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม เมื่อผู้คนรับรู้ว่าผู้มีอำนาจทำผิดจริยธรรมของตน

ผู้ที่อยู่ในสถานะที่ด้อยกว่ามักจะไม่ได้รับสิทธิในการได้มาซึ่งสถานะและบทบาทที่มีความหมายในความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งจะส่งผลให้คนเหล่านี้เกิดความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม และอาจออกมาเคลื่อนไหวร่วมกัน อารมณ์หรือความรู้สึกเช่นนี้จะถูกผันแปรเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง แม้ว่าคนเหล่านี้อาจขาดทรัพยากรทางการเมืองหรือทางวัตถุก็ตาม นอกจากนี้ยิ่งสังคมมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ก็จะมีตำแหน่งหรือสถานะและบทบาทใหม่ๆ ที่ปัจเจกชนอาจเห็นว่าตนอ้างสิทธิเป็นของตนได้ จริงๆ แล้วผู้คนอาจอ้างสิทธิในสถานะต่างๆ ที่คนในอดีตอาจคิดว่าไม่สำคัญเลยก็ได้ ดังนั้นความหลากหลาย (differentiation) และการแตกกระจาย (fragmentation) ของโครงสร้างสังคม (เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม) จึงเปิดโอกาสให้เกิดอ้างสิทธิในการอ้างสถานะใหม่ๆ ในสังคมเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจนำไปสู่ความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมและความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมเมื่อผู้คนบางกลุ่มไม่ได้รับสิทธิเหล่านี้ โดยเฉพาะเมื่อการกระจายความร่ำรวยทางวัตถุและอำนาจได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับโอกาสที่ปัจเจกชนจะได้รับสถานภาพและบทบาทต่างๆ ทั้งนี้เพราะผู้มีอำนาจและความร่ำรวยทางวัตถุอาจใช้ทรัพยากรที่ตนมีในการเข้าครอบครองตำแหน่งและบทบาทที่จะช่วยให้ตนได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น ในขณะที่ผู้อื่นไม่อาจเข้าถึงได้ หรือบางคนที่ไม่ควรได้สถานะหรือตำแหน่งเหล่านี้ก็กลับได้ ในแง่นี้ความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมและความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมจึงเป็นกระบวนการที่นำไปสู่ความหลากหลายทางโครงสร้างสังคม ทั้งนี้เพราะผู้คนกล้าที่จะแสดงออกและเรียกร้องในสิทธิที่พวกเขาคิดว่าตนควรได้รับ

ความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมและความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมจึงมีนัยสำคัญทางสังคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางสังคม โดยเฉพาะความสัมพันธ์เชิงอำนาจ กับการกระจายทรัพยากรระหว่างผู้คนต่างกลุ่มในสังคม และกับการได้รับสถานภาพและบทบาท (ซึ่งก็คือผลตอบแทน) ที่ผู้คนในสังคมเห็นว่าเหมาะสม ผู้ใดควรได้และผู้ใดไม่ควรได้ หากเราเข้าใจนัยเหล่านี้ก็จะไม่น่าแปลกใจที่สังคมไทยเห็นชาวบ้านจำนวนมหาศาลเรียกร้องสิทธิทางการเมือง สนับสนุนการเลือกตั้ง ต่อสู้เพื่อสิทธิและความยุติธรรมที่พวกตนควรได้รับ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท