Skip to main content
sharethis


28 พ.ย.2556 กลุ่มนักวิชาการ ประกอบด้วย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นิธิ เอียวศรีวงศ์, พวงทอง ภวัครพันธุ์, สมฤทธิ์ ลือชัย, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์, ยุกติ มุกดาวิจิตร, ประจักษ์ ก้องกีรติ, สมชาย ปรีชาศิลปกุล,  ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, อัครพงษ์ ค่ำคูน และ ทวีศิลป์ สืบวัฒนา ออกแถลงการณ์เสนอทางออกจากสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ต่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี 2 ข้อ ประกอบด้วย 1.เพื่อแก้ไขวิกฤตที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 ต้องจัดการลงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  2. หลังจากนั้น รัฐบาลต้องประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการออกเสียงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พร้อมระบุว่า  ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องคืนอำนาจในการตัดสินใจทางการเมืองให้กับประชาชน และยืนยันในความสำคัญของรักษาประชาธิปไตยตามวิถีทางรัฐสภา

พวงทอง ภวัครพันธุ์ รองศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อเสนอตามที่แถลงไปนั้น ต้องการให้ประกาศลงประชามติซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้เวลาเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งยาวนานกว่าช่วงเวลากำหนดเรื่องการยุบสภา ดังนั้นรัฐบาลจึงอาจจะประกาศเรื่องลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน และให้คำมั่นว่าจะยุบสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประกาศล่วงหน้า 45 วัน

ทั้งนี้ กลุ่มของนักวิชาการที่ร่วมลงชื่อเห็นว่า ถ้าจะให้ประชาชนลงคะแนนเลือกตั้งแล้วก็น่าจะให้ลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไปด้วย เพราะวิกฤตการเมืองส่วนหนึ่งที่สำคัญก็เกิดมาจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2550 และตัวอย่างล่าสุดที่ทำให้เกิดความขัดแย้งก็คือเรื่องการแก้ไขที่มาของ ส.ว.

สำหรับท่าทีของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่ไม่เอาการยุบสภา และต้องการตั้งสภาประชาชนนั้น ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์กล่าวว่าแม้ฝ่ายต่อต้านจะไม่เอาการยุบสภาแต่เห็นว่า รัฐบาลมีสิทธิที่จะยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุดให้ประชาชน จะไม่ตอบรับก็ได้ แต่รัฐบาลมีสิทธิที่จะมอบอำนาจให้ประชาชนซึ่งถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด “ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่มีเหตุผล ถ้าเสนอทางออกที่ไม่ใช้ความรุนแรง เชื่อว่าคนจะรอจังหวะเวลาในการลงประชามติ และรอการเลือกตั้ง” นิธิกล่าวพร้อมย้ำว่าตราบเท่าที่เป็นข้อเสนอที่คนส่วนใหญ่เห็นว่ามีเหตุผล ก็น่าจะเป็นทางออกได้

ส่วนคำถามว่าพรรคฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์อาจจะใช้วิธีบอยคอตการเลือกตั้ง นิธิตอบว่าคนส่วนใหญ่ก็คงเลือกเท่าที่มี และคิดว่าประชาชนต้องการฝ่ายค้านที่ดี มีเหตุผลและมีพลัง

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มธ. กล่าวว่า ตัวเขานั้นผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 2535 และพฤษภา 53 ประวัติศาสตร์บอกว่าลักษณะของการชุมนุมประท้วงที่มีคนเข้าร่วมมากขณะนี้อาจจะหลีกเลี่ยงการนองเลือดและจลาจลไม่ได้ นักวิชาการที่ได้ปรึกษาหารือกัน ณ ที่นี้ จึงเสนอทางออกสองข้อ คือแก้ไขรธน. ทั้งฉบับ และยุบสภา ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ถ้าไม่สามารถหาทางลงกันได้ การเสียชีวิตอาจจะมีมากกว่าที่ผ่านๆ มา

เขาชี้ว่าหากไม่ต้องการให้สังคมไปถึงจุดนั้น ข้อเสนอที่กล่าวมาก็เป็นสิ่งที่นักวิชาการพอจะทำได้ในการเสนอทางออกที่สันติสุขให้สังคม จากนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะตัดสินใจ แต่ถ้าไม่มีทางออก รัฐประหารก็จะตามมา แล้วการมีนายกพระราชทานก็จะตามมา ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

พวงทองย้ำในตอนท้ายของการแถลงข่าวว่า สำหรับข้อเสนอของนักวิชาการครั้งนี้ ขอให้สังคมอย่ามองแค่มันเป็นไปได้หรือไม่ได้ แต่นี่เป็นเสียงที่พยายามหาทางออกให้สังคม ซึ่งขณะนี้มีคนที่ต้องการให้เกิดความรุนแรงเพื่อให้เกิดการใช้อำนาจนอกระบบเข้ามา โดยนักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาทิ้งท้ายว่าอยากเตือนมวลชนทุกฝ่ายว่าอย่าตกเป็นเครื่องมือของแกนนำฝ่ายใดๆ เพราะขณะนี้ก็ยังคงมีนักโทษการเมืองอยู่ในคุก

 

0000


แถลงการณ์ รัฐบาลต้องประกาศจัดออกเสียงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และยุบสภา
เรียน  นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่นับถือ

ด้วยวิกฤตทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ได้สร้างความวิตกกังวลแก่ประชาชนโดยทั่วหน้าว่าสังคมไทยกำลังเดินเข้าสู่ภาวะกลียุค ที่กฎระเบียบทั้งทางกฎหมายและสังคมต่างๆ ถูกละเมิดอย่างไร้ขอบเขตและความรับผิดชอบ จนอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ พวกข้าพเจ้าดังมีรายนามด้านท้ายของหนังสือนี้ ขอเรียนให้ท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้พิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้

1. เพื่อแก้ไขวิกฤตที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 รัฐบาลต้องจัดให้มีการลงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดว่าวันลงประชามติจะต้องมีกำหนดไม่น้อยกว่า 90 วันหลังรัฐบาลประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา

2. หลังจากนั้น รัฐบาลต้องประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการออกเสียงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ทั้งนี้ การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร

พวกข้าพเจ้าเห็นว่า ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องคืนอำนาจในการตัดสินใจทางการเมืองให้กับประชาชน และยืนยันในความสำคัญของรักษาประชาธิปไตยตามวิถีทางรัฐสภา


ขอแสดงความนับถือ 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net