ทีดีอาร์ไอเผยตลาดซอฟต์แวร์ไทยปีนี้คึกคัก ชี้บิ๊กดาต้าจะมาแรงปีหน้า

นักวิชาการทีดีอาร์ไอเผยตลาดซอฟแวร์ไทยสดใส มูลค่าการผลิตในประเทศสูงเกือบ 4 หมื่นล้าน บริการรูปแบบมัลติแชลแนลมาแรง ระบุการขาดแคลนบุคลากรคือตัวแปรหลัก แนะสถาบันการศึกษาพัฒนาหลักสูตรรองรับการขยายตัวธุรกิจซอฟแวร์

19 พ.ย.2556 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA เปิดเผยผลการสำรวจตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ซึ่งผลิตในประเทศไทยปี 2555/2556 พบว่า มีการเติบโตในภาวะที่ดีมีมูลค่าการผลิตสูงถึง 39,096 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 22.2  โดยจำแนกเป็นซอฟต์แวร์สำเร็จรูปที่มีมูลค่าการผลิตประมาณ 7,962 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 35.5 และบริการซอฟต์แวร์ที่มีมูลค่าการผลิตประมาณ 31,134 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 19.3

ขณะที่ภาพรวมของตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ในปี 2557 นั้น คาดการณ์เบื้องต้นว่าจะมีมูลค่าประมาณ 44,026 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณร้อยละ 12.6  ส่วนตลาดซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว (Embedded system software) ในปี 2557 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 5,864 ล้านบาท หรือมีอัตราเติบโตประมาณร้อยละ 20

นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการ SIPA กล่าวว่า SIPA และ TDRI ร่วมกันสำรวจตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์เป็นปีที่สอง โดยมีการปรับปรุงวิธีการศึกษา ขอบเขตการศึกษา และกรอบนิยามในตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ รวมทั้งซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวให้มีความชัดเจนและถูกต้องมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลการสำรวจที่น่าเชื่อถือ ซึ่งภาคเอกชนและภาครัฐสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ รวมถึงได้มีการสำรวจบุคลากรด้านซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ภายในองค์กร (In-House) ขึ้นเป็นปีแรก โดยในปัจจุบันสัดส่วนการใช้ซอฟต์แวร์ของไทยยังมีน้อยอยู่ที่ประมาณ 18 % แต่ทาง SIPA ตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2559 อัตราการเติบโตในส่วนนี้จะพัฒนาไปถึง 25%

ทางด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI  คาดการณ์สัดส่วนการเติบโตของตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟแวร์ในปี 2557 โดยระบุว่า จะเน้นไปที่ซอฟแวร์สำเร็จรูปซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น เนื่องจากมีการนำแอพลิเคชั่นเข้ามารวมด้วย ขณะที่สัดส่วนการเติบโตของตลาดในภาพรวมใกล้เคียงกับปี 2556 โดยประมาณการเบื้องต้นจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 10 % เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้าค่อนข้างชะลอตัว เป็นเหตุให้ซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามารองรับภาคบริการมีการชะลอตัวตามไปด้วย โดย TDRI จะมีการสำรวจอีกครั้งในอีก 1-2 ไตรมาส ซึ่งจะจำให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนยิ่งขึ้น  อย่างไรก็ตามการเปรียบเทียบขนาดตลาดซอฟต์แวร์ไทยกับต่างประเทศยังไม่สามารถวัดได้ เนื่องจากตัวเลขแต่ละประเทศไม่นิ่ง อีกทั้งยังมีขนาดตลาดและมาตรฐานแตกต่างกัน  ขณะเดียวกันวัตถุประสงค์หลักของการสำรวจในครั้งนี้ เป็นการสำรวจเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของคนไทยในประเทศ

สำหรับภาพรวมตัวเลขการส่งออกของไทยปี 2555 มีสัดส่วนไม่มากนัก โดยพบว่ามีมูลค่าการส่งออกรวม 817 ล้านบาท  แบ่งเป็นบริการซอฟต์แวร์ 575 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในรูปแบบ SI Service ที่มีการขยายฐานในกลุ่มอาเซียน และซอฟต์แวร์สำเร็จรูป 242 ล้านบาท โดยยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกจากความต้องการของตลาดที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เทรนด์ที่มาแรงและกำลังเป็นที่นิยม คือ บิ๊กดาต้า ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลในส่วนของการบริการในรูปแบบมัลติแชลแนลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินทางออนไลน์

ประธาน TDRI ยังกล่าวอีกว่า ตัวแปรหลักของปัญหาอุตสาหกรรมซอฟแวร์คือ การขาดแคลนบุคลากร ซึ่งในปีนี้มีจำนวนบุคลากรที่ต้องการเพิ่มขึ้นถึง 8,136 คน โดยกลุ่มทักษะที่มีความต้องการเพิ่มคือ การออกแบบและเขียนโปรแกรม (Object-Oriented Design and Programming) 34%  ตรวจสอบคุณภาพของซอฟต์แวร์ (Software Quality and Testing) 16% และรับเรื่องและวิเคราะห์ (Requirement Gathering and Analysis) 15% ตามลำดับ โดยเห็นว่า สถาบันการศึกษาควรขยายหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เนื่องจากบริษัทต้องเสียเวลาในการฝึกอบรมพนักงานก่อนเริ่มงาน 6-12 เดือน จึงจะสามารถเริ่มปฏิบัติงานจริงได้ ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่นิยมเปลี่ยนงานบ่อยหรือประกอบอาชีพอิสระ ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการสะสมความรู้และประสบการณ์ อีกทั้งบุคลากรมักกระจุกตัวเฉพาะในกรุงเทพ ส่งผลให้บริษัทที่ต้องอยู่นอกเมืองหาบุคลากรได้ยาก

อย่างไรก็ตาม ประธาน TDRI เชื่อว่าเส้นทางการเติบโตของตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ไทยยังคงเป็นไปอย่างสดใส โดยได้รับอิทธิพลมาจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากภาคเอกชนและภาครัฐมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพิ่มมากขึ้น สอดรับกับการแนวคิดของผู้ประกอบการในวงการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทย ที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท