Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เหตุการณ์ความวุ่นวายสับสนที่เกิดขึ้นในเมืองไทยนับตั้งแต่ช่วงการก่อรัฐประหารปี 2549  โดยม็อบของกลุ่มเสื้อเหลืองสลับกับกลุ่มเสื้อแดง ซ้ำเติมโดยพวกเสื้อไม่มีสีอย่างในขณะนี้ทำให้ผู้เขียนอดนึกถึงประวัติศาสตร์จีนในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมช่วงปี ค.ศ.1966-1975 ไม่ได้ ประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นมีตัวละครที่โดดเด่นที่สุดคือบรรดาเยาวชนและคนหนุ่มสาวชาวจีนที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มเรดการ์ด  หรือ Red Guard  (1)  คนเหล่านี้เป็นพวกหัวรุนแรงคือต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมจีนครั้งยิ่งใหญ่ อันมีลักษณะแตกต่างจากพวกวัยรุ่นวัยเดียวกันในฝั่งอเมริกาและยุโรปในยุคเดียวกันที่ต่อต้านสงครามเวียดนามและสังคมแนวอนุรักษ์นิยมเพราะพวกเรดการ์ดได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองบางกลุ่มเช่นเหมา เจ๋อตงและแก๊งสี่คนซึ่งนำโดยเจียง ชิงภรรยาของเหมา   พวกเรดการ์ดยกย่องเชิดชูแนวคิดเหมาหรือทฤษฎีของประธานเหมา ดุจดังเทพเจ้าโดยมีคัมภีร์คือหนังสือเล่มเล็กสีแดง (little red book) ซึ่งเป็นหนังสือรวมวาทะของเหมาติดตามตัวไป หนังสือเล่มได้รับการกล่าวขานมีจำนวนตีพิมพ์มากเป็นอันดับ  2 ของโลกรองจากคัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น

พวกหนุ่มสาวภายใต้ชุดและหมวกสีเขียวขี้ม้าเหมือนกับทหารเหล่านี้ต้องการเล่นงานพวกที่ตนกล่าวหาว่าเป็นพวกต่อต้านการปฏิวัติ   (counter-revolutionary) ตามแนวคิดของประธานเหมาที่ว่าถึงแม้จีนจะเป็นประเทศสังคมนิยมแต่ก็มีคนจีนที่ยังแอบมีแนวคิดหรือความนิยมในลัทธิศักดินากับระบบทุนนิยม (capitalist roader) อยู่ไม่น้อย คนเหล่านั้นแทรกซึมอยู่ในทุกอณูของสังคมจีนแม้กระทั้งผู้บริหารระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์เอง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการกำจัดคนเหล่านั้นไป ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตจากปฏิวัติวัฒนธรรมจีนกว่าล้านคน และวิธีการนี้เหมาลอกเลียนจาก โจเซฟ สตาลินผู้นำสหภาพโซเวียตที่ใช้เข่นฆ่าประชาชนไปเป็นล้านๆ คนในทศวรรษที่สามสิบอีกเช่นกัน

