Skip to main content
sharethis

การเจรจารอบแรกระหว่าง 6 ชาติมหาอำนาจกับอิหร่านในเรื่องการควบคุมนิวเคลียร์สามารถบรรลุข้อตกลงได้ โดยให้อิหร่านลดการใช้ยูเรเนียมและให้อนุญาตคณะผู้ตรวจการเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ และกับการผ่อนปรนการคว่ำบาตร แต่นายกฯ อิสราเอลไม่พอใจ บอกว่าข้อตกลงยังอ่อนเกินไปในการควบคุมอิหร่าน

25 พ.ย. 2556 กลุ่มประชาชนชาวอิหร่านพากันออกมาต้อนรับตัวแทนเจรจาผู้เดินทางกลับประเทศหลังจากเจรจาตกลงเรื่องนิวเคลียร์กับกลุ่มประเทศมหาอำนาจของโลกเป็นผลสำเร็จ ขณะที่นายกรัฐมนตรีอิสราเอลแสดงความไม่พอใจบอกว่าเป็น "ความผิดพลาดครั้งประวัติศาสตร์"

การเจรจาบรรลุข้อตกลงในขั้นแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา  (24 พ.ย.) เมื่อตัวแทนจาก 6 ประเทศมหาอำนาจ คือสหรัฐฯ รัสเซีย จีน ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนีได้หารือกับอิหร่านจนกระทั่งบรรลุข้อตกลงชั่วคราวถือเป็นขั้นแรกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้

อิหร่านได้ยอมรับในข้อตกลงชั่วคราวทำให้มีการจำกัดปฏิบัติการเกี่ยวกับนิวเคลียร์เพื่อแลกกับการผ่อนปรนด้านการคว่ำบาตรคิดเป็นมูลค่าราว 7,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 224,000 ล้านบาท)

ประชาชนชาวอิหร่านผู้ให้การสนับสนุนหลายร้อยคนออกมาต้อนรับการกลับประเทศของตัวแทนเจรจาของอิหร่านที่สนามบินเมห์ราบัด กรุงเตหะรานเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พวกเขาถือดอกไม้และธงอิหร่าน มีการกล่าวชื่นชมว่ารัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอิหร่านว่าเป็น "ทูตแห่งสันติ" และมีการตะโกนคำขวัญว่า "ไม่เอาสงคราม การคว่ำบาตร การยอมแพ้ และการถูกดูหมิ่น"

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู กล่าวว่า ข้อสรุปการเจรจาเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมาไม่ใช่ข้อตกลงในระดับประวัติศาสตร์แต่เป็น "ความผิดพลาดครั้งประวัติศาสตร์" โดยเนทันยาฮูวิจารณ์ว่าข้อตกลงในครั้งนี้ทำให้มีการยกเลิกการคว่ำบาตรที่เคยมีมานานหลายปีและไม่ได้ช่วยลดประสิทธิภาพด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านมากนัก

เนทันยาฮูอ้างว่าอิหร่านมีรัฐบาลที่อันตรายและกำลังจะครอบครองอาวุธที่อันตรายที่สุดในโลก อีกทั้งยังมีความพยายามทำลายอิสราเอล แต่ประเทศอิสราเอลก็มีพรรคพวกมากและพวกเขามีสิทธิที่จะปกป้องตนเองจากสิ่งที่เป็นภัยคุกคาม

ขณะที่ จอห์น เคอร์รี่ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวของเนทันยาฮู โดยบอกว่าข้อตกลงร่วมกันกับอิหร่านจะทำให้อิสราเอลปลอดภัยกว่าเดิม อย่างน้อยก็ภายในช่วง 6 เดือนข้างหน้า เนื่องจากข้อตกลงทำให้พวกเขาสามารถเข้าไปตรวจสอบโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านได้ และเคอร์รี่ยังได้ให้คำมั่นว่าพวกเขาจะไม่ลดการกดดันอิหร่านโดยการผ่อนปรนการคว่ำบาตรเป็นการผ่อนปรนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา กล่าวว่านี่ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการทำให้ทั่วโลกเล็งเห็นความสำคัญของกรณีโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน โอบามากล่าวอีกว่าข้อตกลงนี้มีการจำกัดปฏิบัติการสำคัญของอิหร่านที่น่าจะเป็นการตัดหนทางไม่ให้มีการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้ แต่ก็มีนักการเมืองบางส่วนในสภาสหรัฐฯ ที่ยังคงเป็นกังวลไม่ไว้ใจอิหร่านในแง่นี้ และคิดว่าควรมีการคว่ำบาตรเพิ่ม

ทางด้านโมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอิหร่านหวังว่าข้อตกลงในครั้งนี้จะช่วยทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนชาวอิหร่านกลับคืนมา

"ประชาชนชาวอิหร่านต้องการการเคารพต่อสิทธิและศักดิ์ศรีของพวกเขา มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะคืนความเชื่อมั่นให้พวกเขา และผมว่าหวังว่ากระบวนการในครั้งนี้จะทำให้เกิดผลเช่นนั้น" ซารีฟกล่าว

โดยก่อนหน้านี้กลุ่มประเทศตะวันตกมีความพยายามยับยั้งโครงการพลังงานนิวเคลียร์ของอิหร่านซึ่งเคยหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากสหประชาชาติมาก่อน เพื่อขจัดความเสี่ยงไม่ให้อิหร่านแอบกักตุนแร่ยูเรเนียมเพื่อใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์

 

ผู้นำคนใหม่อิหร่านเน้นเชื่อมสัมพันธ์ประเทศมหาอำนาจ

สำนักข่าวอัลจาซีรา ระบุว่า การทูตระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจเป็นไปได้ด้วยดีหลังจากการเลือกตั้งเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งฮัสซัน รูฮานี จากพรรคแนวคิดอนุรักษนิยมสายกลางได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีโดยรับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น แทนที่ผู้นำชาตินิยมก่อนหน้านี้คือมาห์มูด อาห์มาดิเนจาด โดยรูฮานีมีเป้าหมายต้องการคืนดีกับกลุ่มประเทศมหาอำนาจและทำให้มีการยกเลิกคว่ำบาตร ขณะเดียวกันเขาก็ได้รับการสนับสนุนด้านมวลชนจากอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสุงสุดของอิหร่าน

สำนักข่าวบีบีซี ระบุถึงรายละเอียดข้อตกลงมีใจความสำคัญ 5 ประการคือ ห้ามให้อิหร่านใช้ประโยชน์จากยูเรเนียมเกินร้อยละ 5 ส่วนที่มีอยู่เกินอยู่แล้วให้นำไปทำให้กลับคืนสภาพ "ทำให้กลายเป็นกลาง" ให้อิหร่านอนุญาตให้ผู้ตรวจการเข้าไปสำรวจพื้นที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์ ห้ามการพัฒนาโรงงานอารัคซึ่งเชื่อว่าเป็นโรงงานที่ใช้ผลิตพลูโตเนียม (สารอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์) โดยแลกกับการให้คำมั่นว่าจะไม่มีการคว่ำบาตรในประเด็นที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์อีก 6 เดือนข้างหน้า รวมถึงมีการผ่อนปรนการคว่ำบาตรราว 7,000 ล้านดอลลาร์ ในด้านต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมเหล็กด้วย

การผ่อนปรนดังกล่าวทำให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันในประเทศได้มากขึ้น ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นการลดความเสี่ยงในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งทางบีบีซีเปิดเผยว่าหลังจากการบรรลุข้อตกลงรอบแรกในคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็ทำให้ราคาน้ำมันโลกปรับตัวลดลงในวันจันทร์

 


เรียบเรียงจาก

Iranian nuclear deal sparks war of words, Aljazeera, 25-11-2013
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2013/11/iranian-nuclear-deal-sparks-war-words-20131124142141183840.html

Iran welcomes nuclear deal which Israel calls 'mistake', BBC, 25-11-2013
http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-25083875

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net