Skip to main content
sharethis

พรรคเพื่อไทย ออกแถลงกาณ์ 7 ข้อ ขอร้องให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมและคืนสถานที่ราชการ เนื่องจากเป็นการสร้างความเสียหายให้กับระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมในบ้านเมือง ด้านพรรคเล็ก "ไทยมหารัฐพัฒนา" ออกด้วยร้องกรรมการสิทธิฯ แสดงบทบาทอย่างมีมาตรฐานเดียวกันต่อผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2556 ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทย ออกแถลงกาณ์ 7 ข้อ ถึงกรณีสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง และการบุกยึดสถานที่ราชการของกลุ่มผู้ชุมนุม โดยขอร้องให้ยุติการชุมนุมและคืนสถานที่ราชการ เนื่องจากเป็นการสร้างความเสียหายให้กับระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมในบ้านเมืองที่เป็นรากฐานการปกครองประเทศที่ดีและเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนทุกคน ซึ่งแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยต่อกรณีการชุมนุมทางการเมือง ได้ระบุว่า

"จากที่มีการชุมนุมทางการเมือง และในขณะนี้การชุมนุมที่สงบได้เปลี่ยนเป็นการชุมนุมที่มีการละเมิดกฎหมายและมีการยึดสถานที่ราชการ ซึ่งไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยขอแถลงว่า

1. พรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้แกนนำผู้ชุมนุม และผู้ชุมนุมที่ยึดสถานที่ราชการซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายและหลักนิติธรรม ให้ออกจากอาคารและสถานที่ราชการ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐและข้าราชการสามารถให้บริการประชาชนอย่างต่อเนื่อง

2. พรรคเพื่อไทยสนับสนุนท่าทีของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในการเปิดพื้นที่พูดคุยระหว่างฝ่ายต่างๆ เพื่อแก้ความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธี

3. พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยและสนับสนุนรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลผู้ที่มาชุมนุมอย่างละมุนละม่อม สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

4. เนื่องจากแกนนำผู้ชุมนุมเป็นสมาชิกคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายชวน หลีกภัย และพรรคประชาธิปัตย์ ช่วยดำเนินการให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำผู้ชุมนุม ยุติการยึดสถานที่ราชการโดยพลัน

5. พรรคเพื่อไทยขอขอบคุณมิตรประเทศและเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ที่แสดงท่าทีว่าควรยุติข้อขัดแย้งทางการเมืองโดยการพูดคุยกันอย่างสันติวิธี ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นด้วย

6. พรรคเพื่อไทยขอเรียนชี้แจงว่า การที่ผู้ชุมนุมหรือพรรคประชาธิปัตย์ได้ใส่ร้ายรัฐบาลว่าขาดความชอบธรรม เพราะไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญนั้น พรรคขอชี้แจงว่า พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยประเด็นที่มาของ ส.ว. ในวันที่ 20พฤศจิกายน 2556 เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่จะรับคดีไว้พิจารณาและวินิจฉัยเช่นนั้น ซึ่งเป็นการประกาศว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการรับและพิจารณาคดีนี้เป็นการเฉพาะเจาะจง และมิใช่เป็นการประกาศไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเป็นการทั่วไป

7. พรรคเพื่อไทยเห็นว่าข้อเรียกร้องของหัวหน้ากลุ่มผู้ชุมนุมที่จะตั้งสภาประชาชน ไม่อาจทำได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 50

พรรคเพื่อไทยเห็นว่าการชุมนุมโดยสงบ เป็นการใช้เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมในลักษณะที่ฝ่าฝืนกฎหมายและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการยึดสถานที่ราชการ ซึ่งเสมือนเป็นการใช้ประเทศและคนไทยเป็นตัวประกัน ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมในบ้านเมืองที่เป็นรากฐานการปกครองประเทศที่ดีและเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนทุกคน

และในวันนี้ (30 พ.ย.) พรรคไทยมหารัฐพัฒนาได้ออกแถลงการณ์ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง โดยระบุ 7 ข้อดังนี้

1. ในฐานะพรรคการเมืองขนาดเล็ก ขอเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ก่อตั้งมานาน ต่อสู้ตามวิถีทางประชาธิปไตย และให้เชื่อมั่นในการเลือกตั้ง เพราะไม่มีวิธีการใดที่จะเปลี่ยนผ่านตัวผู้นำได้ดีกว่าการเลือกตั้ง อีกทั้ง งานทางวิชาการหลายชิ้นยืนยันว่า “เงินไม่ใช่ปัจจัยหลักในการชนะเลือกตั้ง” และไม่ควรปฏิเสธเสียงข้างมากเพียงเพราะวาทกรรม “พวกมาก ลากไป”  เนื่องจากไม่มีสิ่งรับรองเช่นกันว่า เสียงข้างน้อยจะเป็นฝ่ายถูกต้องเสมอ พรรคไทยมหารัฐพัฒนาจึงต้องการเห็นพรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่มีคุณภาพ ให้สมกับประโยคที่ว่า “เชื่อมันในระบบรัฐสภา”

2. ขอประณามการใช้ฝูงชนบุกยึดสถานที่ราชการ ตัดน้ำ ตัดไฟฟ้า ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำ

3. ข้อเรียกร้อง 6 ข้อ ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีความย้อนแย้ง อาทิ ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แต่ผู้ชุมนุมกลับชื่นชอบ ส.ว.ที่มาจากการสรรหา และการตั้งสภาประชาชนนั้น เป็นสิ่งนอกเหนือรัฐธรรมนูญ

4. การปฏิบัติการทั้งหมดของนายสุเทพและพวก มีแนวโน้มจะเป็นการโค่นล้มระบอบประชาธิปไตย มากกว่าโค่นล้มระบอบทักษิณ

5. ขอให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ มีความอดทนอดกลั้น ไม่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม

6. ขอให้ผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายรักษาบรรยากาศประชาธิปไตย ห้ามใช้ความรุนแรง หรือทำร้ายร่างกายฝ่ายเห็นต่าง

7. เรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกมาปฏิบัติหน้าที่ และแสดงบทบาทอย่างมีมาตรฐานเดียวกันต่อผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย

อย่างไรก็ตาม พรรคไทยมหารัฐพัฒนา เคารพในสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในกรอบแห่งกฎหมาย และมีความสมเหตุสมผล เนื่องจากทางพรรคพิจารณาเห็นว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล โดยการนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังเป็นไปด้วยดี ยังไม่มีมูลเหตุร้ายแรงใดต้องชุมนุมขับไล่ด้วยวิธีการ “อนารยะขัดขืน” เช่นนี้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net