Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

14 ตุลาคม 2516 มักพูดถึงในฐานะเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นสำนึกอันบริสุทธิ์ของปัญญาชนในการต่อสู้เพื่อคนส่วนใหญ่ แม้จะไม่ค่อยมีใครขยายความว่ารูปธรรมของความเป็น “เพื่อคนส่วนใหญ่” หมายถึงอะไร  สำนึกแบบนี้มีอยู่ในปัญญาชนเอง หรือเป็นผลของเงื่อนไขภายนอกบางอย่าง  และทำไมถึงต้องหมกมุ่นกับความบริสุทธิ์ของปัญญาชนกันขนาดนี้  แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าสิบสี่ตุลาคมเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของพลังบริสุทธิ์จริงๆ

การรำลึก 40 ปี 14 ตุลา ก็พูดเรื่องนี้บ่อยครั้ง ต่อให้ไม่รู้ว่าจะวัดความเป็นพลังบริสุทธิ์จากอะไร ปัญญาชนบริสุทธิ์จริงหรือไม่ รวมทั้งมีอะไรพิสูจน์ว่าความบริสุทธิ์นั้นเท่ากับ “เพื่อคนส่วนใหญ่” ทุกกรณี

พูดให้โหดร้ายกว่านั้นคือเราแทบไม่มีความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาปัญญาชนกับคนกลุ่มที่เรียกว่า “คนส่วนใหญ่” ในช่วงสิบสี่ตุลาคม   คำอธิบายว่าปัญญาชนบริสุทธิ์คือปัญญาชนที่มีค่าต่อคนส่วนใหญ่นั้นเป็นภาพสะท้อนความเข้าใจตัวเองของปัญญาชนแน่ๆ แต่คำถามคือคนส่วนใหญ่เขาคิดถึงปัญญาชนแบบเดียวกันจริงหรือ?

หนึ่งในวรรณกรรมที่มีอิทธิพลในยุคนั้นคือนวนิยายเรื่อง “ปีศาจ” ซึ่งเสนีย์ เสาวพงศ์ เขียนลงนิตยสารสยามสมัยเป็นตอนๆ ช่วง พ.ศ.2496-2497 และพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในปี 2500 ก่อนจะพิมพ์ใหม่อีกครั้งในปี 2514 และได้รับการพิมพ์ซ้ำอย่างน้อยสามครั้งในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 ไม่รวมถึงการคัดบางตอนไปเผยแพร่ต่อในหนังสือของนักศึกษา  และการเขียนถึงหนังสือเล่มนี้โดยวิทยากร เชียงกูล, เสถียร จันทิมาธร และ พิรุณ ฉัตรวณิชกุล

ปีศาจมีตัวละครเอกคือ สาย สีมา ลูกชาวนาผู้อาศัยวัดเป็นที่ซุกหัวนอนจนจบมหาวิทยาลัยและประกอบอาชีพทนาย อีกรายคือรัชนี อักษรศาสตร์บัณฑิตลูกผู้ดีที่พ่อไม่ให้ทำงานนอกบ้านเพราะกลัวลูกจะเกลือกกลั้วกับพวกไม่มีชาติตระกูล ตัวละครสำคัญที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงคือนิคมซึ่งเป็นปลัดที่จงใจไปทำงานในพื้นที่ห่างไกล ส่วนกิ่งเทียนเป็นเพื่อนร่วมคณะกับรัชนีที่เลือกทำอาชีพครูเพื่อคนด้อยโอกาสและภูมิใจกับการมีมือหยาบกร้านเหมือนแม่ผู้หาบเร่ขายขนมรายวัน

ปีศาจแสดงพัฒนาการของตัวละครจากภาวะยอมจำนนเป็นการตั้งคำถามและขบถต่อสังคมทั้งหมด สายในช่วงแรกมีบุคลิกถ่อมเจียมเหมือนรัชนีที่เชื่อบัญชาพ่อทุกอย่าง แต่จากนั้นทั้งคู่ก็เห็นความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์และความไร้เหตุผลของระบบเก่าจนทนเป็นส่วนหนึ่งต่อไปไม่ได้ สายผันตัวเองไปว่าความให้ชาวนาจนผู้กำลังจะถูกยึดที่ดิน ส่วนรัชนีก็หางานทำแบบมนุษย์ไร้ฐานันดรคนอื่น  ท้ายที่สุดคนคู่นี้จึงเหมือนกันในแง่ละทิ้งฐานะทางชนชั้นของตัวเอง

แม้สายและรัชนี จะเลือกเดินเส้นทางแบบที่นิคมและกิ่งเทียนเลือกไปก่อนนานแล้ว แต่ความเป็นลูกผู้ดีที่ทรยศชนชั้นหรือกระฎุมพีใหม่ที่หันหลังให้โอกาสแห่งชีวิตนั้นมีเสน่ห์เสมอเมื่อเทียบกับลูกแม่ค้าที่ทำเพื่อชนชั้นของแม่ตัวเอง

ฉากอมตะของนวนิยายเรื่องปีศาจคือการตอบโต้ของสายต่อพ่อรัชนีบนโต๊ะอาหารของผู้ดีชั้นสูง สายปราศรัยด้วยภาษาซึ่งไม่แปลกหากจะได้อิทธิพลจาก The Communist Manifesto ว่า “ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความก้าวหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที ... ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป โลกของเราเป็นคนละโลก โลกของผมเป็นโลกของธรรมดาสามัญชน”

ภาพยนตร์เรื่องปีศาจซึ่งฉายในปี 2522  ก็ให้น้ำหนักกับฉากนี้ แต่ฉากที่มีความสำคัญไม่น้อยคือคำประกาศของรัชนีเพื่อไปเป็นครูที่ภาคอีสาน เราจะเห็นสายเดินจากงานเลี้ยงกลับบ้านเช่าซอมซ่อด้วยท่าทีของคนที่ตกผลึกกับอะไรบางอย่าง เขาพบรัชนีนั่งรอที่บ้านตลอดคืน จากนั้นเธอบอกว่าผละจากงานเลี้ยงมาเพราะไม่ต้องการอยู่ในสังคมเดิมต่อไปอีกแล้ว หนุ่มสาวเดินเคียงคู่สู่ท้องทุ่งยามตะวันหัวรุ่งฉายฉานเห็นทุ่งรวงทองเรืองรองอยู่เบื้องหน้าก่อนภาพยนตร์จะปิดฉากลง

ด้วยฉากจบแบบนี้ ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าหนังชวนให้ซาบซึ้งกับเขาและเธอผู้อุทิศตัวให้มหาประชาชนในชนบทอันห่างไกล

น่าสนใจว่าภาพยนตร์เรื่องปีศาจออกฉายเมื่อ 6 ตุลาคม เพิ่งผ่านไปแค่ 3 ปี โดยผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดใช้นามแฝงในการทำหนังเรื่องนี้ เราทราบในภายหลังว่าผู้กำกับชื่อหนุ่ม 22 คือ สุพรรณ บูรณพิมพ์ ส่วนผู้สร้างคือ ขรรค์ชัย บุนปาน ในนามพิฆเนศภาพยนตร์ซึ่งมีนัยถึงโรงพิมพ์พิฆเนศจนปัจจุบัน สายแสดงโดย โปรยชัย ผดุงธรรม ซึ่งเป็นนามแฝงของพี่ชายของประแสง มงคลศิริ อดีต ส.ส.พรรคพลังประชาชนผู้ได้ใบแดงเพราะมีรูป พ.ต.ท.ทักษิณ บนป้ายหาเสียงหลังปี 2549

ภาพยนตร์เรื่องปีศาจเดินเรื่องคล้ายนวนิยาย แต่เข้มข้นขึ้นในแง่ให้ตัวเอกเป็นเครื่องมือในการผลักอุดมคติเรื่องปัญญา-ชนกับการรับใช้ประชาชนไปจนถึงที่สุด ภาพยนตร์เป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกร่วมของยุคสมัยที่ปัญญาชนเชื่อว่าคนหนุ่มสาวพึงละทิ้งสถานะดั้งเดิมเพื่อมหาประชาชนคนส่วนใหญ่ ตัวอย่างเช่นไปรับราชการเป็นครูในชนบทแบบ ครูบ้านนอก เป็นหมอแบบ เขาชื่อกานต์ หรือเป็นนักปฏิวัติแบบ สงครามประชาชน

อนึ่ง โปรดสังเกตว่าตุลาเป็นเรื่องของปัญญาชน “หนุ่ม” และ “สาว” แต่ไม่มีเกย์ กะเทย ทอม พวกได้ทุกรูปแบบ ฯลฯ

 

ภาพยนตร์เรื่อง ทองปาน ไม่เกี่ยวกับ 14 ตุลาคม  2516 โดยตรง แต่เหตุการณ์นั้นเป็นฉากหลังที่ทำให้เกิดตัวภาพยนตร์เองและเรื่องในภาพยนตร์ทั้งหมด ซ้ำผู้แสดงและทีมงานเบื้องหลังก็เป็นคนรุ่นตุลาคมด้วย เฉพาะที่คนรุ่นหลังแทบไม่รู้จักก็ได้แก่ ไพจง ไหลสกุล, พัทยา สายหู, ยุทธนา มุกดาสนิท,  เสน่ห์ จามริก และ Peter F.Bell รวมทั้งคนที่ไม่มีใครรู้จักแน่ๆ อย่างชาวบ้านอำเภอบัวใหญ่ และภารโรงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมัยยังไม่ต้องมีคำสร้อยว่าท่าพระจันทร์

ทองปานมีตัวละครหลักคือนักศึกษาและทองปานที่ฝ่ายแรกพบฝ่ายหลังในขณะที่กำลังมองหาตัวแทนชาวนาไปสัมมนาเรื่องผลกระทบจาโครงการสร้างเขื่อนปากชมที่จังหวัดเลย โครงเรื่องของหนังแสดงทองปานในฐานะตัวแทนชาวนาจนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนลำปาวที่กาฬสินธุ์จนต้องอพยพไปเป็นคนตัดไม้ฝั่งลาว ต่อมาเป็นกรรมกรสนามบินโคราช รับจ้างเลี้ยงไก่ เป็นนักมวยปลายแถว เป็นคนถีบสามล้อรับจ้างที่เชียงคาน และในที่สุดก็อพยพไปที่ซึ่งไม่มีใครรู้อีกเลย

ภาพยนตร์เปิดด้วยภาพเมียทองปานหาบน้ำเดินใต้เสาส่งกระแสไฟฟ้าแรงสูงซึ่งวิ่งข้ามหัวพวกเขาไปไหนสักแห่ง ต่อมาคือภาพทองปานและลูกเมียวิดน้ำเข้านาซึ่งอยู่พื้นที่ใต้เขื่อน แต่แห้งแล้งและแร้นแค้นจนคนในหมู่บ้านอพยพไปหมด ที่น่าอเนจอนาถคือเขื่อนกักน้ำเพื่อผลิตไฟให้เมืองโดยครอบครัวทองปานไม่เคยได้ใช้น้ำใช้ไฟแม้แต่หยดเดียว ยิ่งกว่านั้นคือเมียทองปานไม่มีโอกาสเข้าถึงหมอจนตายด้วยเหตุโง่ๆ อย่างเป็นไข้ ส่วนลูกก็อดอยากและไม่ได้เรียนหนังสือสักคน

เห็นได้ชัดว่าภาพยนตร์นี้แสดงความไม่เป็นธรรมที่เกิดแก่คนวรรณะเดียวกับทองปานอีกมหาศาล แต่ที่แหลมคมกว่านั้นคือการนำการดำรงอยู่ของปัญหาสังคมแบบนี้ไปตั้งคำถามถึงคุณค่าของเหตุการณ์ตุลาคม 2516 ในเวลาที่การเฉลิมฉลองเดือนตุลาผ่านไปเพียงสองครั้ง   ในแง่นี้ ทองปาน เป็นวัตถุทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ที่เหลืออยู่ไม่กี่ชิ้นซึ่งแสดงให้เห็นความพยายามทำให้สังคมไทยหลังเดือนตุลาคิดถึงคนส่วนใหญ่ยิ่งกว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในส่วนกลาง

ปีศาจกับทองปานมีโครงเรื่องและวิธีเล่าซ้อนกันในแง่ปัญญาชนเล่าเรื่องหนุ่มสาวกับการรับใช้ประชาชน เพียงแต่ปีศาจถ่ายทอดผ่านมุมมองปัญญาชนล้วนๆ ส่วนทองปานทิ้งร่องรอยให้เห็นวิธีที่ปัญญาชนสัมพันธ์กับ “ประชาชน” ตั้งแต่การพบพานซึ่งปัญญาชนเป็นผู้แต่งตั้งทองปานเป็นตัวแทนประชาชนในเวลาที่กำลังโหยหาใครสักคนประชาชนไปงานสัมมนาซึ่งปัญญาชนจัดขึ้น ส่วนการสัมมนาก็มีบางตอนป็นภาษาอังกฤษ เต็มไปด้วยศัพท์เฉพาะ หรือพาดพิงไปถึงเขื่อนในพื้นที่ไกลแสนไกลอย่างเขื่อนผามองและเขื่อนไชยะบุรี  ต่อให้ “ประชาชน” จะเข้าใจหรือไม่ก็ตาม

ในฉากที่น่าตื่นเต้นจนเป็นไฮไลท์ที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้ชมจะเห็นการปะทะของตัวละครที่แต่ละฝ่ายเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์และทรรศนะต่อการพัฒนาที่แตกต่างกันตั้งแต่นายช่าง นักวิชาการ ผู้แทนราชการ นักอนุรักษ์ นักศึกษา ตัวแทนธนาคารโลก การเผชิญหน้าระหว่างปัญญาชนฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายไม่เห็นด้วยดำเนินไปอย่างเผ็ดร้อน ส่วนประชาชนได้พูดเป็นคนสุดท้ายในท่าทีที่ไม่มีความมั่นใจอะไรเลย

แน่นอนว่าโครงเรื่องหลักทั้งหมดส่งผลให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนคือพระเอก อย่างไรก็ดี สิ่งที่ฉากนี้เผยโดยไม่ตั้งใจคือปัญญาชนเป็นฝ่ายผูกขาดอำนาจในการกำหนดว่าใครเป็นตัวแทนประชาชน และเวลาไหนที่ประชาชนควรมีโอกาสพูดในพื้นที่สาธารณะ ปัญญาชนฝ่ายค้านเขื่อนรายหนึ่งจึงอภิปรายเชื่อมโยงปัญหาความอยุติธรรมในการพัฒนากับความสูญเสียในเดือนตุลาคมอย่างน่าประทับใจก่อนจะสัมผัสหัวไหล่ทองปานเบาๆ เพื่อแสดงความเข้าใจประชาชน

ในแง่นี้ ภาพยนตร์เรื่องทองปานแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาคระหว่างปัญญาชนกับประชาชน ประชาชนระดับปัจเจกไม่มีความหมายในตัวเองจนกว่าปัญญาชนให้ความหมายว่าเขาหรือเธอเป็นตัวแทนของ “ประชาชน” กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเสียก่อน เสียงของประชาชนจึงเป็น noise ซึ่งจะเป็น voice ได้เฉพาะรายที่ปัญญาชนรับรองให้มีสถานะพิเศษแล้วเสมอ ปัญญาชนในย่อหน้าที่แล้วจึงเป็นตัวละครที่น่าประทับใจที่สุดและอยู่ในมุมมืดที่สุดในขณะเดียวกัน

น่าสนใจว่าภาพยนตร์จงใจทำให้ทองปานไร้ตัวตนถึงขั้นไม่มีใครสังเกตว่าเขาหายไปจากห้องสัมมนา ยิ่งไปกว่านั้นคือตอนจบของภาพยนตร์ทำให้ทองปานหายไปซ้ำสองในรูปของการอพยพจากเชียงคานไปที่ซึ่งแม้กระทั่งยายแก่บ้านใกล้เรือนเคียงก็ไม่รู้ว่าไปไหน ทองปานถูกโครงการพัฒนาของรัฐและความยากจนบีบคั้นจนต้องอพยพแล้วอพยพอีก ส่วนปัญญาชนฝ่ายวิพากษ์รัฐก็หมกมุ่นกับการหาตัวแทนประชาชนเกินกว่าจะสนใจทองปานในฐานะปัจเจกจริงจัง

แม้โดยผิวเผินแล้วภาพยนตร์เรื่องทองปานจะเป็นสัญลักษณ์ของคำขานรับซึ่งคนหนุ่มสาวเดือนตุลาคมมีต่อเส้นทางเดินของปัญญาชนจากสังคมเก่าในเขตเมืองสู่มวลชนชาวนาในชนบทซึ่งสายและรัชนีเริ่มไว้ตั้งแต่ พ.ศ.  2500 แต่โดยเนื้อแท้แล้วทองปานสะท้อนความสัมพันธ์อันแสนประดักประเดิดระหว่างปัญญาชนกับประชาชนซึ่งถึงที่สุดแล้วมีช่องว่างและวางอยู่บนสถานะที่ไม่เคยเท่ากัน  สิ่งที่ปัญญาชนคิดเรื่องประชาชนจึงไม่แน่ว่าจะเท่ากับประชาชน

คำเตือนจากทองปานคือความใฝ่ฝันแสนงามของปัญญาชนเพื่อปลดปล่อยมวลชนผู้ทุกข์ยากนั้นมีเพดานจำกัดเท่ากับที่มีความอ่อนหวาน ความโหยหาบทบาทปัญญาชนแบบ 14 ตุลาจึงไม่ควรเดินเลยไปถึงจุดที่เห็นว่าปัญญาชน “ต้อง” เป็นผู้คุ้มครองประชาชนผู้ถูกอนุมานว่าเปราะบาง  ปกป้องตัวเองไม่ได้  และถึงจุดหนึ่งก็อ่อนแอทางปัญญา 

หนึ่งในนัยยะของทฤษฎีปัญญาชนชนชั้นแบบกรัมชี่คือปัญญาชนไม่ใช่เรื่องของวุฒิการศึกษาหรืออาชีพขายปัญญา แต่ปัญญาชนคือคุณสมบัติซี่งมีได้แม้ในคนที่ด้อยการศึกษา หรือมีอาชีพที่ไม่เกี่ยวกับหลักวิชา การเชิดชูปัญญาชนบริสุทธิ์ในเดือนตุลามีด้านกลับตรงที่ไปกลบความสำคัญของสภาวะที่ประชาชนได้คิด ได้พูด และได้เป็นตัวแทนของตัวเองแบบที่ 14 ตุลาเป็นแรงบันดาลใจและเป็นหลักฐานว่าประชาชนเป็นได้ 

การทำให้ 14 ตุลา เป็นวันสำคัญแห่งชาติอย่างเซื่องๆ กำลังจะกลายเป็นด้านหลักของความเข้าใจ 14 ตุลา

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net