พวกเรดการ์ดมีแหล่งกำเนิดมาวัยรุ่นกลุ่มเล็ก ๆ จากโรงเรียนมัธยมชิงหวาในปี ค.ศ.1966 ก่อนที่จะเพิ่มขยายจำนวนสมาชิกอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ของจีนโดยการสนับสนุนจากเหมา นักประวัติศาสตร์มักจะมองว่าเหมาได้ใช้คนเหล่านั้นในการจัดกัดศัตรูทางการเมืองของตัวเองหรือผู้นำระดับสูงของพรรคที่เคยกอดคอกับเหมาในการต่อสู้สงครามกลางเมืองมาด้วยกันเช่น หลิว เส้าฉี เติ้ง เสี่ยวผิง เผิง เต๋อฮว้าย พวกเรดการ์ดในชุดแบบเหมาพร้อมกับผ้าพันแขนสีแดงเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อเผยแพร่คำสอนของเหมาและมุ่งกำจัดพวกขวา หรือพวกสี่เก่าคือ ประเพณีเก่า วัฒนธรรมเก่า นิสัยเก่า และความคิดเก่า มีการทำลายวัดวาอารามและพระพุทธรูปเป็นจำนวนมากแม้แต่ป้ายของบ้านขงจื้อนักปรัชญาก็โดนทุบทำลาย เมื่อพบกับใครเข้าก็บังคับให้กล่าวคติพจน์ของประธานเหมาให้ถูกต้องจึงจะปล่อยตัวไป (คล้ายกับบังคับให้เป่านกหวีด) คนจีนจำนวนมากยังถูกพวกเขาลากไปประจานบนท้องถนนถูกทุบตี นั่งคุกเข่าและจับแขนไพล่ไปข้างหลัง ดังที่เรียกว่าท่านักบิน ถูกจับกล้อนผมและให้สวมหมวกคนโง่ แขวนป้ายคำด่าไว้บนคอ (ฉากนี้เราสามารถเห็นเป็นรูปธรรมได้ในภาพยนตร์เรื่อง The Last Emperor ตอนท้ายเรื่อง) หรือแม้แต่พ่อแม่ของบรรดาเรดการ์ดก็ถูกลูกของตัวเองประณามจนครอบครัวต้องแตกแยก นอกจากนี้ยังมีคนจำนวนไม่น้อยถูกพวกเรดการ์ดทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิตโดยปราศจากการแทรกแซงจากทางตำรวจและทหาร หนึ่งในเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายคือ หลิว เส้าฉี ประธานแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งถูกพวกเรดการ์ดเล่นงานและกักขังให้อยู่แต่ในบ้านจนเสียชีวิตเพราะขาดยารักษาโรคประจำตัว เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงขึ้นมามีอำนาจในช่วงปลายทศวรรษที่เจ็ดสิบก็ประกาศเชิดชูเกียรติยศของหลิวและจัดงานศพให้เขาอย่างใหญ่โต

วีรกรรมของพวกเรดการ์ดประการหนึ่งที่น่าจดจำคือการเข้าไปยึดอาวุธของสหภาพโซเวียตที่ส่งผ่านจีนมาช่วยเหลือเวียดนามเหนือในสงครามเวียดนามอันมีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหภาพ   โซเวียตเสื่อมทรามลง  เราต้องยอมรับประธานเหมาก็มีส่วนรับผิดชอบอยู่มากมาย ตรงกันข้ามกับความคิดของพวกที่ยกย่องเชิดชูเขา อย่างเช่นเหมาได้เดินทางไปเป็นประธานของการชุมนุมของพวกเรดการ์ดหลายล้านคนในช่วงปี ค.ศ.1966 อันแสดงความจงใจว่าจะเป็นการเสริมสร้างลัทธิบูชาบุคคลของเหมาเอง

อย่างไรก็ตามพวกเรดการ์ด เองก็มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายบางพวกเป็นพวกหัวรุนแรง บางพวกก็มีหัวอนุรักษ์นิยม มีการโจมตี กล่าวหาและปะทะกันเองหรือแม้แต่บางกลุ่มก็หันมาโจมตีตัวเหมาเอง รวมไปถึงมีการต่อสู้กับพวกคนงานในโรงงานต่างๆและพวกชาวนา จนประเทศจีนในช่วงปลายทศวรรษที่หกสิบเกิดภาวะมิคสัญญี ในที่สุดเหมาเห็นว่าสถานการณ์กำลังจะอยู่นอกเหนือการควบคุม เขาจึงตัดสินใจส่งทหารของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนในการควบคุมหรือปรามพวกเรดการ์ด จนประสบความสำเร็จในช่วงปี ค.ศ.1968 พวกคนหนุ่มสาวเป็นล้าน ๆคนถูกส่งไปยังชนบทเพื่อศึกษาชีวิตและการทำงานของพวกชาวไร่ชาวนา จนมีคนตั้งสมญาว่าเป็นคนรุ่นสาบสูญ (Lost Generation) ปัจจุบันคนหนุ่มสาวเหล่านี้อายุประมาณห้าสิบกว่าไปจนถึงเจ็ดสิบปี มีจำนวนมากที่รู้สึกละอายใจและรู้สึกผิดบาปต่ออดีตของตัวเอง


