Skip to main content
sharethis

25 พ.ย.2556 ที่ทำเนียบรัฐบาล ภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานรองนายกรัฐมนตรีมีมาตรการเร่งด่วนรองรับสถานการณ์พายุ และฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งตกหนักในรอบ 30 ปี และจะมีพายุเข้ามาอีก 1 ลูก ในวันที่ 28-30 พ.ย.นี้

ภักดีหาญส์ กล่าวต่อว่า มาตรการเร่งด่วนในการรับสถานการณ์ มีดังนี้
1.ให้กรมอุตุนิยมวิทยา ขยายการประกาศเตือนภัยล่วงหน้า เป็น 7-10 วัน จากเดิม 3 วัน
2.ให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพิ่มประเภทการเตือนภัยขึ้นอีกหนึ่งระดับ ประกาศเตือนเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ โดยเน้นให้สื่อมวลชนทราบทุกแขนง
3.ให้กรมป้องการและบรรเทาสาธารณภัยเพิ่มประกาศเตือนขึ้นอีกหนึ่งระดับ โดยประกาศเตือนประชาชนเพื่อรับทราบข้อมูลข่าวสาร สถานการณ์เพื่อเตรียมความพร้อม
4.ให้หน่วยงานภาคปฏิบัติการเผชิญเหตุ สามารถตัดสินใจออกปฏิบัติงานในพื้นที่ได้โดยทันที โดยไม่ต้องรอการสั่งการ
5.ให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอพยพประชาชนล่วงหน้า ในกรณีที่มั่นใจว่าจะเกิดเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง
6.ให้จังหวัดและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงภัยดินโคลนถล่ม
7.มอบหมายสื่อของรัฐทุกแขนง เช่น กรมประชาสัมพันธ์ ให้ข่าวสารการเตือนภัยอย่างต่อเนื่อง และให้แถลงในโอกาสแรก ก่อนข่าวประเภทอื่นๆ ยกเว้นข่าวในพระราชสำนัก
8.ให้กระทรวงกลาโหมสั่งการ เตรียมการความพร้อมกำลังพลในช่วงระหว่าง พ.ย.-ธ.ค.นี้
9.ให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการส่วนหน้าระดับภาคในพื้นที่ภาคใต้ตอนตอนล่าง และจังหวัดสงขลา โดยให้ผู้ตรวจราชการสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และให้เจ้าหน้าที่ทางราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้าประจำการอย่างต่อเนื่อง

วานนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศแจ้งเตือน "ฝนตกหนักและคลื่นลมแรง" โดยระบุว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมภาคใต้ได้เคลื่อนลงสู่ทะเลอันดามันแล้วและกำลังเคลื่อนตัวห่างชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันตกมากยิ่งขึ้น ทำให้ภาคใต้เริ่มมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต และกระบี่ ต่อไปได้อีก 1 วัน ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายและผลกระทบจากฝนตกหนัก รวมทั้งปริมาณฝนสะสมต่อเนื่องที่มีปริมาณมากไว้ด้วย
       
อนึ่ง หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมทะเลอันดามัน ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว มีแนวโน้มเป็นพายุไซโคลนในระยะต่อไป ลักษณะเช่นนี้ทำให้ คลื่นลมในทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังแรงโดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย

      

ที่มา: มติชนออนไลน์, กรมอุตุนิยมวิทยา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net