Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

Democracy is the government of the people, by someone, for someone else.
Anonymous

      ประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน โดยใครบางคนและก็เพื่อบางคน

นิรนาม


         
ศัพท์เหล่านี้ในหลายข้อ ผู้เขียนได้นำมาผสมกันเองเพื่ออธิบาย เหตุการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบันโดยเฉพาะ

 

1.Mob coup d’état- การทำรัฐประหารโดยม็อบ

หมายถึงการพยายามโค่นล้มรัฐบาลโดยกลุ่มบุคคลจำนวนมากที่รวมตัวกันและมีพฤติกรรมเป็นม็อบเพื่อโค่นระบอบเก่า และสถาปนาระบอบใหม่ (ในขวดเก่า) ซึ่งไม่รู้ว่าจะฉ้อฉลและเผด็จการน้อยกว่าระบอบที่รัฐบาลรักษาการกำลังถูกกล่าวหาอยู่หรือไม่ ดังนั้นผู้เขียนจึงขอใช้คำว่ารัฐประหารหรือ coup d’état ไม่ใช่การปฏิวัติ หรือ revolution

2.Political dementia-สมองเสื่อมทางการเมือง

หมายถึงอาการของนักวิชาการกลุ่มต้านทักษิณที่โดยมากก็เป็นลิ่วล้อ (minion) ให้กับกลุ่มอำนาจที่เคยเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารในปี 2549 และรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างเช่นอดีตอธิการบดีของบางมหาวิทยาลัยที่สมองเสื่อมถึงขั้นเสนอแนะให้สามารถล่วงละเมิดรัฐธรรมนูญที่ตัวเองเคยช่วยเขียนมากับมือ อาการเช่นนี้เป็นผลมาจากเรื่องผลประโยชน์การเมืองล้วนๆ

3.Self-hating –เกลียดตัวเอง

เมื่อใดที่ผู้นำม็อบคือสุเทพ เทือกสุบรรณได้กล่าวโจมตีทักษิณและนักการเมืองอย่างรุนแรง คำด่าทอนั้นก็คงจะได้สะท้อนกลับมาโดนตัวคุณสุเทพเองและอดีตสส.พรรคประชาธิปัตย์คนอื่นไม่มากก็น้อย  ในฐานะนักการเมืองที่มีพฤติกรรมเช่นเดียวกับระบอบทักษิณ (แต่ไม่ได้สังกัดค่ายทักษิณ) นัยว่าการด่าทอบนเวทีนอกจากจะเป็นกลยุทธทางการเมืองแล้วยังมีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นคือนายสุเทพได้ระบายความรู้สึกเกลียดชังตัวเองและพรรคการเมืองของตนออกมาด้วย

4. Invisible actors -ตัวละครล่องหน

ยังมีตัวละครอีกหลายตัวที่สื่อไม่ได้หรือไม่กล้านำเสนอว่าเกี่ยวข้องกับฉากทางการเมืองไทยอย่างมากมาย การเมืองไทยจึงมีปัญหาที่แก้กันไม่ตกเหมือนกับพายเรืออยู่ในอ่างอย่างเช่นปัจจุบันเพราะสื่อซึ่งเป็นตัวนำไปสู่การถกเถียงเสวนาของสาธารณชนมักจะไม่ยอมกล่าวถึงตัวละครล่องหนหรือนิรนามเหล่านี้

5. Closeted dissidents –ศัตรูอีแอบ

ด้วยวิกฤตทางการเมืองเช่นนี้ก็ได้มีผู้ใหญ่ที่น่าเคารพหรือผู้อยู่ในตำแหน่งสูงๆ ในองค์กรซึ่งควรจะเป็นกลางแต่ก็ได้ออกมาเสนอแนวคิดโดยอ้างว่าเกิดจากความปรารถนาดีเพื่อให้บ้านเมืองหลุดพ้นจากทางตันแต่บางอย่างซ้อนเร้นภายในนั้นคือเป็นทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้รัฐบาลหมดจากอำนาจอย่างสิ้นเชิงอันเป็นการตอบรับกับแรงบีบจากม็อบพอดี  คนเหล่านี้จึงถือได้ว่าเป็นศัตรูอีแอบ

6. Buffalo-ization -กระบวนการทำให้เป็นควาย

แนวคิดของบุคคลบางกลุ่มโดยเฉพาะชนชั้นกลางที่คิดว่าตนเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยและศีลธรรมดีกว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างเช่นอดีตอธิการบดีของอีกมหาวิทยาลัยหนึ่งที่คิดว่าคะแนนเสียงของชนชั้นกลางควรจะมีความหมายหรือสำคัญกว่าคะแนนเสียงของชาวบ้านหรือชนรากหญ้า  แน่นอนว่าความเห็นของอดีตอธิการบดีท่านนั้นย่อมบอกเป็นนัยว่าเห็นคนไทยรากหญ้าว่าไม่ฉลาดจนไปถึงโง่เหมือนควาย (ความจริงอยากจะพูดตรงๆ ใจจะขาด แต่ไม่กล้าเพราะกลัวจะถูกโจมตี )