แลกลับมาการเมืองไทย

พวกเรดการ์ดแม้จะมีความแตกต่างจากชาวม็อบของไทยในปัจจุบันอยู่หลายประการเช่นเรื่องอุดมการณ์ บริบททางสังคมและวัย แต่ก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันคือสะท้อนความล้มเหลวของระบบของรัฐและการใช้กฎหมายเมื่อพบกับคนจำนวนมากที่มาร่วมกลุ่มกันและมีการจัดตั้งอย่างดีเช่นมีการฝึกกองทัพเป็นของตัวเอง (militia) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกลุ่มเรดการ์ดบางกลุ่มแต่พวกชาวม็อบไทยทั้งหลายมีลักษณะที่ค่อนข้างจะแยบยลกว่า แม้ฝูงชนโดยมากจะไม่ก้าวร้าวทางกายมากนักแต่ก็ไม่สามารถอ้างว่าเป็นการประท้วงอย่างสันติได้เต็มปากเพราะผู้ที่ถูกมองว่าเข้ามาก่อกวนหรือขัดขวางเช่นนักข่าวหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเพราะอาจถึงตายได้หากมาผิดที่ผิดเวลาเพราะม็อบมีการ์ดหรือกลุ่มรักษาความสงบที่นิสัยพอๆ กับพวกเรดการ์ด อย่างไรก็ตามภาพแห่งสันติซึ่งฉาบเคลือบความรุนแรงภายในได้สร้างความชอบธรรมของตัวเองในการเข้ายึดพื้นที่ต่างๆ  และมีแรงสนับสนุนจากมวลชนเป็นจำนวนมากตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศและรอเวลาที่จะก่อความรุนแรงหากได้รับการชี้นำจากผู้นำม็อบหรือได้รับการยั่วยุไม่ว่าจากฝ่ายตรงกันข้ามหรือมือที่ 3

ถึงแม้มักคิดกันว่ามีคนอยู่เบื้องหลังชาวม็อบสามารถชี้ให้ขวาหันซ้ายหันได้ตลอดเวลาเช่นเสื้อแดงมีทักษิณเป็นท่อน้ำเลี้ยง เสื้อเหลืองและกลุ่มต้านทักษิณมีผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญเป็นผู้บงการ แต่ความจริงแล้ว มีคนจำนวนมากของกลุ่มดับกล่าวอาจอยู่ในภาวะที่ผู้บงการควบคุมไม่ได้เสมอไปในระยะยาว และยังมีการวิเคราะห์จากวิจัยหลายชิ้นว่าการก่อม็อบเป็นการต่อสู้ของชนชั้นเช่นชนชั้นกลางต่อสู้กับชนชั้นสูงที่ใช้ชนชั้นล่างเป็นเครื่องมือ หรือชนชั้นล่าง(รวมไปถึงชนชั้นกลางรุ่นใหม่) ต่อสู้กับชนชั้นกลาง (รุ่นเก่า)และระบบราชการ แต่ผู้เขียนคิดว่าความขัดแย้งต่อไปนี้ไม่น่าจะมีเรื่องชนชั้นเพียงประการเดียวเพราะกลุ่มเสื้อแดงเองก็มีชนชั้นกลางอยู่ไม่น้อยที่เรียกร้องความยุติธรรมและประชาธิปไตยที่ปลอดจากกลุ่มอำมาตย์ เช่นเดียวกับที่กลุ่มเสื้อเหลืองและกลุ่มต่อต้านทักษิณที่มีไม่น้อยที่เป็นชนชั้นรากหญ้าที่เรียกร้องประชาธิปไตยที่ปราศจากทักษิณ  ผู้เขียนคิดว่าปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของความขัดแย้งในครั้งนี้คือความต้องการของทุกชนชั้นในการทำลายของกรอบหรือพันธนาการหรือการลดความกดดันที่ตนต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐและระบบทุนนิยมหรือกรอบของชีวิตแบบสำเร็จรูปในยุคใหม่ ด้วยความรู้สึกว่ารัฐนั้นกำลังเรียกร้องมนุษย์มากเกินไป เช่นเดียวกับพวกเรดการ์ดที่เบื่อหน่ายคนรุ่นพ่อแม่จนนำไปสู่การขบถหรือการทำลายล้างสังคมแบบอนุรักษ์นิยมของตัวเองมากไปกว่าการสนับสนุนเหมาเพียงประการเดียว

นอกจากนี้การประท้วงไม่ว่าจะเกิดจากการอ้างถึงอุดมการณ์หรือความดีงามสักร้อยอย่างก็ตามซึ่งผู้เขียนไม่ปฏิเสธแต่ประการใดแต่สิ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการลึกๆ ของชาวม็อบคือการเพิ่มอำนาจให้กับตัวเองหรือการเพิ่มที่ยืนในสังคมนั้นเอง คือในช่วงก่อนประท้วง เขาเป็นใครก็ไม่ทราบ (Nobody) แต่พอมารวมกลุ่มประท้วงได้เข้ายึดที่โน่นที่นี่ได้ตั้งด่านสกัดรถยนต์ หรือได้ด่าเจ้าหน้าที่ได้จับกุมหรือล้อมตำรวจทหาร ได้ค้นรถและตัวของชนชั้นกลางที่เคยมองเขาด้วยสายตาดูถูก มีอำนาจเหนือคนที่เคยมีอำนาจเหนือเขาเมื่อยามปกติ  หรือแม้แต่ได้เข้ามานั่งบนเก้าอี้ของรัฐมนตรีประจำกระทรวงสำคัญถึงแม้จะเสี่ยงตายหรือจะต้องถูกเล่นงานทางกฎหมายในภายหลังก็ตามเช่นเดียวกับพวกเรดการ์ดที่ต้องการมีที่อยู่ของสังคมจีนในฐานะคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงประเทศหรือมีอำนาจเหนือคนรุ่นเก่าและ       อภิสิทธิชนทั้งหลายดังที่ได้กล่าวมา

ความขัดแย้งครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐในการพยายามทำให้คนที่มีความหลากหลายทางความคิดและวิถีชีวิตได้มาอยู่รวมกันอย่างสันติและความรักใคร่ภายใต้การปกครองของรัฐ บทเพลงที่รัฐไทยมักกล่อมให้ประชาชนมองโลกและชีวิตแบบสีชมพู (La Vie en rose) ผ่านศีลธรรมและหลักศาสนาพุทธ (ที่รัฐเองก็ไม่เคยเข้าถึงเลย)  ต้องมาสะดุดลง เพราะความขัดแย้งได้ขยายเขตวงจาก 2  กลุ่มไปยังสู่ความขัดแย้งของหลายฝ่ายผสมกับปัจจัยอื่นเช่นความขัดแย้งเรื่องส่วนตัว และความเกลียดชังซึ่งกันและกัน สามีทะเลาะกับภรรยา พี่ผิดใจกับน้อง  ญาติตัดขาดญาติด้วยกัน พระสงฆ์ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเลือกข้างถูกโจมตี ด่าทอไม่ต่างจากฆราวาส ฯลฯ ราวกับมีผู้ที่เปิดยักษ์จินนี่ออกจากขวดแล้วไม่สามารถหยุดไม่ให้มันออกอาละวาดจนหลายครั้งดูเหมือนประเทศไทยจะแตกเป็นเสี่ยงๆ  เช่นเดียวกับจีนในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมซึ่งลัทธิขงจื้อมีอิทธิพลต่อคนจีนในเรื่องคุณค่าของครอบครัวและสังคมต้องหยุดชะงักลง

