Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อนุสนธิการออกมาแถลงการณ์ของกลุ่มตุลาการที่รักแผ่นดินจำนวน 63 ราย เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 เพื่อคัดค้านร่าง พรบ.นิรโทษกรรม โดยมีเนื้อหาที่สำคัญ ดังนี้


“ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากมีมติเห็นชอบให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งกรรมาธิการแก้ไขถึงขนาดเปลี่ยนแปลงหลักการตามร่างในชั้นกรรมาธิการ โดยให้มีผลนิรโทษกรรมแก่การกระทำความผิดอาญาร้ายแรง โดยอ้างว่าเป็นมูลเหตุจากวิถีทางการเมือง การชุมนุมทางการเมือง หรือเกี่ยวเนื่องกับการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายแก่ประชาชน ความผิดต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน โดยมิได้คำนึงถึงผู้เสียหายที่ถูกกระทำไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากฝ่ายใด ขัดต่อหลักนิติธรรม ซึ่งมีเป้าประสงค์สูงสุดเพื่อปกป้องสุจริตชนและเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ซ้ำร้ายกว่านั้น ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังมีผลครอบคลุมถึงความผิดเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ไม่ว่าศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วก็ดี หรืออยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล หรืออยู่ในชั้นสอบสวนก็ดี ทั้งที่ความผิดลักษณะดังกล่าวเป็นภัยร้ายแรงต่อประเทศชาติ เป็นที่น่ารังเกียจในสังคมโลก สมควรได้รับการพิจารณาตามกระบวนการพิสูจน์ความผิดหรือได้รับการปฏิบัติตามโทษานุโทษ แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับกำหนดยกเว้นกฎหมาย ทำลายนิติรัฐ โดยอ้างว่าเป็นเหตุอันมีที่มาจากการเมือง ทั้งที่ประจักษ์ชัดโดยคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าเป็นการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันจะเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องของสังคมไทยต่อไปในอนาคต

ข้าพเจ้า ซึ่งต่างสำนึกตลอดมาว่ามีหน้าที่ธำรงไว้ซึ่งความถูกต้องเป็นธรรมบนแผ่นดินนี้ จึงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งจะเข้าสู่วาระการพิจารณาของวุฒิสภาดังเหตุผลที่กล่าวข้างต้น เพื่อ มิให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้บานปลายไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกัน อันจะนำมาซึ่งความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและแผ่นดิน จึงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องใช้ดุลพินิจทบทวนหรือยับยั้งการออกกฎหมายฉบับนี้โดยเร็วที่สุด”
(ที่มา : http://www.prachatai3.info/journal/2013/11/49610)

ซึ่งต่อมาได้มีประธานศาลอุทธรณ์ภาค 9 กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นการแสดงออกมาในฐานะส่วนตัว ไม่ใช่ในนามสถาบัน เมื่อเป็นการแสดงออกโดยสุจริตตนเห็นว่ากระทำได้พร้อมทั้งวิจารณ์รัฐบาลว่าประเมินสถานการณ์ผิดพลาด ท้าทายประชาชน(ที่มา: ไทยรัฐ 8 พ.ย.56 หน้า 16)และโฆษกสำนักงานศาลยุติธรรมก็ออกมาบอกว่าหากผู้พิพากษาร่วมแสดงความคิดเห็นในฐานะประชาชนแล้วย่อมสามารถกระทำได้ แต่จะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา(ที่มา : มติชน 8 พ.ย.56 หน้า 12) ซึ่งต่อมาได้มีหนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อให้สัมภาษณ์ว่าเพียงแต่แสดงจุดยืนต่อกฎหมายฉบับนี้ในฐานะนักกฎหมาย(ที่มา: มติชน 1๐ พ.ย.56 หน้า 1๐)

ฉะนั้น เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์และเนื้อหาของแถลงการณ์พร้อมทั้งความเห็นของประธานศาลอุทธรณ์ภาค 9 และโฆษกสำนักงานศาลยุติธรรมตลอดจนความเห็นของผู้ลงชื่อที่ว่าเป็นการแสดงจุดยืนต่อกฎหมายแล้ว จึงทำให้ผมซึ่งเป็นประชาชนคนหนึ่งต้องขอคุยกับคณะตุลาการดังกล่าวในฐานะที่เป็นประชาชนด้วยกันว่า

1)การออกแถลงการณ์โดยมีเนื้อหาสาระว่า “ไม่ว่าศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วก็ดี หรืออยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล หรืออยู่ในชั้นสอบสวนก็ดี” นั้นขัดต่อประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เรื่องจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ พ.ศ.2552 ข้อ 6 ที่ว่า “ผู้พิพากษาจักต้องละเว้นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงในคดีที่อาจกระทบกระเทือนต่อบุคคลใด ไม่วิจารณ์หรือให้ความเห็นแก่คู่ความหรือบุคคลภายนอกเกี่ยวกับคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาหรือ กำลังจะขึ้นสู่ศาล …”  และ ข้อ 28 ที่ว่า

“ผู้พิพากษาไม่พึงแสดงปาฐกถา บรรยาย สอน หรือเข้าร่วมสัมมนาอภิปรายหรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต่อสาธารณชน ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา...” หรือไม่ เพราะเหตุใด และหากมีคดีที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวนี้เข้าสู่การพิจารณาของตุลาการรายใดรายหนึ่งจาก 63+2= 65 รายนี้ คู่ความจะสามารถยกเหตุแห่งความเห็นในแถลงการณ์นี้คัดค้านผู้พิพากษาได้หรือไม่ ที่สำคัญที่สุดหากมีประชาชนด้วยกันที่ไม่พอใจเนื้อหาและการกระทำของตุลาการทั้ง 65 รายดังกล่าวแล้วกล่าวผรุสวาทออกมาทั้งต่อหน้าและลับหลัง จะเป็นการหมิ่นศาลหรือตุลาการหรือไม่ เพราะเหตุใด

อนึ่ง การที่อ้างว่าการเรื่องนี้เป็นการแสดงออกมาในฐานะส่วนตัว ไม่ใช่ในนามสถาบันนั้น เหตุใดจึงมีการระบุตำแหน่งหน้าที่การงานหลังชื่อของตนเองในบัญชีแนบท้ายแถลงการณ์ด้วย

2)การที่ศาลยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้วนำมาเป็นเหตุผลในการพิจารณาพิพากษานั้นขัดต่อประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เรื่อง จริยธรรมของข้าราชการตุลาการ พ.ศ.2552 ข้อ 33 ที่ว่า “ผู้พิพากษาจักต้องสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ”หรือไม่ และขัดต่อเนื้อหาของตัวแถลงการณ์นี้หรือไม่ที่อ้างหลัก “นิติธรรม(rule of law)”แต่ยอมรับเอาอำนาจของคณะรัฐประหารมาพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นการยึดหลัก “อำนาจคือธรรม(might is right)” ซึ่งหลักนี้ไม่มีการใช้ตั้งแต่ยุคโทมัส เจฟเฟอร์สันแล้ว แต่เหตุใดศาลไทยจึงยังคงนำมาใช้อยู่ โดยไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมารองรับเลย

3)การแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะตำหนิติเตียนการดำเนินการของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารโดยเห็นว่าเป็นการกระทำโดยสุจริตแล้ว หากอีกทั้งสองฝ่ายและประชาชนจะตำหนิติเตียนการพิจารณาพิพากษาคดีหรือการดำเนินการของฝ่ายตุลาการต่อที่สาธารณะโดยอ้างว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเช่นกันจะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

4) จากการออกแถลงการณ์ดังกล่าวแล้วได้มีการวิพากษ์วิจารณ์จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและผู้คนโดยทั่วไปถึงความเหมาะสมเพราะไม่เคยเกิดขึ้นในนานาอารยประเทศและประเทศไทยเองนั้นกระทบต่อเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษาแล้วหรือไม่ อย่างไร

จริงๆแล้วมีหลายประเด็นที่อยากจะคุยด้วย เช่น เหตุใดผู้ต้องหาบางคดีถึงไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวทั้งๆที่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญรับรองไว้ ฯลฯ แต่เห็นว่าไม่เกี่ยวกับแถลงการณ์นี้ และคำตอบที่ได้รับก็คงไม่พ้นเรื่องของดุลพินิจขององค์คณะที่ไม่อาจก้าวล่วงได้เช่นเคย ก็คงขอคุยกับตุลาการในฐานะประชาชนด้วยกันเพียงสี่ประเด็นเท่านี้แหล่ะครับ
 

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 13 พฤศจิกายน 2556
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net