ไฟที่ไม่ยอมมอด ‘PHOS’ นักสาธารณสุขเพื่อสังคมที่ชายแดนใต้

ทำความรู้จักกับ ‘PHOS’ กลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคมที่ชายแดนใต้ หวังเป็นกลไกขับเคลื่อน ‘สังคมมุสลิมสุขภาพดี’ พวกเขาไม่ยอมให้ไฟนักกิจกรรมปัญญาชน ต้องมอดดับลงในวังวนของระบบราชการ

กลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคม หรือ “PHOS” เกิดจากการรวมตัวของนักกิจกรรมบางส่วนจากวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดยะลา เมื่อปี พ.ศ.2553 เพราะเห็นว่าสังคมมุสลิมละเลยเรื่องสุขภาพ..... เล็งเด็กนักเรียนตาดีกาเป็นสื่อกลางนำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพดูแลชุมชนต่อไป

มูฮำหมัดอัซมี กาซอ

จุดเริ่มการก่อตัว

กลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคม หรือ Public health – officer for social welfare ซึ่งพวกเขาเรียกตัวเองสั้นๆว่า “PHOS” เริ่มก่อตัวเมื่อปี 2553 จากการรวมตัวกันของนักกิจกรรมบางส่วนในชมรมมุสลิมกับสโมสรนักศึกษาชุดที่ 21 ของวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดยะลา

นายมูฮำหมัดอัซมี กาซอ เจ้าพนักงานสาธารณสุขโรงพยาบาลปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ในฐานะประธานกลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคม เปิดเผยว่า การรวมตัวครั้งแรกมีสมาชิกประมาณ 10 คน หลังจากนั้นมีคนเข้าร่วมสมทบเรื่อยๆ และค่อยๆ ขยายตัว

PHOS เกิดขึ้นจากเชื้อไฟของความเป็นนักกิจกรรมในสมัยเรียนของนักศึกษาสาธารณสุขบางส่วน หลังจบการศึกษาจากวิทยาลัยแล้วพวกเขามีความรู้สึกว่า ไม่อยากให้ไฟที่ยังเหลืออยู่ต้องดับมอดไป จึงรวมตัวกันอีกครั้งแล้วคิดหากิจกรรมที่จะมอบประโยชน์ให้สังคมบนพื้นฐานความรู้ความสามารถที่พวกเขามีอยู่ เพื่อสานต่ออุดมการณ์การเรียนรู้จากห้องเรียนสู่ชุมชน

สังคมมุสลิมยังละเลยเรื่องสุขภาพ

ระหว่างมองหาและคัดเลือกกิจกรรมอยู่นั้น พวกเขาพบว่า คนมุสลิมในสังคมชายแดนใต้ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมและถูกต้อง ทั้งที่ศาสนาอิสลามให้ความสำคัญและเน้นย้ำในประเด็นนี้อย่างมาก

พวกเขาจึงตัดสินใจโฟกัสไปที่โรงเรียนตาดีกาเป็นพื้นที่ดำเนินกิจกรรม เพราะโรงเรียนตาดีกาเป็นสถาบันพื้นฐานในการเรียนรู้วิชาศาสนาของเยาวชนมุสลิม เป็นจุดศูนย์กลางที่จะแผ่ขยายความรู้สู่ชุมชนได้ไม่ยากอีกด้วย

กิจกรรมการสร้างสังคมสุขภาพดี

นายมูฮำหมัดอัซมี กล่าวว่า พวกเรามาจากวิทยาลัยสาธารณสุข มีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ จึงคิดนำความรู้ที่มีอยู่ไปดำเนินกิจกรรมที่สร้างสังคมให้มีสุขภาพดี และตั้งชื่อกลุ่มว่า กลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคม

กิจกรรมแรกของกลุ่มได้ดำเนินการในปี 2553 คือ กิจกรรมสาธารณสุขสัญจร เป็นกิจกรรมวันเดียวจบ ตามโรงเรียนตาดีกาใน ต.ตะโละไกรทอง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี และที่บ้านบาตูปูเต๊ะ ต.ลิดล อ.เมือง จ.ยะลา

เป็นการจัดกิจกรรมฐานให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพแก่เด็ก เช่น ฐานตรวจสุขภาพร่างกาย ฐานยาเสพติด ฐานการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ฐานยาสามัญประจำบ้าน เป็นต้น

นอกจากการให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพแล้ว ยังพยายามนำความรู้ทางศาสนาแทรกเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้เด็กได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพตามทัศนะอิสลาม ทั้งนี้การจัดกิจกรรมต่างๆ พยายามให้อยู่ในบรรยากาศที่เป็นกันเองและสนุกสนาน

หลังจากนั้น PHOS ก็เริ่มจัดค่ายเยาวชนรักสุขภาพ ระยะเวลา 2 วัน 3 คืน ที่บ้านทอน ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส และที่บ้านเหนือ ต.โคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี

เป็นการจัดกิจกรรมฐานให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพแก่เด็กเช่นกัน แต่ใช้เวลามากขึ้นเพื่อเพิ่มเนื้อหาในกิจกรรมมากขึ้น และช่วงเย็นทีมงานก็ได้ไปเดินพบปะชาวบ้านและพูดคุยเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ

เป็นกิจกรรมครั้งแรกที่ทำให้ทีมงานได้รู้ว่า บางครั้งชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงการบริการของสาธารณสุขที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งนับเป็นบทเรียนสำคัญในการทำงานของนักสาธารณสุขอย่างพวกเขา

จากนั้นในช่วงปี 2554 - 2555 PHOS เริ่มจัดค่ายเสริมสร้างการเรียนรู้สู่การดูแลสุขภาพในชุมชน ระยะเวลา 5 วัน 4 คืน ที่บ้านห้วยบ่อน ต.บ้านโหนด อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา และที่บ้านปะลุกาแปเราะ ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส

ลักษณะกิจกรรมคล้ายกับค่ายเยาวชนรักสุขภาพ แต่เพิ่มกิจกรรมให้หลากหลายมากขึ้น โดย PHOS ได้แบ่งทีมงานเป็น 2 ทีม คือ ทีมจัดกิจกรรมเด็กและทีมลงพื้นที่เยี่ยมชาวบ้าน

สำหรับทีมจัดกิจกรรมเด็กทำหน้าที่อบรมจริยธรรมและการปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ โดยแทรกความรู้เกี่ยวกับสุขภาพเข้าไปด้วย พยายามเชื่อมโยงถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพในอิสลาม เช่น เมื่อพูดถึงเรื่องการดูแลความสะอาด เราก็ยกบทบัญญัติในอิสลามที่กล่าวถึงประเด็นนี้ด้วย เพื่อทำให้เด็กตระหนักว่าศาสนาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่อให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ส่วนทีมลงพื้นที่เยี่ยมชาวบ้าน ก็จะแบ่งสายเดินไปตรวจสุขภาพเบื้องต้นแก่ชาวบ้าน เช่น วัดความดันโลหิต พร้อมพูดคุยแนะนำการดูแลสุขภาพ เช่น การกินอาหาร การออกกำลังกาย และอื่นๆ

“เราพบว่า การลงพื้นที่ให้ความรู้ตามชุมชนแบบเข้าถึงในบรรยากาศแบบอิสระและเป็นกันเอง ทำให้เราได้รับรู้สภาพความเป็นจริงของชาวบ้าน ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับการพัฒนาองค์ความรู้และรูปแบบในการทำงานกิจกรรมสาธารณสุขต่อไป” นายมูฮำหมัดอัซมี กล่าว

 

“ตาดีกา” คือความหวังแห่งอนาคต

ปัจจุบัน PHOS กำลังดำเนินโครงการ “ตาดีกาส่งเสริมสุขภาพ” เพื่อให้โรงเรียนตาดีกาเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพของชาวมุสลิมในชุมชนอย่างเต็มรูปแบบ โดยหวังว่าจะให้นักเรียนตาดีกาเป็นสื่อกลางนำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพไปเผยแพร่ในชุมชนต่อไป

ที่สำคัญเด็กคือผู้ใหญ่ในอนาคต ดังนั้นหากทำให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ก็นับเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงต่อสังคมอีกด้วย

สำหรับโครงการ “ตาดีกาส่งเสริมสุขภาพ” ได้ดำเนินการเป็นที่แรกไปแล้วที่บ้านปอเยาะ ต.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา

โครงการนี้เริ่มจาก PHOS ได้ลงไปพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อหาแนวทางการพัฒนาร่วมกัน จากนั้นได้ลงไปช่วยจัดพื้นที่บริเวณโรงเรียนตาดีกาให้เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ เช่น ติดตั้งบอร์ดให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ พูดคุยกับครูตาดีกาเพื่อให้เพิ่มกิจกรรมดูแลสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน เช่น ให้เด็กแปรงฟันหลังกินข้าวเที่ยงเหมือนในโรงเรียนประถม

นอกจากนั้น ยังจัดงานให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพครั้งใหญ่แก่คนในชุมชนด้วย ในงานมีนิทรรศการสุขภาพ จัดบู๊ทให้ข้อมูลด้านสุขภาพ เช่น บู๊ทตรวจฟัน บู๊ทนวดแผนไทย ฯลฯ เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพมาบรรยายให้ความรู้ เชิญทีมแพทย์จากสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขมาให้บริการตรวจสุขภาพชาวบ้าน และเชิญกลุ่มต่างๆ จากภาคประชาสังคมมาร่วมงานด้วย เช่น ศูนย์ทนายความมุสลิมยะลา กลุ่มสตรี กลุ่มช่างภาพชายแดนใต้ ฯลฯ

นายมูฮำหมัดอัซมี เปิดเผยว่า ช่วงแรกของการดำเนินกิจกรรมของ PHOS ได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิโกมลคีมทอง จากนั้นเมื่อ PHOS มีกิจกรรมบางส่วนที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น จึงได้เข้าไปคุยกับกลุ่มผู้นำชุมชนเพื่อเสนอกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้โดยทางชุมชุนหางบประมาณมาสนับสนุนส่วนหนึ่ง แต่การจัดกิจกรรมในช่วงหลังๆ ใช้งบประมาณของชุมชนทั้งหมด โดย PHOS ลงไปทำกิจกรรมเท่านั้น

ช่วยสมานแผลจากความรุนแรง

นายมูฮำหมัดอัซมี กล่าวว่า การลงพื้นที่จัดกิจกรรมของ PHOS บางครั้ง มีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในพื้นที่มาระบายความรู้สึกให้ทีมงานฟังด้วย แสดงว่าชาวบ้านไว้วางใจพวกเรา และการรับฟังของพวกเราก็ทำให้เขารู้สึกคลายความอัดอั้นลงได้

“บางครั้งเรามีโอกาสได้ดูแลบาดแผลทางร่างกายที่ยังมีอยู่ ได้พูดให้กำลังใจเขา และหากเรามองเห็นแนวทางช่วยเหลือในเรื่องอื่นๆ เราก็จะแนะนำไป เช่น การติดต่อศูนย์ทนายความมุสลิมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมด้านกฎหมาย ทำให้รู้สึกว่าบางครั้งเราก็มีโอกาสช่วยสมานแผลให้เขาได้บ้าง” นายมูฮำหมัดอัซมี กล่าว

พัฒนาเครือข่ายสื่อเพื่อสาธารณะ

แผนงานของ PHOS อีกแผนหนึ่ง คือ การพัฒนาพื้นที่การสื่อสารกับสาธารณะในโลกออนไลน์ โดยทีมพัฒนาสื่อของ PHOS โดยพยายามส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพใน 3 รูปแบบ คือ ผลิตคลิปวีดิโอเผยแพร่ทางเว็บไซต์ Youtube การโพสต์รูปบนเว็บไซต์ facebook และนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านบล็อค http://am–phos.blogspot.com

ทั้งนี้ทีมพัฒนาสื่อจะให้สื่อทั้ง 3 รูปแบบเชื่อมโยงถึงกัน เพื่อประสิทธิภาพในการสื่อสารกับสาธารณะได้กว้างขวางมากขึ้น

ขณะนี้ทีมพัฒนาสื่องานของ PHOS ได้นำเสนอข้อมูลมาเผยแพร่ในบล็อค http://am–phos.blogspot.com ไปบ้างแล้ว เช่น สุขภาพวิถีอิสลาม การแพทย์แผนนบี(ศาสดา) ประวัติบุคคลสำคัญเกี่ยวกับการแพทย์อิสลาม การออกกำลังกาย อาหารและโภชนาการ สมุนไพร แพทย์แผนไทย ทันตสุขภาพ ข้อมูลโรคภัยไข้เจ็บ ข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพของอาเซียน เป็นต้น

นอกจากนี้ บล็อค http://am–phos.blogspot.com ยังใช้เป็นพื้นที่ในการกระจายผลงานและประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมของ PHOS ด้วยอีกทางหนึ่ง

“เราเพิ่งอัพเดทช่องทางการสื่อสารบนอินเตอร์เน็ตอย่างจริงๆ จังๆ เมื่อสองเดือนที่ผ่านมานี้เอง คงต้องใช้เวลาเพื่อพัฒนาอีกสักระยะ คาดว่าถ้าสำเร็จด้วยดี ก็จะทำให้การดำเนินกิจกรรมของ PHOS ขยายไปในวงกว้างยิ่งขึ้น” นายมูฮำหมัดอัซมี กล่าว

ผลที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของนักสาธารณสุขเพื่อสังคม คือ ภาพการนำความรู้ที่เรียนมาไปสู่ชาวบ้าน ทำให้ผู้คนในชุมชนได้รู้และเข้าใจเกี่ยวกับดูแลสุขภาพมากขึ้น

“เราหวังว่า ถ้ากิจกรรมที่ทำอยู่กับเยาวชนสามารถขยายตัวในวงกว้างและมีฐานที่แข็งแกร่ง ก็จะทำให้สังคมของเรามีแกนนำในการดูแลเรื่องสุขภาพแก่ชุมชนในอนาคต” นายมูฮำหมัดอัซมี กล่าว

บูรณาการความรู้นอกกรอบระบบราชการ

นางสาวดารุนี มะแอ พร้อมเพื่อนหญิงกลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคมทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ในโลกความเป็นจริง การทำงานของระบบราชการ บางครั้งเต็มไปด้วยความกดดัน ความเครียดและไม่เป็นอิสระ แต่เมื่อแบ่งเวลามาทำงานกับ PHOS ด้วย ทำให้รู้สึกว่าได้ทำงานในพื้นที่แห่งความจริง บรรยากาศการทำงานเป็นธรรมชาติ และได้ใช้ความรู้ความสามารถที่มีได้อย่างอิสรเสรี

แม้ PHOS ทำให้เวลาส่วนตัวของพวกเขาลดลงไป แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดจิตสำนึกของการเป็นนักสาธารณสุขเพิ่มขึ้น

นางสาวดีนา จินดาเพ็ชร รองประธานกลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคม กล่าวว่า การเข้าร่วมกิจกรรมของ PHOS ทำให้เห็นการบูรณาการความรู้ทางด้านสาธารณสุขที่มาใช้ได้จริงในชุมชน เพราะทำให้มองเห็นความสัมพันธ์ของความรู้ด้านต่างๆ เช่น เทคนิคเภสัชกรรม ทันตสาธารณสุข แพทย์แผนไทย เวชกิจฉุกเฉิน สาธารณสุขชุมชน ฯลฯ ว่ามีส่วนช่วยเกื้อหนุนการเสริมสร้างสุขภาพของผู้คนในชุมชนอย่างไร

ทั้งนี้ เพราะคนที่ทำงานในโรงพยาบาลก็จะทำหน้าที่แต่ของตัวเองเท่านั้น เป็นการทำงานที่แยกส่วน ทำให้มองไม่เห็นการใช้ศาสตร์ความรู้ด้านอื่นๆมาทำงานร่วมกัน จึงมองไม่เห็นว่าส่วนประกอบเล็กๆ ที่เชื่อมต่อกันกลายเป็นภาพใหญ่นั้นเป็นอย่างไร การทำงานแบบบูรณาการกัน จึงค่อนข้างเห็นได้ยากในระบบการทำงานแบบแยกส่วน

นางสาวดีนา กล่าวว่า “ในปีนี้ไม่มีรุ่นน้องเข้าร่วมกลุ่ม แต่ก็ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคของการทำงานของ PHOS สมาชิกกลุ่มที่มีอยู่ส่วนใหญ่ยังคงทำงานร่วมกันต่อไปเรื่อยๆ ถ้ายังสามารถทำได้ คงเป็นเพราะความผูกพันที่ทำงานร่วมกันมาหลายปี”

นางสาวอัฮลาม อาแว เลขานุการกลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคม กล่าวว่า “การทำงานตรงนี้ทำให้เราได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาได้อย่างเต็มที่ และดีใจที่ได้ทำ เมื่อรู้สึกสนุก มันก็ไม่เหนื่อย”

ปัจจุบันเครือข่ายสมาชิกกลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคม ต่างมีหน้าที่รับผิดชอบงานประจำตามหน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ ประจำอำเภอและตำบล ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล) การที่พวกเขายังออกมาร่วมกันทำงานต่อไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย ก็เป็นความหวังที่จะทำให้ภาพสังคมสุขภาพดีที่พวกเขาวาดกันไว้ เกิดขึ้นได้ในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท