Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


สวัสดีครับ

คงปฏิเสธมิได้เลยว่าบทบาทของสื่อนั้นทรงอิทธิพลอย่างมากในสังคม บทบาทของสื่อใช่เพียงแค่การนำเสนอข่าวสารและข้อมูลให้สาธารณชนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอิทธิพลต่อมุมมองหรือทัศนคติของสังคมที่ผ่านการรายงานข่าวและการเขียนอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เองผู้สื่อข่าวจึงถือได้ว่าเป็นตัวแสดงแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง

ในบริบทของความขัดแย้งทางการเมืองในทางภาคใต้(ปาตานี)ที่สื่อกระแสหลัก (ที่เป็นภาษาไทย) ได้ทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลมายาวนาน มุมมองของเราในฐานะนักต่อสู้แห่งปาตานีพบว่าทัศนะโดยทั่วไป (general opinion) และวิธีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่รายงานโดยสื่อไทยและนักข่าวไทยยังคงจมปลักอยู่กับรูปแบบเดิมๆ

ด้วยความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในโลกไซเบอร์ในยุคปัจจุบันนี้ สิ่งที่เราเห็นก็คือ หาได้มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นแต่อย่างใด คงจะไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่า สื่อมวลชนไทยนั้นไม่เคยเลยหรือหาได้ยากนักที่จะให้ความยุติธรรมแก่กลุ่มขบวนการที่เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานีในการนำเสนอข่าวของพวกเขา นับตั้งแต่ระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมาจวบกระทั่งปัจจุบันก็ยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

ในเรื่องคำศัพท์การใช้คำหรือการให้คำนิยามเฉพาะเจาะจงให้กับนักต่อสู้ปาตานี บ่อยครั้งมักจะสื่อถึงภาพพจน์ในเชิงลบเมื่อถูกเผยแพร่ผ่านพื้นที่สื่อของไทย ซึ่งหนึ่งในการใช้คำก็คือ "ผู้ก่อการร้ายหรือโจรใต้ " แน่นอนอย่างยิ่ง มันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมีอคติที่เกินเลยและค่อนข้างที่จะมีความลำเอียงเป็นอย่างมาก

เหมาะสมดีแล้วหรือที่เรียกขานบรรดานักต่อสู้เหล่านั้น ที่ทำหน้าที่ปกป้องรักษาชะตากรรมชนชาติของตนเอง อาจเป็นเพียงเพราะว่าพวกเขาได้ต่อต้านอำนาจรัฐไทยที่อยู่เหนือพวกเขาด้วยวิธีการที่รุนแรง? ถ้าเป็นเช่นนั้น สิ่งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกระทำจะถือเป็นผู้ร้ายหรือโจรได้หรือไม่ ในเมื่อทั้งสองพระองค์ก็ได้ต่อสู้กับพม่าที่เข้าปกครองกรุงศรีอยุธยาด้วยวิธีการที่รุนแรงเช่นกัน?

เมื่อครั้งท่านหะยีสุหลง ได้ยื่นข้อเสนอเรียกร้อง 7 ข้อในปี ค.ศ.1953 หลังจากนั้นตัวท่านไม่เพียงจะถูกจับกุมและจำคุกเท่านั้น ทว่าในที่สุดท่านก็ถูกฆาตกรรมในข้อหา "เป็นกบฏ" ท่านต้องการที่จะต่อต้านใครหรือ ? ท่านต้องการที่จะเปลี่ยนรัฐบาลกรุงเทพฯกระนั้นหรือ หรือเป็นเพียงแค่การเรียกร้องสิทธิของตนเองและความยุติธรรมให้กับชาวมลายูมุสลิมในภาคใต้?

การเรียกขานชื่อ(กบฏ)นี้ ยังคงดำรงอยู่จวบจนถึงทุกวันนี้ และยังคงถูกเร่ใช้โดยผู้สื่อข่าวของไทยบางสำนักโดยที่มิได้คำนึงถึงความรู้สึกที่อ่อนไหวของชาวปาตานี ที่ได้เชิดชูท่านในฐานะที่เป็นนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่ง

บรรดานักต่อสู้เพื่อเสรีภาพก็เช่นกันที่ถูกเรียกขานว่าเป็น "กลุ่ม/ขบวนการแบ่งแยกดินแดน" จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความกระจ่างชัดว่า ทุกกลุ่มขบวนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพปาตานีนั้น เป็น“ขบวนการปลดปล่อย (Liberation)” หาใช่ “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน (Separatist)” ไม่

ในนิยามทางรัฐศาสตร์นั้น ยังมีความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างขบวนการปลดปล่อยกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนอยู่มาก

ทุกคำศัพท์ที่ใช้หรือคำนิยามดังกล่าว เป็นการกุคำขึ้นมาเองด้วยเจตนาของรัฐไทย เพื่อให้ภาพพจน์ของนักต่อสู้ถูกมองในเชิงลบ ทว่าถือเป็นความโชคร้ายของรัฐไทยก็ว่าได้ ที่ปราศจากการค้นคว้าหรือศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนและในเชิงลึก ทำให้ต้องกล้ำกลืนขืนข่ม ซึ่งในขณะเดียวกันก็ได้จัดวางกลุ่มขบวนการให้อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีความชอบธรรม ในสายตาของประชาชนไทยทั่วไป และในสายตาของชาวโลกอีกด้วย

หากอาศัยหลักการพื้นฐานที่สำคัญของวารสารศาสตร์ จะพบว่า "ภารกิจหลักของนักข่าวก็คือ การรายงานข้อเท็จจริงและเคารพสิทธิของคนอื่นเพื่อที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง" แต่ในบริบทของปาตานีดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น

สื่อมวลชนไทยมักจะมีความเกี่ยวโยงกันกับกองทัพ ตำรวจหรือคนของรัฐเองที่ถูกส่งไปยังสถานที่หนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่สาธารณชนทั่วไปจะตีตราว่าเขาคือ "คนของรัฐบาล" ฉะนั้นจึงไม่ให้ความร่วมมือหรือนำเสนอข้อมูลที่แท้จริงให้กับประชาชนได้ ทั้งๆ ที่ข้อมูลที่จริงแท้นั้น มีความสำคัญเป็นอย่างมาก

เพราะว่ามีข้อจำกัดทางด้านภาษาและบวกกับความไม่เป็นมืออาชีพ จึงไม่ยอมที่จะพยายามมากไปกว่านั้น พวกเขามีความพึงพอใจกับข้อมูลที่ได้จาก "แหล่งข่าวมือสอง"หรือที่ยิ่งแย่ไปกว่านั้นก็คือ พวกเขาเอาแต่บันทึกสิ่งที่ถูก "ป้อน" ให้โดยรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งเราเห็นได้จากการรายงานข่าวจำนวนมากที่มักจบลงในลักษณะ "การเหมารวม" ดังตัวอย่างเช่นเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว เชื่อว่าเป็นการกระทำของกลุ่มคนร้ายในพื้นที่

บางครั้งพวกเขาอาจลืมหลักการเหล่านี้ก็เป็นได้: นั่นก็คือการพยามเสาะหาและเผยแพร่มุมมองความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งปราศจากการครอบงำของอิทธิพลของคนที่สามารถใช้อำนาจหรือตำแหน่งหน้าที่ของเขาไปในทางที่ไม่สอดรับกับผลประโยชน์ของส่วนรวม (To seek out and disseminate competing perspectives without being unduly influenced by those who would use their power or position counter to the public interest)

ในการปฏิบัติหน้าที่สำหรับผู้สื่อข่าวนั้น ย่อมมีความอิสระในการจัดเก็บข้อมูลและเผยแพร่ข่าวออกไปอย่างตรงไปตรงมา และมีสิทธิที่จะวิเคราะห์และวิจารณ์อย่างเท่าเทียมกัน

สื่อมวลชนไทยเองยังมีน้อยมากที่ได้เปิดพื้นที่ให้ฝ่ายนักต่อสู้ให้สามารถอาศัยพื้นที่เพื่อแสดงออกได้ เพื่อสื่อไปยังสาธารณชนไทยทั่วไปได้รับรู้ เพื่อใช้ในการชี้แจงต่อประเด็นที่สำคัญหรือท่าทีของพวกเขาว่าเป็นอย่างไร เช่น: ทำไมต้องเปิดพื้นที่และนำเสนอให้กับคนร้ายและผู้ก่อการร้ายด้วยเล่า?

จนถึงตอนนี้ประชาชนไทยเองยังคงเกิดถามมาตลอดว่า: ทำไมชาวมลายูในภาคใต้ถึงได้ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล? ทำไมต้องใช้ความรุนแรง? ทำไมต้องการแยกตัวออกจากประเทศไทย? ทำไมระเบิดที่นั่นที่นี่ ซึ่งส่งผลต่อการสูญเสียที่ไม่เพียงแต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ซึ่งติดอาวุธเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประชาชนผู้บริสุทธิ์อีกด้วย? ทำไมครูถึงถูกยิงตาย? และคำถามอื่นๆ อีกมากมาย

หลักการพื้นฐานของสื่อสารมวลชน : คือส่งเสียงให้แก่ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้พูดและบันทึกสิ่งที่ถูกซ่อนเร้น (Give voice to the voiceless; document the unseen) นี่เป็นการเรียกร้องเพื่อให้สื่อได้เปิดพื้นที่และโอกาสให้กับกลุ่มที่ถูกกดขี่ได้เปล่ง "เสียง" ของพวกเขาออกมา

สื่อมวลชนไทยถูกคาดหวังว่าจะบันทึกสิ่งที่เจ้าหน้าที่ตั้งใจจะ "ซ่อนเร้น" เอาไว้ เพื่อให้ความจริงปรากฏได้อย่างชัดเจน หากไม่เช่นนั้นแล้ว คงจะอีกนานที่สังคมไทยจะไม่มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง

และสำหรับชาวมลายูปาตานี โดยเฉพาะบรรดานักต่อสู้เองก็จะยังคงถูกเรียกขานว่าเป็นโจรกบฏต่อไป หรือที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือเป็นผู้ก่อการร้าย ทั้งๆที่ในความเป็นจริง พวกเขาได้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของพวกเขาที่ถูกปล้นกลับคืนมาเท่านั้น

มันเป็นเรื่องที่แตกต่างกับนักข่าวและสำนักข่าวต่างประเทศเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขามีความเป็นมืออาชีพมากกว่า ด้วยวิธีการทำงานแบบเชิงรุกและผลลัพธ์ที่ได้จากข่าวสารมีความเป็นกลาง ไม่ลำเอียงข้างใดข้างหนึ่ง

พวกเขาไม่ได้คาดหวังต่อข้อมูล "ที่ถูกป้อนให้" แต่มุ่งมั่นอย่างหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เป็นจริงด้วยแนวทาง"การเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชน" (Engaging the community) ถึงแม้ว่าพวกเขาจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดในด้านภาษาและวัฒนธรรมเฉกเช่นสื่อมวลชนไทย

แต่ทว่าความเป็นมืออาชีพของพวกเขาที่ยืดมั่นกับหลักการและจรรยาบรรณสื่อ พวกเขาจึงได้รับข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ (authentic)อย่างง่ายดายอย่างยิ่งจากสังคมมลายูปาตานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากชาวบ้านในระดับชุมชน ซึ่งมีความไว้วางใจต่อสื่อต่างชาติมากกว่าสื่อของไทยด้วยซ้ำ

ด้วยเหตุนี้เอง เราพบว่าการนำเสนอข่าวและข้อมูลที่เผยแพร่สู่สาธารณชนทั่วไปโดยสื่อต่างประเทศนั้นดีกว่ามาก และเป็นการบ่งบอกถึงระดับความน่าเชื่อถือของสื่อไทยเองอีกด้วย

บางครั้งมีความแตกต่างทั้งข้อมูลและข้อเท็จจริงจากการนำเสนอระหว่างสื่อไทยและสื่อต่างประเทศ หรือแม้แต่ยังมีข้อขัดแย้งกันเองภายในสิ่งที่เผยแพร่ระหว่างสื่อไทยด้วยกันเอง

ประชาคมโลกที่มีจำนวนนับพันล้านคนซึ่งรวมไปถึงชาวมลายูในเอเชียอาคเนย์(Nusantara) ที่มีจำนวนมากกว่า 300 ล้านคน ต่างมีความเข้าใจถึงความทุกข์ทรมานและการต่อสู้ของประชาชนชาวปาตานีมากกว่าเสียอีก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรไทยที่มีจำนวนกว่า 60 ล้านคน ที่ยังไม่มีความเข้าใจต่อปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ใดๆ เลย

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันในการรายงานข่าวของสื่อไทยคือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ในบริบทของประวัติศาสตร์ปาตานีเริ่มตั้งแต่ยุคของราชอาณาจักรลังกาสุกะจนถึงปัจจุบัน สื่อไทยค่อนข้างที่จะโน้มเอียงไปยังประวัติศาสตร์ฉบับที่เขียนโดยคนในชาติตนเอง ซึ่งสถานะและการสื่อสารในอดีตที่ผ่านมาโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างปาตานี-สยามเป็นการมองจากประวัติศาสตร์ฉบับของไทยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้เองจึงมีความเข้าใจที่ผิดพลาดว่า ปาตานีนั้นแต่เดิมเป็นของสยามประเทศรวมทั้งรัฐมลายูทางตอนเหนือของคาบสมุทรมลายู (กลันตัน ไทรบุรี ตรังกานู และ เปอร์ลิส) ที่เคยเป็นของพวกเขาเช่นกัน

ประวัติศาสตร์ไทยก็ยังอ้างด้วยว่า ดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เขมร และพม่า แต่เดิมเป็นของเขาเช่นกัน ซึ่งความจริงแล้วถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ในฉบับของประเทศเหล่านี้ เราจะพบว่าพวกเขาก็จะอ้างบริเวณดังกล่าวทั้งหมดก็เป็นของพวกเขาเช่นกัน แต่ถูกสยามยึดไปในยุคสมัยใดยุคสมัยหนึ่ง

ถ้าเราย้อนศึกษารายละเอียดของประวัติศาสตร์ที่บันทึกโดยชาวต่างชาติซึ่งเคยมีปฏิสัมพันธ์กับราชอาณาจักรปาตานีในอดีตที่ผ่านมา อย่างเช่น จีน ญี่ปุ่นฮอลแลนด์ โปรตุเกส อังกฤษและชาวอาหรับ เราจะพบว่ามีเนื้อหาที่ค่อนข้างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และกลับกลายเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขียนโดยคนสยามเอง ข้อเท็จจริงเหล่านี้เองที่มักจะถูกละเลยโดยสื่อมวลชนของไทย

นานมากแล้วที่สื่อมวลชนไทยได้นิยามนักต่อสู้ชาวมลายูปาตานีเป็นโจร คนร้าย ผู้แบ่งแยกดินแดน กบฏ หรือแม้แต่ผู้ก่อการร้าย แต่เนื่องจากชาวมลายูไม่มีช่องทางนำเสนอที่เหมาะสม ได้แต่เก็บกดความไม่พอใจไว้ข้างในมาเป็นเวลานานนับหลายสิบปี

เป็นเรื่องย้อนแย้งอย่างยิ่งเมื่อฝ่ายขบวนการได้เรียกขานรัฐไทยว่าเป็น "นักล่าอาณานิคมสยาม(penjajah)" สร้างความประหลาดใจและโกรธเกรี้ยวให้กับพวกเขา ดังนั้นเราจะพบว่าสื่อไทยก็เริ่มมีบทบาทในการโหมกระพือความโกรธในการนำเสนอข่าวและรายงานของพวกเขา

เป็นเรื่องยากยิ่งที่พวกเขาจะยอมรับความจริงที่ว่า พวกเขาเองก็เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ยึดครองหรือเป็นจ้าวอาณานิคมในภูมิภาคนี้ ทั้งๆ ที่ในประวัติศาสตร์ของชาวมลายูในเอเชียอาคเนย์ (Nusantara) เป็นที่รับรู้กันแล้วว่า ชนชาวไทยถือเป็นหนึ่งในผู้ที่ยึดครองและเป็นจ้าวอาณานิคม เฉกเช่นเดียวกันกับนักล่าอาณานิคมจากทางยุโรปไม่มีผิด

กระบวนการสันติภาพเคแอล(กัวลาลัมเปอร์) ที่ริเริ่มผ่านการลงนามในเอกสารฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013 ได้เปิดบทตอนใหม่ๆ ให้การตระหนักยอมรับต่อสถานะของขบวนการเคลื่อนไหว พวกเขาจะไม่ถูกขนานนามว่าเป็นโจรหรือผู้ก่อการร้ายได้อีก แต่จะถูกเรียกชื่อที่เป็นทางการว่า "ผู้ที่มีความคิดเห็นและอุดมการณ์ที่แตกต่างจากรัฐ(ไทย)” ซึ่งสื่อต่างชาติชั้นนำทั่วโลกเกือบทั้งหมด ได้ให้ความสำคัญติดตามข่าวอย่างจิงจังต่อทุกความเคลื่อนไหวของกระบวนการที่นำไปสู่สันติภาพดังกล่าวนี้

แต่ทว่า สำหรับบางสำนักข่าวของไทยกลับมีท่าทีที่เย็นชาและได้หรี่ตามองความพยายามหาหนทางคลี่คลายปัญหาด้วยแนวทางสันติของรัฐบาลตัวเองในแง่ลบ ตั้งคำถามมากมายเพื่อบั่นทอนความน่าเชื่อถือต่อกระบวนการ

ที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ พวกเขาได้กลายเป็นกลุ่มก้อนที่ต่อต้านสันติภาพ (anti-peace) หรือในแง่หนึ่งคือกลุ่มคนที่พยายามบ่อนทำลายสันติภาพ (peacespppoilers)

ในที่สุดถ้าหากว่าพวกเขาไม่ต้องการให้ความขัดแย้งนี้ได้รับการแก้ไขด้วยแนวทางอันสันติ แล้วจะมีทางเลือกอื่นหรือไม่ที่พวกเขาจะสามารถนำเสนอได้?

หรือว่าสื่อไทยมีความรู้สึกร่วมกันบางฝ่ายที่พอใจจะเห็นสถานการณ์ที่ดำรงอยู่นี้ คงสถานะเดิมต่อไป บนสถานการณ์ที่ความไม่สงบและความไร้เสถียรภาพ ก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินที่เพิ่มมากไปกว่านี้?

ทัศนะเช่นนี้เหมือนกับท่าทีของฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับสันติภาพ ผู้ซึ่งต้องสูญเสียอำนาจอิทธิพลและผลประโยชน์ที่ต้องแลกกับสันติภาพที่จะเกิดขึ้น? หรือว่าพวกเขามีวาระซ่อนเร้นอะไรอยู่?

ในช่วงหลังนี้เราพบว่า ผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนของไทยจำนวนหนึ่งที่เริ่ม"เปิดตา"ขึ้น เพื่อต้องการให้สาธารณชนมองเห็นความจริงจะมิใช่เป็นเพียง"สคริปต์" ที่ผู้มีอำนาจได้ยื่นให้กับพวกเขา ซึ่งหนักไปข้างใดข้างหนึ่ง

พวกเขาได้ทำงานอย่างหนัก ทำการศึกษาและตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ ทำงานคลุกคลีกับชุมชนที่ต่างเชื้อชาติ ภาษาและวัฒนธรรม สิ่งที่พวกเขาได้รับการตอบแทนกลับมาคือความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนด้วยความเต็มใจที่ได้เปิดอกระบายความจริงออกมาในสิ่งที่พวกเขารู้และสิ่งที่อัดอั้นภายในใจ

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราได้อ่านรายงานข่าวที่แตกต่างหลากหลายจากพวกเขา ซึ่งรวมไปถึงสารคดีบางชิ้นเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญ อย่างเช่นเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบที่ได้จัดทำขึ้นมาใหม่ การเสียชีวิตของนายมะรอโซ เหตุการณ์ปะทะกันที่ทำให้ท่านอุสตาซรอฮีม หรือ "เปเล่ดำ" ได้เสียชีวิต ตลอดจนเหตุการณ์ปะทะกันที่ ต.ปากู อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี รวมไปถึงการรายงานความคืบหน้าขอกระบวนการสันติภาพ ซึ่งทั้งหมดนั้นได้นำมุมมองใหม่และมีความสมดุลในการเสนอข่าวในภาคใต้

ด้วยการนำเสนอของสื่อเช่นกัน ที่ความเห็นจากฝ่ายขบวนการก็เริ่มที่จะได้ยิน แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายเมื่อการรายงานหรือความคิดเห็นดังกล่าวออกมา กลับโดนเย้ยหยันว่าเป็น “กระบอกเสียง” ของบีอาร์เอ็น

ที่จริงแล้วไม่มีทางเลือกอื่นเพิ่มเติมสำหรับนักข่าวหรือสื่อมวลชนไทย นอกเหนือไปจากการเปลี่ยนกระบวนทัศน์(Paradigm Shift) ด้วยการย้อนกลับไปที่หลักการสากลของวารสารศาสตร์ และรวมไปถึงหลักปฏิบัติของผู้สื่อข่าว (Guiding Principles for Journalists) ที่ปราศจากทั้งความรู้สึกหวั่นกลัว และเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ด้วยวิธีนี้วิธีเดียวเท่านั้นที่เสียงของสามัญชนจะถูกรับฟัง ความจริงจะได้ประจักษ์ และความยุติธรรมจะสามารถดำรงอยู่ได้ สิ่งนี้ยังสามารถที่จะจัดวางให้อาชีพนักข่าวและสื่อมวลชนอยู่ในระดับที่มีความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจและความน่านับถือ มิเพียงแต่จากสังคมท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสังคมไทยทั่วไปและสังคมโลกอีกด้วย

ด้วยความเคารพ
น้ำส้มสายชู และ น้ำผึ้ง - จากนอกรั้วปาตานี
มูฮัรรอม / พฤศจิกายน 2013

หมายเหตุ::: ต้นฉบับเดิมภาษามลายู “Suratterbukakepada Media Thai” คลิกอ่านที่ http://www.deepsouthwatch.org/ms/node/4909 (เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 พฤศิกายน 2556); ต้นฉบับเดิมภาษาอังกฤษ “An open letter to Thai Media” คลิกอ่านที่ http://www.deepsouthwatch.org/en/node/4913(เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net