ที่น่ากลัวคือความขัดแย้งนี้ไม่ได้ถูกกำจัดอย่างง่ายดายเหมือนกับที่เหมาทำกับพวกเรดการ์ด มักมีการคิดถึงหนทางแก้ไข เช่นอยากให้ทักษิณสามารถตกลงกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้ (แต่ความจริงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากเพราะอย่างไรแล้วทั้งสองฝ่ายได้มาถึงจุดที่ผลประโยชน์ไม่สามารถลงตัวกันได้ ) หรืออยากให้ทักษิณหมดอำนาจไปจริงๆ หรือเสียชีวิตหรืออะไรก็ตามแต่ เพื่อให้ทุกอย่างดูเหมือนจะกลับไปสงบเหมือนเดิม แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัจจัยสำคัญสำหรับการประท้วงที่รอระเบิดเวลาที่รอวันจะระเบิดอีกครั้งอย่างเช่นความแตกทางอุดมการณ์ทางการเมือง สังคม ความแตกต่างทางชนชั้น และที่สำคัญคือการเพิ่มจุดยืนทางสังคมและความต่อต้านอำนาจของรัฐดังที่ผู้เขียนได้วิเคราะห์  เหตุการณ์เช่นนี้ได้เกิดขึ้นในหลายประเทศด้วยด้วยการเสริมแรงจากเทคโนโลยีแห่งการสื่อสารที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ทำให้รัฐไม่สามารถครอบงำข้อมูลบางประการที่พรางตาประชาชนมานานและประชาชนยังสามารถนัดแนะกันในการรวมตัวประท้วงได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือสามารถส่งสารแสดงความเกลียดชังต่อกันได้อย่างทั่วถึงผ่านโลกไซเบอร์เช่นเขียนเฟซบุ๊ค หรือทวิตเตอร์ด่าหรือข่มขู่กัน

ผู้เขียนคิดว่าปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งพยากรณ์ยากเช่นอาจจะคลี่คลายดีขึ้น (แบบชั่วคราว)หรืออาจจะนำไปสู่การนองเลือดระหว่างผู้ประท้วงด้วยกัน  สงครามกลางเมือง การล่มสลายของรัฐไทยหรือการที่ประเทศไทยแตกเป็นเสี่ยง ๆ หรือถ้ามองในด้านดีอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างที่อาจจะดีขึ้นหรือเลวลง ซึ่งเราคาดเดาได้ยาก แม้แต่การปฏิวัติหรือการใช้กำลังทหารยึดอำนาจรัฐซึ่งเป็นทางแก้ไขแบบคลาสสิกที่สุดของพวกหัวอนุรักษ์นิยม (ซึ่งกลุ่มประท้วงในปัจจุบันกำลังเรียกร้องกันถึงขั้นไปเข้าไปในกองทัพอย่างง่ายดาย อันทำให้มีคนระแวงว่าเป็นภาวะสองจิตสองใจของกองทัพ) ก็ไม่สามารถช่วยอะไร อาจจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำเพราะมีคนไทยจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติซึ่งอาจจะออกมาประท้วงและปะทะกับไม่ใช่เฉพาะทหารเท่านั้นแต่รวมถึงกลุ่มบุคคลที่ยังคงเห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร

ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นทางแยกครั้งสำคัญของประเทศไทยที่เราทุกคนต้องช่วยหาทางออกเช่นการปฏิรูปโครงสร้างครั้งใหญ่ของประเทศไทยที่ไม่ใช่เพื่อใครบางคนหรือบางกลุ่มบุคคลไม่ใช่ว่าเอาแต่รอวีรบุรุษหรือวีรสตรีขี่ม้าขาว หรือรัฐบาลจะยุบสภา เพี่อที่ว่าเหตุการณ์จะกลับมาปกติเสียที

 

 

(1) ผู้เขียนลองพยายามหาคำอื่นอย่างเช่นยุวชนแดงหรือหงเว้ยปิงแต่ก็ไม่รู้สึกว่าจะได้อารมณ์เท่ากับเรดการ์ดเท่าใดนัก
  
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net