Skip to main content
sharethis


กัสตูรี มะห์โกตา (ขวา) 

แม้ว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพปาตานีระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ดูเหมือนจะหยุดชะงักไปแล้วหลายเดือน ทว่าเบื้องหลังความเงียบนั้นก็มีความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญหลายอย่าง

ล่าสุดคือการพบปะระหว่าง “กัสตูรี มะห์โกตา” ซึ่งระบุตำแหน่งในนามบัตรว่าเป็น “ประธานขบวนการพูโล” โดยเขียนยศ พ.อ.(COL.) นำหน้าชื่อตัวเอง กับดาโต๊ะซัมซามิน ฮาซิม ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยฝ่ายมาเลเซียเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา เพื่อหารือถึงการเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยในฝ่ายขบวนการต่อสู้ที่ปาตานี ซึ่งมีแนวโน้มว่าฝ่ายพูโลจะส่งตัวแทน 2 คนเข้าร่วมกับฝ่ายบีอาร์เอ็น

ที่ผ่านมา เป็นที่รับรู้กันดีในกลุ่มผู้ที่ติดตามสถานการณ์ชายแดนใต้ว่า ขบวนการพูโล หรือ Patani United Liberation Organisation (PULO) แตกออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มของกัสตูรี มะห์โกตา กลุ่มของนายซัมซูดิง ค่าน และกลุ่มของนายลุกมาน บินลีมา ซึ่งกัสตูรียืนยันเองว่า ตอนนี้พูโลทั้ง 3 กลุ่มได้รวมเป็นหนึ่งแล้ว เพื่อเตรียมเข้าร่วมการพูดคุยสันติภาพครั้งต่อไป


คุณมีบทบาทอะไรในกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้?
กัสตูรี: ก่อนอื่นผมขอขอบคุณฝ่ายมาเลเซียที่รับเป็นเจ้าภาพดำเนินการเรื่องนี้ ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย เพราะเรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องธรรมดา มันเป็นเรื่องระดับรัฐบาล และผมขอร้องประชาชนปาตานีทั้งมวลว่า อย่างที่ผมกล่าวไปแล้วว่า ทุกความขัดแย้งต้องจบลงด้วยการเจรจา ซึ่งตอนนี้โอกาสได้เปิดแล้วลองคว้าโอกาสนี้ไว้เถิด

ถามว่าเมื่อไหร่จะจบนั้น มันก็ต้องใช้เวลาซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติ เราอย่าได้ท้อ เพราะถึงเราจะรบกันอีก 50 ปีข้างหน้า เราก็ต้องเจรจาอยู่ดี อย่างตอนนี้ไทยเองก็ยอมที่จะเจรจาอย่างเปิดเผยแล้ว เราก็จงคว้าโอกาสนี้ไว้

สำหรับผมแล้ว เราในฐานะคนปาตานีอย่าได้ดูถูกคนอื่นเลยหรือคณะผู้แทนพูดคุย ถ้าเรามัวแต่ดูถูกพวกเดียวกันเอง หรือเหมือนอย่างที่ว่าถ้าเจรจากันแล้วจะถูกฝ่ายไทยหลอก อันนั้นไม่น่าจะถูกนัก เท่าที่ทราบมาว่า การเจรจารอบหน้าที่จะถึงนี้ผมจะเข้าไปร่วมด้วย ช่วยๆ กันขอพรด้วยนะครับ
 

คุณได้หารือกับฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นแล้วหรือไม่ อย่างไร?
สำหรับกลุ่มบีอาร์เอ็นนั้น ผมมอบหมายให้ฝ่ายผู้อำนวยความสะดวกดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งผมจะไม่มีการติดต่อโดยตรง แต่อินชาอัลลอฮ์ (หากพระองค์ทรงประสงค์) ในอนาคตความตั้งใจของเรา เราจะสร้างให้มีทีมคณะผู้แทนเจรจาแห่งชาติปาตานี
 

ทำไมสังคมชอบตั้งแง่ต่อการปรากฏตัวของกัสโตรี มะฮ์โกตา?
ผมเองจะให้คำตอบที่ถูกต้องที่สุดก็ค่อนข้างยาก เพราะถ้าดูจากอายุแล้วผมจะหนุ่มกว่าผู้นำหลายๆ ท่าน และต่างคิดว่าผมต้องการมีบทบาทในการเจรจา ซึ่งผมคิดว่าเป็นการคาดเดาเท่านั้น หลายๆ ครั้งผมเน้นย้ำอยู่ตลอดว่า การคลี่คลายปัญหาจะไม่สามารถกระทำโดยผมคนเดียวได้ และจะไม่จบลงด้วยขบวนการอื่นเพียงขบวนการเดียว เราต้องอยู่ร่วมโต๊ะเดียวกัน
 

ท่านเชื่อว่าฝ่ายไทยมีความจริงใจที่จะคลี่คลายปัญหานี้?
ขึ้นชื่อว่ามนุษย์นั้น เราไม่อาจจะหลีกพ้นไปจากผลประโยชน์ได้แม้แต่น้อย เราก็มีผลประโยชน์ รัฐไทยเองก็มีผลประโยชน์ แต่มีความแตกต่างกับอดีตที่ผ่านมา เขาเองก็ไม่ง่ายนักที่จะยอมรับการเจรจาในทางเปิดเผย นั่นเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นว่า ตอนนี้เขาได้ทุ่มเทอย่างมหาศาลในสิ่งที่เขาได้ทำในวันนี้

เราก็ต้องยอมรับความจริงในจุดนี้ว่าการที่รัฐบาลจะต้องมานั่งเจรจากับขบวนการต่อสู้มันไม่ใช่เรื่องง่าย เราให้ความเคารพในส่วนนี้ แต่ผมใคร่ขอย้ำว่า ผลประโยชน์มันย่อมมีอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติธรรมดา
 

มีคำถามหนึ่งจากกลุ่มคนหนุ่มบางส่วนในพื้นที่ซึ่งพวกเขาไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลและฝ่ายทหาร เพราะในช่วงที่มีกระบวนการสันติภาพก็มีความพยายามตามเก็บ (ตามสังหาร) กลุ่มคนในพื้นที่ด้วย เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้สร้างความหวาดกลัวให้พวกผู้นำที่อยู่ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพหรอกหรือ
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจยิ่งนัก แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องรู้ด้วยว่ากระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่นี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น และเรายังต้องช่วยกันคิดที่จะเสริมสร้างกระบวนสันติภาพนี้ให้ดีที่สุด แต่ในระหว่างนี้ที่มีการตามเก็บนั้นเป็นเรื่องปกติในช่วงการพูดคุย เพราะยังไม่มีข้อตกลงและยังไม่ได้ทำข้อตกลงใดๆ
 

กระบวนการสันติภาพในปัจจุบันท่านสนับสนุนหรือไม่?
เราสนับสนุนเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ต่อกระบวนการสันติภาพที่เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นนี้ แน่นอนคงต้องมีความบกพร่องเป็นธรรมดา ด้วยเหตุนี้เรามาช่วยกันปรับปรุงแก้ไขความบกพร่องเหล่านั้น เราลองมาช่วยกันคิดและให้กระบวนการสันติภาพนี้มีความสมบูรณ์พร้อม ไม่ต้องไปคิดที่จะให้มีกระบวนการอื่นอีก นอกเหนือจากนี้ กระบวนการสันติภาพครั้งนี้เป็นครั้งที่นอกเหนือการคาดการณ์ ที่เป็นการเปิดเผย ที่เป็นวาระและมีฝ่ายผู้อำนวยความสะดวก เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ความบกพร่องเหล่านั้นเราต้องมาช่วยกันแก้ไข
 

จะหลีกเลี่ยงและออกห่างความบกพร่องเหล่านั้นอย่างไร?
ความบกพร่องที่มีอยู่ ตามที่เราเห็นก็คือทางฝ่ายไทยเองก็ยังไร้เอกภาพ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายกองทัพและฝ่ายวัง เช่นเดียวกันกับฝ่ายขบวนการ เราเองยังไม่มีการแต่งตั้งคณะผู้แทนเจรจาแห่งชาติ เราจำเป็นต้องคิดเพื่อให้ฝ่ายขบวนการสามารถตั้งคณะผู้แทนแห่งชาติปาตานี ไม่ใช่เจาะจงไปที่ขบวนการใดขบวนการหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เราก็ยอมรับในศักยภาพและอำนาจของขบวนการใดขบวนการหนึ่ง แต่ก็ในกระบวนการพูดคุยนี้เท่านั้นซึ่งผมเชื่อมั่นว่าการมีคณะผู้แทนแห่งชาตินั้นจะทำให้เราไม่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างกัน
 

นั่นหมายความว่าเป็นการขับเคลื่อนของประชาชนโดยทั่วกัน?
นั่นคือสิ่งที่เราต้องการแต่เราต้องไม่ลืมว่า ตัวแสดงหลักนั้นต้องเป็นฝ่ายขบวนการอยู่ดี แต่ในขณะเดียวกัน ฉากหลังนั้นจะครอบคลุมไปถึงองค์กรภาคประชาสังคมทุกกลุ่มในพื้นที่ และนี่ก็เช่นกันมิได้เจาะจงเฉพาะคนมลายู เพราะปาตานีไม่ใช่เป็นของคนมลายูอย่างเดียว แต่ยังมีคนไทยพุทธอีกด้วยที่อาศัยอยู่ที่นี่จากรุ่นสู่รุ่น และก็มีคนจีน

ศาสนาอิสลามก็ยังสอนด้วยว่า เราต้องให้ความเคารพต่อศาสนิกอื่นด้วย นั่นคือหลักการอิสลาม เราต้องนอบน้อมอ่อนโยนกับคนที่ไม่ใช่อิสลาม ไม่ใช่แค่กับคนมลายูและอิสลามด้วยกันเท่านั้น


สิ่งที่น่าสนใจก็คือต้องเอาประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
เพราะปาตานีเป็นของคนปาตานี ส่วนพูโลเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งแต่ใช่ว่าประชาชนปาตานีจะอยู่เคียงข้างเราหมดเช่นเดียวกับขบวนการอื่นๆ เขาก็เป็นแค่เพียงกลุ่มคนเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น

แต่ในช่วงหลังมานี้เราได้เห็นถึงกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่มีความก้าวหน้าสู่จุดที่เราต้องการ เราลองให้โอกาสพวกเขาสักหน่อยหนึ่ง เราต่างก็อดทน โดยส่วนตัวผมเห็นว่า ตอนนี้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมแล้ว


มีเสียงสะท้อนจากในพื้นที่ว่าคนที่อยู่นอกประเทศมีความเหนื่อยล้าแล้ว จึงต้องการแค่การปกครองตนเอง (autonomy) การกระจายอำนาจ ไม่ต้องการเอกราชแล้ว พวกเขาไม่เคยเข้าใจบริบทจริงในพื้นที่ แต่เสียงของคนหนุ่มในพื้นที่ย้ำว่าต้องการเอกราชเท่านั้น?
ขอเรียนว่าไม่มีใครสักคนเดียวที่ไม่ต้องการเอกราช เราต้องเข้าใจถึงคำว่าอิสรภาพ (Merdeka) และคนที่ต้องการเอกราชเองก็ยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าอะไรคือเอกราช เราต้องเข้าใจถึงคำว่าเอกราช

ในส่วนของพูโลและขบวนการอื่นๆ ก็ได้บัญญัติไว้ในธรรมนูญของตนเองว่าเป้าหมายสูงสุดคือเอกราช แต่คำถามก็คือว่า เมื่อเราได้เข้าสู่การพูดคุยที่นั่นก็ต้องมีกระบวนการต่อรองกันไปมาและไม่มีความขัดแย้งใดที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้อาวุธ มันต้องคลี่คลายด้วยการพูดคุย

แต่เมื่อเราเข้าสู่การพูดคุยมันก็ต้องมีการต่อรองกันโดยอัตโนมัติถือเป็นเรื่องปกติ แต่เป้าหมายของเราก็จะยังคงเป็นเอกราชเช่นเดิม และเราอาจไม่ลดเป้าหมายของเราลงไปสู่การปกครองแบบออโตนอมิ ไปสู่เขตปกครองพิเศษ แต่เราจะฟังว่ารัฐไทยจะให้อะไรแก่เรา

ถ้าไทยไม่ให้เอกราชแล้วอะไรล่ะที่เขาจะให้ แต่เท่าที่ผมได้ฟังมานั้น ผมก็มีความเห็นตรงกันกับคนหนุ่มๆ ทั้งหลาย เราต้องการเอกราช แต่ไทยไม่ให้เอกราช แล้วไปขอออโตนอมิ ซึ่งถ้าอย่างนี้ก็เป็นการที่ผิดเราเป็นนักต่อสู้ก็ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะไปลดเป้าหมายของเราเอง มันต้องเป็นฝ่ายไทยเท่านั้น

อย่างกรณีความขัดแย้งที่อาเจะห์ (ประเทศอินโดนีเซีย) ตอนเจรจาที่เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งฝ่ายอินโดนีเซียย้ำอยู่ตลอดตั้งแต่แรกเริ่มการพูดคุยว่า ถ้าจะคุยเรื่องเอกราชเขาก็จะไม่คุยด้วยอย่างเด็ดขาด แต่ถ้าจะคุยเรื่องอื่นเราคุยได้
ในวันนี้เราก็อยากจะฟังจากฝ่ายไทย สมมติว่าฝ่ายไทยบอกว่า เขาจะไม่คุยเรื่องเอกราช แต่จะให้แค่ออโตนอมิ ในที่นี้เราก็มาดูอีกครั้งว่าเราจะคุยเรื่องออโตนอมิต่อไหม แต่จนถึงวันนี้ไทยเองก็ยังไม่ได้บอกเราเลยว่า จะให้อะไรแก่เรา คนปาตานีเท่านั้นที่พูดว่าอยากได้ออโตนอมิ แต่พูโลไม่มี
 

อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยพบคุณไหม?
ยังไม่ได้พบ


หลังจากเป็นคนพลัดถิ่นมานาน เมื่อการพูดคุยสันติภาพกำลังดำเนินอยู่เช่นนี้ คุณมีความหวังว่าอยากจะกลับบ้านเกิดหรือไม่?
ผมคงจะกลับหากว่าสิ่งที่ได้นำเสนอไปแล้วถูกตอบรับ เพราะถ้าผมพูดในฐานะส่วนตัวแล้ว ก็อยากจะกลับด้วยเงื่อนไขที่แน่นอน แต่ไม่ใช่กลับไปเพื่อมอบตัวหรือเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ เพราะไม่อยากให้เกิดข้อครหาในตัวผม

เรื่องนี้ผมก็ต้องกลับไปหารือกันในวงของเราก่อนถึงผลดีผลร้าย ถ้าไม่ดีเราก็ไม่กลับ แต่ถ้าดีก็คงไม่มีอะไร แต่ถ้ากลับไปมอบตัวนั้นไม่เคยมีในหัวสมองแม้แต่น้อย เราจะหลีกเลี่ยงประเด็นที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่ากลับไปเพื่อมอบตัว เพราะประชาชนปาตานีที่กำลังรอเราอยู่และได้ฝากความหวังไว้กับเรา ซึ่งเรามิอาจปล่อยความหวังของประชาชนทิ้งได้
 

หนึ่งในเงื่อนไขที่จะกลับไปนั้นก็คือต้องปล่อยนักโทษในเรือนจำก่อนด้วยหรือไม่?
ต้องปล่อยตัวคนในเรือนจำก่อน ไม่ว่าจะเป็นหะยีสะมะแอ หะยีดาโอ๊ะ (แกนนำขบวนการพูโลซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำในประเทศไทย) ซึ่งผมเองก็เคยเสนอไปยังรัฐบาลไทยไปแล้ว ซึ่งหากมีเรื่องนี้บางทีเราก็จะพิจารณาเรื่องนี้

ในการปล่อยตัวคนของพูโลทั้งสามท่านนั้น (หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ, หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ, หะยีบือโด) ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในพิธีด้วยอย่างที่ผมบอกตั้งแต่ต้นว่าเรื่องนี้ผมต้องกลับไปหารือก่อน

หากโอกาสที่จะเกิดสิ่งไม่ดีในการกลับบ้านของผมนั้นแทบไม่มี เราก็จะไม่ทำให้ความหวังของประชาชนสูญเปล่า เพราะผู้นำของเราที่แล้วๆ มานั้นประชาชนได้ฝากความหวังไว้มาก แต่สุดท้ายผู้นำเหล่านั้นกลับสร้างความผิดหวังให้ประชาชนเอง เราไม่อยากให้การต่อสู้ที่ปาตานี ล้มแล้วลุก ลุกแล้วล้ม เช่นอดีต
 

หากมีการปล่อยตัวจริง กล้ากลับไหม?
โดยส่วนตัวผมพร้อมจะกลับหากปราศจากการโดนป้ายสี และเรื่องนี้ผมจะต้องหารือในวงของเราอีกครั้ง หากที่ประชุมเห็นชอบก็จะกลับ อินชาอัลลอฮ์ (หากพระองค์ทรงประสงค์) หากมีหลักประกันในความปลอดภัย และเราอาจเรียกร้องให้มีตัวแทนองค์กรภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมเป็นสักขีพยานในการปล่อยตัว

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมกังวลใจคือการปล่อยตัวผู้ที่อยู่ในเรือนจำนั้น เราอยากให้ข้องเกี่ยวกับวาระกระบวนการสันติภาพที่เป็นความพยามของขบวนการเอง ไม่ใช่ปล่อยตัวเพราะครบกำหนด แล้วก็ให้ผมกลับไป ถ้าเป็นเช่นนั้นคงไม่ถูกต้อง หมายความว่าต้องปล่อยตัวเพราะเป็นข้อเรียกร้องจากฝ่ายเรา เพื่อสนับสนุนกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินการในปัจจุบัน เราไม่ต้องการให้ปล่อยตัวเพราะครบกำหนดแล้วลากไปให้เกี่ยวข้องกับเรา อันนี้เราไม่ต้องการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net