Skip to main content
sharethis

กิตติศักดิ์ ปรกติ ปราศรัยจี้รัฐบาลมาสาบานยอมรับอำนาจศาล ชี้เป็นรัฐบาลนอกกฏหมายหลังปฏิเสธอำนาจศาลรธน. พร้อมย้ำประชาชนมีความชอบธรรมในการค้านอย่างสันติ แนะแดงปกป้องปประชาธิปไตยต้องมาร่วมที่ราชดำเนิน

27 พ.ย.2556 เวลา 21.40 น. กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นเวทีเครือข่ายต่อต้านระบอบทักษิณ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปราศรัยชี้ปัญหาความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลและรัฐสภาเสียงข้างมากในการออก ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ผ่านมา รวมทั้งการปฏิเสธอำนาจและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุการปฏิเสธศาลคือปฏิเสธกฏหมาย ผู้ที่ปฏิเสธกฏหมาย คือผู้อยู่นอกกฏหมาย พร้อมทั้งอธิบายถึงความชอบธรรมของประชาชนที่จะคัดค้านและหลักนิติธรรม เรียกร้องให้รัฐบาลมาสาบานที่ราชดำเนินว่าจะยอมรับอำนาจศาลและกฏหมายรัฐบธรรมนูญ

โดย กิตติศักดิ์ ปราศรัยว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตราไว้อย่างชัดเจนว่าอำนาจอธิปไตยอำนาจปกครองสูงสุดทั้งประเทศเป็นของปวงชนชาวไทย ท่านคือที่ตั้งแห่งอำนาจอธิปไตยในแผ่นดินนี้แล้ว แต่อำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจสูงสุดให้การปกครองประเทศนั้น ไม่ใช่อำนาจอำเภอใจ ไม่ใช่อำนาจที่ปกครองตามใจชอบ แต่เป็นอำนาจปกครองที่ตั้งอยู่ความเป็นธรรม ตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรม การที่ท่านทั้งหลายอยู่ที่นี้ไม่ใช่เพียงเพื่อแสดงอำนาจแต่เพื่อแสดงคุณธรรมด้วย"

"สาเหตุใหญ่ที่พ่อแม่พี่น้องมาประชุมกันในที่นี้และที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย และในต่างประเทศ เริ่มต้นจากการประจักษ์แน่ชัดว่าผู้ที่เรามอบหมายความไว้วางใจไว้คือสภาผู้แทนราษฏร โดยเฉพาะผู้แทนราษฏรเสียงข้างมากนั้นได้ใช้อำนาจไปที่เราให้ความไว้วางใจไปอย่างไม่เป็นธรรมในการตราร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และเป็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสับปลับ ฉบับล้างผิด ฉบับอยุติธรรมเท่าที่เราเคยเจอมา การที่เรามาที่นี้ก็เพื่อประท้วงมันในเบื้องแรก

แม้ว่าในที่สุดสภาผู้แทนราษฏรเสียงข้างมาก รวมทั้งพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง ได้ให้สัตยาบันว่าหากวุฒิสภาไม่รับรองหลักการ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้แล้วก็จะไม่นำมาพิจารณาอีก นั่นเป็นการแสดงให้เห็นว่าเขายอมรับผิด ถึงแม้จะไม่ยอมรับผิดอย่างชัดแจ้งก็ตาม แต่เราก็ยังบอกว่าเรายังไม่ไว้วางใจท่านทั้งหลาย

แต่เหตุการณ์นั้นผ่านไปไม่นาน ความวัวไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรก นั่นคือการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยพิพากษามาแล้วว่าการเสนอร่างรัฐธรรมนูญของสภาฝ่ายเสียงข้างมากนั้น ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม เป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง โดยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เมื่อศาลตัดสินอย่างนี้แล้วสิ่งที่ตามมาก็คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรฝ่ายเสียงข้างมาก รวมทั้งประธานสภา และบรรดาสมาชิกสภาส่วนที่สนับสนุนรัฐบาลอื่นๆ รวมไปถึง รมว.มหาดไทย รมว.แรงงาน แสดงเจตนาชัดแจ้งว่าจะไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ การแสดงเช่นนั้นคือการแสดงออกว่าไม่ยอมรับการปกครองโดยในระบอบประชาธิปไตย ไม่ยอมรับการปกครองโดยกฏหมาย และนี่คือความผิดซ้ำซ้อนของสภาผู้แทนราษฏรในปัจจุบัน"

 

ปวงชนชาวไทยกับพระมหากษัตริย์และการใช้อำนาจอธิปไตยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

"ตำรวจจะดำเนินการกระชับพื้นที่กับพ่อแม่พี่น้องที่ไปชุมนุมที่กระทรวงการคลัง ต้องอ้างเหตุว่าพ่อแม่พี่น้องที่อยู่ในบริเวณกระทรวงการคลังนั้น กระทำการอันมิชอบด้วยกฏหมาย แต่การอ้างเหตุเช่นนั้นได้ อยากเรียนเสียก่อนว่า เหตุอันมิชอบด้วยกฏหมายนั้นไม่ได้มาจากพี่น้องที่เข้าไปในกระทรวงการคลังก่อน เหตุอันมิชอบด้วยกฏหมายนั้นมาจากรัฐบาลก่อน ที่ว่าไม่ชอบด้วยกฏหมายหมายความว่าอย่างไร บ้านเมืองของเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นั่นหมายความว่าประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งประมุขตามรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ม. 3 ของรัฐธรรมนูญ บอกไว้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นผ่านคณะรัฐมนตรี รัฐสภาและศาล ด้วยเหตุนี้พระมหากษัตริย์กับปวงชนชาวไทย ปวงชนชาวไทยเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจอธิปไตยนั้น นั่นหมายความว่าปวงชนชาวไทยกับพระมหากษัตริย์และการใช้อำนาจอธิปไตยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

เมื่ออำนาจอธิปไตยแบ่งแยกออกเป็น 3 ส่วน คืออำนาจนิติบัญญัติ แสดงออกทางรัฐสภา อำนาจบริหารหรือบังคับใช้กฏหมายแสดงออกผ่านทางคณะรัฐมนตรี อำนาจตัดสินคดีหรืออำนาจตุลาการ แสดงออกโดยศาล เมื่อศาลตามรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยคดีถึงที่สุดแล้วก็คือการใช้อำนาจอธิปไตยแล้ว เมื่อใช้อำนาจอธิปไตยแล้วก็ต้องยอมรับ รัฐบาลไม่ยอมรับรัฐบาลก็เป็นกบฏต่อระบอบประชาธิปไตย

ข้อแรกที่คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คัดค้านเพราะว่าร่าง พ.ร.บ.นั้น ตราขึ้นโดยขัดรัฐธรรมนูญ คราวนี้ก็คัดค้านรัฐบาล เพราะรัฐบาลไม่ยอมรับนับถือศาลรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อตัดสินแล้วย่อมผูกพันองค์กรของรัฐทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล รัฐสภาหรือว่าหน่วยงานของรัฐ องค์กรอิสระใดๆ การที่รัฐบาลปฏิเสธไม่ยอมรับศาลรัฐธรรมนูญก็คือไม่ยอมรับการปกครองโดยกฏหมาย ก็คือไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ ก็คือการที่ประชาชนทั้งหลายจะลุกขึ้นคัดค้านรัฐบาลว่ากระทำการมิชอบด้วยกฏหมายได้

และการที่จะใช้สิทธิของประชาชนนั้นเป็นการใช้สิทธิตาม ม.69 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ชัดเจนว่าถ้าหากว่ามีผู้ใดใช้สิทธิเสรีภาพไปในทางที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือเป็นการทำให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครองโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ประชาชนมีสิทธิที่จะต่อต้านได้โดยสันติ ขอให้พี่น้องพิจารณาให้ดี คำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญเป็นคำพิพากษาตามสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิทธิในหมวดที่ 3 ของรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษานี้ในรัฐธรรมนูญ ม.27 บัญญัติรับรองไว้ชัดเจนว่าสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ และสิทธิขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่ศาลพิพากษาแล้วย่อมผูกพันองค์กรของรัฐ รัฐบาลก็ดี สมาชิกรัฐสภาก็ดีไม่ยอมรับคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญก็เท่ากับไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่าแสวงหาหรือทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยวิถีทางที่ไม่เป็นตามรัฐธรรมนูญ"

 

รัฐบาลนอกรัฐธรรมนูญ ประชาชนมีสิทธิโต้แย้งคัดค้านได้โดยสันติวิธี

"เมื่อสมาชิกสภาของเรา เมื่อรัฐบาลของเรา แสดงออกว่าไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ หมายความว่ารัฐบาลแสดงออกว่าไม่ยอมรับการปกครองโดยกฏหมายเป็นใหญ่ และการอยู่ในอำนาจ อ้างอำนาจหรืออ้างความชอบธรรม ก็คือการทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แล้วเมื่อสั่งตำรวจให้ออกไปทำการจับหรือทำร้ายประชาชนโดยเหตที่ประชาชนเขาทำการต่อต้านโดยอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญโดยสันติวิธีแล้ว การกระทำเช่นนั้นก็ขัดกับรัฐธรรมนูญอีกชั้นหนึ่งแล้ว

ความผิดของรัฐบาล ความผิดของสมาชิกสภาผู้แทนฯเสียงข้างมาก จึงเป็นความผิด 2 ชั้น คือ 1. ละเมิดรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่คราวที่เสนอ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม  2. เมื่อศาลมีคำวินิจฉัย เมื่อประชาชนใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของให้ศาลมีคำวินิจฉัยแล้ว ก็กลับเพิกเฉยกลับปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรม นั่นหมายความว่าเขาเป็นรัฐบาลนอกรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ประชาชนมีสิทธิโต้แย้งคัดค้านได้โดยสันติวิธี

สิทธิอันนี้ได้ใช้แล้ว ได้แสดงออกแล้ว โดยพ่อแม่พี่น้องทั้งหลายที่ได้มาชุมนุมในที่นี้ สิทธิอันนี้ได้แสดงออกแล้วด้วยการแสดงออกไม่ยอมรับอำนาจของรัฐบาลในต่างจังหวัด ถึงขนาดเข้ายึดเอาสถานที่ราชการ แต่ถ้าหากพ่อมี่น้องเหล่านั้น ไปยึดเอาสถานที่ราชการเพื่อที่จะเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ เพื่อเรียกร้องให้หัวหน้าส่วนราชการเหล่านั้นยืนยันให้แน่ชัดว่าจะรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ จะยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างนี้ก็เป็นการกระทำโดยชอบ

ถ้าการกระทำเหล่านั้นเป็นการกระทำเพื่อโต้แย้งคัดค้านรัฐบาลที่ทำการอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ประชาชนทำการได้โดยสันติวิธี ตราบใดก็ตามไม่ใช้กำลังประทุษร้าย ตราบใดก็ตามไม่ใช้อาวุธข่มขู่ ขู่เข็ญว่าหากไม่จะยอมแล้วจะทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างการหรือก้ทรัพย์สินเป็นสิทธิตาม ม.69 ของรัฐธรรมนูญในอันที่จะคัดค้านการทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ"

 

ปฏิเสธศาลคือปฏิเสธกฏหมาย ผู้ที่ปฏิเสธกฏหมาย คือผู้อยู่นอกกฏหมาย

"การที่พ่อแม่พี่น้องมาชุมนุมที่นี้เป็นการแสดงออกซึ่งเจตจำนงค์ทางการเมืองอย่างหนึ่ง เรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับอำนาจยอมรับความชอบธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ ในประเทศใดก็ตามถ้ารัฐบาลไม่ยอมรับอำนาจของศาลแล้วก็เท่ากับรัฐบาลไม่ยอมรับอำนาจของการปกครองโดยกฏหมาย เพราะศาลคือผู้ชี้ว่ากฏหมายมีว่าอย่างไร ปฏิเสธศาลคือปฏิเสธกฏหมาย ผู้ที่ปฏิเสธกฏหมาย คือผู้อยู่นอกกฏหมาย"

 

ให้รัฐบาลมาสาบานที่ราชดำเนิน ยอมรับอำนาจศาลและกฎหมาย

"เมื่อรัฐบาลก็ดี สมาชิกสภาผู้แทนฯ ก็ดี ประพฤติตนเป็นพวกนอกกฏหมาย ประชาชนก็ย่อมใช้อำนาจอธิปไตยบังคับให้เขาเหล่านั้น ยอมก้มหัวให้แก่กฎหมายได้ สิ่งที่พ่อแม่พี่น้องควรจะเรียกร้องคือ หัวหน้ารัฐบาล นายกรัฐมตรี รัฐมนตรีทั้งหลายควรรีบมาสาบานที่ราชดำเนินแห่งนี้ สาบานว่าจะยอมรับอำนาจ สาบานว่าจะปฏิบัติตามกฏหมาย สาบานว่าจะไม่เลี่ยงกฏหมาย สาบานว่าจะไม่หาทางหลบเลี่ยงหรือทำผิดกฏหมายอย่างอื่นอีกต่อไป บางทีประชาชนอาจพอให้อภัยได้

การแสดงออกด้วยการไปพบปะเพื่อนประชาชนชาวไทยและการไปแสดงออกต่อข้าราชการตามกระทรวงทบวงกรมเหล่านั้น ในสายตาผมย่อมเป็นการเรียกร้องให้เขามองเป็นว่าเขากำลังปฏิบัติหน้าที่ภายใต้รัฐบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายแล้ว ย่อมเป็นการชอบธรรมที่จะเรียกร้องให้ส่วนราชการเหล่านั้นมาช่วยกันยืนยันมาช่วยกันแสดงออกว่าเราจะปฏิบัติตามกฏหมาย เราจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เราจะยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

ถ้าหากว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะรักษากฏหมายสิ่งแรกที่ ผบ.ตร. จะต้องเร่งรีบกระทำคือรายงานตัวต่อนายกฯ รองนายก แล้วว่าผมจะปฏิบัติตามคำสั่งของท่านก็ต่อเมื่อท่านจะปฏิญาณตนเสียก่อนว่าจะยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้นผมต้องจับท่านมาดำเนินคดีด้วย

ส่วนประชาชนที่ประท้วงโดยสันติ แสดงออกซึ่งเจตจำนง แสดงออกซึ่งความต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลให้มายอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นการกระทำโดยชอบเป็นการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลซึ่งประพฤติตนนอกกฏหมายโดยวิธีการนอกรัฐธรรมนูญ กลับมาอยู่ในรัฐธรรมนูญเสีย พ่อแม่พี่น้องที่นั่งอยู่ที่นี้และที่อื่นๆ ถ้าอยู่ภายใต้เจตนารมณ์อันนี้นั่นเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะตามรัฐธรรมนูญ ม. 69 บอกไว้ชัดเจนว่าบุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ การที่ท่านทั้งหลายออกมาคัดค้านรัฐบาลที่ปฏิเสธอำนาจศาลจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ เราต้องทำความคิดเห็นนี้ให้แจ้งชัดอยู่เสมอ"

 

เสื้อแดงจะปกป้องประชาธิปไตยต้องมาที่ราชดำเนิน

"เวลานี้พี่น้องเสื้อแดงก็เรียกร้องให้มาร่วมชุมนุมที่สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน ข้อเรียกของเขาคือเรียกร้องให้มาปกป้องระบอบประชาธิปไตย เราต้องบอกพี่น้องเสื้อแดงว่าถ้าจะช่วยกันปกป้องระบอบประชาธิปไตย คือปกป้องไม่ให้รัฐบาลนอกกฏหมายมีอำนาจต่อไป ต้องมาร่วมกันที่ราชดำเนิน

กระบวนการที่จะปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ได้ขยายตัวออกไป นอกจาก รมว.สำคัญในรัฐบาล นอกจากส.ส. แล้ว มีการเผยแพร่ออกไปยังพี่น้องเสื้อแดงในทำนองว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ที่ละเมิดกฏหมายรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ"

 

สาระสำคัญของหลักนิติธรรม คือศาลเป็นผู้วินิจฉัยว่ากฏหมายมีว่าอย่างไร

"เราต้องมาทำความเข้าใจว่าหลักการปกครองโดยกฏหมายหรือที่เรียกว่าหลักนิติธรรมนั้น สาระสำคัญของมันคืออะไร หลักนิติธรรมคือหลักการปกครองโดยถือกฏหมายเป็นใหญ่ ซึ่งมีสาระสำคัญคือ กฏหมายต้องเป็นกฏหมาย และทุกคนเสมอภาคกันต่อหน้ากฏหมาย และส่วนที่สำคัญที่สุดคือ ศาลเป็นผู้วินิจฉัยว่ากฏหมายมีว่าอย่างไร ที่เป็นอย่างนี้เพราะหลักการง่ายๆ คือ สภาเป็นผู้บัญญัติกฏหมาย รัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจบังคับการตามกฏหมาย ศาลเป็นผู้วินิจฉัยว่ากฏหมายนั้นมีเนื้อหาว่าอย่างไร เพราะฉะนั้นเมื่อศาลวินิจฉัยแล้วก็ต้องจบที่ศาล การไม่ยอมรับอำนาจศาลก็คือไม่ยอมรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ยอมรับหลักนิติธรรมอันเป็นสาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตย พ่อแม่พี่น้องต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องเสื้อแดง รวมทั้งคนอื่นๆ ที่ยังไม่เข้าใจและมีข้อสงสัย"

 

หลักการปกครองโดยกฏหมายต้องมีหลักการแบ่งแยกอำนาจ

"เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลเป็นคนบอกว่ากฏหมายว่าอย่างไร อย่างที่รัฐบาลอ้างอยู่ขณะนี้ หรือสภาออกกฏหมายอย่างไรก็ได้แล้วรัฐสภาเป็นผู้ตัดสินเสียเอง อย่างนี้ไม่ใช่หลักนิติธรรมไม่ใช่หลักการปกครองโดยกฏหมาย หลักการปกครองโดยกฏหมายต้องมีหลักการแบ่งแยกอำนาจ รัฐบาลเป็นผู้บังคับใช้กฏหมาย รัฐสภาเป็นผู้ตรากฏหมาย ตรากฏหมายแล้วคนที่มีอำนาจตัดสินคือศาล เพราะถ้าหากว่าเราปล่อยให้รัฐบาลเป็นคนตัดสินทุกเรื่อง รัฐสภาตัดสินทุกเรื่อง เมื่อนั้นก็จะเท่ากับว่าปล่อยให้อำนาจปกครองอยู่ในอำเภอใจอยู่ในความพอใจของคนบางกลุ่มเท่านั้น สิ่งนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย รัฐบาลจึงไม่มีสิทธิที่จะตัดสินว่า อันนี้ไม่ใช่อำนาจของศาล ศาลเท่านั้นที่จะตัดสินว่าอันนี้อยู่ในอำนาจของศาลหรือไม่"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net