นายทุนแห่ขอสัมปทานเหมืองแร่โปแตชอีสาน

ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน เผยบริษัทต่างๆ ยื่นขอสัมปทานเหมืองแร่โปแตชเกินครึ่งภาคอีสานรวมกว่า 1.7 ล้านไร่ ล่าสุดขยายที่กาฬสินธุ์ 3 แสนไร่ บึงกาฬ 6 หมื่นไร่

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.56 นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ติดตามข้อมูลนโยบายการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ภาคอีสาน ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าขณะนี้กำลังมีการยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจ ประเมินศักยภาพแหล่งแร่โปแตช เพื่อทำการผลิตในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์ เพิ่มเติมอีก จำนวน 5 แปลง เนื้อที่ 300,000 ไร่ ได้แก่ ต.เชียงเครือ ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมือง, ต.โคกสมบูรณ์ ต.หลักเมือง ต.โพนงาม อ.กมลาไสย และต.ร่องคำ อ.ร่องคำ ซึ่งขยายจากเดิมที่เคยยื่นขอเมื่อปีที่แล้ว จำนวน 12 แปลง เนื้อที่ 200,000 ไร่ รวมแล้วเฉพาะในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์ กำลังมีการขอสัมปทานทำเหมืองแร่โปแตช จำนวน 500,000 ไร่ โดยบริษัท แปซิฟิก มิลเดอรัล จำกัด

นอกจากนี้ยังมีการยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจเพิ่มเติม ในจังหวัดใหม่ ได้แก่ พื้นที่ ต.หนองหัวช้าง อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ 60,000 ไร่ โดยบริษัท ฮัท ซุน โฮฮัง จำกัด นายทุนจากประเทศจีน

ตามขั้นตอนผู้ประกอบการต้องยื่นคำขอที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด แล้วส่งต่อไปให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทำเรื่องเสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศยกเลิกมาตรา 6 ทวิ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.แร่ 2510 ในเขตพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ได้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเปิดให้เอกชนสามารถยื่นคำขออาชญาบัตรเพื่อประกอบการเชิงพาณิชย์ และทำการผลิตแร่โปแตช ได้

นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน กล่าวว่าขณะนี้ทั้งสองจังหวัด (กาฬสินธุ์และบึงกาฬ) นายทุนผู้ขอสัมปทาน กำลังลงพื้นที่เพื่อทำการสำรวจหาแหล่งแร่ตามขั้นตอนขออาชญาบัตรพิเศษ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปีหน้า และก็จะดำเนินการต่อในขั้นตอนขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองเลยทันที

“จากการติดตามข้อมูลโครงการเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน พบว่ามีการยื่นขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อทำการสำรวจแหล่งแร่ และขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่โปแตช ไปแล้ว 11 จังหวัด 16 พื้นที่ ได้แก่ จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น จ.ชัยภูมิ จ.สกลนคร จ.อุดรธานี จ.มหาสารคาม จ.หนองคาย จ.นครพนม จ.ยโสธร จ.กาฬสินธุ์ และจ.บึงกาฬ คิดเป็นเนื้อที่รวมกว่า 1,700,000 ไร่ ซึ่งหากเหมืองแร่โปแตชเกิดขึ้นจริงก็จะส่งผลกระทบต่อคนอีสานทั้งภาคอย่างแน่นอน” นายสุวิทย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในส่วนที่ จ.อุดรธานี อยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตประทานบัตร ทำเหมือง ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ในขั้นตอนการทำประชาคมหมู่บ้าน แต่ติดอยู่ที่ชาวบ้านในพื้นที่คัดค้าน และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาร่วมกันทั้งในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงตามขั้นตอนประทานบัตร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท