วาด รวี: ศีลธรรมของผม และศีลธรรมของเธอ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จนป่านนี้ผมยังจำเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ เกี่ยวกับการลุกให้นั่งบนรถเมล์ที่เกิดขึ้นตอนยังเด็กได้

เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นตอนอยู่ประถม จำเวลาแน่นอนไม่ได้ ผมขึ้นรถเมล์ไปกับน้าสาว บนรถเมล์คนแน่น และมีหญิงสาวคนหนึ่งในชุดนักศึกษาลุกให้ผมนั่ง ผมจำได้ว่าตัวเองรู้สึกอายมาก แต่ในที่สุดผมก็ยอมนั่งทั้งที่ไม่อยากนั่ง ก่อนลงจากรถผมยกมือไหว้นักศึกษาสาวคนนั้น

อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นตอนผมเริ่มเข้าวัยรุ่นแล้ว น่าจะประมาณมัธยมต้นหรือปลาย ผมจำไม่ได้แน่ แต่ที่แน่ ๆ คือตอนนั้นร่างกายผมน่าจะโตแล้ว ไม่ใช่เด็กตัวเล็ก ๆ

คราวนี้ผมเป็นฝ่ายลุกให้หญิงชราชาวต่างชาติคนหนึ่งนั่ง รถเมล์แน่นพอสมควร ผมนั่งอยู่ไม่ห่างจากประตู พอเห็นหญิงชราชาวตะวันตกคนหนึ่งเดินขึ้นมาผมก็ลุกและเสนอที่นั่งให้ทันที แต่ปรากฏว่าหญิงชาวตะวันตกคนนั้นมองผมด้วยสีหน้างุนงง ไม่เข้าใจ และพูดเสียงดังเป็นคำถาม วาย วาย วาย? ผมพยายามยิ้มและบอกให้เธอนั่งที่ของผม แต่เธอยังไม่ยอมนั่ง และมองผมด้วยน้ำเสียงและสีหน้าไม่เข้าใจ ทุกคนบนรถเมล์มองมาที่เราสองคน ในที่สุดหญิงชราก็ยอมนั่งทั้งที่ยังคงไม่พอใจ ส่วนผมพอรถเมล์จอดป้ายหน้าก็รีบลงไปด้วยความอับอาย

นอกจากความอายแล้วผมจำไม่ได้ว่าได้อธิบายเหตุการณ์นี้กับตัวเองอย่างไร ผมคิดถึงเหตุการณ์ทั้งสองในช่วงเวลาต่างกันบ้างเมื่อมีอะไรมากระตุ้นความทรงจำ เมื่อโตขึ้น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ มีความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น ก็คงจะมีความเข้าใจ และคำอธิบายให้กับเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งผมก็จำไม่ได้อีกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผมมาเข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งจริง ๆ ก็หลังจากเกิดวิกฤตการเมืองแล้วและผมเริ่มศึกษางานนักของนักคิดตะวันตกในศตวรรษที่ 18 อย่างจริงจังในท่ามกลางเหตุการณ์ที่ดำเนินไป

สิ่งที่เกิดขึ้นบนรถเมล์ในวัยเด็กไม่ใช่เรื่องของยัยแก่หยิ่งยะโส หรือวัฒนธรรมที่ต่างกัน ดังคำอธิบายที่พบทั่วไป หรือคำอธิบายที่ผมอาจจะเคยใช้บอกตัวเอง แต่มันเป็นเรื่องของศีลธรรมในระดับสามัญสำนึกซึ่งอยู่ในระนาบที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

พฤติกรรมของหญิงชราอาจดูประหลาด และการกระทำของผมอาจดู “ปรกติ” ในสังคมที่ศีลธรรมคือ “ความเห็นอกเห็นใจ” แต่ทุกสิ่งทุกอย่างจะ “กลับกัน” ในทันที สำหรับสังคมที่ ศีลธรรมคือการเชื่อว่ามนุษย์มีเสรีภาพอย่างแท้จริง

ผมทราบว่านี่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะอธิบาย และผมคงไม่เข้าใจมันถ่องแท้จริง ๆ หากไม่ได้ศึกษามันท่ามกลางวิกฤตการเมือง

สำหรับอิมมานูเอล คานท์ อิสรภาพที่จะเลือกมาก่อนสิ่งอื่นใด และศีลธรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากมัน และโดยพื้นฐานความเชื่อเรื่องอิสรภาพนี้นี่เองที่คานต์ต่อต้านระบอบ “พ่อปกครองลูก” และเห็นว่ามันคือทรราชในรูปแบบหนึ่ง มนุษย์ต้องบรรลุถึงซึ่งวุฒิภาวะที่จะกำหนดตัวเองว่าควรทำอะไร ไม่ว่าจะเลวหรือดี โดยไม่พึ่งพิงการใช้อาญาสิทธ์ หรือการกำกับควบคุมของสิ่งใด หากมิเช่นนั้น เขาก็คือคนเถื่อน ไร้อารยธรรม ซึ่งเปรียบได้กับเด็กที่ยังไม่โต

