พบคนงานเหมืองทองพม่าเป็นโรคปอดจำนวนมาก เผยไม่มีเครื่องมือช่วยกรองอากาศ

คนงานเหมืองทองในเมือง Sinktu และ Thabait Kyin เขตมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า กำลังประสบปัญหาจากโรคติดเชื้อในปอด เนื่องจากต้องทำงานขุดเจาะเหมืองไม่มีอุปกรณ์ช่วยหายใจ

26 พ.ย. 2556 สำนักข่าวโกลบอลโพสต์รายงานว่า ในเขตมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า แม้จะมีเหมืองทองจำนวนมากกว่า 30 เหมือง แต่คนทำงานเหมืองก็ยังมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีนัก พวกเขาต้องใช้เครื่องมือเป็นสว่านลมขึ้นสนิมและระเบิดไดนาไมท์ทำเอง ห้อยตัวด้วยเชือกบางๆ ลงไปใต้พื้นดิน 500 ฟุต ในสภาพเปลือยกายครึ่งตัวมีเพียงผ้าขี้ริ้วป้องกันใบหน้าขณะที่ทำการขุดเจาะหาทองจากหิน

วัด เทย์ (Wat Tay) คนงานเหมืองอายุ 35 ปีจากเมือง Sinktu กล่าวว่าพวกเขาทำการเจาะหินให้แตกด้วย "ปืนอัดแรงดัน" ทำให้ต้องสูดหายใจเอาอนุภาคฝุ่นที่มาจากการแตกตัวของหินเข้าไป พวกเขากลายเป็นโรคติดเชื้อในปอด ซึ่งพวกเขาเรียกกันว่าเป็น "โรคปืนอัดแรงดัน" (gun disease)

ไม่เพียงแค่คนขุดเจาะหินเท่านั้น คนงานกะกลางคืนที่รอขนแร่ทองหรือช่วยเพื่อนร่วมงานอยู่ที่อุโมงค์เหมืองต้องแช่อยู่ในโคลนเป็นเวลานาน หลังจากที่พวกเขาทำงานมาได้สิบปี ปอดของพวกเขาก็เริ่มใช้การไม่ได้ มีส่วนหนึ่งต้องรักษาตัวอยู่ในกระท่อมไม้ไผ่โดยต้องคอยให้ออกซิเจน

"เจ้าของเหมืองทองไม่สนใจปัญหาสุขภาพของพวกเราคนทำงานเหมือง ปัญหาสุขภาพจึงเพิ่มสูงขึ้น พวกเขาไม่เคยจ่ายเงินเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของพวกเรา เราจึงต้องทำกันเอง เช่นการใช้เสื้อคลุมปากตัวเอง หรือซื้อหน้ากากราคาถูกเพื่อกรองฝุ่นที่เราหายใจเข้าไป" วัด เทย์ กล่าว

ก่อนหน้าปี 2554 ซึ่งกลุ่มเผด็จการทหารยังคงปกครองประเทศพม่า กิจการเหมืองแร่ทั้งหมดในพม่าถือเป็นของรัฐบาล แต่หลังจากนั้นเหมืองแร่ก็ถูกขายให้เป็นกิจการของเอกชน เช่นเหมืองแร่ Sinktu ซึ่งมีขนาด 7 ตารางไมล์ (ราว 11 ตร.กม.) มีคนงานกว่า 500 คน

กระทรวงเหมืองแร่ของทางการพม่าในตอนนี้เป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย (non-equity partner) ของบริษัทเหมืองเอกชนซึ่งจะได้รับหุ้นร้อยละ 30 จากการส่งออก กำไร และค่าสัมปทาน ภายใต้กฎหมายเหมืองแร่ปี 2537 แต่ก็กำลังมีการหารือเพื่อชำระกฎหมายนี้เนื่องจากไม่ดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ

โกลบอลโพสต์ระบุอีกว่า พม่าผลิตและส่งออกทองคำน้อยมากเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ ของโลก โดยก่อนหน้าปี 2554 พม่า ผลิตทองคำเพียง 100 กก. ต่อปี แต่หลังจากนั้นก็สามารถผลิตได้มากขึ้นสองเท่าตามความต้องการของโลกและการผ่อนปรนการคว่ำบาตร แต่ก็ยังคงตามหลังจีนอยู่ห่างมากในแง่การผลิต ซึ่งจีนทำได้มากกว่า 360,000 กก. ต่อปี

อย่างไรก็ตาม พม่ามีแหล่งแร่จำนวนมากซึ่งเป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตด้านการส่งออก ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยในพม่าซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการลดค่าเงินดอลลาร์ ทำให้มีคนฉวยโอกาสนี้ขายอัญมณีในราคาที่สูงและหวังจะซื้อคืนหากราคาตกลง

มีการจัดเวทีพูดคุยในพม่าโดยมีรัฐบาลพม่า เจ้าของเหมือง และกระทรวงเหมืองแร่ พยายามเจรจากับนักลงทุนต่างชาติจากบรรษัทต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี โดยมีเป้าหมายต้องการลดระดับความยากจนจากร้อยละ 26 เหลือร้อยละ 16 ภายในปี 2558 โดยการส่งออกทรัพยากรทองคำ อย่างไรก็ตามความต้องการส่งออกมากขึ้น ทำให้ต้องอาศัยแรงงานคนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงชั่วโมงทำงานที่มากขึ้น และความช่วยเหลือทางการแพทย์มากขึ้นด้วย

แม้ว่ามีการผ่านร่างกฎหมายแรงงานในประเทศพม่าแล้ว และองค์การแรงงานระหว่างประเทศก็ได้ยกเลิกข้อจำกัดด้านการลงทุนในพม่า แต่แรงงานยังคงมีสภาพความเป็นอยู่ภายใต้ความเสี่ยง

โกลบอลโพสต์รายงานว่าคนงานเหมืองจะได้รับอาหารเป็นกล้วยหนึ่งหรือสองผลหลังกะทำงาน เพื่อแค่ให้ได้สารอาหารเท่านั้น แต่เจ้าของเหมืองไม่ได้ให้อุปกรณ์ช่วยหายใจแก่คนงาน และคนงานก็ไม่มีเงินพอที่จะซื้ออุปกรณ์เหล่านี้ นอกจากนี้แม้ว่าจะมีกรณีคนเป็นโรคปอดเกิดขึ้นมาก แต่ก็ไม่มีระบบดูแลสุขภาพเพื่อวินิจฉัยสาเหตุของโรคที่คนงานพากันเรียกว่า "โรคปืนอัดแรงดัน"

คนงานที่ป่วยจะได้รับถังออกซิเจนและปล่อยให้ช่วยเหลือตัวเอง โดยที่พวกเขาอ่อนแอเกินกว่าจะหางานใหม่หรือแม้กระทั่งออกจากกระท่อม

คิน โตน เซย (Kwin Tone Sel) คนงานเหมืองในเมือง Sintku อายุ 42 ปี ที่เป็นโรคปอดจนลุกจากเตียงไม่ได้บอกว่า เขาหายใจได้ไม่ดีนัก เวลาเขาหายใจ กล้ามเนื้อช่องท้องจะบีบเกร็งจนเจ็บไปถึงข้างหลัง เขาจึงเจ็บทุกครั้งที่หายใจ เขาเคยได้รับยารักษาวัณโรคสองครั้งแต่ยาก็ไม่มีผลสำหรับเขา

 

 

เรียบเรียงจาก

'Gun disease' afflicts Myanmar's gold miners, Globalpost, 25-11-2013
http://www.globalpost.com/dispatches/globalpost-blogs/rights/gold-mines-myanmar-gun-lung-disease

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท