ทำไม ‘สถิติความรุนแรงจึงสำคัญกับสันติภาพ’ เรียนรู้จากอาเจะห์ผ่าน World Bank

คุยกับ ‘แอเดรียน มอเรล’ ผู้เชียวชาญการเก็บข้อมูลสถิติความรุนแรงในประเทศอินโดนีเซีย ชี้แม้ไม่อาจทำให้เกิดสันติภาพได้โดยตรง แต่เป็นข้อมูลเบื้องต้นสู่การเจรจาและการเยียวยาผลกระทบ ดังตัวอย่างในอาเจะห์

12 ธ.ค.2556 ในโอกาสที่นายแอเดรียน มอเรล ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสังคมในโครงการเกี่ยวกับความขัดแย้งและการพัฒนา ของธนาคารโลก(World Bank) ประจำสำนักงานกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย มีภารกิจหลักคือการทำระบบการมอนิเตอร์(ติดตาม)ความรุนแรงระดับชาติในประเทศอินโดนีเซียเดินทางมาประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) อย่างเข้มข้น เรื่องการเก็บข้อมูลสถิติความรุนแรงในชายแดนใต้กับศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ระหว่างวันที่ 25 – 29 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ จึงถือโอกาสสัมภาษณ์แอเดรียน มอเรล โดยมุ่งเป้าไปที่การเก็บสถิติความรุนแรงในพื้นที่ซึ่งเป็นหนึ่งบทบาทสำคัญของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ที่เรียกกันเล่นๆ ว่าภารกิจนับศพนี้ จะมีส่วนในการสร้างสันติภาพได้อย่างไร

แอเดรียน มอเรล 

ทำไมธนาคารโลกจึงเข้าไปจัดทำระบบมอนิเตอร์ความรุนแรงระดับชาติ ของประเทศอินโดนีเซีย ?

ประเทศอินโดนีเซียในปี ค.ศ.1998 เป็นช่วงที่อดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต ลงจากอำนาจ ซึ่งในช่วง 3-4 ปีแรกของการลงจากอำนาจ เกิดความวุ่นวายตามพื้นที่ต่างๆในประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านจากระบบที่ซูฮาร์โตใช้ปกครองประเทศ (เผด็จการ) มาเป็นระบอบประชาธิปไตย

ซึ่งเกิดความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มต่างๆ เช่น ในเมืองซูลาเวซี มาลูกู กาลีมันตัน อาเจะห์ เป็นความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะความขัดแย้งที่เกิดจากความต้องการแบ่งแยกดินแดน แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ในเมืองเหล่านี้ความขัดแย้งที่เกิดจากความต้องการแบ่งแยกดินแดนลดลงอย่างมาก ยกเว้นในเมืองปาปัวที่ยังคงมีความต้องการแบ่งแยกดินแดนอยู่

แต่มีความขัดแย้งในรูปแบบอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น ความขัดแย้งจากกรณีพิพาทในเรื่องทรัพยากรหรือที่ดิน ความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยในเมืองต่างๆที่ต้องการเรียกร้องสิทธิบางอย่าง และความขัดแย้งที่คนกลุ่มใหญ่ไปคุกคามกลุ่มบุคคลที่เล็กกว่า เป็นต้น

ความรุนแรงดังกล่าวจึงทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียมีความกังวลมาก จึงขอให้ธนาคารโลกเก็บข้อมูลสถิติความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะค้นหาสาเหตุและวางแนวทางป้องกันความรุนแรงในอนาคต โดยเป้าหมายเพื่อต้องการพัฒนาประเทศและสังคมให้มีความเจริญมากยิ่งขึ้น

โดยปกติธนาคารโลกมีการโครงการที่จะพัฒนาทางสังคมในประเทศอินโดนีเซียอยู่แล้ว ดังนั้นการเก็บข้อมูลสถิติความรุนแรง จึงเป็นโครงการหนึ่งที่จะช่วยทางรัฐบาลอินโดนีเซีย

ธนาคารโลกมีโครงการที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนอินโดนีเซียทุกหมู่บ้าน เพื่อที่จะพัฒนาทุกหมู่บ้าน ชื่อโครงการ National Program For Community Empowerment แต่บางครั้งโครงการนี้เป็นตัวที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน เพราะเกิดความขัดแย้งกันในเรื่องเงินทุนที่ทางโครงการให้ ความขัดแย้งจึงส่งผลกระทบจากต่อโครงการและส่งผลกระทบต่อชาวบ้านด้วย

ดังนั้นธนาคารโลกกับรัฐบาลอินโดนีเซียจึงมาศึกษาว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านจะส่งผลกระทบต่อการช่วยเหลือของธนาคารโลกอย่างไรบ้าง และความช่วยเหลือของธนาคารโลกนั้นทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างไร ปกติทุนที่ธนาคารโลกให้สามารถช่วยพัฒนาสังคมได้ก็จริงขณะเดียวกันจะมีผลกระทบแง่ลบด้วย

ดังนั้นทางรัฐบาลอินโดนีเซียกับธนาคารโลกต้องการให้เกิดความแน่ใจว่า โครงการดังกล่าวจะไม่ทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม ผมจึงต้องเข้ามาเก็บข้อมูล เพื่อให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร

ข้อมูลสถิติความรุนแรงในช่วงสงครามและหลังสงครามระหว่างอาเจะห์กับรัฐบาลอินโดนีเซียมีความแตกต่างกันอย่างไร ?