อารยธรรมคือการที่มนุษย์สามารถดูแลตัวเอง บรรลุภาวะในการกำหนดตัวเอง เป็นอิสระจากสิ่งอื่นที่เราควบคุมไม่ได้ คนที่ต้อง “พึ่งพิง” หรือ “ขึ้นอยู่กับ” คนอื่น นั้น ไม่ใช่คนที่บรรลุภาวะความเป็นมนุษย์สำหรับคานท์ หากว่าคุณค่าทางศีลธรรมของมนุษย์ไปผูกพันกับสิ่งอื่นนอกตัวเขาเสียแล้ว โดยที่เขากำหนดไม่ได้เสียแล้ว ย่อมเท่ากับว่า เหตุแห่งพฤติกรรมของเขา ไม่ได้มาจากภายในตัวตนของเขาเอง หากเป็นเช่นนี้ เขาจะ “ไม่สามารถรับผิดชอบ” ต่อการกระทำของตน และนั่นไม่ใช่ศีลธรรมสำหรับคานท์

ถ้าเลือกไม่ได้ หรือไม่มีอิสระที่จะเลือก ศีลธรรมก็จะเกิดไม่ได้ คนต้องมี “อิสระ” ที่จะเลือกทำหรือไม่ทำเสียก่อน จึงจะสามารถมองดูศีลธรรมของเขาได้ สิ่งนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสังคมที่เห็นว่า เพียงแสดงน้ำใจ เสียสละ มีความเห็นอกเห็นใจ หรือทำบุญทำทาน ก็สามารถนับว่ามีศีลธรรมได้แล้ว

วิธีคิดของคานท์แบบนี้ไม่เพียงกลายเป็น “สามัญสำนึก” ของคนตะวันตก แต่มันยังกลายเป็นทั้ง “กระดูกสันหลัง” และ “เลือดเนื้อ” ของสังคมสมัยใหม่

และเพราะเหตุนี้เอง ผมจึงไม่เคยนับตัวเองเป็น “ฝ่ายเห็นอกเห็นใจคนเสื้อแดง” และไม่ยอมรับคนที่แสดงออกทางการเมืองด้วยการ “เห็นอกเห็นใจ” (sympathy) ไม่เพียงคนเสื้อแดง แต่รวมไปถึงทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเห็นใจ เด็ก สตรี หรือ “คนชรา”

ผมไม่ได้ออกมาต่อต้านทหารและรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพราะ “เห็นใจ” คนเสื้อแดงที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ แต่ผมออกมาก็เพราะเห็นว่า “มันไม่ถูก” และสิ่งที่พวกเขากระทำต่อคนเสื้อแดงนั้น เป็น “การละเมิดสิทธิ์” ของผมด้วย

ผมไม่ได้ต่อต้านการรัฐประหารและไม่เห็นด้วยกับคดีทักษิณ เพราะผม “รัก” หรือ “นิยม” ทักษิณ แต่ต่อต้านเพราะว่ามัน “ไม่ถูกต้อง” และมันทำลายสิทธิ์ของผมด้วย

ไม่ว่าผมจะเกลียดทักษิณเพียงใด ผมก็จะต่อสู้ให้กับสิทธิ์ที่จะได้รับการดำเนินคดีในกระบวนการที่ถูกต้องยุติธรรมของเขา

ไม่ว่าผมจะรักในหลวงเพียงใด แต่ถ้าหากว่าในหลวงทำผิดรัฐธรรมนูญ ผมก็จะต่อต้านพระองค์

ที่กล่าวมานี้คือตัวอย่างของศีลธรรมทางการเมืองที่แท้จริง ซึ่งเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย ถ้าสังคมไม่มีสามัญสำนึกแบบนี้ ก็ไม่มีทางที่จะ “เติบโต” ไม่มีทางมีประชาธิปไตย มีอารยธรรม หรือความเจริญ และคงวนเวียนอยู่กับความเป็นเด็กไม่ที่ยอมโต ไม่ต้องเอ่ยถึงการคิดอะไรใหญ่โตเช่นการปฏิรูปปฏิวัติการเมือง ฝันถึงระบอบระบบที่สมบูรณ์แบบ เพราะแม้แต่ “เจตจำนง” ของตนก็ขาดไร้ซึ่งอิสรภาพ ฝากความดีงามไว้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ลำพังเพียง “ความรับผิดชอบ” ต่อศีลธรรมของตนเองก็ยังไม่มี

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท