Skip to main content
sharethis

สื่อต่างประเทศรายงานหลังคำวินิจฉัย ศาล รธน. 'นิวยอร์กไทมส์' ตั้งข้อสังเกต 3 ตุลาการ 'จรัญ - นุรักษ์ -สุพจน์' ยกร่าง รธน.50 มากับมือ - บีบีซีโดย 'โจนาธาน เฮด' ชี้ว่ามีไม่กี่ประเทศที่ผู้พิพากษาจะมีบทบาทคอยชี้ขาดและกำหนดชะตากรรมทางการเมือง

พาดหัวข่าว  "Thai Court Rejects Bid for Direct Elections of All Senators" ในนิวยอร์กไทมส์ ภายหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้เคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 (จากซ้ายไปขวา) จรัญ ภักดีธนากุล, นุรักษ์ มาประณีต และ สุพจน์ ไข่มุกด์  (ที่มา: วิกิพีเดีย/แฟ้มภาพ)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ที่มา: วิกิพีเดีย/แฟ้มภาพ)

 

21 พ.ย. 2556 - ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวานนี้ (20 พ.ย.) ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยลงมติ 6 ต่อ 3 ว่าเนื้อหาการแก้ไขขัดรัฐธรรมนูญ และลงมติ 5 ต่อ 4 ว่ากระบวนการแก้ไขเช่น เอกสารประกอบการพิจารณา ระยะเวลาการแปรญัตติ การลงคะแนนแทนกัน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และยกคำร้องการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองผู้บริหารพรรคนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

นิวยอร์กไทมส์พาดหัว "ศาลไทยบอกปัดความพยายามให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด"

โดยภายหลังจากมีคำวินิจฉัย มีการรายงานข่าวนี้โดยสื่อมวลชนต่างประเทศหลายสำนัก โดยรายงานของนิวยอร์กไทมส์ โดย โทมัส ฟุลเลอร์ พาดหัวข่าวว่า "Thai Court Rejects Bid for Direct Elections of All Senators" หรือ "ศาลไทยบอกปัดความพยายามให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด"

ทั้งนี้ ในรายงานของนิวยอร์กไทมส์ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันพุธนี้ (20 พ.ย.) ระบุว่าความริเริ่มการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมากของพรรครัฐบาล ถือเป็นความพยายาม "ล้มล้าง" การปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศ เป็นการเพิ่มแรงกดดันไปยังรัฐบาลที่กำลังยุ่งเหยิงและเปราะบางอยู่ก่อนแล้วจากผู้ประท้วงขับไล่รัฐบาลที่ชุมนุมมาหลายสัปดาห์

ศาลระบุว่าสมาชิกของพรรครัฐบาล ซึ่งอยู่ในอาณัติของมหาเศรษฐีผู้สร้างฝักฝ่าย อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร, ได้ละเมิดรัฐธรรมนูญ เมื่อพวกเขาพยายามทำให้วุฒิสมาชิกทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งโดยตรง นิวยอร์กไทม์อธิบายด้วยว่าภายในระบบปัจจุบัน ครึ่งหนึ่งของวุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง และอีกครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยผู้พิพากษาและข้าราชการระดับสูง

 

ลดทอนการครอบงำของทักษิณ รัฐประหาร 19 กันยา และ ส.ว.สรรหา

นิวยอร์กไทมส์ อธิบายว่า โดยมติ 5 ต่อ 4 ของศาลมุ่งไปยังหัวใจของการต่อสู้อันยืดเยื้อระหว่างพรรคการเมืองอันทรงอำนาจของทักษิณ ซึ่งชนะการเลือกตั้งทุกครั้งนับตั้งแต่ปี 2001, และเหล่าชนชั้นนำของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งกำลังหาทางลดทอนการครอบงำของทักษิณ

เมื่อทักษิณ ชินวัตรถูกขับออกจากอำนาจด้วยการรัฐประหารในปี 2006 กองทัพไทยได้ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเนื้อหารวมถึงเรื่องที่จะให้วุฒิสมาชิกครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง ต่อมาทักษิณก็ได้นี้ออกจากประเทศไปอีก ก่อนที่เขาจะถูกพิพากษาในความผิดฐานใช้อำนาจมิชอบ (หมายเหตุ - คดีประมูลซื้อที่ดินรัชดา) นอกจากนี้ยังมีคดีคอร์รัปชั่นอีกหลายคดีที่ต้องเผชิญหากเขาเดินทางกลับมา

ทั้งนี้พรรคการเมืองของเขาพยายามที่จะย้อนความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กลับมา โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขผ่านการลงมติจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และอยู่ในขั้นตอนรอการลงพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในรายงานของนิวยอร์กไทมส์ รายงานคำกล่าวของสุพจน์ ไข่มุกด์ หนึ่งในเก้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่กล่าวระหว่างศาลมีคำวินิจฉัยเมื่อวันพุธว่า สิทธิของเสียงข้างน้อยกำลังถูกกดขี่ข่มเห่ง

"ในระบอบประชาธิปไตยของไทย แม้จะถือให้เอามติฝ่ายเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์" เขากล่าว "แต่หากใช้อำนาจตามอำเภอใจกดขี่ข่มเหงฝ่ายเสียงข้างน้อย โดยไม่ฟังเหตุผล สิ่งนี้จะทำให้เสียงข้างมากสูญเสียความชอบธรรม"

เขากล่าวด้วยว่าระบอบเช่นนี้จะถือว่าเป็น "ระบอบประชาธิปไตย" ได้อย่างไร เมื่อเสียงข้างมากกระทำเช่นนี้ "ผลของมันคือทรราชเสียงข้างมาก"

นิวยอร์กไทมส์ รายงานด้วยว่า สำหรับคนนอก เหตุผลของศาลอาจจะฟังดูแปลก การเลือกตั้งวุฒิสมาชิกโดยตรงน่าจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับกระบวนการประชาธิปไตย แต่ในประเทศที่ความไม่ไว้วางใจต่อนักการเมืองเป็นไปอย่างลึกซึ้ง และการซื้อเสียงเป็นเรื่องปกติ ศาลได้อภิปรายแย้งในเรื่องนี้ว่า ถ้าทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด "ชนชั้นนักการเมือง" ก็จะมี "อำนาจครอบงำอย่างสมบูรณ์" นิวยอร์กไทมส์วงเล็บและอธิบายว่า ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายจำนวนมากไม่เห็นด้วย และมีคนหนึ่งที่กล่าวทางโทรทัศน์ว่าการตัดสินของศาลเป็นเรื่องประหลาด

รายงานของนิวยอร์กไทมส์ ยังสัมภาษณ์ความเห็นของ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.กระทรวงมหาดไทย และแกนนำพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ซึ่งกล่าวว่า "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะยิ่งทำให้ความแตกแยกในสังคมของเราเห็นชัดขึ้น"

"ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าอำนาจมาจากประชาชนทั้งหมด อีกฝ่ายเชื่อว่าอำนาจควรมาจากคนไม่กี่คน นี่เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้"

ตอนหนึ่งนิวยอร์กไทมส์อธิบายมาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ว่า อนุญาตให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความพยายามที่จะ "ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" แต่ก็มีข้อที่ยังโต้เถียงกันอยู่ว่าการฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องกระทำผ่านอัยการ แต่คำวินิจฉัยเมื่อวันพุธนี้ไม่ได้ผ่านช่องทางอัยการ

 

ตั้งข้อสังเกต 3 ตุลาการเคยเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550

นอกจากนี้ตอนหนึ่งในรายงานของนิวยอร์กไทมส์ ยังมีคำถามในทางกฎหมายด้วย เนื่องจากมีผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายหลายคน ระบุว่ามีตุลาการ 3 คนในศาลรัฐธรรมนูญที่ควรถอนตัวจากคดีนี้ เนื่องจากพวกเขาเป็นสมาชิกขององค์กรที่กองทัพแต่งตั้งเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือ "คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ" ภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549

สำหรับตุลาการทั้งสาม ที่นิวยอร์กไทมส์หมายถึง คือ จรัญ ภักดีธนากุล นุรักษ์ มาประณีต และสุพจน์ ไข่มุกด์

ทั้งนี้ความตึงเครียดเกิดขึ้นระหว่างที่มีการรอคอยคำวินิจฉัย ผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลหลายพันหรือคนเสื้อแดงได้ชุมนุมกันที่สนามกีฬาในกรุงเทพ อีกด้านหนึ่งของกรุงเทพ นักการเมืองที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคฝ่ายค้านประชาธิปัตย์ได้นำผู้ชุมนุมหลายพันคนประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เป็นน้องสาวของทักษิณ

ตอนท้ายรายงานของนิวยอร์กไทมส์ อธิบายลักษณะของพรรคประชาธิปัตย์ไว้ว่า "พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งอยู่ภายใต้ 'มนตรา' มาหลายปีว่าความขัดแย้งทางการเมืองต้องอยู่ในสภา มาในปีนี้ได้ลงสู่ท้องถนน โดยพรรคการเมืองนี้เพิ่งมีชัยชนะเมื่อต้นเดือนนี้ เมื่อรัฐบาลยอมถอน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ที่มีผลปลดปล่อยให้ทักษิณสามารถกลับไทย

 

ล้อมกรอบบีบีซี 'โจนาธาน เฮด' ระบุมีไม่กี่ประเทศที่ผู้พิพากษากำหนดชะตากรรมทางการเมือง

ส่วนในรายงานของบีบีซี พาดหัวข่าวว่า "Thailand Constitutional Court rejects Senate amendments" หรือ "ศาลรัฐธรรมนูญไทยปฏิเสธการแก้ไขเรื่องที่มาของ ส.ว." โดยในข่าวล้อมกรอบทัศนะของ โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี ประจำกรุงเทพมหานคร ที่ระบุว่า "มีไม่กี่ประเทศที่ผู้พิพากษากลุ่มหนึ่งจะมีบทบาทคอยชี้ขาดและกำหนดชะตากรรมทางการเมือง อย่างตุลาการซึ่งทำหน้าที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทย"

"ในปี 2001 พวกเขาปฏิเสธที่จะเพิกถอนทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งออกจากตำแหน่ง แม้จะมีหลักฐานที่หนักแน่นว่าเขาได้ละเมิดกฎหมายในการปกปิดบัญชีทรัพย์สิน"

ในปี 2006 "... พวกเขาตัดสินให้การเลือกตั้งที่ทักษิณชนะเป็นครั้งที่ 3 เป็นโมฆะ ซึ่งคำตัดสินนี้นำมาซึ่งการรัฐประหารในที่สุด ในปี 2007 พวกเขาตัดสินยุบพรรคการเมืองของทักษิณ ในปี 2008 พวกเขาถอดถอนนายกรัฐมนตรี 2 คนที่เป็นพันธมิตรกับทักษิณ และยุบพรรคการเมืองอีกครั้ง"

วันนี้ พวกเขาได้ถอยกลับไปจากบทบาทนี้ ด้วยการยกคำร้องยุบพรรคการเมืองของทักษิณเป็นรอบที่สาม  ประเทศไทยได้รอดพ้นไปจากวิกฤตไปอีกครั้งหนึ่ง

แต่การแทรกแซงโดยตุลาการกำลังดำเนินไปอย่างโจ่งแจ้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จรูญ อินทจาร ได้ใช้ถ้อยคำอันแสบร้อน ประณามบทบาทของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ที่พยายามแก้ไขที่มาของวุฒิสมาชิกผ่านกระบวนการทางรัฐสภา โดยได้เตือนรัฐบาลว่าไม่ควรใช้เสียงข้างมากไปในทางที่ผิด

โดยการอ้างมาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญ เขาได้ทำให้ความพยายามใดๆ โดยรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญที่ร่างในสมัยรัฐบาลทหาร เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย

 

ผอ.ฟรีดริค เอแบร์ท ชี้เป็นข้อเสนอ 'ภาวะสงบศึก' จากฝ่ายจารีต - รักษาสถานะเดิมไม่ให้ 'ทักษิณ' ขยายอำนาจ

นอกจากทัศนะของสื่อมวลชนต่างประเทศในไทยแล้ว มาร์ค แซกเซอร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท สำนักงานประเทศไทย ได้โพสต์สเตตัสในเฟซบุคบัญชีส่วนตัวของเขาแสดงทัศนะหลังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวอย่างน่าสนใจว่า

"ฝ่ายชนชั้นนำศักดินาได้พูดผ่านกระบอกเสียงของตัวเองโดยยื่นภาวะสงบศึกบนพื้นฐานของสถานภาพเดิมๆ ทักษิณยังคงปกครองต่อไปได้ด้วยอำนาจที่จำกัด แต่จะไม่ได้รับอนุญาตให้ขยายเขตอำนาจออกไป ในทางการเมืองแล้ว นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนภาวะชะงักงันในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีฝ่ายใดมีอำนาจเพียงพอที่จะมีชัยเหนือความขัดแย้ง"

"ใช่ว่าจะมีใครคาดหวังให้คณะตุลาการซึ่งแต่งตั้งโดยคณะทหารแถลงสิ่งอื่นใดออกมานอกจากสาส์นทางการเมือง ถึงกระนั้นก็ตามคำพิพากษานี้จะเป็นปัญหาอย่างลึกซึ้ง กล่าวโดยสรุป คำพิพากษานี้บอกว่าไม่มีใครหน้าไหนสามารถแก้ไขรัฐธรรมนููญนี้ชั่วกาลนาน และประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งโดยเนื้อแท้ของมันก่อให้เกิดการคอรัปชั่น และการปกครองโดยเสียงข้างมากมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ..."

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net