Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนได้ก่อให้เกิดความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่ต่อมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศฟิลิปปินส์อย่างใหญ่หลวง เพราะลักษณะการพัดของพายุดังกล่าวได้พัดพาดผ่านเข้ามายังตอนกลางของประเทศ ส่งผลให้พื้นที่ชุมชนต่างๆ พื้นที่ประกอบเกษตรกรรม พื้นที่ประกอบอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอื่นๆ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งโอกาสที่จะเกิดความเสียหายจากภัยทางธรรมชาติในลักษณะต่างๆ ก็ย่อมอาจเกิดขึ้นได้ในฟิลิปปินส์ เนื่องจากด้วยลักษณะของภูมิประเทศที่ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่หลายเกาะและสภาพภูมิอากาศที่มีโอกาสได้รับลมมรสุมเขตร้อน ส่งผลให้ประเทศฟิลิปปินส์มีภาวะความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติในหลายรูปแบบ เช่น ภูเขาไฟปะทุ อุทกภัย และวาตภัย เป็นต้น

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนมิใช่วิกฤติแรกที่ฟิลิปปินส์ได้เคยเผชิญหรือประสบวิกฤติมา หากแต่ในอดีตที่ผ่านมาประเทศฟิลิปปินส์ได้เคยเผชิญกับภัยทางธรรมชาติมาแล้วหลายครั้ง ที่สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก รัฐบาลฟิลิปปินส์จึงได้พยายามแสวงหาแนวทางและการวางกรอบมาตรการในการรับมือกับความเสี่ยงจากลักษณะภูมิประเทศอันเป็นที่ตั้งของฟิลิปปินส์และภูมิอากาศที่ฟิลิปปินส์ได้เผชิญตามธรรมชาติ รวมไปถึงภาวะโลกร้อนที่ไม่เพียงแต่ฟิลิปปินส์กำลังเผชิญอยู่เท่านั้น หากแต่ทุกประเทศในโลกก็ต่างวิตกกับปัญหาโลกร้อนที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแต่ละภูมิภาคของโลก

ดังนั้น รัฐบาลฟิลิปปินส์จึงได้ตรากฎหมายสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ว่าด้วยการจัดการและการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยแห่งชาติหรือกฎหมาย REPUBLIC ACT No. 10121 ที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการต่อสู้กับภัยพิบัติทางธรรมชาติของฟิลิปปินส์ โดยกฎหมายดังกล่าวได้ให้อำนาจแก่ สภาจัดการและการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยแห่งชาติ (National Disaster Risk Reduction and Management Council - NDRRMC) ในการเตรียมการป้องกันภัยทางธรรมชาติเอาไว้ล่วงหน้า ยามที่รัฐกำลังเผชิญความเสี่ยงจากภัยทางธรรมชาติ และยามที่รัฐได้ประสบกับหายนะจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ ไปแล้ว เพื่อดำเนินบริการสาธารณะในการต่อสู้กับภัยและวิกฤติทางธรรมชาติ โดยสภาดังกล่าวประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ดังเช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังได้กำหนดรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่จัดทำแผนจัดการและลดความเสี่ยงจากสาธารณะภัยแห่งชาติ (National Disaster Risk Reduction and Management Plan - NDRRMP) และจัดกองทุนสำหรับจัดการและลดความเสี่ยงจากสาธารณะภัยแห่งชาติ (National Disaster Risk Reduction and Management Fund – NDRRM Fund) เหตุที่กฎหมายได้บัญญัติเอาไว้เป็นเช่นนี้ ก็เพื่อให้รัฐสามารถกำหนดกรอบและวางแผนป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นตามความเสี่ยงของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ประเทศฟิลิปปินส์กำลังเผชิญหรืออาจจะเผชิญได้ในอนาคตและเพื่อให้รัฐได้สามารถจัดหางบประมาณสนับสนุนการดำเนินการต่างๆ ให้สอดคล้องกันกับแผนจัดการและลดความเสี่ยงจากสาธารณะภัยแห่งชาติที่รัฐได้กำหนดเอาไว้ อันเป็นการเสริมความมั่นใจว่ารัฐจะมีกลไกทางงบประมาณและการคลังที่สนับสนุนในกรณีเกิดภัยทางธรรมชาติฉุกเฉิน อนึ่ง การจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยล่วงหน้าและการจัดงบประมาณหรือการกำหนดแหล่งงบประมาณที่สามารถสนับสนุนในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังจะประสบวิกฤติทางธรรมชาติหรือได้ประสบวิกฤติทางธรรมชาติ ก็ถือเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงจากสาธารณะภัย ที่ไม่เพียงจะถือเป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนในประเทศแล้ว หากแต่ยังเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ รวมไปถึงภาคการลงทุนต่างๆ อีกด้วย

กฎหมาย REPUBLIC ACT No. 10121 ยังได้กำหนดให้รัฐกระจายอำนาจให้ภูมิภาคและท้องถิ่น เพื่อให้ภูมิภาคและท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละภูมิภาคหรือท้องถิ่นของตน กฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้ภูมิภาคและท้องถิ่นก่อตั้ง สภาจัดการและการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยภูมิภาค(Regional Disaster Risk Reduction and Management Council - RDRRMCs) และสภาจัดการและการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยท้องถิ่น (Local Disaster Risk Reduction and Management Council - LDRRMCs) ขึ้นสำหรับรองรับการกระจายอำนาจในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากส่วนกลาง ซึ่งการกระจายอำนาจดังกล่าวอาจทำให้แต่ละภูมิภาคและท้องถิ่นสามารถวางแผน เตรียมการต่างๆ ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ในแต่ละท้องถิ่น เพราะภูมิภาค ท้องถิ่น ชุมชนในแต่ละท้องถิ่นและประชาชนที่อยู่อาศัยในแต่ละท้องถิ่น ย่อมรู้สภาพทางกายภาพ สภาพภูมิศาสตร์ สภาพเศรษฐกิจและสภาพสังคมในแต่ละชุมชนเป็นอย่างดี ซึ่งหากแต่ละท้องถิ่นเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือสาธารณะภัยอันเร่งด่วนแล้ว ท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นย่อมสามารถจัดการป้องกันหรือเยียวยาความเสียหายจากสาธารณะภัยได้ทันท่วงที นอกจากนี้ รัฐต้องกำหนดและวางแนวทางให้ท้องถิ่นบริหารจัดการกองทุนสำหรับจัดการและลดความเสี่ยงจากสาธารณะภัยท้องถิ่น (Local Disaster Risk Reduction and Management Fund – LDRRMF) เพื่อให้แต่ละท้องถิ่นมีงบประมาณในการบรรเทาสาธารณะภัยของตนเอง อันจะทำให้ท้องถิ่นสามารถนำงบประมาณมาใช้ได้ในยามที่ท้องถิ่นเกิดภัยพิบัติได้ทันท่วงที

แม้ว่ากฎหมาย REPUBLIC ACT No. 10121 จะวางหลักเกณฑ์ในเรื่องของการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยไว้เป็นอย่างดีและกำหนดหลักการอื่นๆ ให้สอดคล้องกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตัวอย่างเช่น การวางแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก การใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับแนวทางการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละชุมชน และหลักเกณฑ์ทางการคลังท้องถิ่นและงบประมาณว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในทางตรงกันข้าม การขาดการบังคับใช้กฎหมาย REPUBLIC ACT No. 10121 กับการขาดธรรมภิบาลในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ย่อมกลายมาเป็นปัญหาและอุปสรรคสำหรับการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ส่งผลร้ายต่อประชาชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจและท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น การขาดการวางแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่รัดกุม การยักยอกของเงินหรือของบริจาคของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง และการทุจริตงบประมาณที่เกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ย่อมไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทั้งหลายแล้ว ยังอาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียต่อร่างกายชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนด้วย การที่ภัยทางธรรมชาติเกิดขึ้นมานั้น ย่อมมีเหตุมาจากปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่เลือกสถานที่หรือเวลา หากแต่การรู้จักป้องกันภัยล่วงหน้าหรือป้องกันภัยไว้ก่อน ย่อมสามารถลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมไปถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อธุรกิจและเศรษฐกิจด้วย แต่ทว่าสิ่งที่สามารถซ้ำเติมต่อความสูญเสียที่ได้เกิดขึ้นต่อร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ นั้นก็คือ การทุจริตและขาดธรรมาภิบาลที่แท้จริงในการจัดการเยียวยากับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติและสาธารณะภัยที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว

ดังนั้น ไม่ว่าจะมีกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดีสักเพียงใดก็ตาม ดังเช่น กฎหมาย REPUBLIC ACT No. 10121 ของประเทศฟิลิปปินส์ หากแต่การขาดธรรมาภิบาล การทุจริต การคอรัปชั่นและการที่รัฐฟิลิปปินส์ไม่ได้ใส่ใจกับการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างเข้มงวดในการป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้าและเยียวยาผลกระทบหลังจากที่เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นเป็นอย่างดี ผลร้ายย่อมตกกับประชาชนชาวฟิลิปปินส์ที่จะต้องสูญเสียครอบครัว คนที่ตนรัก ชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน รวมไปถึงความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในท้องถิ่น

 

 

โปรดศึกษาเพิ่มเติมใน:
[1] National Disaster Risk Reduction and Management Plan, Implementing Rules and Regulation of REPUBLIC ACT No. 10121 (การนำกฎหมาย REPUBLIC ACT No. 10121 และข้อบังคับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไปปฏิบัติ), http://www.ndrrmc.gov.ph/attachments/095_IRR.pdf
[2] National Disaster Risk Reduction and Management Plan, REPUBLIC ACT No. 10121 (กฎหมายสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ว่าด้วยการจัดการและการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยแห่งชาติหรือกฎหมาย REPUBLIC ACT No. 10121), http://www.ndrrmc.gov.ph/attachments/045_RA%2010121.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net