Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นิค นอสติทซ์ ผู้สื่อข่าวที่ติดตามความขัดแย้งทางการเมืองในไทย เขียนบันทึกกรณีเหตุการณ์ปะทะที่ราชมังคลากีฬาสถานและ ม.รามคำแหง คืนวันที่ 30 พ.ย. โดยเล่าตั้งแต่เหตุการณ์นักศึกษาทำร้ายร่างกายคนบนรถบัสข่วงบ่าย ไปจนถึงเหตุการณ์ปะทะช่วงกลางคืนถึงช่วงเช้า

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2556 นิค นอสติทซ์ ผู้สื่อข่าวชาวต่างประเทศผู้ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในเมืองไทย ได้เขียนบันทึกกรณีเหตุการณ์ความวุ่นวายที่ราชมังคลากีฬาสถานและที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในคืนวันที่ 30 พ.ย. ถึง 1 ธ.ค. ชื่อบทความ "รามคำแหง : มุมมองจากในสนามกีฬา" (Ramkhamhaeng: A view from inside the stadium) เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ New Mandala เนื้อหามีดังนี้
 
นี้คือบันทึกถึงสิ่งที่ผมพบเห็นในราชมังคลากีฬาสถาน และที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงในคืนระหว่างวันที่ 30 พ.ย. ถึง 1 ธ.ค. 2556 มีนักข่าวน้อยคนมากที่จะอยู่ที่นั่นตลอดคืน เพื่อนร่วมงานของผมส่วนใหญ่กำลังเตรียมตัวเพื่อรับสถานการณ์การปะทะกันที่อาจจะเกิดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาลและสำนักงานตำรวจในวันถัดไป ผมเองก็เกือบจะทำอย่างเดียวกันแล้ว แต่ว่าการที่มีคนทำร้ายผมในวันที่ 25 พ.ย. ตามมาด้วยการรณรงค์สร้างความเกลียดชังจะทำให้ผมไม่อยากไปที่แหล่งชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ผมจึงเดินทางไปที่การชุมนุมของเสื้อแดงที่ราชมังคลากีฬาสถาน เหตุผลส่วนใหญ่คือมันเป็นที่ๆ ทำให้ผมปลอดภัย และเพราะผมรู้สึกอยากออกไปทำอะไรสักอย่างมากกว่าจะรู้สึกซึมเศร้าอยู่ที่บ้าน อย่างน้อยผมก็อยากถ่ายภาพสนามกีฬาที่เต็มไปด้วยผุ้ชุมนุมเสื้อแดงซึ่งเป็นภาพชวนประทับใจ ผมไม่เคยคิดมาก่อนแม้แต่น้อยว่าผมจะได้เห็น ได้ประสบกับค่ำคืนที่มีการปะทะกันอย่างรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2553
 
ผมเก็บบันทึกไว้ไม่เผยแพร่มาจนถึงบัดนี้ ส่วนหนึ่งเพราะกลัวว่าผมอาจตกเป็นเป้ามากขึ้น สิ่งที่กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลบอกเล่าออกมาดูขัดกับสิ่งที่ผมได้เห็นจริง และผมเองก็ต้องรอการยืนยันข้อเท็จจริงกับข้อมูลเพิ่มเติมในหลายๆ กรณี
 
ในวันเสาร์ที่ 30 พ.ย. ผมออกจากบ้านไปตอนบ่าย 4 โมงด้วยรถจักรยานยนต์ของผมเอง ปกติแล้วการเดินทางไปราชมังคลาจะใช้เวลาประมาณ 30 ถึง 40 นาที แต่วันนั้นผมใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง ทีแรกผมก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงมีรถติดมากขนาดนี้ การจราจรแทบไม่เคลื่อนไปข้างหน้าเลย แต่เมื่อภรรยาของผมโทรหาไม่นานนักก่อนกำลังจะถึงสนามกีฬาเธอบอกว่ามีนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงไปปิดถนนรามคำแหง มีการค้นรถเพื่อหาเสื้อแดงและทุบตีพวกเขา โชคดีและอาจจะถือว่าฟลุ๊กที่ผมตัดสินใจไปใช้ถนนลาดพร้าว แทนถนนพระราม 9 เช่นที่เคยใช้ปกติซึ่งจะทำให้ผมต้องผ่านมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาตรวจค้นเสื้อแดง
 
เมื่อผมไปถึงสถานที่ผมก็เจอเพื่อนบางคนถ่ายภาพนักศึกษาทุบตีคนเสื้อแดง มีคนหนึ่งบอกผมว่ามีนักศึกษาคนหนึ่งตบหน้าช่างภาพต่างประเทศขณะที่เขากำลังถ่ายภาพเหตุการณ์ ผมอยู่ห่างๆ มหาวิทยาลัยและกลุ่มนักศึกษาต่อต้านรัฐบาลกลุ่มนั้นเพราะกลัวว่าพวกเขาจะจำผมได้หลังจากมีการสร้างความเกลียดชังตัวผมผ่านเพจบลูสกายแชนแนลในเฟซบุ๊ค ผมอาจจะโดนแบบเดียวกับที่เสื้อแดงโดนได้ เพื่อนผมบอกว่าไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนเริ่มการต่อสู้ก่อน แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่านักศึกษาได้ดึงตัวคนเสื้อแดงทุกคนออกมาจากรถโดยสาร รถแท็กซี่ และรถยนต์ส่วนตัวเพื่อลงไม้ลงมือ ต่อมาเพื่อนผมที่อยู่มาตั้งแต่ช่วงบ่ายสองโมงครึ่ง ถึงบ่ายสามโมง บอกว่าในตอนนั้นก็เริ่มใช้อารมณ์รุนแรงกันแล้ว ภายใต้การควบคุมของการ์ดเสื้อดำโพกหัวธงชาติไทย ซึ่งตอนนั้นพวกเขาอยู่ที่หน้าทางเข้าซึ่งมีเวทีเคลื่อนที่และตะโกนใส่รถหรือจักรยานยนต์ทุกคันที่รับส่งคนเสื้อแดง
 
ในเตนท์พยาบาลหน้าสนามกีฬา มีคนเสื้อแดงที่ถูกทุบตีได้รับการรักษาอยู่ เขาต้องอยู่ที่นี่ไปก่อนเพราะการลำเลียงผู้บาดเจ็บตอนนี้มีความเสี่ยงเกินไป เขาชื่อวิชืต กัลยาโท อายุ 45 ปี เขาบอกว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นตอนราวๆ สี่โมง และมีเขาคนเดียวที่เป็นผู้ประท้วงเสื้อแดงที่อยู่บนรถประจำทางตอนที่นักเรียนพากันล้อมรถประจำทางและเริ่มทุบกระจกรถ เขาจึงตัดสินใจลงจากรถเพื่อไม่ให้ผู้โดยสารคนอื่นเป็นอันตราย เขาถูกลากไปที่ถนนรามคำแหงซอย 43 ด้านตรงกันข้ามกับทางเข้าหลักของมหาวิทยาลัยถูกคน 10 ถึง 20 คนรุมทำร้าย บังคับให้ถอดเสื้อแดงออก ถูกยึดโทรศัพท์มือถือ และเตือนไม่ให้เข้าไปในสนามกีฬา แต่วิชิตก็ยังคงหาทางเข้าไปในสนามกีฬาได้ขณะที่ตัวเขาเองกระดูกซี่โครงหลายซี่รวมถึงกระดูกไหปลาร้าหัก มีรอยฟกช้ำทั่วตัว พอถึงเวลาหนึ่งทุ่มครึ่งหน่วยกู้ภัยอาสาก็มากันมาที่ด้านนอกและนำตัวเขาออกไปจากพื้นที่โดยใช้เปลพยาบาล เพื่อไปที่สถานีตำรวจหัวหมากที่มีรถพยาบาลจอดอยู่
 
 
ตกเย็นนักศึกษารามคำแหงก็มารวมตัวกันที่อีกฟากของถนนรามคำแหง เยาะเย้ยและตะโกนใส่กลุ่มเสื้อแดง ตำรวจที่คุ้มกันอยู่หน้าทางเข้าสนามกีฬามีเพียงไม้กระบองและโล่ห์ป้องกันเท่านั้น ขณะที่เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ คอยทำหน้าที่โบกรถให้ไปอีกทาง
 
 
 
คนเสื้อแดงที่เฝ้าประตูมีไม้กระบองกับท่อนเหล็กเป้นอาวุธเพื่อใช้ปกป้องตัวเองเนื่องจากมีโอกาสที่นักศึกษาจะเข้าโจมตีพวกเขา พวกเขาตั้งรับและคอยหลบอยู่หลังเส้นกั้นตำรวจบางที่ใช้ป้องกันอะไรไม่ได้อยู่ในสนามกีฬาตลอดเวลา อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่สนามหญ้าหลังหนองน้ำเล็กๆ ที่อยู่ระหว่างถนนกับสนามหญ้า
 
 
ที่ประตูหลังไปสู่สนามกีฬาก็มีสถานการณ์คล้ายๆ กัน มีซอยแคบๆซึ่งไม่ปลอดภัยสำหรับเสื้อแดง สนามกีฬาราชมังคลาจึงถูกล้อมโดยที่เสื้อแดงไม่สามารถเข้าหรือออกไปได้เนื่องจากกลัวว่าจะถูกทุบตีหรือทำร้าย
 
 
เวลาราวสองทุ่ม ผมก็เดินไปที่ทางเข้าเวที ในตอนนั้นเองมีระเบิดลูกเล็กๆ ถูกขว้างจากมหาวิทยาลัยข้ามรั้วเข้ามาในสนามกีฬา มาระเบิดตรงกระจกหน้ารถที่จอดอยู่ในนั้น ผมเห็นควันลอยมาจากส่วนที่ถูกระเบิด
 
 
จากนั้นผมก็เข้าไปในสนามกีฬาเพื่อเก็บภาพผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่มีอยู่เต็มสนาม
 
 
เสร็จแล้วผมก็ไปที่ประตูหมายเลข 5 ออกไปทางซอยรามคำแหงที่ 24 ที่นั่นมีเสื้อแดงถือท่อนอาวุธยืนรวมตัวกันหลังแถวตำรวจที่ดูเบาบางในเขตสนามกีฬา มีเฮลิคอปเตอร์ตำรวจส่องไฟลาดตระเวณไปทั่วพื้นที่อยู่ตลอดเวลา มันเป็นฉากที่น่าขนลุกชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ในปี 2553 
 
 
 
 
ในเวลาสามทุ่มสี่สิบนาที ก็มีเสียงปืนดังมาจากบริเวณใกล้มหาวิทยาลัยที่ทางเข้าด้านหลัง มีเสื้อแดงหลบอยู่หลังรถที่จอดอยู่ แล้วก็วิ่งหนี แล้วก็ก้มหลบอีก การ์ดหลายคนพยายามมองหาว่าคนยิงอยู่ที่ไหน ไม่ว่าจะจากอาคารในมหาวิทยาลัยหรือบนพื้นที่ใกล้กับกำแพง ผมอยู่ที่นั่นราว 30 นาที
 
 
เมื่อเหตุการณ์เริ่มเงียบสงบลงผมก็ไปที่ประตูที่ 5 อีกครั้ง มีคนบอกว่ามีการปะทะเกิดขึ้นที่ซอยรามคำแหง 24 หลังสนามกีฬาตรงทางเข้ามหาวิทยาลัย ที่ประตูผมเห็นเสื้อแดงหลายคนที่เกยกันอยู่ข้างนอกกำลังหวาดผวาก่อนที่จะได้เข้าไปข้างใน
 
 
เวลาประมาณสี่ทุ่มสี่สิบนาที ผมเข้าไปที่เขตปะทะอย่างช้าๆ และระมัดระวัง อยู่ห่างออกไปไม่กี่ร้อยเมตรจากประตูด้านขวา แต่ก็ตั้ดสินใจอยู่หลังเส้นกั้นเพราะอยากหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนจับตัวหรือมีนักศึกษาคนใดจำหน้าได้ ซึ่งผมเห็นเงาร่างของนักศึกษาได้จากระยะห่างหลังเส้นกั้นของเสื้อแดง มีคนในพื้นที่เล็กน้อยมองดูฉากสถานการณ์จากข้างถนน มีเสียงปืนและเสียงระเบิดปิงปองดังหลายครั้งมาก ไม่นานนักนักสู้เสื้อแดงก็บุกไปพร้อมกับไม้กระบองสองไม้ชู้ขึ้น ส่งเสียงร้อง และโห่แสดงความดีใจซ้ำๆ ว่า "มีเสียงปืนหลายนัด แต่พวกเราไม่มีใครตายเลย พวกเราไม่มีใครตายเลย!"
 
 
ถึงตอนนั้นดูเหมือนว่านักสู้เสื้อแดงจะสามารถดันกลุ่มนักศึกษากลับเข้าไปในมหาวิทยาลัยและตามตรอกได้ ห่างออกไปจากสนามกีฬา มีเสื้อแดงบางคนอยู่ที่กำแพงมหาวิทยาลัยซึ่งตรงนั้นยังมีเสียงปืนและระเบิดให้ได้ยินอยู่ ผมไม่รู้ว่าฝ่ายไหนเป็นคนยิง และคิดว่าจะดีกว่าถ้าไม่เข้าไปใกล้กว่านี้ เมื่อมีคนจากอาคารด้านบนมองออกมา เสื้อแดงก็ตะโกนบอกให้เขาปิดหน้าต่างเสีย พวกเขาอธิบายกับผมว่ามีคนจากอาคารบางแห่งขว้างปาขวดลงมาที่พวกเขาในช่วงที่มีการต่อสู้
 
 
เมื่อถึงเวลาประมาณห้าทุ่มครึ่ง ก็มีรถตำรวจหลายคันเรียงขบวนเข้ามา มีบางส่วนอยู่ห่างออกไปทางถนนที่มีนักศึกษาอยู่ ที่เหลือมาหยุดอยู่ที่พื้นที่ของกลุ่มเสื้อแดง นักสู้เสื้อแดงส่งเสียงเชียร์ให้กับตำรวจ หลังจากนั้นสถานการณ์ก็วุ่นวายน้อยลงมาก
 
 
เพื่อนชาวต่างชาติของผมบางคนเดินผ่านมา พวกเขาอยู่ตอนช่วงที่มีการปะทะ พวกเขาบอกว่าแนวหน้าของการปะทะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ช่วงหนึ่งเป็นนักศึกษา ต่อมาเป็นกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งย้ำให้ผมรู้สึกว่าผมตัดสินใจถูกที่อยู่ข้างหลัง มีคนหนึ่งเผยรูปให้เห็นนักศึกษาที่ถูกสังหาร กับรูปของคนเสื้อแดงที่บาดเจ็บสาหัสและถูกจับตัวไว้
 
คนเสื้อแดงและตำรวจช่วยหันพาตัวพนักงานร้านพิซว่าคอมพานีที่กำลังหวาดกลัวออกมาจากร้าน กระจกหน้าร้านถูกทำลาย มีรถจักรยานยนต์ถูกขว้างเข้ามาในร้าน คนเสื้อแดงบอกว่าถูกขว้างมาจากด้านบนอาคารซึ่งมีคนขว้างปาขวด และอาจจะมีระเบิดด้วย ในช่วงที่พวกเขาต่อสู้กัน
 
 
 
ถึงเวลาเที่ยงคืน ยังคงมีเหตุการณ์มาจากซอยย่อยที่ 14 มีกลุ่มนักศึกษายังคงปฏิบัติการในที่มืด มีเสื้อแดงคนหนึ่งเดินออกมา เขาได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจากการถูกขว้างขวดใส่ แล้วก็มีเสื้อแดงอีกคนหนึ่งร้องตะโกนว่าเขาถูกยิงที่แขนนั่งรถจักรยานยนต์ออกมา
 
 
 
 
จากนั้นเหตุการณ์ก็สงบลง แล้วผมก็เดินกลับไปที่สนามกีฬา จากที่นั่นผมยังได้ยินเสียงปืนดังอยู่เป็นพักๆ ผมเดินไปที่ประตูหลักซึ่งเหตุการณ์สงบ ขณะที่ผมกำลังจะเดินกลับ ผมก็เห็นการ์ดเสื้อแดงจับตัวชายวัยกลางคนไว้ได้คนหนึ่ง เขามีตราของกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล การ์ดพาตัวเขาไปที่เขตเวทีพร้อมกับตะโกนห้ามไม่ให้กลุ่มเสื้อแดงจู่โจมชายผู้นี้
 
