วาทกรรมคอร์รัปชั่น : กระบอกเสียงของคนดี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
 
การต่อต้านการคอร์รัปชั่น ไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย แต่มีอยู่ทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศด้อยพัฒนา กำลังพัฒนา หรือประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังมีระบบการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่น ส่วนหนึ่งถูกตราเป็นกฎหมายเพื่อใช้ป้องกันและปราบปราม รวมถึงกำหนดบทลงโทษสำหรับ ผู้ที่กระทำความผิดที่มีความรุนแรงแตกต่างกันออกไปแล้วแต่กรณี
 
ในสหรัฐฯ เองก็ยังคงมีปัญหาการคอรัปชั่นเช่นเดียวกันกับประเทศทั้งหลาย ทั้งการคอร์รัปชั่นเป็น การกระทำที่แนบเนียนมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาโดยทั่วไป จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ระหว่างประเทศชื่อ “Transparency International”  (T.I.) ได้ออกมาระบุว่า แม้สหรัฐฯจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ก็ยังถือว่ามีการคอร์รัปชั่นอยู่ในอันดับกลางๆ ด้วยคะแนน 73   ใกล้เคียงกับอันดับในปีก่อนหน้านี้(2012)  เรียงตามลำดับประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นมากไปหาน้อย อเมริกันอยู่ในลำดับ 24  ดีขึ้นกว่าปี 2000  ที่อยู่ในลำดับ 14  และในปี 2012 อยู่ลำดับที่ 19  จาก 177 ประเทศ โดยแคนาดา เยอรมันนี อังกฤษและญี่ปุ่น มีพัฒนาการในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว
 
องค์กรต้านคอร์รัปชั่น  Transparency International ยังวิจารณ์รัฐบาลและหน่วยงานอเมริกันว่า ยังมีความหละหลวมในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยเฉพาะการคอร์รัปชั่นที่เกิดจาก โครงการที่รัฐบาลทำสัญญากับเอกชน (government contracting) เป็นจำนวนมาก แม้ว่าทางการอเมริกัน จะได้พยายามแก้ปัญหานี้จนดีขึ้นก็ตาม แต่จนถึงเวลานี้ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่ให้เห็นแทบทุกรัฐและใน บรรดาหน่วยงานกลางของรัฐบาลอเมริกัน
 
ในปี 2013  ประเทศที่ได้ชื่อว่า คอร์รัปชั่นน้อยที่สุด ได้แก่ เดนมาร์ก และนิวซีแลนด์ ซึ่งมีคะแนนอยู่ที่ 91 (จากคะแนนเต็ม 100) ส่วนประเทศที่คอร์รัปชั่นมากที่สุด ได้แก่ อาฟฆานิสถาน  เกาหลีเหนือและโซมาเลีย โดยได้แค่ 8 คะแนน ขณะที่รัสเซียได้คะแนนเท่ากับปีที่แล้ว คือ  28 คะแนน ส่วนจีนดีขึ้นกว่าปีแล้วคะแนนเดียว คือ ได้ 40 คะแนน เท่ากับกรีซ ที่อยู่ในลำดับที่ 80 จากบรรดาประเทศทั้งหมดทั่วโลก โดยเฉพาะกรีซ หลังจากที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นมากที่สุดในบรรดาชาติทั้งหมดในสหภาพยุโรป(E.U.) 
 
สองในสามของ 177 ประเทศ ได้ชื่อว่ามีการคอร์รัปชั่นในระดับสูงจนเรียกว่า  ไม่สามารถยอมรับได้ โดยมีสาเหตุมาจากการใช้อำนาจเผด็จการของรัฐบาลหรือหรือผู้นำ (abuse of power) การทำธุรกิจทั้งของ เอกชนและรัฐบาลอย่างลับๆ (secret dealings) รวมถึงการฉ้อฉลต่างๆ (bribery) ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ไม่เปิดกว้างด้านการปกครองแบบประชาธิปไตย บริหารจัดการเพียงคนกลุ่มเดียวหรือเพียงไม่กี่กลุ่มในประเทศ รวมถึงพรรคการเมืองที่เข้าไปบริหารกิจการประเทศ โดยเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องและเครือข่าย
 
การให้คะแนนคอร์รัปชั่นกับประเทศต่างๆนั้น เป็นการพิจารณาจากข้อมูลของ หน่วยงานทางด้าน เศรษฐกิจ ธนาคารโลก และเวทีการประชุมเศรษฐกิจโลก โดยเรียงลำดับคะแนนจากคะแนน 0 คือ แย่ที่สุด ไปหาคะแนน 100 คือ ดีที่สุด หากประเทศใดได้คะแนนนต่ำกว่า 50 คะแนนถือว่า มีการโกงหรือคอร์รัปชั่น มากกว่าการไม่โกง หรือพฤติกรรมสุจริต
 
ประเทศในกลุ่ม E.U. ที่ได้คะแนนต่ำกว่า 50 ได้แก่ อิตาลี กรีซ โรแมเนีย สโลวาเกียและ สาธารณรัฐเช็ค ส่วนประเทศที่มีพัฒนการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นดีขึ้นในปีนี้ ได้แก่ พม่า บรูไน เลโซโธ ซีเนกัล เนปาล เอสโตเนียและลัตเวีย
 
ประเทศที่การปัญหาการคอร์รัปชั่นย่ำแย่กว่าปีก่อนๆ ได้แก่ ออสเตรเลีย สโลเวนีย ไอร์แลนด์ สเปน แกมเบีย กีเนีย-บิสซัว ลิเบีย มาลี อีริเทรีย  มัวริเทียส เยเมน กัวเตมาลา มาดากัสการ์ และสาธารณรัฐคองโก
 
T.I. ตั้งข้อสังเกตว่า ในบรรดาประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่การคอร์รัปชั่นในภาครัฐมากกว่าการคอร์รัปชั่นในภาคอื่นๆ เช่น ในส่วนของภาคเอกชน ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับภาครัฐ และจะส่งผลที่เลวร้ายต่อความยากจนของคนในประเทศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ของประเทศและของโลก รวมถึงปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ
           
ถึงแม้ว่าแทบทุกประเทศจะมีการรณรงค์ในเรื่องการต้านคอร์รัปชั่น แต่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องค้ำประกัน ถึงการแก้ไขปัญหานี้แต่อย่างใด   เนื่องจากปัญหาการคอร์รัปชั่นได้หยั่งรากลึกในเชิงวัฒนธรรมเสียแล้ว ซึ่งหมายถึงว่าการคอร์รัปชั่นได้เกิดขึ้นจากพฤติกรรมวัฒนธรรมเชิงปัจเจก อีกนัยหนึ่งคือ มีวัฒนธรรม ฉ้อฉลอยู่ในสายเลือดของผู้คนในประเทศนั้นๆอยู่ก่อนแล้ว
 
ทั้งนี้หากปราศจาคความร่วมมือของประชาชนโดยทั่วไปด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมนิยมคอร์รัปชั่นของพวกเขา การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นย่อมเป็นไปได้โดยยาก เช่น การนิยมให้สินบนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน ต่างๆ การพยายามเลี่ยงภาษีรายได้นิติบุคคล  
 
จากการเสนอรายงานของ T.I. ข้อสังเกตที่เห็นคือ การคอร์รัปชั่นใน ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น สหรัฐฯ ประเทศในกลุ่มE.U. การคอร์รัปชั่น มักเป็นไปในกรณีการฟอกเงิน และการทำสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชน ที่มีความลึกลับซับซ้อน และมีขนาดความใหญ่ “ของกรณีคอร์รัปชั่น” (Corruption case) กว่า การคอร์รัปชั่นในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย  
 
การคอร์รัปชั่นในสหรัฐฯ ยังเชื่อมโยงไปถึงแก๊งค์อาชญากรรม และยาเสพติด  ที่สัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้พิพากษา หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำงานด้านกระบวนการยุติธรรม
 
ขณะที่คอร์รัปชั่นในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา มีการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ ทั้งในส่วนของการฟอกเงิน การทำสัญญาระหว่างรัฐกับบริษัทเอกชน การเลี่ยงภาษี การจ่ายเงินใต้โต๊ะให้ กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆของรัฐ ชนิดที่ผู้จ่ายก็สมยอมที่จะจ่าย เพื่อความสะดวกในการทำธุรกิจ อย่างเช่น การขอใบอนุญาตประเภทต่างๆ  หรือแม้กระทั่งการอำนวยความสะดวกในเรื่องเวลา การลัดคิว ก็ถือเป็นการคอร์รัปชั่นอย่างหนึ่ง ที่หลายประเทศในแถบเอเชียนิยมทำกันอย่างเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ
 
เมื่อปีที่แล้ว (2012) T.I. ให้ไทยอยู่ในลำดับประเทศคอร์รัปชั่นที่ 88  จาก 176  ประเทศ โดยไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 34  คะแนน (2011)เป็น 37  คะแนน (2012)  จากการวิเคราะห์ส่วนหนึ่งของสื่อต่างประเทศ สาเหตุของปัญหามาจากระบบอุปถัมภ์ ซึ่งมีตัวอย่างให้ได้เห็นกัน ในชื่อของเส้นสาย หรือ “เด็กเส้น” โดยคำหลังนี้ เป็นที่รู้จักของคนอเมริกันจำนวนไม่น้อย ผลที่เกิดขึ้นจากระบบอุปถัมภ์ดังกล่าว ก็คือ คอร์รัปชั่น ที่เรียกกันว่า คอร์รัปชั่นอยู่ในสายเลือด
 
ดูเหมือนบางชาติได้พยามยามแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่นอย่างหนัก อย่างเช่น จีน ที่มีการบัญญัติบทลงโทษอย่างรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต  เพื่อให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเกิดความกลัว ความเข้มงวดของทางการจีนดังกล่าวส่งผลให้การคอร์รัปชั่นในประเทศเดียวกันนี้ลดลง แม้ลดลงไม่มากก็ตาม โดยทางการของจีนได้พยายามสร้างจิตสำนึกของประชาชนให้เกิดร่วมในเวลาเดียวกันด้วย เพราะการสร้างจิตสำนึกเป็นเรื่องสำคัญในการป้องกันการคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค่อยๆเปลี่ยน วัฒธรรมใต้โต๊ะเป็นวัฒนธรรมบนโต๊ะแทน
 
ขณะเดียวกันในเวทีสากลหลายที่ ได้พูดถึงการคอร์รัปชั่นอำนาจโดยวิถีทางรัฐประหาร หรือการยึดอำนาจไปจากประชาชนโดยกองทัพหรือคณะนายทหาร ซึ่งประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายยังนิยมกระทำอยู่ แม้กว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับของประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม
 
ในเมื่อไทย เป็นประเทศหนึ่งที่นิยมและอยู่ในกระแสต้านคอร์รัปชั่นอยู่ในขณะนี้  นอกเหนือไปจากการรณรงค์ ต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐบาลและนักการเมืองแล้ว ควรมีการรณรงค์สร้างจิตสำนึกของตนเองและประชาชนไทยเชิงปัจเจกหรือเชิงจิตสำนึกของแต่ละคนด้วย  เพราะลักษณะของปัจเจกชนเป็นฐานสำคัญของการยุติปัญหาคอร์รัปชั่น แทนที่จะไปเรียกร้องคนอื่นหรือหน่วยงานอื่น หากควรเรียกร้องให้ประชาชนทั่วประเทศเกิดจิตสำนึกในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นด้วยควบคู่กันไป
 
เพราะปัญหาการคอร์รัปชั่นมาจากการสมยอมและการให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันของทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และฝ่ายประชาชน ทั้งน่าเสียดายว่า บทบาทของสื่อไทยในการรณรงค์เรื่องนี้ ไปให้ความสำคัญกับรัฐบาลและรัฐสภาในเชิงการเมืองมากกว่าการปลูกจิตสำนึกให้เกิดกับเยาวชนและประชาชนทั่วไป
 
หน่วยงานต้านคอรัปชั่นของไทยทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นคณะทำงานอิสระ และภาคเอกชน(NGOs) ยังคงพุ่งเป้าไปที่หน่วยงานและบุคคลสาธารณะในแวดวงการเมือง ปลุกกระแสให้ประชาชนเกิดความเบื่อหน่ายระบอบการเมืองประชาธิปไตยเสียงส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เช่น บอกว่านักการเมืองโกงกินเป็นส่วนใหญ่ ควรหันไปใช้ ระบอบคนดี เป็นผู้ปกครองมากกว่า เพราะ “คนดี” ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีการคอร์รัปชั่น    
 
ระบอบคนดี ซึ่งเป็นระบอบเสียงข้างน้อยปกครองประเทศ เชื่อมโยงกับเครือข่ายอุปถัมภ์ชั้นบน ระบบดังกล่าวถูกอ้างถึงอย่างมากในวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของไทย ที่มักอ้างเหตุผลของการชุมนุมประท้วงอย่างหนึ่งว่า เป็นเพราะรัฐบาลปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่น  ซึ่งส่วนใหญ่พุ่งเป้าโจมตีไปที่นักการเมืองและเครือข่ายผลประโยชน์ของนักการเมือง
 
ขณะที่ลักษณะการคอร์รัปชั่นในแง่วัฒนธรรมเชิงปัจเจกประจำวัน อย่างเช่น  การเลี่ยงภาษี การยัดเงินใส่มือตำรวจเวลาตำรวจจะให้ตั๋ว การตัดแปลงบัญชีกิจการร้านค้า การจ่ายใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่เพื่อความคล่องตัว แป๊ะเจี๊ยะเข้าโรงเรียน การจ่ายสัสดีเพื่อเลี่ยงเกณฑ์ทหาร ฯลฯ ยังดำเนินไปตามปกติ.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท