Skip to main content
sharethis
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย เตรียมฟ้อง กพร. สปก. สผ. และผู้ว่าฯ ต่อศาลปกครองกลาง ชี้ละเลยหน้าที่ และกระทำการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมขอให้ศาลเพิกถอนใบประทานบัตร-ใบอนุญาตประกอบโลหกรรมบริษัทเอกชน
 
 
24 พ.ย.2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ในนามกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จำนวน 322 คน เตรียมยื่นฟ้อง 4 หน่วยงานราชการ ประกอบด้วย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ต่อศาลปกครองกลาง ในช่วงเช้าวันที่ 25 พ.ย.2556 นี้ เหตุละเลยการปฏิบัติหน้าที่ และกระทำการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
พร้อมขอให้ศาลเพิกถอนใบประทานบัตรเลขที่ 26971/15558, 26972/15559, 26968/15574, 26969/15575 และ 26970/15576 ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ที่ 1/2552 และ คำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรม คำขอที่ 1/2555 ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด รวมทั้งเพิกถอนหนังสือยินยอมให้เข้าใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน
 
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ระบุว่าทั้ง 4 หน่วยงานได้ใช้ดุลพินิจในการออกใบประทานบัตรอนุญาตให้ บริษัททุ่งคำได้รับสิทธิในการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ฉบับเดิม รวมทั้งประทานบัตรฉบับใหม่ และในการออกใบอนุญาตประกอบการโลหกรรม และการต่อใบอนุญาตโลหกรรม ให้แก่บริษัททุ่งคำ รวมถึงการยินยอมให้บริษัททุ่งคำเข้าใช้ที่ดิน 369 – 3 – 17 ไร่ ในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นผลให้บริษัททุ่งคำ ได้รับสิทธิในการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ และการประกอบโลหกรรม ตลอดจนใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ตั้งแต่ประมาณปี 2533
 
ต่อมาการประกอบกิจการทั้งหมดของบริษัททุ่งคำ ได้ก่อให้เกิดปัญหามลพิษ ทำให้ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทางน้ำสาธารณะเสื่อมประโยชน์ ทำลายระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์อันเป็นสภาพดั้งเดิมของพื้นที่ จนก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สิน ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนใน 6 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านนาหนองบง บ้านกกสะท้อน บ้านภูทับฟ้า บ้านห้วยผุก บ้านโนนผาพุงพัฒนา และบ้านแก่งหิน ใน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย
 
ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องนับสิบครั้งที่พบว่า การประกอบกิจการของบริษัททุ่งคำได้ทำให้สารไซยาไนต์ แคดเมียม สารหนู สารตะกั่ว แมงกานีส ซึ่งเป็นสารพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ สร้างความเสียหายให้แก่ประชาชน 6 หมู่บ้าน ได้แก่ 1) ความเสียหายต่อคุณภาพชีวิต ต่อสุขภาพ ต่อค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียสำหรับน้ำในการอุปโภคและบริโภค 2) ค่าเสียหายต่อพืชผลเกษตรกรรม ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และ 3) ความเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปนเปื้อนสารพิษในสภาพแวดล้อมต่างๆ ไม่อาจใช้ประโยชน์ในห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติได้ตามปกติ
 
ระยะเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านได้พยายามร้องเรียนเพื่อขอให้หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบทำการตรวจสอบ กำกับดูแล และแก้ไขปรับปรุงการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำ แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้ง 4 นอกจากจะเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงเหล่านั้น ไม่ได้ดูแล กำกับ แก้ไขให้บริษัททุ่งคำปฏิบัติตามรายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด รวมถึงไม่เพิกถอนใบประทานบัตร ใบอนุญาตโลหกรรม และยังยินยอมให้ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน
 
ดังนั้น นอกจะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ยังเป็นการละเมิดต่อสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของผู้ฟ้องคดีและประชาชนในพื้นที่ อันเป็นสิทธิที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 66 และ 67
 
 
ลำดับเหตุการณ์โดยสรุป
 
บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้รับสิทธิในการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ และการประกอบโลหกรรม ตลอดจนใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ตั้งแต่ประมาณปี 2533
 
ประมาณปี 2549 ชาวบ้านบริเวณบริเวณหมู่บ้านนาหนองบง, บ้านกกสะท้อน, บ้านภูทับฟ้า, บ้านห้วยผุก, บ้านโนนผาพุงพัฒนาและบ้านแก่งหิน ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม และพบว่าชาวบ้านบางคนมีอาการผื่นคันตามผิวหนัง ปวดเมื่อยตามร่างกาย เจ็บป่วยบ่อยๆ และมีอาการแสบตา กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีจึงได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประธานกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เพื่อขอให้ตรวจสอบ กำกับดูแล และแก้ไขปรับปรุงปัญหาที่เกิดขึ้น
 
ประมาณเดือนมกราคม 2550 จังหวัดเลยได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลการทำเหมืองแร่และการประกอบโลหกรรมของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด คณะกรรมการได้ประชุมและมีมติให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามแผนผังโครงการทำเหมือง
 
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2550 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ มีหนังสือให้อุตสาหกรรมจังหวัดเลย ทำการเปรียบเทียบปรับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เนื่องจากได้ปล่อยให้มีปริมาณสารไซยาไนต์เจือปนในกากแร่ ก่อนนำไปกักเก็บในบ่อกากแร่สูงถึง 62 PPM ซึ่งตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กำหนดไว้ไม่เกิน 2 PPM เท่านั้น
 
19 กุมภาพันธ์ 2550 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ มีหนังสือให้อุตสาหกรรมจังหวัดเลย ทำการเปรียบเทียบปรับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เนื่องจากได้ปล่อยให้มีปริมาณสารไซยาไนต์เจือปนในกากแร่ ก่อนนำไปกักเก็บในบ่อกากแร่สูงถึง 62 PPM ซึ่งตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กำหนดไว้ไม่เกิน 2 PPM เท่านั้น
 
เดือนกุมภาพันธ์ 2550 สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 9 จังหวัดอุดรธานี สรุปรายงานผลการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โครงการทำเหมืองแร่ทองคำซึ่งบริษัททุ่งคำ ได้รับประทานบัตร (ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2547-2549) รวมระยะเวลา 3 ปี พบว่าคุณภาพของน้ำในลำน้ำฮวยและลำห้วยผุก ตำบลเขาหลวง มีค่าไซยาไนต์และแมงกานีสค่อนข้างสูง โดยในปีแรกทำการเฝ้าระวังคุณภาพของน้ำในลำน้ำสาขาของแม่น้ำเลย รวม 5 สถานี พบว่ามีค่าแมงกานีสสูงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานทุกสถานี และมีค่าไซยาไนต์เกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 3 สถานี
 
เดือนธันวาคม 2550 โรงพยาบาลวังสะพุง ได้ดำเนินการเจาะเลือดชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านนาหนองบง, บ้านกกสะท้อน, บ้านภูทับฟ้า, บ้านห้วยผุก, บ้านโนนผาพุงพัฒนา, บ้านแก่งหิน ตำบลเขาหลวง โดยการสุ่มตรวจหาสารไซยาไนต์ จำนวน 279 คน ผลปรากฏว่า โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลผู้ทำการตรวจ ได้แจ้งผลการตรวจเลือดพบว่า มีสารไซยาไนต์ในเลือดของประชาชนกลุ่มตัวอย่าง 54 ราย ซึ่งในจำนวนที่ตรวจพบมีค่าสารไซยาไนต์เกินค่ามาตรฐาน 20 คน
 
ช่วงระหว่างวันที่ 23 ถึง 25 มิถุนายน 2551 กรมควบคุมมลพิษ ได้แจ้งผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำจากการจัดเก็บในลำน้ำห้วยเหล็ก พบว่ามีสารหนูสูงกว่ามาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดินและเก็บในบริเวณลำน้ำฮวย เขตพื้นที่บ้านนาหนองบง หมู่ที่ 3 บริเวณเหนือฝายห้วยผุก และปากฝายห้วยผุก บ้านนาหนองบง และในลำคลองบริเวณถนนหน้าเหมืองพบสารแมงกานีส สูงกว่ามาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดิน และพบสารแคดเมียมในระบบประปาบาดาลบ้านนาหนองบงหมู่ที่ 3 สูงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานน้ำบาดาลที่ใช้บริโภคได้
 
วันที่ 24 กันยายน 2551 จังหวัดเลย แต่งตั้งคณะทำงานเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพน้ำในบริเวณโดยรอบเหมือง ผลการวิเคราะห์พบว่า สารหนู แคดเมียม และแมงกานีสเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
 
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย ออกประกาศฉบับที่ 1/2552 โดยเตือนว่าประชาชน ไม่ควรนำน้ำมาดื่มหรือใช้ประกอบอาหารโดยตรง
 
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 กองวิเคราะห์น้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล รายงานผลการทดสอบคุณภาพน้ำจำนวน 9 จุด ในบริเวณตำบลเขาหลวง พบว่า ระบบประปาหมู่บ้านภูทับฟ้าพัฒนา หมู่ที่ 13 ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง มีสารหนู 0.10 และสารตะกั่ว 0.11 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นค่าที่เกินมาตรฐาน
 
เดือนมีนาคม 2553 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย ออกประกาศฉบับที่ 1/2553 ตามที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลยและโรงพยาบาลวังสะพุง ได้ร่วมกันเก็บตัวอย่างหอยขม ปลาไหล ปลากด ผักกูด ข้าวสารขัดสี และข้าวกล้อง ที่เก็บจากลำห้วยเหล็ก ตำบลเขาหลวง ผลการตรวจวิเคราะห์พบว่า หอยขมที่เก็บจากต้นลำห้วยเหล็กมีปริมาณสารหนูสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานให้ประชาชนงดบริโภคหอยขม
 
วันที่ 24 มีนาคม 2553 สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 9 อุดรธานี ร่วมกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณโครงการเหมืองแร่ทองคำโดยเก็บตัวอย่างน้ำในแหล่งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน จำนวน 6 จุด นำไปวิเคราะห์คุณภาพน้ำพบว่า จุดที่ 1 และจุดที่ 2 บริเวณน้ำซึมติดสันเขื่อนบ่อเก็บกากแร่ พบว่า สารหนู แคดเมียม ทองแดง ตะกั่ว แมงกานีส มีค่าเกินมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน
 
วันที่ 1 – 3 กุมภาพันธ์ 2554 กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ตรวจสอบคุณภาพน้ำผิวดิน บริเวณหมู่บ้านใกล้เคียงเหมืองแร่ทองคำ (บริเวณแหล่งน้ำสาธารณะ) ตำบลห้วยหลวง พบว่าคุณภาพน้ำห้วยเหล็กมีสารหนู เกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำผิวดิน และมีค่าไซยาไนต์ เกินค่ามาตรฐาน
 
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย และโรงพยาบาลวังสะพุง จังหวัดเลย แจ้งผลการตรวจเลือดหาสารไซยาไนต์ ปรอท ตะกั่วในเลือดของประชาชนจำนวนกว่า 750 ราย พบว่าผลการตรวจหาสารไซยาไนต์ในเลือดเกินค่ามาตรฐาน จำนวน 124 ราย จากจำนวนที่ส่งตรวจ 758 ราย
 
เมื่อวันที่ 26 – 27 ตุลาคม 2555 สันเขื่อนของบ่อเก็บกักกากแร่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ด้านทิศเหนือเกิดการทรุดตัวและพังทลายลง โดยเกิดขึ้นตอนกลางของคันทำนบดินที่บดอัดแน่น เป็นระยะทางยาว 15 – 20 เมตร ลึกประมาณ 5 เมตร
                       
ภาพ: การชะล้างหน้าดินและดินสไลด์ภาพมุมสูงจากภูป่าซำบอน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net