 
 
พวกเขาสามารถนำตัวชายผู้นี้ไปที่หลังเวทีได้ แม้ว่าจะมีเสื้อแดงที่กำลังโกรธพยายามจะทำร้ายเขา เด็กอายุ 17 ปีคนหนึ่งที่ถูกยิงที่แขนชี้บอกว่าชายคนนี้เป็นคนยิงเขา
 
 
 
ชายวัยกลางคนผู้นี้ถูกนำไปที่ห้องหลังเวทีเพื่อไต่สวนเพิ่มเติม จากนั้นจึงส่งตัวให้กับตำรวจ ผมหิวน้ำมากจึงขอน้ำดื่มแต่ตอนนั้นไม่มีน้ำเหลือในสนามกีฬาอีกแล้ว
 
ผมเดินกลับไปทีหลังประตูที่ 5 ผ่านไปยังซอยรามคำแหงที่ 24 ซอยย่อยที่ 14 ผมเห็นนักศึกษาที่ซ่อนอยู่ในทางมืดๆ กำลังเยาะเย้ยคนเสื้อแดง มีรถเข็นขายก๋วยเตี๋ยวออกมาจากซอยมืดๆ นั้นและได้ขายก๋วยเตี๋ยวให้กับเสื้อแดงที่รวมตัวกันอยู่ มีเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งวิ่งเข้าไปในซอยเพื่อไล่กลุ่มนักศึกษาออกไป
 
ตอนนั้นมีนักข่าวอยู่แค่สองคนคือผมกับนักทำหนังสารคดีคนหนึ่งชื่อจูน พวกเราตัดสินใจเดินเข้าไปราว 30 เมตรในซอยทันใดนั้น จากทางเดินลึกเข้าไปข้างในพวกเราก็ได้ยินเสียงปืน 6 นัด ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ ตีหนึ่ง 55 นาที ของวันที่ 1 ธ.ค. 2556 ไม่นานหลังจากที่เสื้อแดงคนหนึ่งวิ่งเข้ามาทางพวกเรา ตะโกนว่ามีคนหนึ่งในพวกเขาถูกสังหาร ก็มีเสื้อแดงอีกกลุ่มหนึ่งหอบร่างๆ หนึ่งออกมา ผมถ่ายภาพไว้บางส่วน เมื่อมูลนิธิร่วมกตัญญูเข้ามาในพื้นที่ คนเสื้อแดงก็พากันนำร่างขึ้นไปบนรถและขับออกไปจากซอย ผมถ่ายภาพๆ ร่างกายของเขาไว้ได้ชัดๆ ภาพหนึ่ง เขาถูกยิงที่ศรีษะ
 
 
 
ผู้ประท้วงเสื้อแดงยืนอยู่รอบชายสวมหมวกกันน็อก ผมถ่ายภาพไว้ เริ่มจากหมวกด้านนอก เห็นชัดว่ามีรูกระสุน จากนั้นจึงถ่ายด้านใน มีเศษสมองติดอยู่ในหมวก พยานเล่าว่าเขาเห็นชายคนนี้ถูกยิงจากระยะห่างออกไป 10 เมตร จากชั้นสองของอาคารกอพักซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากภาคใต้
 
 
ผมเห็นคนเดินเข้าไปในเซเว่นอิเลเว่นอย่างเงียบๆ ผมจึงตามเข้าไป กระจกร้านถูกปิดไปด้วยการดาษหนังสือพิมพ์จากด้านใน ผมถามขอซื้อน้ำเปล่าผ่านทางช่องเล็กๆ ของประตูที่ล็อกไว้ บอกว่าตัวเองเป็นนักข่าวจากต่างประเทศ พนักงงานมองลอดช่องออกมา แง้มประตูเพื่อรับธนบัตรใบละ 100 บาทของผม ก่อนที่จะถุงบรรจุขวดน้ำเปล่าให้สองถุง ผมเก็บไว้ที่ตัวเองขวดหนึ่ง อีกขวดหนึ่งเอาให้จูน และที่เหลือก็ยกให้คนเสื้อแดง จูนกับผมนั่งลงดื่มน้ำบนเก้าอี้พลาสติกที่อีกด้านหนึ่งของซอย ทีแรกผมยังไม่รู้สึกอะไร แต่ต่อมาก็เริ่มรู้สึกเศร้ามาก นี้ผมได้ถ่ายภาพคนหนุ่มที่ถูกสังหารอีกแล้วหรือ
 
จูนใช้สมาร์ทโฟนถ่ายรูปจากกล้องของผมต่ออีกทีหนึ่ง แล้วส่งข่าวไปในให้สำนักข่าวประชาไท ระบุว่ามีคนถูกสังหารอีกหนึ่งรายในคืนนี้ ทันใดนั้นกลุ่มเสื้อแดงก็ร้องตะโกนด้วยความโกรธ เดินออกมาจากซอย หนึ่งในนั้นขณะที่เดินออกมาก็ใช้ปืนพกของเขายิงขึ้นไปในอากาศ พวกเรายังคงนั่งอยู่ที่เก้าอี้ตัวเดิม
 
มีคนในพื้นที่เดินผ่านไปเป็นพักๆ และคนเสื้อแดงก็บอกพวกเขาว่าให้ระวังไม่เข้าไปในซอยลึกๆ เพราะพวกเขาอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเสื้อแดงโดยนักศึกษาที่โจมตีพวกเขา ตอนนั้นเหตุการณ์เริ่มสงบลงจูนกับผมจึงเดินไปที่สนามกีฬา ผมถ่ายภาพเสื้อแดงซึ่งยังคงติดอยู่ที่นี่ รอเวลาที่จะกลับบ้านได้ ภาพส่วนหนึ่งที่จับใจผมคือภาพของครอบครัวที่นอนหลับอยู่ในมุมเงียบๆ ใกล้กับหลังเวที
 
 
 
จูนกับผมไปที่ทางเข้าหลัก ดูตึงเครียดแต่ก็ค่อนข้างสงบ มีตำรวจเฝ้าอยู่ที่ประตูโดยมีเสื้อแดงอยู่ข้างหลังและส่วนหนึ่งก็อยู่ที่สนามหญ้าหลังหนองน้ำ นักศึกษาต่อต้านรัฐบาลยังคงครอบครองพื้นที่ถนนรามคำแหงอยู่ บางช่วงก็มีการเย้ยหยันกันระหว่างกลุ่มนักศึกษากับเสื้อแดง บางครั้งก็มีการใช้ประทัดยิงด้วยหนังสติ๊กใส่อีกฝ่าย (แต่ก็ไม่ถูกตัวใคร เพราะระยะห่างมากเกินไป) รวมถึงมีการตะโกนด่ากัน
 
 
พวกเราผ่านทางประตูที่ 5 ออกไปจนเจอกับนักข่าวไทยกลุ่มเล็กๆ ที่โรงแรมในซอย 24 ใกล้ๆ ประตู พอถึงช่วงตีห้า กลุ่มเสื้อแดงกลุ่มแรกก็เริ่มออกจากพื้นที่ ผมตัดสินใจรอจนพระอาทิตย์ขึ้นเพื่อให้สถานการณ์ปลอดภัย จูนกลับบ้านไปราวตีห้าครึ่ง ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นไม่นาน นักข่าวไทยหลายคนเดินไปที่ประตูที่ 1 มีกลุ่มเสื้อแดงปรบมือให้กับตำรวจขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังเปลี่ยนกะ
 
 
ทันใดนั้นเอง กลุ่มคนเสื้อแดงก็วิ่งไปที่ประตูข้างแล้วแห่กันออกไปที่ถนนรามคำแหง
 
 
สถานการณ์เริ่มบ้าคลั่ง มีระเบิดเต็มไปหมด มีการยิงปืนจากทั้งสองฝ่าย ต่างฝ่ายต่างก็มีอารมณ์โกรธ "เลือดขึ้นหน้า" กลุ่มเสื้อแดงส่วนหนึ่งถูกกักตัวอยู่ในสนามกีฬาโดยที่น้ำเปล่าหมดตั้งแต่ห้าทุ่มของคืนที่แล้วเริ่มดุร้าย พากันไล่นักศึกษาออกไปจากถนน มีบางคนที่อยู่ตรงสะพานข้ามทางด่วนขว้างปาระเบิดลงมาใส่เสื้อแดง มีกลุ่มเสื้อแดงขนาดใหญ่วิ่งเข้าไปที่ประตูหลักของมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีเสียงปืน เสื้อแดงตะโกนว่าคนของพวกเขาคนหนึ่งถูกยิงใส่หลายนัดที่หน้าอก
 
 
 
 
 
 
ผมยังคงอยู่ที่ประตูสนามกีฬา ไม่นานนักก็มีคนได้รับบาดเจ็บหลายคนถูกนำตัวเข้ามา มีคนหนุ่มคนหนึ่งถูกยิงที่มือ อีกคนมีแปลที่ศรีษะจากอะไรผมก็ไม่ทราบได้ เหตุการณ์สงบลงอีกครั้ง เสื้อแดงกลับเข้าไปในสนามกีฬา เหตุการณ์ปะทะกันทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในช่วงเวลา 25 นาทีเท่านั้น
 
 
 
 
แกนนำนปช. ประกาศยกเลิกการชุมนุม คนเสื้อแดงก็พากันออกจากสนามกีฬาผ่านทางประตูหลังซึ่งในตอนนี้ปลอดภัยสำหรับพวกเขาแล้ว ผมก็ออกจากที่นั่นด้วย รู้สึกเหนื่อยล้าอย่างที่สุด พอถึงบ้านผมก็หลับไปได้ 3 ชั่วโมง อะดรีนาลีนและอารมณ์ความรู้สึกของคืนนั้นยังคงหลั่งไหลอยู่ในตัว มีข้อมูลของเมื่อคืนปรากฏออกมาเรื่อยๆ แล้วก็มีทั้งเสียงปืนและเสียงระเบิดมากขึ้นในบริเวณนั้น มีข่าวนักศึกษาได้รับการช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยโดยทหาร มีข่าวรถประจำทางถูกเผาและมีซากกระดูกหลงเหลืออยู่ภายใน ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้นประกอบด้วย นักศึกษาต่อต้านรัฐบาล 1 คน (ทวีศักดิ์ โพธิ์แก้ว อายุ 21 ปี) เสื้อแดงเสียชีวิต 3 คน (ธนสิทธิ์ เวียงคำ อายุ 22 ปี, วิโรจน์ เข็มนาค อายุ 43 ปี, วิษณุ เภาพู่ อายุ 26 ปี) และวัยรุ่นอีกคนหนึ่ง (สุรเดช คำแปงใจ อายุ 19 ปี) ซึ่งในตอนแรกการเสียชีวิตยังคงเป็นปริศนาก่อนที่หลายวันต่อมาบทความในบางกอกโพสท์ระบุว่านักศึกษาต่อต้านรัฐบาลที่เสียชีวิตกับเพื่อนของเขาทำการเผารถประจำทางที่ขนคนเสื้อแดงแต่นักศึกษาคนดังกล่าวไม่สามารถหนีออกมาได้ทันก่อนที่ไฟจะลุกลามไปทั่ว
 
ขณะที่เหตุการณ์ช่วงกลางส่วนมากคืนยังดูเลือนราง ต่อมาก็มีข้อเท็จจริงมากขึ้นเพื่อให้ตั้งคำถามที่ชวนไม่สบายใจว่า อะไรเป็นขนวนที่ทำให้เกิดความรุนแรงตั้งแต่แรก เรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงเบื้องหลังเหตุการณ์สักเล็ฏน้อย มีสองเหตุผลที่นปช. เลือกพื้นที่ราชมังคลากีฬาสถานเป็นที่ชุมนุม
 
เหตุผลแรกคือ ราชมังคลาฯ เป็นพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ของการต่อสู้ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งตอนนั้นเสื้อแดงเริ่มเปลี่ยนสภาพจากกลุ่มที่ค่อนข้างไร้การจัดการมาเป็นการเคลื่อนไหวของมวลชนในสังคม พวกเขาเริ่มจัดการชุมนุมใหญ่ๆ ได้ ที่แรกคือที่ธีนเดอร์โดม เมืองทองธานีในวันที่ 11 ต.ค. 2551 และต่อมาก็จัดโดยมีคนมาร่วมมากขึ้นราว 80,000 คนในวันที่ 1 พ.ย. 2551
 
เหตุผลที่สองคือ นปช. ต้องการเน้นให้เสื้อแดงออกมาห่างๆ กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะระหว่างผู้ประท้วงสองกลุ่มแต่ก็อยากแสดงให้เห็นตัวตนของผู้สนับสนุนรัฐบาล พวกเขาจัดชุมนุมเสื้อแดงครั้งแรกขึ้นที่อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี ในวันที่ 10 พ.ย. 2556 ซึ่งมีคนมาร่วม 50,000 - 60,000 คน และเมื่อการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาไม่สามารถไปที่นั่นอีก เพราะศาลรัฐธรรมนูญอยู่ติดกับที่นั่นซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงไม่กี่วันก่อนการตัดสินครั้งสำคัญเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องที่มาของวุฒิสภา ดังนั้นพวกเขาจึงใช้ราชมังคลากีฬาสถานเพื่อจัดชุมนุมแทน เริ่มจากวันที่ 19 พ.ย. 2556 ซึ่งมีคนมาร่วมจำนวนน้อยเพียง 5,000 ถึงมากสุด 30,000 คนเท่านั้น
 
เหตุการณ์เริ่มต้นจากการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มเสื้อแดงก่อน นักศึกษาอาชีวะและกลุ่มต่อต้านรัฐบาลฮาร์ดคอร์อยู่ในพื้นที่ต้นซอยของถนนรามคำแหงและถนนลาดพร้าว มองหาเสื้อแดงที่มาคนเดียว การโจมตีครั้งแรกเกิดขึ้นในคืนแรกของการชุมนุมที่ซอยรามคำแหง 53 มีคนเสื้อแดงคนหนึ่งได้รับชาดเจ็บจากการถูกทำร้ายขณะกำลังเดินกลับบ้าน ในคืนวันที่ 26 พ.ย. มีเสื้อแดงคนหนึ่งถูกแทงที่ท้อง (มีรูปที่แสดงให้เห็นด้ามมีดยังคงปรากฏออกมา) และในคืนเดียวกันนั้นเองก็มีคนเสื้อแดง 3 คนถูกบังคับให้ถอดเสื้อผ้า มีการเตะและทุบตีด้วยเสาธงชาติ มีคนเดินผ่านไปมาเก็บภาพเคลื่อนไหวไว้ด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือ
 
จากนั้นเสื้อแดงก็ประกาศชุมนุมใหญ่วันที่ 30 พ.ย. ผมเชื่อว่าผมต้องถูกหาว่า "อคติ" หรือเป็น "นักข่าวเสื้อแดง" อีกแน่ๆ แต่ผมตั้งคำถามกับแรงจูงใจของกลุ่มนักศึกษาและแกนนำที่มาจัดการชุมนุมต่อต้านในวันเดียวกันใกล้กับมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีการเล่าเรื่องอีกแบบหนึ่งที่บอกว่าเหตุการณ์เป็นการที่ "เสื้อแดง" เข้าไปปะทะกับ "นักศึกษา" ก็ฟังดูไม่เป็นเหตุเป็นผลเหมือนกัน เพราะในฝ่ายผู้ชุมนุมเสื้อแดงก็มีนักศึกษารามคำแหงและศิษย์เก่าอยู่จำนวนมากเช่นกัน รวมถึงบางคนที่ผมพบเจอและพูดคุยด้วยในช่วงที่มีการต่อสู้กันในซอยรามคำแหง 24 และในกลุ่มนักศึกษาต่อต้านรัฐบาลก็มีกลุ่มนักศึกษาอาชีวะรวมอยู่ด้วย และอาจจะมีบางคนที่ไม่มีเกี่ยวข้องอะไรกับมหาวิทยาลัยเลย
 
