Skip to main content
sharethis

รายงาน ปาฐกถา นิธิ เอียวศรีวงศ์ในการสัมมนาวิชาก­ารประจำปี 2556 "อีสาน -- ลาว - ขแมร์ศึกษา ในกรอบประชาคมอาเซียน" 

ศาสตราจารย์นิธิกล่าวว่าอนุภาคนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นเขตลุ่มน้ำโขงตอนกลาง ซึ่งมีความแตกต่างเยอะพอสมควร แม้จะเป็นพื้นที่ภูมิศาสตร์เดียวกัน แต่มีพัฒนาการไปในทิศทางเดียวกัน แต่ไม่ถึงขนาดขนานไปด้วยกัน

ในสามอนุภาคนี้ อาจจะมองได้ว่าเป็นรัฐสามรัฐ คือไทย ลาว กัมพูชา แต่เมือมองย้อนกลับไปไม่กี่ร้อยปี สามอนุภาคนี้ไม่ได้เป็นรัฐหนึ่งรัฐเดียว

ในลาวเองก็แบ่งเป็นสามหน่วยการเมืองใหญ่ๆ พัฒนาการของสามหน่วยการเมืองก็ไม่ได้สอดคล้องตลอดเวลา  ในไทยเอง เพียงร้อยกวาปีนี้ดินแดนอิสาน การสังกัดการเมืองก็กระจัดกระจายบางส่วนอยู่กับสยามบางส่วนอยู่กับลาว และบางส่วนอยู่อกรัฐ และไมได้เป็นรัฐหนึ่งรัฐเดียว ภายใต้ไทย ลาวหรือกัมพูชา ในกัมพูชาเองตอนนี้ก็มีคนนอกรัฐพอสมควร เป็นชนกลุ่มน้อยเป็นสิบๆ กลุ่ม

โดยสรุป รัฐในความหมายถึงพื้นที่ที่มีขอบเขตแน่นอนมันไม่เคยมีมาก่อนในสามภูมิภาคนี้ และไม่ได้เกิดเองแต่เกิดโดยคนข้างนอกเช่น ลาวกับกัมพูชา ก็สร้างโดยฝรั่งเศส อีสานก็เกิดโดยชนชั้นนำสยาม

นอกจากนี้ทั้งสามส่วนไม่เคยอยู่ในระบบการเมืองการปกครองของรัฐสมัยใหม่มาก่อน แต่อยู่ในระบบการเมืองที่เรียกว่า มณฑละ (Mandala- คำเดียวกับคำว่ามณฑล แต่เลี่ยงใช้มณฑละตรงตัวเพื่อเลี่ยงการสับสนกับการปกครองแบบมณฑล)  สรุปสั้นๆ คือเครือข่ายของความภักดีและวัฒนธรรม เป็นเครือข่ายของการให้ความภักดีเครือข่ายหนึ่ง ไม่ผูกโยงกันทางเศรษฐกิจด้วย เช่นเมืองที่เคยอยู่ใน Mandala ของอยุธยา ไม่ได้ผูกพันกันด้วยเครือข่ายการปกครองเดียวกัน ระบบการปกครองเป็นอิสระในตัวเอง

ในส่วนของภาคอิสานเอง ในสมัยทีเป็นมณฑละอยู่ ภาคอิสานสมัยหนึ่งคงเป็นดินแดนของคนที่อยู่นอกรัฐมาอยู่ มีการสำรวจของนักประวัติศาสตร์ฝรั่งที่พยายามดูหลักฐานต่างๆ ว่าก่อนหน้าจะเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ ก่อนหน้ามีการนำชาวลาวจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เขาพบว่าในช่วงที่อาณาจักรล้านช้างอ่อนกำลังลงกลายเป็นสามหน่วยการเมืองเป็นหลวงพระบาง เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ ก็ไม่มีการอพยพคน  ทำไมรัฐทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อสลายตัว คนจึงอพยพหนี คำตอบที่ง่ายที่สุดคือตอนที่รัฐมีอำนาจอยู่รัฐย่อมใช้อุ้งมือตัวเองกำเอาราษฎรเอาไว้ รัฐทุกรัฐในโลกนี้ก็ว่าได้ต้องพยายามดึงให้ตัวประชากรอยู่ใกล้ๆ ตัวเองพอจะเก็บส่วยเก็บแรงงานได้ ถ้าพ้นไปแล้วก็ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่พลเมืองอีกต่อไป รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สลายตัวเมื่อไหร่ สิ่งแรกคือประชาชนจะเผ่นก่อน หนีไปจากการเก็บส่วยเก็บแรงงานก็ยิ่งทำให้การสลายตัวของอำนาจเร็วขึ้นไปอีก

เหตุดังนั้น เมื่อรัฐฝั่งโน้นเริ่มสลายตัว ก็มีการอพยพคนมาฝั่งนี้ ก็เกิดการทำให้ภาคอิสานกลายเป็นลาว ถ้าเปรียบเทียบ 3 มณฑล ศูนย์การค้ากับต่างประเทศได้ดีที่สุดคืออยุธยา มากกว่าขแมร์และลาว

การตีเขมรของอยุธยาส่วนหนึ่เงป็นการทำลายคู่แข่งทางการค้าด้วย โอกาสที่กัมพูชาจะได้ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศก็เปรียบเทียบกับอยุธยาไมได้

เมื่อมีเงินมาก สิ่งที่จะไม่เกิดกับลาวและกัมพูชา คือ หนึ่ง สร้างระบบราชการขึ้นมาได้ เป็นระบบราชการแบบโบราณ ขณะที่เวียงจันทน์ และพนมเปญไม่มีโอกาสสร้างแบบที่อยุธยาสร้าง

อย่างที่สอง คือการไม่ผูกพันกับตัวบุคคล เป็นการรักษาตัวระบบการปกครองเอาไว้ได้ ไม่เหมือนท้าวฮุ่งท้าวเจือง ที่ตายไปอาณาจักรก็ล่มสลาย ขณะที่สิ่งนี้จะไม่เกิดกับอยุธยา ทำให้อยุธยาเป็นเมืองหลวงที่ยาวนานเปลี่ยนวงศ์ไม่รู้กี่ครั้งกี่หน ความเข้มแข็งเหล่านี้ทำให้สามารถแย่งราชสมบัติกันได้ง่ายๆ ไม่ต้องกลัวบ้านเมืองจะพัง จะยึดกี่กระทรวงก็ไม่พัง เพราะมีความมั่นคงเชิงระบบ

เปรียบเทียบกับล้านช้างในศตวรรษที่ 17 เราจะพบว่ามันถูกคุกคามจากมณฑละขนาดใหญ่ และฟื้นตัวไม่ได้ด้วย
การเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ของอนุภาคทั้งสาม มีสิ่งที่คล้ายกัน ประการแรก คือไม่ได้เกิดจากภายในแต่เกิดจากกำลังภายในอกมาบังคับ สรุปสั้นๆ คือภาคอิสานถูกผนวกเข้าไปในสยาม กัมพูชา ลาวถูกผนวกเข้าไปในอินโดจีนของฝรั่งเศส แต่สยามเมื่อเปรียบเทียบกับกัมพูชาและลาว การเข้าสู่สมัยใหม่ของสยามมันมีโอกาสทำให้ส่วนกลางมีอำนาจมากขึ้นเหนือภูมิภาค โดยเฉพาะหลังสนธิสัญญาบาวริ่ง ทำให้รัฐบาลกลางได้แม้แต่สิ่วที่อาณานิคมก็ไม่ได้ คือค่านา ค่ารัชชูปการ สามารถสร้างกองทัพสมัยใหม่ สร้างระบบราชการสมัยใหม่ มีอำนาจมโหฬารที่จะปราบกบฏเมืองแพร่ก็ได้ เป็นต้น

สยามสร้างระบบราชการแบบใหม่ Modern Bureaucracy ได้

ประการที่สอง คนที่เข้ามาคุมระบบราชการแบบใหม่ก็มาจากข้างนอก ในกัมพูชาและลาวก็เช่นกัน คนที่ได้รับการศึกษาแบบใหม่ในฝรั่งเศส ก็คือคนญวน คนเวียดนาม เข้ามาเป็นข้าราชการอาณานิคม 80 เปอร์เซ็นต์ของข้าราชการอาณานิคมในลาวคือคนเวียดนาม ถ้าไม่นับหลวงพระบาง ทุกเมืองจะมีคนเวียดนามอยู่เกินครึ่ง เป็นเหตุผลให้ทั้งกัมพูชาและลาวไม่ไว้วางใจเวียดนาม มีการสร้างความเป็นศัตรูกับเวียดนามอย่างรุนแรงเพื่อรักษาอำนาจภายในของตนเองไว้

ในประเทศไทยเอง ก็มีความรู้สึกระแวงคนนอกที่มาเป็นนายตัวเอง ดังภาษิตของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ว่า ไม่รบนายไม่หายจน ที่จริงเป็นภาษาใต้ “นาย” หมายถึงข้าราชการส่วนกลาง เป็นความไม่ไว้ใจ ระแวงคนนอก เป็นสิ่งที่มีอยู่สูงในสามอนุภาคนี้

อย่างไรก็ตาม ประสบความสำเร็จในการสร้างอัตลักษณ์สามอย่างให้กับดินแดนที่ไปผนวกเข้ามา คือ

หนึ่ง สร้างประวัติศาสตร์ ในอิสานได้สร้างประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรีทันที เล่าประวัติศาสตร์อิสานแบบที่ผูกกับประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ตลอด

สอง สร้างภาษา ที่เป็นภาษามาตรฐาน

สาม สร้างพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นสิ่งที่ฝรั่งเศสมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้าง แม้มหาสีลา วีระวงษ์จะพยายามสร้างด้วย แต่มาจากความพยายามของฝรั่งเศสที่พยายามสร้างสถาบันศึกษาพุทธศาสนาแห่งเวียงจันทน์ เป็นต้น ส่วนในไทยนั้นไม่ต้องพูดถึง

และก็เป็นเหตุผลอันหนึ่งที่ทำให้อินโดจีน เมื่อเปรียบเทียบกับอินโดนีเซีย คืออินโดนีเซียไล่ฝรั่งออกไปก็กลายเป็นอินโดนีเซีย แต่อินโดจีนเมื่อไล่ฝรั่งออกไปกลับกลายเป็น ลาว ไทย กัมพูชา เพราะการสร้างอัตลักษณ์โดยฝรั่งเศส
แต่อัตลักษณ์ก็มีความลักลั่น เช่น วีรบุรุษในอิสาน พระยาแล ที่ถูกสร้างให้เป็นคนจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรี ผีมเหศักดิ์ซึ่งเป็นผีเจ้าเมืองเก่า ถูกสร้างประวัติให้กลายเป็นคนจงรักภักดีต่อกรุงเทพฯ ขณะเดียวก็มีเรื่องศาลปู่ตาซึ่งถูกเผาไปไม่มีความเชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ ยังไม่ต้องพูดถึงเจ้าอนุวงศ์ทีเป็นวีรบุรุษของเวียงจันทน์

ตัวอย่างความลักลั่นอีกอย่างที่น่าสนใจคือนครวัด นครธม นักวิชาการชาวฝรั่งเศสศึกษาว่านครวัด นครธม ไม่ใช่ที่นักท่องเที่ยวธรรมดา แต่จะมีชีปะขาว มานั่งปักกลดค้างอยู่เยอะแยะมาก คนเขมรเขารู้จักของเขาตลอดมา ไม่ได้ถูกค้นพบโดยฝรั่งเศส มันถูกใช้ให้กลายเป็นแหล่งบำเพ็ญบุญของพุทธศาสนาในกัมพูชา แต่เมื่อฝรั่งเศสมาค้นพบลื้นฟูมันกลายเป็นสัญลักษณ์ที่โรแมนติกมากๆ ไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นแหล่งจาริกแสวงบุญทางศาสนา กลายเป็นเรื่องโรแมนติกที่ฝรั่งชอบ เป็นแหล่งท่องเที่ยว

นครวัด ความหมายของนครวัดถูกฝรั่งเปลี่ยนให้กลายมาเป็นความหมายค่อนข้างโรแมนติกและทำเงินได้มากขึ้น จะเปลี่ยนกลับก็คงจะยากอยู่เหมือนกัน

การเปลี่ยนผ่านที่สำคัญคือ ในกรณีสยามสร้างระบบราชการสมัยใหม่ขึ้นมาได้ ในขณะที่ลาว กัมพูชาทำไม่สำเร็จ
ฉะนั้นในสามภูมิภาค มันเปลี่ยนการจัดการทรัพยากรได้มากกว่าในอดีต ในสยาม รัฐเข้าถึงทรัพยากร โดยถูกแยกออกไปโดยรัฐส่วนกลาง มากบ้างน้อยบ้าง แต่กรณีสยามด้วยเหตุใดก็ตามแต่มีโอกาสที่เข้าถึงทรัพยากรใหม่ เช่น การศึกษาสมัยใหม่ แต่ในลาวและกัมพูชาเข้าไม่ถึง เช่น ในกัมพูชา หลังสมัยเขมรแดงมา มียุคเฮงสัมริน ช่วงปฏิวัติมีการทำนารวม แต่เขาเรียกว่ากรมสามัคคี มันไม่ได้ทำให้การผลิตดีขึ้นเลย แต่อย่างน้อยที่สุด มีหลักประกันการเข้าถึงอาหารแก่คนจน แต่หลังปี 1989 เขาเลิก แต่เปลี่ยนมาเป็นแบบไทย  มีการแบ่งที่ดินที่ใช้อิทธิพลและเงินทำให้เข้าถึงเป็นเจ้าของที่ดิน ทำให้คนจนหลุดไปจากทรัพยากรเลย ตอนนี้แหละที่เป็นปัญหามากๆ ที่คนจนไม่มีหลักประกันอีกต่อไปแล้ว ทำให้เกิดความยากลำบาก ทำให้เกิดการอพยพเข้ามาสู้เขตเมือง

การปาฐกถาเป็นส่วนหนึ่งของ การจัดงานสัมมนาประจำปี อิสาน ลาว ขแมร์ศึกษา ในกรอบประชาคมอาเซียน ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สนับสนุนโดย มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย 
 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net