ในขณะเดียวกันคนไทยรากหญ้าจำนวนมากก็คงจะมองอดีตอธิการบดีท่านนั้นและนักวิชาการฝั่งอำมาตย์ในรูปแบบเดียวกัน คือเป็นควายที่อยู่บนหอคอยงาช้างหรือควายที่คิดว่าตัวเองฉลาดกว่าควายทั้งหลายแต่ขาดความเข้าใจประชาธิปไตยที่พูดถึงอำนาจของปวงชนอย่างแท้จริง เพราะในความคิดของท่าน ประชาธิปไตยคือการปกครองโดยกลุ่มคนฉลาดกลุ่มหนึ่งและเพื่อคนอีกกลุ่มหนึ่งนั้น (ส่วนคนส่วนใหญ่ก็รับเศษกระดูกไป)   สาเหตุอีกประการหนึ่งของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยหรือเมืองพุทธที่สอนให้มนุษย์เลิกละอัตตาคือการทำให้อีกฝ่ายเป็นควายหรือการไม่อดทนหรือเคารพความแตกต่างทางความคิดและอุดมการณ์ของอีกฝ่าย

7.Thai exceptionalism- ลัทธิที่เชื่อว่าการเมืองหรือสังคมไทยมีความพิเศษไม่เหมือนใคร

แนวคิดนี้จึงมักจะเปรียบได้กับหลุมดำที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือกลุ่มอำนาจเดิมมักใช้ดูดซับหรือตอบโต้ข้อโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามว่าประเทศไทยมีสภาพโดดเด่นเป็นของตัวเองไม่เหมือนใคร ดังนั้นแนวคิดประชาธิปไตยแบบตะวันตกมักไม่สามารถนำมาใช้กับการเมืองไทยได้ เหตุก็เพื่อรักษาอำนาจของตนไว้ดังเช่นเดียวกับการอ้างความเป็นไทยหรือ Thai-ness ซึ่งความจริงก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางการเมืองและสังคมซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเรื่อยๆ

เป็นความจริงที่ว่าประชาธิปไตยของแต่ละประเทศมีสภาพไม่เหมือนกันเพราะบริบททางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมย่อมแตกต่างกัน แต่ความโดดเด่นพิเศษของไทยอาจจะไม่ได้หมายความตามที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือพวกกลุ่มอำนาจเดิมอ้างอยู่เสมอเหมือนข้อ 7 ก็ได้

8. Self-delusion -โรคหลงตัวเอง

เป็นอาการประเภทหนึ่งของผู้นำประท้วงเช่นนายสุเทพ เทือกสุบรรณที่มักคิดว่าตนเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ คิดอะไร ทำอะไรแม้จะดูไม่น่าไว้ใจและขัดกับรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะสภาประชาชน แต่ก็อ้างเป็นเสียงของมวลมหาประชาชน ดังนั้นคำว่า "ชัยชนะ" หรือ "เสียงประชาชน" จึงเป็นคำที่ถูกพูดพร่ำเพรื่อ (ad nauseam)  เพื่อสะกดให้มวลชนเกิดขวัญและกำลังใจในการประกอบกิจกรรมประท้วงต่อไปถึงแม้จะไม่มีความหมายเท่าไรนัก ถึงแม้คนประท้วงจำนวนมากจะมีความปรารถนาดีต่อชาติและต้องการเห็นประเทศปลอดการฉ้อราษฏรบังหลวงและเป็นประชาธิปไตยตามแบบของตน แต่ก็ถูกชักจูงให้มาช่วยหล่อเลี้ยง Self-delusion ของกลุ่มผู้นำโดยไม่รู้ตัว

9. Military charming-กองทัพผู้ทรงเสน่ห์

คำนี้ผู้เขียนแปลงมาจากคำว่า Prince charming หรือเจ้าชายรูปหล่อที่ขี่ม้ามาช่วยเจ้าหญิงซึ่งถูกขังไว้บนหอคอย    ทุกฝ่ายไม่ว่ารัฐบาลหรือผู้ประท้วงก็คาดหวังต่อกองทัพในรูปแบบที่แตกต่างกัน รัฐบาลหวังว่ากองทัพจะสนับสนุนตัวเองหรืออย่างน้อยก็เป็นกลาง หรือผู้ประท้วงก็คาดหวังให้กองทัพทำรัฐประหารล้มรัฐบาลเพื่อว่าจะได้ปิดเกม  อันสะท้อนถึงสภาพของประเทศโลกที่ 3 ที่กองทัพยังคงมีบทบาทต่อการเมืองอย่างสูง ม็อบปัจจุบันจึงมีการกระทำที่ขัดแย้งในตัวเอง (irony) คือปากหนึ่งต้องการเรียกร้องประชาธิปไตยแต่ก็คงไฝ่หาองค์กรที่เคยบั่นทอนประชาธิปไตยเสมอมา

ผู้เขียนเข้าใจดีว่าหลายคนมองว่ากองทัพเป็นผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย  (Democracy protector)  แต่ถ้าได้ศึกษาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจะเห็นว่าการทำรัฐประหารมักไม่ได้มาจากน้ำใสใจจริงของกองทัพเช่นมีการตอบรับสัญญาณอย่างดีกับกลุ่มที่สร้างความวุ่นวายและไม่ใช่การกลับไปสู่กรมกองอย่างง่ายดายภายหลังจากนั้น แต่เป็นการที่กองทัพสานผลประโยชน์กับกลุ่มอำนาจอื่น ที่สำคัญยังเป็นการตอกย้ำความยิ่งใหญ่ของกองทัพไปเรื่อยๆ  ตัวอย่างเช่นกองทัพของอียิปต์ โปรดจำไว้ว่าไม่มีการทำรัฐประหารใดในโลกที่ "ฟรี" (There is no free lunch)

10. Election phobia -โรคกลัวการเลือกตั้ง

อาการนี้มักเกิดขึ้นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดและสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองได้อย่างดีเลิศและรู้ดีกว่าหากมีการเลือกตั้งกันจริงๆ แล้วตัวเองต้องแพ้แน่นอนจึงต้องโหนทั้งม็อบบนถนน ทั้งรองเท้าบู๊ท ทั้งอำนาจมืดเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล จนกลายเป็นพวกมือถือสากปากถือศีล (hypocrisy) ที่ยกย่องประชาธิปไตยแต่โจมตีการเลือกตั้ง  อย่างไรก็ตามอาการก็คงจะหายถ้าการเลือกตั้งช่วยทำให้ตัวเองได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลในวันใดวันหนึ่ง

11. Lese majeste law –กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เป็นเรื่องที่น่าเศร้าว่ารัฐบาลรักษาการณ์ชุดนี้ก็ได้พยายามตอกย้ำความศักดิ์สิทธิ์ของกฏหมายฉบับนี้ที่ใครหลายเห็นว่าควรจะได้รับการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาเล่นงานกลุ่มม็อบเช่นเดียวกับรัฐบาลในฝันของอำมาตย์กับกลุ่มเสื้อแดง อันสะท้อนให้เห็นถึงตัวตนของนักการเมืองไม่ว่าปีกไหนตามคำศัพท์ที่นักวิชาการบางคนเคยให้ไว้ว่าเป็นรัฐบาลแบบงั้นๆ  (Mediocre government) คือไม่ได้มีอุดมการณ์อะไรแน่ชัดนอกจากปรับตัวไปตามสถานการณ์ (แต่อย่างไรก็ยังคงความเป็นรัฐตำรวจเอาไว้)

12. CIV หรือ Constitutional immunodeficiency virus-ภูมิคุ้มกันรัฐธรรมนูญบกพร่อง

เมื่อภูมิคุ้มกันในร่างกายคน หรือแม้แต่แมว สามารถบกพร่องดังเช่น HIV และ FIV ได้แล้ว รัฐธรรมนูญไทยก็สามารถมีสภาพคล้ายคลึงอีกเช่นกัน เช่นการทำรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญ ปี 2540 แล้วมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ผู้ร่างก็ได้เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสะกัดแนวคิดพรรคการเมืองใหญ่ของทักษิณแฝงเข้าไปด้วย ดังนั้นบางมาตราจึงคลุมเคลือ ไม่ชัดเจน เพื่อเปิดให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีอำนาจในการตีความอย่างเต็มที่และทำให้เกิดการต่อต้านจากลุ่มไม่เห็นด้วย ความขัดแย้งย่อมส่งผลให้รัฐธรรมนูญขาดความศักดิ์สิทธิ์และต้องเฉาตายในที่สุดคล้ายกับคนเป็นเอดส์ตาย ต่อให้มีการเขียนใหม่ไปเรื่อยๆ เช่นจนถึงปี 2600 ไทยอาจจะมีรัฐธรรมนูญถึง 30 ฉบับ รัฐธรรมนูญก็ยังถือว่า  "ตาย" อยู่ดี เพราะขาดยาต้านไวรัสและการรักษาที่ดี

เรื่องที่น่าเศร้าคือวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมาคือวันรัฐธรรมนูญ สื่อกระแสหลักของไทยเอาแต่พร่ำสรรเสริญถึงพระคุณของรัชกาลที่ 7 แทนที่จะกล่าวถึงบุญคุณของคณะราษฎรผู้ผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง อันสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยถูกล้างสมองให้เชื่อว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่กำหนดจากข้างบน ไม่ใช่จากเจตจำนงตัวเอง ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐในการควบคุมประชาชนมากกว่าเครื่องมือของประชาชนในการตรวจสอบหรือควบคุมรัฐ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งทักษิณหรืออำมาตย์


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net