ตั้งแต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งมีการแบ่งแยกทางเมือง กลุ่มนักศึกษารามคำแหงซึ่งมีความกระตือรือร้นทางการเมืองก็มีหลายคนที่อยู่คนละข้างกัน มีนักศึกษาจำนวนมากที่มาจากภาคใต้เป็นเสื้อเหลือง หรือเป็นกลุ่มสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ นักศึกษาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือจำนวนมากอยู่กับฝ่ายเสื้อแดง นักศึกษารามคำแหงบางคนที่ทำหน้าที่การ์ดในช่วงการเดินขบวนจัดโดยพรรคประชาธิปัตย์หลายเดือนก็ยังทำหน้าที่นี้อยู่ในการประท้วงปัจจุบัน เวทีเครือข่ายนักศึกษาที่นางเลิ้งก็มีนักศึกษารามคำแหงอยู่จำนวนมาก อีกฟากหนึ่งฝ่ายเสื้อแดงก็มีเครือข่ายนักศึกษาของตัวเองในม.รามคำแหง แกนนำนักศึกษาปรากฏตัวหลายครั้งในเวทีของนปช. และเสื้อแดง ตั้งแต่ช่วงปี 2549-2550 ที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช. ที่สนามหลวงก็มีการ์ดเป็นนักศึกษารามคำแหง แกนนำนปช. จตุพร พรหมพันธุ์ ก็เป็นศิษย์เก่าของรามคำแหง มหาวิทยาลัยนี้จึงเป็นเสมือนเครื่องสะท้อนสังคมไทยโดยทั่วไปที่มีการแบ่งแยกสีทางการเมืองกันอย่างฝังราก และส่วนใหญ่ก็มีเรื่องของภูมิภาคมาเกี่ยวข้องแม้จะไม่ได้สามารถแบ่งได้เช่นนั้นเสมอไป
 
เรื่องเข้าใจผิดอย่างหนึ่งคือการเล่าแบบมักง่ายว่าเสื้อแดงล้อมมหาวิทยาลัยและทำให้นักศึกษาติดอยู่ในนั้น จากมุมมองที่ผมเห็นจากในที่ชุมนุมเสื้อแดงแล้ว เหตุการณ์มันกลับกันเลย ช่วงก่อนที่เสื้อแดงจะสามารถดันกลุ่มนักศึกษาให้กลับเข้าไปในมหาวิทยาลัยได้ช่วงก่อนเที่ยงคืน สนามกีฬารางมังคลาก็ถูกปิดล้อม (แม้จะมีซอยเล็กๆ ด้านหลัง แต่ก็ยังคงอันตรายเกินไปสำหรับเสื้อแดงที่จะออกไปก่อนพระอาทิตย์ขึ้น) ทางเข้าหลักของมหาวิทยาลัยอยู่ที่ถนนรามคำแหง และถนนนี้ก็มีนักศึกษาต่อต้านรัฐบาลครองพื้นที่อยู่จนกระทั่งพระอาทิตย์ขึ้น (ซึ่งอาจเป็นคำที่ไม่ถูกเท่าไหร่ แต่ก็ใช้โดยทั่วไป)
 
มีคำถามอีกว่านักสู้ต่อต้านรัฐบาลในมหาวิทยาลัยเป็นนักศึกษาจริงๆ กี่คน และมีคนนอกเข้ามากี่คน ผมเชื่อว่ามีนักศึกษาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องทางการเมืองติดอยู่ในมหาวิทยาลัยจำนวนมาก หวาดกลัวกับการต่อสู้ที่เกิดขึ้น จากเสียงปืนและเสียงระเบิดที่เกิดขึ้นตลอดคืนและในช่วงเช้า พวกเขากลัวเกินกว่าจะออกมาจากมหาวิทยาลัย และพวกเขาก็กลายเป็นเหยื่อผู้บริสุทธิ์เพราะมีแกนนำบางคนเลือกพื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งชุมนุมต่อต้านเสื้อแดง
 
ไม่น่าแปลกใจเลยว่าในกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่มหาวิทยาลัยมีคนที่ใช้ความรุนแรงและมีกลุ่มคนที่มีอาวุธ ไม่เพียงแค่มีนักศึกษาคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตเท่านั้น แต่เสื้อแดงอีก 3 คนและคนอื่นๆ ก็ได้รับบาดเจ็บจากลูกกระสุน เรื่องนี้ชวนให้ตั้งคำถามสำคัญเรื่องความรับผิดชอบของแกนนำการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยที่อนุญาตให้มีการประท้วงในเชิงยั่วยุใกล้กับแหล่งชุมนุมของกลุ่มนปช. ทั้งที่เดิมที นปช. เลือกพื้นที่นี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันแต่แรกมานานก่อนหน้าที่กลุ่มผู้ประท้วงต้านรัฐบาลจะตัดสินใจใช้ที่นี่ด้วย แล้วพวกเขาจะมาที่นี่ทำไมเมื่อมีการชุมนุมที่ราชดำเนินและในเขตใกล้เคียงแล้วอย่างในศุนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และที่กระทรวงการคลัง
 
แม้ว่ากลุ่มแกนนำเสื้อแดงอาจจะถูกต่อว่าเรื่องไม่ยอมยกเลิกการชุมนุมก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ที่ราชมังคลาฯ หลังจากมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นแล้วในช่วงก่อนหน้าการชุมนุมใหญ่วันที่ 30 พ.ย. แต่เรื่องนี้ก็กลายเป้นคำถามได้อีกว่าคนเสื้อแดงจะไม่ได้รับอนุญาตให้ชุมนุมในกรุงเทพได้เลยหรือ? ผมได้ไปเยี่ยมเวทีของเสื้อแดงอิสระเล็กๆ ที่ตอนเหนือของกรุงเทพฯ แกนนำบอกว่ามีคนนั่งรถจักรยานยนต์มายิงพวกเขาช่วงกลางคึก ทำให้เสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่ใส่ชุดสีแดงเพราะกลัวว่าจะถูกทำร้ายขณะกลับบ้าน
 
อีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกตั้งเป้ากล่าวหาให้รับผิดชอบต่อความรุนแรงคือกลุ่มตำรวจ แต่จะให้ตำรวจทำอะไรได้บ้างล่ะ จะให้บุกเข้าไปใช้ปืนยิงเหรอ (ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่สนามกีฬาไม่มีปืนเลย) ให้ไปประจันหน้ากับทั้งสองกลุ่มที่ต่างก็มีอาวุธเหรอ ถ้าทำแบบนั้นแล้วพวกเวทีต่อต้านรัฐบาลอาจเอาไปอ้างได้ว่าตำรวจใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสม หรือจะให้พวกเขาถือโล่ห์กับกระบองเข้าไปแล้วก็คอยหมอบรอเป็นเป้าถูกยิงล่ะ ซึ่งตำรวจก็ถูกพวกต่อต้านรัฐบาลใส่ความอยู่แล้วว่าเป็น "ขี้ข้าทักษิณ" การเข้าแทรกแซงใดๆ ของตำรวจอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ได้ แต่ตำรวจก็มาที่รามคำแหงซอย 24 ท่ามกลางการต่อสู้ของสองกลุ่ม เพื่อพยายามกันให้สองกลุ่มออกจากกัน 
 
เราต้องไม่ลืมด้วยว่าตำรวจกับทหารมีความขัดแย้งกัน ทำให้ตำรวจกลัวว่าการใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสมใดๆ ก็ตามอาจทำให้ทหารหันไปเข้าข้างฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เรื่องนี้มีที่มาก่อนหน้านี้ช่วงปี 2549-2551 ที่ทหารอยู่ข้างเดียวกับเสื้อเหลือง จากมุมมองของผมต่อข้อเท็จจริงที่มีตามเรื่องที่เกิดขึ้นนี้แล้ว ผมนึกไม่ออกว่าตำรวจจะได้อะไรจากการเข้าแทรกแซงสถานการณ์มากกว่านี้
 
ในวันที่ 3 ธ.ค. 2556 และวันถัดมาซึ่งเป็นพิธีฌาปนกิจ ผมได้ไปงานศพของนักสู้เสื้อแดงที่ถูกสังหารและผมได้ถ่ายภาพไว้ ผมได้รู้ชื่อของเขาในตอนนั้นเองว่าเขาชื่อธนสิทธิ์ เวียงคำ เป็นทหารเกณฑ์อายุ 22 ปี  เขามีภรรยาและลูกสาวอายุ 5 ปี ครอบครัวเขาทุกคนเป็นเสื้อแดงที่มีความกระตือรือร้น ภรรยาและพ่อแม่ของเขาก็อยู่ที่สนามราชมังคลาฯ ในคืนนั้นด้วย ครอบครัวเขาบอกว่าธนสิทธิ์เป็นคนที่ไม่กลัวอะไรและมักจะไปอยู่แนวหน้า พวกเขายังเคยไปร่วมชุมนุมในปี 2553 ด้วย
 
 
 
 
 
 
พิธีศพก็เหมือนกับงานศพของกลุ่มเสื้อแดงคนอื่นๆ คือมีเสื้อแดงจำนวนมากมาเข้าร่วม มีแกนนำนปช. อย่างธิดา ถาวรเศรษฐ กับสามีคือเหวง โตจิราการ แม้แต่ส.ส. เสื้อแดง สุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ก็เดินทางจากจังหวัดศรีษะเกษมาร่วมงาน นปช.และพรรคเพื่อไทยต่างก็ให้เงินชดเชยแก่ครอบครัวพวกเขา มีการกล่าวคำปราศรัยในพิธีการและการแสดงนาฎศิลป์ตามประเพณี มีพระทอดผ้าบังสุกุล และมีทหารจากหน่วยของธนสิทธิ์เข้าร่วมพิธีด้วย กลุ่มเสื้อแดงทั้งเศร้าและโกรธ ตอนแบกส่งโลกศพมีบางคนเคาะฝาโลงพร้อมบอกว่า "สู้ๆ" หลังจากพิธีฌาปนกิจแล้ว เสื้อแดงก็พากันไปที่อีกถนนหนึ่งที่มีพิธีศพของเสื้อแดงคนอื่นที่ถูกสังหาร
 
 
 
ภรรยาของธนสิทธิ์บอกว่าเธออยากจะไปที่ๆ ธนสิทธิ์เสียชีวิตเพื่อทำพิธีทางศาสนาตรงจุดนั้น เธอบอกว่า "วิญญาณของสามีเธอยังคงอยู่ตรงนั้น ยังคงต่อสู้ ขว้างก้อนหินและขวดน้ำ เขายังไม่รู้ว่าตัวเองเสียชีวิตไปแล้ว ฉันอยากช่วยให้เขาออกมาจากตรงนั้น ฉันอยากจะสวดมนต์ จุดธูปเทียน"
 
แต่ที่นั่นก็ยังอันตรายสำหรับเธอที่จะเข้าไป
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Ramkhamhaeng: A view from inside the stadium, New Mandala, 10-12-2013

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net