สงครามในอาเจะห์ เป็นสงครามทีมีมายาวนานประมาณ 30 ปี มีคนเสียชีวิตประมาณ 15,000 – 30,000 คน หนีภัยสงคราม (Displaced) 500,000 คน โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 2000 - 2004 ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงหรือเป็นการต่อสู้อย่างทารุณ

ต่อมาปี ค.ศ.2005 มีการเซ็นสัญญาณสันติภาพระหว่างขบวนการ GAM (Gerakan Aceh Merdeka) กับรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งหลังจากมีข้อตกลงสันติภาพแล้ว ความรุนแรงก็ลดลงอย่างมากถ้าเทียบกับจังหวัดอื่นๆของประเทศอินโดนีเซีย

แต่กลับมีความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นความรุนแรงในลักษณะการแข่งขันทางการค้า การทำมาหากิน การเลือกตั้ง และการแย่งชิงอำนาจทางเศรษฐกิจกับอำนาจทางการเมือง

ปัจจุบันนี้ GAM แยกออกเป็น 2 กลุ่ม และมีการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม จึงเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น มีการปล้นปืน มีการจับตัวเรียกค่าไถ่ ยาเสพติด สาเหตุเพราะอดีตสมาชิกGAM บางส่วนที่มีอยู่ไม่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรบางอย่างได้

“แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความรุนแรงในอาเจะห์มีไม่มากนักหากเทียบกับจังหวัดอื่นๆ แต่ความรุนแรงก็ยังมีอยู่ จึงยังจำเป็นต้องเก็บข้อมูลสถิติความรุนแรงต่อไป เพื่อที่จะค้นหาสาเหตุและแนวทางป้องกันต่อไป”

ข้อมูลสถิติความความรุนแรงดังกล่าว มีส่วนสำคัญอย่างไรกับกระบวนการสันติภาพอาเจะห์ ?

การเก็บข้อมูลสถิติความรุนแรงจะทำให้เห็นถึงปัญหาของระบบบางอย่าง โดยเฉพาะเห็นถึงปัญหาการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่อดีตสมาชิก GAM ที่ไม่ทั่วถึง อดีตสมาชิก GAM เหล่านั้นจึงต้องก่ออาชญากรรม ทั้งที่การช่วยเหลือเยียวยานั้น เป็นหนึ่งในเงื่อนไขในสัญญาสันติภาพ

“หลังเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มอาเจะห์ คนทั่วไปคิดว่าความรุนแรงในอาเจะห์สงบแล้ว และภารกิจต่างๆที่ให้ความช่วยเหลือชาวอาเจะห์ขององค์กรต่างๆในระหว่างสงครามก็จบลงไปด้วย แต่จากการเก็บข้อมูลพบว่ายังมีเหตุรุนแรงอยู่ ซึ่งอาจมาจากการเยียวยาอดีตสมาชิก GAM อย่างไม่ทั่วถึงหรือไม่ หรือยังมีปัญหาอื่นๆที่นำไปสู่ความรุนแรงได้”

เมื่อมีตัวเลขข้อมูลสถิติที่บ่งบอกว่ายังมีความรุนแรงอยู่อีก ทั้งรัฐบาลอินโดนีเซีย องค์กรภาคประชาสังคม และต่างประเทศจึงต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับอาเจะห์อีกครั้งและมากขึ้น

จากการศึกษา พบว่า 1 ใน 2 ของทุกพื้นที่ความขัดแย้งทั่วโลกหลังจากมีข้อตกลงสันติภาพไปแล้ว 5 ปี จะเกิดความรุนแรงลักษณะเดียวกับที่อาเจะห์ขึ้นอีก ซึ่งคนส่วนใหญ่คิดว่าเมื่อมีข้อตกลงสันติภาพทุกอย่างก็จบ แต่จากการเก็บข้อมูลสถิติความรุนแรง ทำให้รู้ว่าความรุนแรงที่มีอยู่เกิดขึ้นได้อย่างไร ดังนั้นการเก็บข้อมูลของผมกับการเก็บข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ จะสามารถป้องกันเหตุร้ายต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปได้

ปาตานีได้รับประโยชน์การเก็บข้อมูลสถิติความรุนแรงของหน่วยงานของคุณ ?

ผมเริ่มเก็บข้อมูลสถิติเหตุรุนแรงในอาเจะห์หลังจากมีข้อตกลงสันติภาพแล้ว แต่ก็มีการเก็บข้อมูลย้อยหลังไปก่อนหน้านั้นอีก 5 ปีด้วย โดยเก็บข้อมูลจากที่ต่างๆ ที่มีระบบการเก็บข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น สื่อต่างๆ หนังสือพิมพ์ และข้อมูลจากทหาร เป็นต้น

การเก็บข้อมูลภายหลังมีข้อตกลงสันติภาพทำได้ง่ายกว่า แต่การเก็บข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เป็นการเก็บข้อมูลระหว่างเกิดความขัดแย้งมีความเปราะบางอย่างมาก อีกทั้งมีความละเอียดอ่อนสูง และต้องทำงานบนพื้นฐานของความเป็นกลางมากที่สุด ผมเองได้เรียนรู้จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ด้วย ซึ่งเป็นการทำงานหนักมาก และทำงานได้ดีพอสมควร เพราะศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สามารถสร้างความสัมพันธ์ได้ดีกับแหล่งข่าว

“ผมคิดว่า การเซ็นสัญญาณสันติภาพในปาตานีน่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และการเก็บข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้นั้น มีความสำคัญมากพอสมควร สำหรับคนที่ต้องการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ดังนั้นข้อมูลเหล่านี้จึงมีประโยชน์อย่างแน่นอน โดยเฉพาะเพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงในพื้นที่”

หลังจากลงพื้นที่ดูวิธีการเก็บข้อมูลสถิติความรุนแรงของทหารกับของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้แล้ว ท่านคิดว่าสถิติเหล่านี้จะมีส่วนต่อกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่อย่างไร?

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มีความพยายามอย่างมากที่จะนำสันติภาพกลับมาสู่พื้นที่ ส่วนฝ่ายทหารก็ยอมรับการเจรจาสันติภาพพอสมควร ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และพยายามทำงานกับองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่มากขึ้น โดยมีเป้าหมายให้เกิดสันติภาพในพื้นที่

การทำงานระหว่างทหารกับองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ มีลักษณะช่วยกันสร้างความเข้าใจสถานการณ์มากขึ้น โดยไม่เกี่ยวกับประเด็นการเมือง คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะนำไปสู่การเจรจาสันติภาพได้

“การเก็บข้อมูลไม่ใช่ตัวที่จะทำให้เกิดสันติภาพได้โดยตรง แต่ช่วยได้ในแง่ที่ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันได้นำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณาร่วมกันว่า สถานการณ์จริงเป็นอย่างไร แล้วมาทำข้อตกลงกัน โดยทั้ง 2 ฝ่ายต้องถอยคนละก้าวและตัดประเด็นการเมืองออกไป จะช่วยให้การเจรจานำไปสู่สันติภาพได้ง่ายยิ่งขึ้น”

จากประสบการณ์ที่ทำงานความขัดแย้งในอาเจะห์ อะไรคือทางออกของความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้?

ผมไม่ทราบพลวัตของความขัดแย้งของที่นี่ว่าเป็นอย่างไร แต่จากประสบการณ์ในอาเจะห์ คิดว่ารัฐอาจจะต้องเปิดโอกาสทางการเมืองให้ประชาชนในพื้นที่มากขึ้นด้วยการกระจายอำนาจหรือกำหนดเป็นเขตปกครองพิเศษ (Autonomy) พร้อมๆกับกระจายทรัพยากรให้ประชาชนมากขึ้น    

ภูมิหลัง “แอเดรียน มอเรล”

นายแอเดรียน มอเรล เป็นชาวฝรั่งเศส ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสังคมในโครงการเกี่ยวกับความขัดแย้งและการพัฒนาของธนาคารโลก ประจำสำนักงานกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนความพยายามในการสร้างสันติภาพในอินโดนีเซีย รวมทั้งทดลองออกแบบแนวทางแก้ปัญหาความรุนแรงให้กับประเทศอื่นๆ

เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูภายหลังความขัดแย้ง (Post-Conflict) ในพื้นที่ซึ่งมีความเปราะบาง รวมทั้งการวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งหรือการประเมินผลกระทบ การมอนิเตอร์(การติดตาม)ความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีส่วนสำคัญในการจัดทำโครงการสนับสนุนระบบการมอนิเตอร์ความรุนแรงในระดับชาติ (National Violence Monitoring System – NVMS, กรุณาดูรายละเอียดในเว็บไซต์ www.snpk-indonesia.com) ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะในทางนโยบายแก่ผู้คนในท้องถิ่นและรัฐบาลอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ เขายังมีความชำนาญด้านการปรับปรุงการป้องกันและการจัดการความขัดแย้งของสังคม โดยมีประสบการณ์ร่วมเวลา 6 ปี ทั้งนี้เป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ทั่วไปและแนะนำเทคนิคการทำงานต่างๆ ให้กับธนาคารโลก (World Bank) รวมทั้งประเทศอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ ไทย เมียนม่าร์

ผลงานที่ได้รบการตีพิมพ์

Delivering Assistance to Conflict-Affected Communities: The BRA-KDP Program in Aceh (การส่งมอบความช่วยเหลือสู่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง: โครงการ BRA-KDP ในอาเจะห์)

Community-Based Reintegration in Aceh: Assessing the Impacts (แนวทางการกลับคืนสู่สังคมที่อยู่บนฐานของชุมชนในอาเจะห์: บทประเมินผลกระทบ)

จุลสาร Aceh Conflict Monitoring Updates (กรุณาดูรายละเอียดที่ www.conflictanddevelopment.org)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท