Skip to main content
sharethis

มีเดียมอนิเตอร์พบ ทีวีดาวเทียมให้พื้นที่ข่าวชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมกรณีอารยะขัดขืนมากกว่าฟรีทีวี แต่ทุกช่องเน้นรายงานตามสถานการณ์ โดยแหล่งข่าวส่วนใหญ่เป็นผู้คัดค้านอารยะขัดขืน ขณะที่ความเห็นประชาชนและกลุ่มผู้ชุมนุม มีสัดส่วนน้อย โดยช่อง 5 ให้เวลาข่าวในสัดส่วนที่น้อยที่สุด ในเกือบทุกประเด็นที่ศึกษา



24 พ.ย. 2556 - โครงการเสริมสร้างสื่อมวลชนศึกษาเพื่อสุขภาวะ (Media Monitor) เปิดเผยว่า นับจากหลังเที่ยงคืนของ 31 ตุลาคม 2556 ที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมด้วยการพิจารณา 3 วาระ ในรวดเดียว ได้ก่อให้เกิดการชุมนุมคัดค้านจากหลายกลุ่ม ขณะเดียวกันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน จนสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยต้องทำจดหมายถึงสื่อมวลชน ผู้ประกอบการสื่อ และผู้ดำเนินการจัดการชุมนุม ขอให้สื่อมวลชนทุกแขนงนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างตรงไป ตรงมา ปราศจากอคติ เปิดพื้นที่ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ส่วนผู้บริหารองค์กรสื่อ ควรสนับสนุนการทำหน้าที่ของสื่อ อย่างไม่แทรกแซง กดดัน ทั้งไม่ทำให้สื่อมีอาการเซ็นเซอร์ตัวเอง (self -censorship) กับขอให้ผู้จัดชุมนุมทุกกลุ่มให้สื่อทำหน้าที่อย่างอิสระและไม่ทำให้สื่อถูกเข้าใจว่าเป็นฝ่ายเดียวกับผู้ดำเนินการชุมนุม

เพื่อศึกษาการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์นี้ มีเดียมอนิเตอร์ ได้เลือกศึกษาสื่อโทรทัศน์ในรายการข่าวและสถานการณ์ปัจจุบัน (News and Current Affairs) ทางช่องฟรีทีวี (ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และ ThaiPBS) และช่องข่าวทีวีดาวเทียม (Nation,  Spring News และ Voice TV)  ช่วงวันที่ 12-15 พ.ย. 2556 ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประกาศมาตรการอารยะขัดขืน เพื่อต่อต้านการผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของสภาผู้แทนราษฏร ผลการศึกษา เป็นดังนี้

สถานีที่มีการนำเสนอข่าวสถานการณ์การชุมนุมเพื่อต่อต้านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม  มากที่สุด ได้แก่  ช่อง Spring News (21 ชั่วโมง 53 นาที )  รองลงมา ได้แก่ ช่อง Nation (13 ชั่วโมง 9 นาที) ช่อง ThaiPBS (9 ชั่วโมง 50 นาที) ช่อง Voice TV  (8 ชั่วโมง 50 นาที)  จากนั้นเป็น ช่อง 3 (5 ชั่วโมง 5 นาที) ช่อง 7 (2 ชั่วโมง 41 นาที) ช่อง 9 (2 ชั่วโมง 32 นาที) ช่อง 11  (2 ชั่วโมง 16 นาที) และช่อง 5 (1 ชั่วโมง 28 นาที) แต่ส่วนใหญ่เป็นการรายงานตามสถานการณ์การชุมนุม รองลงมาเป็นเรื่องผลกระทบของการชุมนุมต่อเศรษฐกิจ  และ ความเห็นของกลุ่มต่างๆ ที่มีต่อมาตรการอารยะขัดขืน
 



เมื่อพิจารณา การนำเสนอข่าวสถานการณ์การชุมนุมเพื่อต่อต้านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการอารยะขัดขืน  พบว่า ช่อง Spring News เป็นช่องที่มีการนำเสนอข่าวในประเด็นดังกล่าวมากที่สุด   (10 ชั่วโมง 8 นาที) รองลงมาได้แก่ ช่อง Nation (7 ชั่วโมง 8 นาที) ช่อง Voice TV (5 ชั่วโมง 31 นาที) ช่อง 3 (2 ชั่วโมง 29 นาที) ช่อง ThaiPBS (2 ชั่วโมง 10 นาที) ช่อง 11 (1 ชั่วโมง 25 นาที) ช่อง 9 (52 นาที) ช่อง 7 (47 นาที) และ ช่อง 5 (19 นาที)

ในภาพรวม พบว่าทุกสถานีมีการให้พื้นที่แหล่งข่าวที่ไม่สนับสนุนมาตรการอารยะขัดขืนค่อนข้างมาก   โดยช่องที่พบว่า มีการให้พื้นที่แหล่งข่าวกลุ่มคัดค้านมาตรการอารยะขัดขืนมากกว่ากลุ่มอื่น  คือ ช่อง Nation  (2 ชั่วโมง 30 นาที) ช่อง Spring News  (1 ชั่วโมง 24 นาที ) ช่อง 9  (33 นาที)  ช่อง 11  (25 นาที)  และ ช่อง 5  (10 นาที)  ในขณะที่ ช่องที่มีการให้พื้นที่แหล่งข่าวกลุ่มที่สนับสนุนมาตรการอารยะขัดขืนมากกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่  ช่อง Voice TV  (1 ชั่วโมง 8 นาที)  ช่อง ThaiPBS  (1 ชั่วโมง 8 นาที) ช่อง 3 ( 1 ชั่วโมง) และช่อง 7 (17 นาที)  ดังแสดงในแผนภูมิ
 





การศึกษาครั้งนี้ ยังพบว่า แหล่งข่าวที่ไม่สนับสนุนมาตรการอารยะขัดขืน ส่วนใหญ่ได้แก่ นักการเมืองพรรคเพื่อไทย เช่น นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายปลอดประสพ สุรัสวดี  นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง  และกลุ่มนักธุรกิจ/ ผู้บริหารจากภาคอุตสาหกรรมและเอกชน   ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ /ความเชื่อมั่นในการลงทุน และ เหตุผลด้านกฎหมาย   แหล่งข่าวที่สนับสนุนมาตรการอารยะขัดขืน ส่วนใหญ่ ได้แก่ กลุ่มแกนนำการชุมนุมต่อต้านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม  โดยเฉพาะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ  นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์  และนายวิทยา แก้วภราดัย  แหล่งข่าวที่สนับสนุนมาตรการอารยะขัดขืนเฉพาะการติดธงชาติ และ การเป่านกหวีด แต่ไม่สนับสนุนให้มีการหยุดงาน หรือชะลอการเสียภาษี ได้แก่ กลุ่มแพทย์ชนบท หน่วยงานรัฐวิสาหกิจบางแห่ง เช่น  สหภาพรัฐวิสาหกิจการรถไฟ พนักงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)  เป็นต้น  แหล่งข่าวที่เน้นการวิเคราะห์อย่างให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการอารยะขัดขืน ได้แก่ นักวิชาการสถาบันต่างๆ   อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า สื่อโทรทัศน์ทุกช่องให้พื้นที่แหล่งข่าวที่เป็นประชาชน และกลุ่มผู้ชุมนุม ในสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย
    
ด้านรูปแบบในการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับมาตรการอารยะขัดขืน พบว่า ส่วนใหญ่ทุกช่องมักนำเสนอในรูปแบบรายงานข่าว   โดยช่องที่เน้นการรายงานสถานการณ์โดยผู้สื่อข่าวภาคสนามมากที่สุดคือ ช่อง Spring News (1 ชั่วโมง 27 นาที)   รองลงมาคือ ช่องThaiPBS ( 1 ชั่วโมง 9 นาที)  ช่อง 7  (32 นาที)   Voice TV (27 นาที)   ช่อง 9 (20 นาที)  Nation (18 นาที) ช่อง 3 (12 นาที)  ช่อง 11(9 นาที) และ ช่อง 5 (3 นาที)   ส่วนช่องที่เน้นการนำเสนอข่าวมาตรการอารยะขัดขืนในรูปแบบการวิเคราะห์/สนทนา โดยนักวิชาการ และฝ่ายที่เกี่ยวข้องมากที่สุด ได้แก่  ช่อง Voice TV (3 ชั่วโมง 15นาที)   รองลงมาคือ  Spring News (3 ชั่วโมง 13 นาที)   ช่อง Nation ( 2 ชั่วโมง 53 นาที) ช่อง 3 (1 ชั่วโมง 9 นาที )  และ ช่อง ThaiPBS (1 ชั่วโมง 8 นาที) ทั้งนี้  ในการศึกษา ได้นับรวมเวลาการออกอากาศซ้ำด้วย โดยช่องข่าวทีวีดาวเทียมทั้ง 3 ช่อง ได้แก่ Nation, Spring News, และ Voice TV มีการออกอากาศซ้ำ (Re-run)  
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net