Skip to main content
sharethis
 

“7 คน ถูกบริษัททุ่งคำฟ้องร้อง 70 ล้านบาท อีก 13 คน รวมคนตาย 1 คน ถูกฟ้อง 50 ล้านบาท รวมทั้งคดีอาญาข้อหาบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ รวมชาวบ้านทั้งหมดที่ต้องคดี 20 คน”

นี่หรือค่าตอบแทนจากปัญหา ความเจ็บป่วย และความทุกข์ตลอด 6 ปีของชาวบ้านในตำบลเขาหลวง ที่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากหน่วยงานราชการต่างๆ ที่รับผิดชอบ 

 
1.
เมื่อชาวบ้าน 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทองตัดสินใจลุกขึ้นมาป้องป้องชุมชนของตนเองด้วยทางสุดท้าย ตามมติของประชาคม 6 หมู่บ้าน ในการจัดทำข้อบัญญัติชุมชนห้ามไม่ให้รถบรรทุกหนักเกิน 15 ตันขนสารพิษ เช่น ไซยาไนด์ ขับผ่านชุมชนก่อนได้รับอนุญาตจากกรรมการหมู่บ้าน และช่วยกันก่อสร้างกำแพงบนถนนสาธารณะในหมู่บ้าน โดยการดำเนินตามข้อบัญญัติชุมชนในครั้งนี้ได้ผ่านการรับรู้ของข้าราชท้องถิ่นทุกระดับและผ่านตามขั้นตอนขององค์กรปกครองส่วนท้อนถิ่น
 
แต่กติกาชุมชน และสิทธิอันชอบธรรมนั้นกลับนำมาซึ่งคดีความ การใช้กองกำลังบุกเข้ามาทำลายกำแพงของชาวบ้านถึง 2 ครั้ง การข่มขู่วางระเบิด และการก่อความไม่สงบในหมู่บ้าน เพื่อทำลายขวัญกำลังใจของชาวบ้านไม่ให้รวมกลุ่มกันเพื่อต่อต้านการทำเหมืองทองคำในพื้นที่ ทั้งยังมีคำถามจากคนบ้านไกลที่ไม่ได้รับรู้สภาพปัญหาอยู่เนืองๆ ว่า “ทำไมถึงต่อต้าน ทำไมเพิ่งมาต่อต้าน”
 
 
สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ย้อนเล่าว่า ปี 2535 นายหน้าที่ดิน 2 คน ขยับตัวเข้าหมู่บ้าน เพื่อขอซื้อที่ดินจากคนในหมู่บ้าน โดยอ้างว่าจะซื้อที่ดินไปปลูกไม้ยืนต้น ในเวลานั้นมีชาวบ้านขายที่ดินมือเปล่าที่ไม่ได้ทำเกษตรไป 8 ราย ราคาเพียงไร่ละ 1,000 บาท โดยมองว่าเป็นเรื่องที่ดีหากที่ดินขายไปแล้วจะมีการปลูกไม้ใหญ่เพิ่มขึ้น
 
ต่อมาในปี 2540 ชาวบ้านถึงรู้ว่าจะมีการทำเหมืองทองคำบนภูเขาที่ชาวบ้านใช้หาอยู่หากินมาเนิ่นนาน โดยเจ้าหน้าที่จากเหมืองทองคำและข้าราชการหน่วยงานต่างๆ ใช้คำว่า เหมืองทองคำจะพัฒนาชุมชน สาธารณะประโยชน์ และสถานบริการในชุมชนให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ไม่เคยได้ให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบที่จะเกิดจากการทำเหมืองทองแม้แต่น้อย
“เป็นไปไม่ได้ที่ข้าราชการจะไม่รู้ถึงผลกระทบจากการทำเหมืองทอง แต่ สปก. (สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) กับป่าไม้ จังหวัด ก็ยังจะเอาที่ป่าสปก.และป่าอนุรักษ์ไปให้ทุ่งคำทำเหมือง” สุรพันธ์ กล่าว
 
หลังจากที่เหมืองเปิดดำเนินการ 2 ปี ชาวบ้านได้รับผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างมากมาย จึงเริ่มส่งหนังสือร้องเรียนขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยราชการทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบ 
 
ช่วงเวลานั้นมีการตรวจพบการปนเปื้อนของไซยาไนด์และสารโลหะหนักในเลือดของชาวบ้านมากกว่า 400 ราย และความเจ็บป่วยที่แพทย์ระบุว่า เกิดจากไซยาไนด์ รวมทั้งการปนเปื้อนในแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม แต่ทุกหน่วยงานไม่มีใครกล้าระบุว่า เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมือง
 
 
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่พบนั้นก็นำไปสู่ มติ ครม. เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ปี 2554 ที่สั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการขยายพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตร ของ บริษัททุ่งคำ แปลงที่ 104/2538 พื้นที่ประมาณ 291 ไร่ บนภูเหล็ก และแปลงอื่นๆ ไว้ก่อน จนกว่าจะได้ข้อสรุปของสาเหตุการเกิดสารปนเปื้อน และให้จัดทำผลการประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน 
 
แต่ผ่านมาจนปัจจุบัน การดำเนินการตามคำสั่งมติ ครม. ที่ให้หาข้อสรุปของสาเหตุการเกิดสารปนเปื้อน และให้ประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ยังไม่เคยเกิดขึ้น 
 
รัฐบาลโดย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานยังเพิกเฉย และลอยตัวจากปัญหา ในขณะที่ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ยังรุกคืบเดินหน้ากว้านซื้อที่ดินของชาวบ้านในตำบลนาโป่ง ซึ่งบริษัทกำลังขอประทานบัตรแปลงใหม่ ทำให้ชาวบ้านหลายรายที่ขายที่ดินต้องออกไปรับจ้างเกี่ยวข้าวในตัวจังหวัด เปลี่ยนวิถีชีวิตเกษตรกรรมไปเป็นแรงงานรับจ้าง และท้ายที่สุดก็ขอขยายพื้นที่ประทานบัตรเพื่อทำเหมืองผ่านขั้นตอนของหน่วยงานราชการระดับต่างๆ โดยปิดกั้นชาวบ้านไม่ให้มีส่วนร่วมได้อย่างอุกอาจหน้าตาเฉย
 
2.
“ปัญหาของคนใน 6 หมู่บ้าน ตำบลเขาหลวง 1,066 ครอบครัว 3,737 คน ที่เจ็บป่วย น้ำกินน้ำใช้ต้องซื้อ และยังต้องกินอาหารปนเปื้อนอยู่ทุกวัน อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยไซยาไนด์ นี่คือ บทเรียนที่สังคมควรจะตระหนักถึงผลกระทบจากการทำเหมืองที่เหมืองและรัฐไม่เคยรับผิดชอบ ซึ่งประชาชนในจังหวัดเลยไม่ควรเพิกเผยต่อปัญหานี้เพราะรู้สึกว่าไม่ใช่ปัญหาของตนเอง เพราะความเสี่ยงจากการปนเปื้อนสารเคมีที่ไหลไปตามลำน้ำไม่ได้จำกัดอยู่เพียง 6 หมู่บ้านเท่านั้น” พรทิพย์  ธงชัย ระบายความอัดอั้นตันใจ
 
ขยายความตามสภาพพื้นที่ของตำบลเขาหลวง ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ ทำให้มีลำห้วย ลำห้วยสาขา ลำราง หลายสายไหลผ่านพื้นที่รอบเหมืองทองคำ บางลำห้วยไหลผ่านบริเวณที่ตั้งเขื่อนไซยาไนด์ที่บรรจุน้ำปนเปื้อนไว้นับร้อยไร่ รวมถึงเหตุการณ์รั่วไหลของสันเขื่อนไซยาไนด์ ทำให้น้ำจากเขื่อนไหลลงสู่ที่นา แหล่งน้ำสาธารณะ ลำห้วย และแหล่งน้ำบาดาล ของชาวบ้านหลายครั้ง
 
 
ความสุ่มเสี่ยง คือ ลำห้วยหลักๆ ได้แก่ ห้วยเหล็ก ห้วยดินดำ ห้วยเลี้ยงควาย ซึ่งไหลลงสู่ ห้วยผุก ลำห้วยฮวย ระยะทางรวมประมาณ 6 กิโลเมตร จากลำห้วยฮวยไหลไปลงแม่น้ำเลย บริเวณบ้านห้วยโตก ประมาณ 10 กิโลเมตร ก่อนแม่น้ำเลยจะไหลลงบรรจบกับแม่น้ำโขงอีก 100 กิโลเมตร ที่บริเวณบ้านปากคาน ต.ปากตม อ.เชียงคาน ในเวลานี้มีความน่ากังวลหรือไม่ว่า ไซยาไนด์และสารโลหะหนักที่ไหลลงไปตามกระแสน้ำ อาจจะปนเปื้อนในแหล่งน้ำและพื้นที่เกษตรกรรมในอาณาบริเวณกว้างขวางกว่า 6 หมู่บ้านไปมากแล้ว และสุดท้ายการฟื้นฟูมลพิษจากการทำเหมือง การรักษาความเจ็บป่วยของชาวบ้านจากการสะสมสารพิษที่ไม่สามารถเรียกร้องให้นายทุน หรือหน่วยงานรัฐใดแสดงความรับผิดชอบ 
 
ซ้ำร้ายแม้ว่าเหมืองทองคำจะปิดกิจการ เหลือเพียงภูเขาที่เสื่อมสภาพ แต่เขื่อนไซยาไนต์ก็ยังคงดำรงอยู่ในพื้นที่ไปนานเท่านาน ทั้งหมดทั้งมวลก็จะตกภาระของประชาชนทั้งประเทศที่รัฐจะต้องนำเงินภาษีมาใช้ในการฟื้นฟู
 
“ความจริงในทุกๆ วัน ชาวบ้านยังคงได้รับไซยาไนต์และโลหะหนักเข้าสู่ร่างกาย ในทุกวันเรากินข้าวปลาอาหารปนเปื้อน ป่าไม้ ภูเขา แหล่งน้ำ ที่ทุกคนเป็นเจ้าของยังคงปนเปื้อนและสมสมสารพิษ นี่คือความพยายามในการปกป้องทรัพยากร และเป็นปัญหาของคนเมืองเลยทั้งจังหวัดที่พวกเรากำลังต่อสู้อยู่” พรทิพย์ กล่าว 
 
คำถามใหญ่ต่อ หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ คนเมืองเลย และสังคมไทย ในวันนี้ คือ การต่อสู้คัดค้านเหมืองแร่ทองคำ การตั้งกำแพงของชาวบ้านมีความชอบธรรมหรือไม่?
 
หากภาพสะท้อนที่ผ่านมา จากการต่อสู้ตามสิทธิชุมชนของคนในหมู่บ้าน กับอิทธิพลและอำนาจของทุน ซึ่งถูกละเลยโดยรัฐ ได้แสดงชัดแจ้งแล้วถึงการละเมิดสิทธิชุมชน การละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่สร้างความเจ็บปวดซ้ำซากจากกระบวนการพัฒนาของรัฐและนักลงทุนที่ดำเนินกิจการการอย่างไร้ความรับผิดชอบ 
 
การต่อสู้ของชาวบ้านเพื่อรักษาสิทธิที่ประชาชนสามารถเลือกได้ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีจะดำเนินต่อไปอย่างไร ณ เวลานี้ ก็คงไม่ต้องมีอีกแล้วกับคำว่า “เป็นกลาง” 
 
นี่คือ “ความช่วยเหลือ” ที่นักต่อสู้ในหมู่บ้านร้องขอ
 
 
3.
‘กำแพง’ สิ่งก่อสร้างเล็กๆ ที่คนเล็กๆ รวมกลุ่มกันสร้างขึ้นมา แต่ผลของมันใหญ่โตมโหฬาร คือทำให้บริษัททุ่งคำ ไม่สามารถขนย้ายสารเคมีและเครื่องจักรที่ต้องใช้ในกิจการเหมืองแร่ทองคำได้ นับตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 56 เป็นต้นมา จวบจนปัจจุบัน ที่ส่งผลให้ชาวบ้านถูกฟ้องร้องรวมทั้งสิ้น 4 คดี
 
“วันนี้ในหมู่บ้าน เราไม่ได้ยินเสียงเครื่องจักร ไม่ได้ยินเสียงจากโรงประกอบโลหกรรม ไม่ได้ยินเสียงเครื่องสูบน้ำที่บริษัทเคยใช้สูบน้ำจากบ่อและน้ำบาดาลอยู่เป็นประจำทุกวันวันละไม่ต่ำว่า 2,400 ลูกบาศก์เมตร
 
“ความเปลี่ยนแปลงที่พวกเราสังเกตเห็น คือ น้ำบาดาลซึ่งเป็นน้ำซึมน้ำซับไหลเอ่อขึ้นมาอาบท่วมบนผิวดินในผืนนา  เหมือนเหตุในกาลก่อนที่ผืนนาดังกล่าวเคยมีน้ำอุดมสมบูรณ์ตลอดปี ให้ข้าวไม่ต่ำกว่า 40-50 กระสอบ ก่อนที่จะมีเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำเข้ามาดำเนินกิจการ” เสียงสนทนาของคนในหมู่บ้าน 
 
ความจริงปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่สอง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2555 หลังจากเขื่อนกักเก็บกากไซยาไนต์ของบริษัทพังทลายลง และถูกหน่วยงานรัฐสั่งปิดกิจการชั่วคราวเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน น้ำจากบ่อบาดาลได้ไหลอาบลงสู่ที่นาผืนนี้เช่นกัน ซึ่ง 6 ถึง 7 ปีก่อนหน้านั้น ชาวบ้านไม่เคยได้เห็นน้ำบาดาลเอ่อเข้าที่นามาก่อนเลย 
 
แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นานหลังจากก่อกำแพง เสียงเครื่องจักรกลจากโรงงานประกอบโลหกรรมที่เคยดังสนั่นในเวลากลางค่ำกลางคืน ถูกแทนที่ด้วยเสียงร้อง เสียงขันของนก หนู กา หรือเหล่าสัตว์ปิกที่หากินในเวลากลางคืน มีเสียงจิ้งหรีดขับกล่อมความเงียบสงัดที่หวนกลับคืนมาสู่หมู่บ้านอีกครั้ง
 
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้บุคคลภายนอกไม่อาจรับรู้ได้ นอกจากชาวบ้านใน 6 หมู่บ้านรอบพื้นที่ทำเหมืองแร่ทองคำที่รับรู้ได้ถึงการสูญหายและกลับคืนมา
 
สภาวะสุขสงบเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านใน 6 หมู่บ้านมั่นใจในเหตุผลมากขึ้นถึงการต่อสู้กับธุรกิจอุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ 
 
หลังจากทำบุญให้แก่ภูเขาถึง 3 ลูกที่ต้องสูญเสียไปในชื่อบุญว่า “ทำบุญภูทับฟ้า สืบชะตาภูซำป่าบอน หาบคอนภูเหล็ก” จนนำไปสู่การก่อสร้างกำแพงตามมติของที่ประชุมชาวบ้านจาก 6 หมู่บ้าน
 
การเดินหน้ายกต่อไปนำโดยชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 322  คน ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องร้องต่อบุคคลและหน่วยงานที่ทำให้เกิดการสูญเสีย หรือสร้าง หรืออนุญาตให้เกิดการกระทำที่ส่งผลต่อความเสียหายกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเป็นตัวแทนของชาวบ้านที่ร่วมคิดร่วมสนับสนุนอีกกว่า 600 คนที่ช่วยกันสละเงินเพื่อเป็นค่าโดยสารรถ และค่าอาหารการกินระหว่างเดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองในกรุงเทพฯ 
 
 
ในการนี้ จะมีการไปยื่นคำร้องต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้มีการไต่สวนบริษัททุ่งคำ บริษัทที่ปรึกษา ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และข้าราชการตำรวจจังหวัดเลย ที่กระทำการปิดกั้น กีดขวางไม่ให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินโครงการเหมืองแร่ทองคำของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าร่วมประชุมในเวที พลับปิพ สโคปิ้ง (Public Scoping) ตามขั้นตอนของการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ที่บริษัททุ่งคำ และบริษัทที่ปรึกษาได้จัดขึ้น
 
เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556  ซึ่งถือว่าเป็นการล่วงละเมิดสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชนอันชอบธรรมที่ถูกบัญญัติไว้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการสิทธิฯ จะดำเนินการไต่สวนในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 นี้ที่ศาลากลาง จังหวัดเลย
ชาวบ้านตั้งคำถามและร่วมกันยืนยันอีกครั้งว่า “เราทำผิดอะไร การดำเนินการทั้งหมดของชาวบ้าน 6 หมู่บ้านรอบพื้นที่โครงการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำ เป็นการกระทำของคนตัวเล็กๆ รวมตัวกันเป็นชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ นั้น เป็นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมที่บัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเพื่อรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อม”
 
ไล ภักมี วัย 75 ปี วันนี้มีลูก 4 คน มีหลาน 9 คน มีเหลน 10 สามีตายไปสิบกว่าปีก่อน แม่ใหญ่เล่าว่า เลี้ยงลูกมาได้เพราะหมู่บ้านเราเคยอุดมสมบูรณ์ด้วยข้าว ปลา อาหาร ภูเขา ป่าบอน ทั้งหมดล้วนให้อาหารที่หากินสร้างรายได้มาเนิ่นนาน แต่หลังจากมีเหมืองทองคำไม่นานทุกอย่างก็เปลี่ยนไป 
 
“ข้าวปลาอาหารของป่ากินไม่ได้ เก็บไปขายก็ไม่มีใครซื้อ สงสารก็แต่ลูกหลาน แม่อยู่มาได้ 75 ถึงจะเจ็บป่วยมีไซยาไนด์ ปรอท ตะกั่วในเลือด แต่ไม่นานก็ตาย แต่ลูกหลานเราจะอยู่ต่อไปอย่างไร?
 
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 ชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ตำบลเขาหลวงในนาม กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ได้พกพาความเดือดร้อนเจ็บช้ำเดินทางออกจากหมู่บ้านมุ่งสู่เมืองหลวงอีกครั้ง
 
พวกเขา 322 คน ร่วมกันเป็นโจทก์เพื่อยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง (ถนนแจ้งวัฒนะ) 4 หน่วยงานรัฐ ได้แก่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ และกระทำการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนใบประทานบัตรเลขที่ 26971/15558, 26972/15559, 26968/15574, 26969/15575 และ 26970/15576  ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ที่ 1/2552 และคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรม คำขอที่ 1/2555 ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด รวมทั้งเพิกถอนหนังสือยินยอมให้เข้าใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน 
 
นี่คือความยุติธรรมทางสุดท้ายที่พวกเขาคาดหวัง
 
 
0000
 
แถลงการณ์กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ๖ หมู่บ้าน
ต่อกรณีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อดำรงไว้ซึ่งสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน
 
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าราษฎรจากพื้นที่ ๖ หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด  ผู้ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ  อันประกอบด้วย หมู่บ้านห้วยผุก หมู่ ๑  หมู่บ้านกกสะทอน หมู่ ๒  หมู่บ้านนาหนองบง หมู่ ๓  หมู่บ้านแก่งหิน หมู่ ๔  หมู่บ้านโนนผาพุงพัฒนา หมู่ ๑๒  หมู่บ้านภูทับฟ้าพัฒนา หมู่ ๑๓  ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย  รวม ๑,๐๖๖ ครอบครัว  จำนวนประชากรทั้งสิ้น ๓,๗๓๗ คน  โดยพบว่า
 
วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐  กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่มีหนังสือให้อุตสาหกรรมจังหวัดเลยทำการเปรียบเทียบปรับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด  เนื่องจากได้ปล่อยให้มีปริมาณสารไซยาไนด์เจือปนในกากแร่ก่อนนำไปกักเก็บในบ่อกากแร่สูงถึง ๖๒ PPM  ซึ่งตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)  กำหนดไว้ไม่เกิน ๒ PPM เท่านั้น  (หลังจากนั้นบริษัท ทุ่งคำ จำกัด  เสนอขอแก้ไขรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA))
 
วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๑  จังหวัดเลยแต่งตั้งคณะทำงานเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพน้ำในบริเวณโดยรอบเหมือง  ตามคำสั่งที่ ๑๖๖๑/๒๕๕๑  ผลการวิเคราะห์พบว่าสารหนู  แคดเมียม  และแมงกานีสเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
 
วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลยออกประกาศ  ฉบับที่ ๑/๒๕๕๒  เพื่อเตือนให้ประชาชนระมัดระวังการอุปโภคบริโภคน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย  จากผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำของกรมควบคุมมลพิษในพื้นที่ตำบลเขาหลวง  เนื่องจากตรวจพบสารหนู  แคดเมียมและแมงกานีสเกินค่ามาตรฐาน  โดยเตือนว่าไม่ควรนำน้ำมาดื่มหรือใช้ประกอบอาหารโดยตรง  เป็นเหตุให้ราษฎรทั้ง ๖ หมู่บ้านรอบเหมืองทองคำต้องซื้อน้ำในการอุปโภคและบริโภคนับแต่นั้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน
 
เดือนมีนาคม ๒๕๕๓  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลยออกประกาศ  ฉบับที่ ๑/๒๕๕๓  ตามที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลยและโรงพยาบาลวังสะพุงได้ร่วมกันเก็บตัวอย่างหอยขม  ปลาไหล  ปลากด  ผักกูด  ข้าวสารขัดสี  และข้าวกล้อง  ที่เก็บจากลำห้วยเหล็ก ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง  ผลการตรวจวิเคราะห์พบว่าหอยขมที่เก็บจากต้นลำห้วยเหล็กมีปริมาณสารหนูสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน  ให้ประชาชนงดบริโภคหอยขม 
 
วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย  และโรงพยาบาลวังสะพุง จังหวัดเลย  แจ้งผลการตรวจหาสารไซยาไนด์  ปรอท  ตะกั่วในเลือดของประชาชนจำนวนกว่า ๗๕๘ ราย  พบผู้มีสารไซยาไนด์และสารปรอทในเลือดเกินค่ามาตรฐาน  จำนวน ๑๒๔ ราย  และ ๕๐ ราย  ตามลำดับ  ส่วนสารตะกั่วในเลือดถึงแม้จะไม่พบผู้ป่วยเกินค่ามาตรฐาน  แต่พบว่ามีประชาชนมีสารตะกั่วในเลือดเป็นจำนวนมาก
 
และในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔  คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ทำการชะลอการขยายพื้นที่การทำเหมืองในพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตรแปลงใหม่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด  ไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุปของสาเหตุการเกิดสารปนเปื้อน   และทำการการประเมินผลความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน   และทำการประเมินผลด้านสุขภาพหรือ  HIA
 
วันที่ ๒๖ – ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๕  สันเขื่อนของบ่อเก็บกักกากไซยาไนด์ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด  ด้านทิศเหนือเกิดการทรุดตัวและพังทลายลง  โดยเกิดขึ้นตอนกลางของคันทำนบดินที่บดอัดแน่น  เป็นระยะทางยาว ๑๕ – ๒๐ เมตร  ลึกประมาณ ๕ เมตร  
วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๕  และวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๖  บริษัท ทุ่งคำ จำกัด  ได้ละเลยคำสั่งตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔  ที่ให้ชะลอการขยายพื้นที่การทำเหมืองหรือการขอประทานบัตรแปลงใหม่  โดยทำการจัดเวทีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping)  เพื่อจัดทำรายงาน EHIA  ประกอบการขอประทานบัตรแปลงที่ ๑๐๔/๒๕๓๘  และแปลงที่ ๗๖/๒๕๓๙  ตามลำดับ  ซึ่งการจัดเวทีฯ ดังกล่าวเป็นขั้นตอนหนึ่งของการขอประทานบัตรการทำเหมืองในพื้นที่ใหม่  โดยที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องละเลย  วางเฉยและนำไปสู่การสนับสนุนการจัดเวทีดังกล่าวด้วย  โดยกระทำการละเมิดผู้มีส่วนได้เสียของราษฎร ๖ หมู่บ้าน
 
จากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น  กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ๖ หมู่บ้าน  มีความจำเป็นที่จะต้องปกป้องสิทธิของชุมชนและสิทธิมนุษยชน  ซึ่งเป็นที่ตั้งของความสงบสุข  ความเป็นครอบครัว  และความเป็นชุมชน  อีกทั้งเพื่อปกป้องและรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่จะต้องสูญเสียไป  จึงได้ร่วมกันยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง  เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่  ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด  ดำเนินการตามเงื่อนไขประทานบัตรและใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ต้องทำเหมืองโดยไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน  ดำเนินการเพิกถอนประทานบัตรและใบอนุญาตโลหกรรมของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด  
 
และจะทำการยื่นฟ้องร้องในคดีแพ่งแก่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด  ต่อศาลยุติธรรมเพื่อให้ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับราษฎรทั้ง ๖ หมู่บ้าน  เป็นลำดับต่อไป  อีกทั้งจะดำเนินการเรียกร้องและต่อสู้ทุกวิถีทางภายใต้กฎหมาย  เพื่อความยุติธรรม  หยุดยั้งการละเมิดต่อชุมชนและสิทธิมนุษยชน 
                                                                                                                            
                                                                                                                        กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ๖ หมู่บ้าน
๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
หน้าศาลปกครอง
ถนนแจ้งวัฒนะ  กรุงเทพฯ
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net