Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


นับแต่ปี 2475 เป็นต้นมา การเดินทางของประชาธิปไตยไทยเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม 80 ปีกว่าๆ มานี้เกิดการกบฏปฏิวัติรัฐประหารทั้งสิ้น 17ครั้ง (เฉลี่ย) ทุก 4 ปี 7เดือน

น่าสังเกตว่าการกบฏปฏิวัติรัฐประหาร มักอ้างว่าทำเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์แทบทุกครั้ง เช่นรัฐประหาร 2490 ก็อ้างว่า “คณะรัฐประหารยึดมั่นในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ และทำเพื่อคลี่คลายคดีวางแผนปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ...”

ขณะที่ประกาศคณะปฏิวัติ 2501 (โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำรัฐประหารซ้ำจากที่ทำครั้งแรกในปี 2500) ก็อ้าง
สถาบันกษัตริย์เป็นฐานของ “ความชอบธรรม” ว่า

“ในประการสำคัญที่สุด คณะปฏิวัติยึดมั่นอยู่เสมอว่าพระมหากษัตริย์กับชาติไทยจะแยกจากกันมิได้ ประวัติศาสตร์ของชาติไทยตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้ ตั้งอยู่บนรากฐานสถาบันที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสัญลักษณ์ของชาติและทั้งเป็นมิ่งขวัญของประชาชน คณะปฏิวัติจะรักษาฐานแห่งสถาบันอันนี้ไว้โดยเต็มกำลังความสามารถ...”

การรัฐประหารและการปราบปรามนักศึกษาประชาชนในยุคต่อๆ มา เช่น 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภา 35, 19 กันยา 49 จนถึงพฤษภา 53 แล้วแต่อ้างสถาบันกษัตริย์เป็นฐานความชอบธรรมทั้งสิ้น

แม้ในสถานการณ์ปัจจุบัน การชุมนุมทางการเมืองที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์เพื่อขจัด “ระบอบทักษิณ” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำคนสำคัญยังก็ประกาศแก่ผู้ชุมนุมถนนราชดำเนินในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2546 ว่า

“ข้อที่ 1 เราต้องร่วมใจกันขจัดระบอบทักษิณให้สิ้นซากพ้นแผ่นดินไทย และข้อที่ 2 เราจะหลอมหัวในด้วยกันเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย ให้เป็นประเทศไทยที่ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ ที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง นั่นคือปณิธานของเรา ของคนไทยทุกคนที่หลอมดวงใจต่อสู้ในคราวนี้”

การอ้างสถาบันกษัตริย์เป็นฐาน “ความชอบธรรม” ในการต่อสู้ทางการเมือง ย่อมไม่ใช่ “วิธีการ” หรือ “วิถี” ที่ถูกต้องสำหรับสังคมที่อ้างว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยต้องถูกต้องทั้ง “วิถี” และ “จุดหมาย” หากจุดหมายคือการขจัดทุจริตคอร์รัปชัน วิธีการหรือวิถีทางดำเนินการต้องเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย ไม่ใช่อ้างสถาบันต่อสู้ทางการเมืองและทำรัฐประหารอย่างที่ทำกันมาจนเป็นประเพณี

ยิ่งกว่านั้น ประเพณีที่ผิดหลักการอีกอย่างก็คือ การอ้างสถาบันเพื่อต่อสู้ทำลายศัตรูทางการเมืองและทำรัฐประหาร ไม่เคยถูกกระบวนการยุติธรรมไทยเอาผิดในฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและทำลายความมั่นของของ “รัฐประชาธิปไตย” แต่อย่างใด ตรงกันข้ามฝ่ายที่ตั้งคำถามกับการกระทำดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา กลับถูกดำเนินคดีหมิ่นฯ และทำลายความมั่นคงของรัฐคนแล้วคนเล่า

กลายเป็นว่า ประชาชนที่ปฏิเสธวิธีการหรือวิถีทางที่ไม่ถูกต้อง กลับเป็นฝ่ายผิดตลอดเวลา เท่ากับว่าสำหรับสังคมไทย แล้ว การต่อสู้ทางการเมืองก็ไม่จำเป็นต้องเดินตามครรลองประชาธิปไตย จะอ้างสถาบันมาต่อสู้ทางการเมืองและปราบปรามนักศึกษาประชาชนอย่างไรก็ได้ เพราะเกณฑ์ตัดสิน “ถูก-ผิด” ในทางการเมืองไม่ใช่เกณฑ์ที่ยึดหลักการประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด แต่ยึดสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งสำคัญสูงสุด

ฝ่ายไหนทำอะไรในนามปกป้องสถาบันกษัตริย์ ย่อมเป็นคนดี เป็นฝ่ายถูกเสมอ ทำอะไรไม่ผิด ทำรัฐประหาร หรือแม้แต่ใช้กระสุนจริงสลายการชุมนุมของประชาชนก็ไม่ผิด เป็นต้น แต่อีกฝ่ายเพียงแค่แสดงออกด้วย “ข้อความ” หรือ “คำพูด” ก็ติดคุก ไม่ได้รับสิทธิ์ประกันตัว จนตายในคุกก็มี

แต่ความเป็นจริงของสังคมการเมืองไทยปัจจุบันและอนาคต ใครหรือชนชั้นปกครองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็น “เสียงส่วนน้อย” จะมีอำนาจสิทธิ์ขาดชี้ถูก ชี้ผิด หรือกำหนดเกมส์ทางการเมืองให้เป็นไปตามความต้องการได้ง่ายๆ เหมือนในอดีตได้จริงหรือ? เสียงข้างน้อยของฝ่ายค้าน มวลชนสนับสนุนฝ่ายค้านที่โหนสถาบัน รวมทั้งองค์กรอิสระ วุฒิสมาชิกลากตั้ง ที่ไม่ยอมรับกติกาเสียงข้างมากกำลังกดดันให้เสียงข้างมากไม่มีที่ยืนหรือไม่?

ที่น่าเศร้าคือ แม้ปัจจุบันนี้ก็ยังมีนักวิชาการที่แสดงความเห็นไม่เชื่อถือการเลือกตั้ง อ้างว่าการเลือกตั้งใช้เงินซื้อเสียง เป็นการเมืองของคนมีเงิน โดยไม่ดูความเป็นจริงว่าในประเทศนี้หนทางเข้าสู่อำนาจทางการเมืองมีสองทางเท่านั้นคือ “เลือกตั้ง” กับ “รัฐประหาร” (ที่พ่วงมาด้วยระบบแต่งตั้ง,ลากตั้ง) ทั้งสองวิธีต่างใช้เงินมหาศาลเหมือนกัน

การเลือกตั้ง นายทุนการเมืองใช้เงินมหาศาล แล้วก็เข้ามาทุจริตคอรัปชัน แต่ประชาชนยังสามารถตรวจสอบได้ และแก้ไขได้ตามครรลองประชาธิปไตย ส่วนการทำรัฐประหารใช้ “เงินภาษี” ประชาชนล้วนๆ ตั้งแต่ค่าใช้จ่ายในเรื่องกระสุนปืน อาวุธยุทโธปกรณ์ สรรพกำลัง รถถัง และอื่นๆ เมื่อเข้าไปมีอำนาจก็โกงโดยตรวจสอบไม่ได้ ซ้ำยังส่งผลเสียตามมาอย่างไม่อาจคณานับ เช่น เกิดการต่อต้าน นำไปสู่การปราบปราม จนประชาชนบาดเจ็บ พิการ ล้มตายจำนวนมาก สังคมแตกแยก การสูญเสียทางเศรษฐกิจ เสียโอกาสในการพัฒนาประชาธิปไตย ฯลฯ

ถามว่าการเลือกตั้งมีปัญหาในตัวมันเอง หรือเพราะการรัฐประหารเข้ามาตัดตอนเฉลี่ย 4 ปี ต่อครั้งดังกล่าวแล้ว จึงทำให้กระบวนการเลือกตั้งสูญเสียโอกาสการพัฒนาไปอย่างเป็นธรรมชาติ

ถ้าปล่อยให้กระบวนการเลือกตั้งพัฒนาไปตามธรรมชาติ มีปัญหาประชาชนก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้ ช่วยกันอุดช่องโหว่ต่างๆ ไปตามครรลองประชาธิปไตย ไม่มีรัฐประหารเข้ามาตัดตอนซ้ำๆ ประชาชนย่อมสามารถเรียนรู้และหาทางแก้ปัญหาร่วมกันได้ สามารถพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยให้เข้มแข็งได้อย่างประเทศประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ที่ก้าวหน้ากว่า

เช่น สหรัฐอเมริกาสถาปนาการปกครองประชาธิปไตยแล้ว แรกๆก็ยังมีระบบทาส มีปัญหาการเหยียดผิว มีการซื้อเสียง และ ฯลฯ แต่กระบวนการประชาธิปไตยที่พัฒนาไปอย่างเป็นธรรมชาติ ก็สามารถแก้ปัญหานั้นๆ ได้ด้วยตัวมันเอง แน่นอนว่าปัจจุบันเขาก็ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่เขาก็เชื่อในวิถีทางประชาธิปไตยว่าเป็นวิถีทางที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาของเขา

ถ้าสังคมไทย โดยเฉพาะชนชั้นกลางการศึกษาดี ไม่มีวุฒิภาวะที่จะเรียนรู้ “บทเรียน” ของการอ้างสถาบันต่อสู้ทางการเมืองและทำรัฐประหารว่าเป็นหนทางหายนะมากกว่าวัฒนะ ก็ยากที่จะหาทางออกจากปัญหาความขัดแย้งได้

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนดีคนมีการศึกษาของประเทศนี้กลับสนับสนุนฝ่ายที่ตัดตอนกระบวนการประชาธิปไตยเสียเอง บรรดาม็อบคนดีมีการศึกษาต่างตะโกนขับไล่ “คนโกง” ภายใต้แกนนำที่เป็นนักการเมืองซึ่งมีภาพลักษณ์ทั้งเรื่องโกง และสั่งสลายการชุมนุม 100 ศพ เลยไม่รู้ว่าบรรทัดฐานถูก ผิด ดีชั่ว ของคนดีมีการศึกษาคืออะไรกันแน่?

 

 


หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข (30 พ.ย.-6 ธ.ค.2556)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net