Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อไม่กี่อาทิตย์มานี้ นิตยสารอีโคโนมิสต์ได้ลงเรื่องโจ๊กเกี่ยวกับคอรัปชั่นเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะขำหรือไม่นั้นก็ขอให้พิจารณากันต่อไป

เรื่องมีอยู่ว่ามีข้าราชการจีน ข้าราชการอินเดีย และข้าราชการแอฟริกัน เดินเข้ามาเจอกันในบาร์โดยบังเอิญ ปรากฏว่าทั้งสามต่างจำกันได้ว่าได้เคยเจอคนอื่นๆมาหลายครั้งแล้วในบรรดางานประชุมต่างๆ ของยูเอ็น เลยตกลงกันว่าจะนัดสังสรรค์กันเอง เริ่มด้วยการไปที่บ้านของข้าราชการจีน

ทั้งหมดนั่งเครื่องบินจากปักกิ่งไปลงที่สนามบินต่างจังหวัด จากนั้นก็นั่งรถบนถนนหกเลนใหม่เอี่ยมไปยังบ้านใหญ่โอ่อ่าหลังหนึ่งในเขตชานเมือง พอเดินดูบ้านเสร็จเรียบร้อย ข้าราชการแอฟริกันก็ชมเปาะว่า "ฮือ บ้านคุณนี่สวยไม่ใช่เล่น เงินเดือนข้าราชการจีนนี่มันพอสร้างได้ขนาดนี้เลยหรือ" ข้าราชการจีนจึงบอกว่า "มันจะยากอะไร พวกคุณเห็นถนนที่พวกเราขับมาไหมละ ผมก็แค่ฮุบเงินโปรเจกต์มาส่วนหนึ่งเท่านั้น" ข้าราชการของอีกสองประเทศร้องฮ้อขึ้นมาพร้อมกันแล้วก็ต่างผงกหัวด้วยความนับถือ ก่อนจะสังสรรค์ด้วยความรื่นเริงกันต่อไป

อีกปีหนึ่งทั้งสามนัดเจอกันอีกที่บ้านของข้าราชการอินเดีย คราวนี้ทั้งสามต้องนั่งเครื่องบินจากนิวเดลีไปลงต่างจังหวัดแล้วก็นั่งรถไปตามถนนสายยาวสภาพย่ำแย่และเต็มไปด้วยหลุมบ่อ ก่อนจะไปถึงคฤหาสถ์มโหฬารของข้าราชการอินเดีย ข้าราชการจีนเป็นฝ่ายประหลาดบ้าง "บ้านคุณมโหฬารจริงๆ เงินข้าราชการอินเดียมันพอสร้างได้ขนาดนี้เลยเหรอ" ข้าราชอินเดียจึงตอบว่า "มันจะยากอะไร พวกคุณเห็นถนนที่พวกเราขับมาไหมละ ผมก็แค่ฮุบเงินโปรเจกต์มาส่วนหนึ่งเท่านั้น"

ปีต่อมา ทั้งสามตกลงไปเที่ยวบ้านข้าราชการแอฟริกัน โดยทั้งสามต้องต่อเครื่องบินจากสนามบินนานาชาติไปลงที่สนามบินเล็กๆแห่งหนึ่งกลางป่า แล้วก็ยังต้องต่อเฮลิคอปเตอร์จากสนามบินนั้น เพื่อบินข้ามผืนป่าทึบนานนับชั่วโมงกว่าจะไปถึงสิ่งปลูกสร้างที่เหมือนปราสาทราชวังอันหรูหรามหึมา คราวนี้ทั้งข้าราชการจีนและอินเดียต่างประสานเสียงกันถามว่าข้าราชการแอฟริกันเอาเงินที่ไหนมา สร้างบ้านได้อย่างกับวังเช่นนี้ ข้าราชการแอฟริกันหัวเราะหึๆ ก่อนจะบอกว่า "มันจะยากอะไร ก็ระหว่างเดินทางมานี่ พวกคุณได้เห็นแม้แต่ถนนสักเส้นไหมละ"

ก็เป็นอันจบไปสำหรับเรื่องโจ๊กคอร์รัปชัน ทีหลังทราบมาว่าเรื่องนี้เป็นโจ๊กในอินเตอร์เน็ตมานานเป็นสิบปีแล้ว เพียงแต่เมื่อก่อนสามประเทศที่ใช้จะเป็นญี่ปุ่น อิตาเลียน และจบด้วยข้าราชการบราซิล อย่างไรก็ตาม จะเป็นประเทศไหนก็แล้วแต่ ดูเหมือนทุกเรื่องจำเป็นต้องมีการคอร์รัปชันโปรเจกต์ก่อสร้างเป็นตัวดำเนินเรื่องทั้งสิ้น สอดคล้องกับงานศึกษาของ Transparency International ที่บอกว่าคอร์รัปชันนั้น ชอบที่สุดก็คือโปรเจกต์งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพราะมันมีข้อดีไล่เรียงกันได้เป็นสิบข้อ กล่าวคือ

หนึ่ง งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมักเป็นโปรเจกต์ใหญ่ ทุนก่อสร้างมหาศาล เช่น เขื่อน ถนน โรงไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม ดังนั้นเวลาจะบวกค่าสินบน ค่าใต้โต๊ะเข้าไปในค่าก่อสร้าง ก็มักดูไม่ค่อยปูดโปนให้ใครผิดสังเกต

สอง โปรเจกต์พวกนี้มักมีลักษณะต่างๆกันไปทุกโปรเจกต์ ดังนั้นจึงหามาตรฐานเทียบเคียงยาก การจะพิจารณาราคาว่าแพงเกินไปหรือไม่ จึงทำได้ยาก

สาม โปรเจกต์มักต้องตกอยู่ภายใต้กฎระเบียบสารพัดของรัฐ มีใบอนุญาตที่ต้องขอต้องออกมากมาย จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้ขูดรีด

สี่ การก่อสร้างในโปรเจกต์ต้องมีการจ้างต่อกันไปหลายทอดสำหรับงานในแต่ละส่วน ดังนั้นในแต่ละทอดจึงถือเป็นโอกาสให้มีการเรียกหรือเสนอสินบนเพื่อแลกกับโอกาสในการเข้ามารับงานต่อไปได้

ห้า โปรเจกต์เหล่านี้มีหลายเฟส ซึ่งแต่ละเฟสก็ต้องมีคนทำ คนประเมิน ต่างๆกันไป จึงเป็นการยากที่หาผู้ชำนาญการที่จะสามารถควบคุมดูแลโปรเจกต์ทั้งหมดได้ด้วยตัวคนเดียว แต่แล้วพอต่างคนต่างคุมก็เลยต่างคนต่างโกง

หก ความยุ่งยากซับซ้อนของงานโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ยากจะชี้ชัดว่าส่วนไหนจุดไหนทำให้เกิดเหตุอะไร เวลามีอุบัติเหตุเพราะความบกพร่องอันเกิดจากคอร์รัปชันขึ้นมา จึงจับคนผิดแบบชัดๆไม่ได้ เพราะคนที่รับงานในแต่ละส่วนต่างก็มีข้ออ้างเชิงเทคนิคที่ซับซ้อนจนฟังขึ้นทั้งนั้น

เจ็ด โปรเจกต์ขนาดใหญ่อย่างนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อโอกาสมาถึงบริษัทจึงต่างต้องทุ่มจ่ายคอร์รัปชันกันหมดหน้าตักเพื่อให้ได้โปรเจกต์ ไม่งั้นก็ต้องอดอีกนาน

แปด งานก่อสร้างพวกนี้ มักต้องสร้างทับกันเป็นลำดับไปและมีส่วนที่ถูกกลบคลุมอยู่มาก ดังนั้นจะทำผิดสเป็กอย่างไร บางครั้งคนก็ไม่เห็น ตรวจสอบไม่ได้

เก้า โดยวิถีปฏิบัติในวงการก่อสร้าง รายละเอียดของงานก่อสร้างและออกแบบต่างๆ มักต้องถูกเก็บรักษาไว้เป็นความลับ ดังนั้นบริษัทพวกนี้มักอ้างความลับเพื่อปกปิดข้อมูลที่ผิดปกติ

สิบ คนในวงการก่อสร้างนั้นยอมรับเสียแล้วว่างานใหญ่อย่างนี้ต้องมีแป๊ะเจี๊ยะ จนต้นทุนสำหรับติดสินบนนั้นถูกคิดรวมไปในราคาเรียบร้อย และการจ่ายสินบนก็กลายเป็นวิถีปฏิบัติทั่วไป ดังนั้นใครที่คิดจะสุจริต ก็จะเสียเปรียบให้กับคู่แข่งที่ไม่เคร่งเท่า สุดท้ายระบบจึงทำให้ทุกคนต้องยอมจำนนต่อคอร์รัปชันอย่างเสมอหน้าหากยังคิดจะอยู่ในการแข่งขัน

นอกจากนั้น ข้อดีสุดท้ายที่ตำราไม่ได้บอกก็คือ โปรเจกต์เหล่านี้จะโกงกันอย่างไรสุดท้ายก็ยังเหลือกากให้เห็น ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงไม่เดือดร้อน เพราะถือว่าอย่างน้อยก็ได้ของ จึงไม่มีใครนึกอยากตรวจสอบหรือต่อต้าน แต่ก็ไม่แน่เหมือนกัน เพราะจากเรื่องโจ๊กที่ยกมาก็จะเห็นได้ว่าถ้าปล่อยให้โกงกันหนักๆ เข้า ใครจะไปยืนยันได้ว่าข้าราชการท่านจะพอใจเป็นแบบข้าราชการจีนหรือแม้แต่ข้าราชการอินเดียได้ตลอดไป สุดท้ายถ้าท่านเล่นแอฟริกันสไตล์ขึ้นมา เราก็อาจจะไม่ได้เห็นแม้แต่เศษซากของไว้ดูต่างหน้าเลยด้วยซ้ำ

ไม่เชื่อก็จับตาดูงบค่าจัดสัมมนา จัดนิทรรศการ และประชาสัมพันธ์ต่างๆ นานาของโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐานสองล้านล้านที่ ครม.เพิ่งอนุมัติวงเงินไป 400 ล้านบาทนั่นไว้ให้ดีก็แล้วกัน...ว่าใช้ไปแล้วจะเหลือซากอะไรไว้ให้เราดู

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net