สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ : รวมพลคนไม่รักทักษิณ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากความดื้อด้านในการกฎหมายนิรโทษกรรมลักษณะเช่นนี้ได้ทำลายเหตุผลที่ชอบธรรมของการต่อสู้ของฝ่ายตนเอง และทำลายแนวร่วมประชาธิปไตยที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยไปแทบหมดสิ้นเชิงแล้ว 

ในที่สุด ผลพวงของการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งแต่ไม่สุดซอยของพรรคเพื่อไทยก็เห็นได้ชัด คือ การแตกแยกกันเองมากมายของคนเสื้อแดงทั้งหลายที่เคยรักกัน ต่อสู้มาด้วยกัน วันนี้แบ่งออกเป็นสองฝ่าย แล้วด่ากันเอง โจมตีกันเอง ขุดคุ้ยกันเอง ทำให้ขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยอ่อนกำลังลงอย่างมาก แต่ในทางตรงข้าม กฎหมายนี้กลายเป็น พรบ.เรียกแขก ทำให้พลังของขบวนการต่อต้านทักษิณ ได้ฟื้นคืนชีวิตมาเข้มแข็งอีกครั้ง หลังจากที่เหี่ยวเฉามาเป็นเวลานานกว่า 2 ปี หลังจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554

ย้อนกลับไปวันที่ 18 ตุลาคม ที่กรรมาธิการของกฎหมายนิรโทษกรรมเสียงข้างมาก ลงมติสนับสนุนการนิรโทษแบบเหมาเข่ง ซึ่งมีเนื้อหาอาจสรุปได้คือ การนิรโทษกรรมให้กับฆาตกรที่ก่อการสังหารหมู่ที่มีประชาชนบาดเจ็บล้มตายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แต่ไม่นิรโทษแก่ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อมาตรา 112 และยังฉวยโอกาสนิรโทษกรรมทหารย้อนไปถึง พ.ศ.2547 ให้รวมกรณีกรือเซะ-ตากใบ ด้วยการดำเนินการที่ล้มระเบียบปฏิบัติของรัฐสภาอย่างน่าเกลียด ในวันนั้น มีเพียงกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอยู่ที่สวนลุมพินีกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) และอีกกลุ่มหนึ่งที่แยกอุรุพงษ์ เรียกว่ากลุ่มเครือข่าย นักศึกษา ประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) แต่ทั้งหมดมีคนเข้าร่วมน้อยมากและแทบจะไม่ได้รับความสนใจเลย

แต่ปรากฏว่า หลังจากการผลักดันกฎหมายเช่นนี้ ฝ่ายค้านคือ พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าเป็นจังหวะในดีในการเคลื่อนไหวใหญ่ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ ส.ส.กลุ่มหนึ่ง ได้จัดการชุมนุมต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมที่สามเสน เริ่มจากวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา จึงทำให้กระแสการต่อต้านมีมากขึ้น ในคืนวันนั้น สภาผู้แทนราษฎรประชุมข้ามคืนจนถึงเวลา 4.00 น. จากนั้นก็ได้มีการลงมติผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งวาระที่สองและวาระที่สามในคราวเดียวกัน โดยมี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 310 คน ลงมติสนับสนุน ไม่มีเสียงคัดค้านเพราะฝ่ายค้านออกจากที่ประชุมประท้วง มี ส.ส.เพียง 4 คนที่งดออกเสียง คือ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เหวง โตจิราการ ขัตติยา สวัสดิผล และ วรชัย เหมะ การลงมติอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ถือเป็นการเดินหมากการเมืองที่สำคัญอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการผลักกฎหมายเผือกร้อนฉบับนี้ไปสู่วุฒิสภา และปิดทางที่ฝ่ายที่ต่อต้านจะตั้งข้อเรียกร้องกดดันต่อรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย

แต่กระนั้น ฝ่ายพรรคเพื่อไทยประเมินผิดพลาดว่า ม็อบต่อต้านรัฐบาลคงจะจุดไม่ติด โดยเฉพาะม็อบประชาธิปัตย์คงจะไม่มีน้ำยาและต้องสลายตัวในเวลาไม่นาน กลับกลายเป็นว่ากระแสการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งขยายไปอย่างรวดเร็วในกลุ่มปัญญาชนฝ่ายไม่เอาทักษิณ และขยายไปชนชั้นกลาง และกลุ่มประชาสังคมส่วนอื่นที่นิ่งเฉยมาหลายปีกลับลุกขึ้นมาแสดงปฏิกิริยา เริ่มจากข่าวการต่อต้านของกลุ่มแพทย์รามาธิบดีที่มีข่าวตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม ว่าจะมาร่วมชุมนุมกับม็อบอุรุพงษ์เพื่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม แม้ว่าจะกลายเป็นเพียงการเดินขบวนของกลุ่ม”แพทย์ไทยหัวใจรักชาติ” ที่ประสานงานโดย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ก็ถือได้ว่าเป็นการเปิดฉากต่อต้านโดยกลุ่มวิชาชีพแพทย์

จากนั้นต่อมา ก็มีประชาสังคมหลายกลุ่มที่ออกแถลงการณ์คัดค้านการนิรโทษกรรม เช่น กลุ่มพีมูฟหรือขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม( ขปส.) องค์การต่อต้านคอรับชั่นประเทศไทย กลุ่มคณาจารย์ 491 คนของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) กลุ่มอาจารย์และนักวิชาการในวิชาชีพไอที. 61 คน ชมรมแพทย์ชนบท มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กลุ่มอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต และแม้กระทั่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และที่สร้างผลสะเทือนมากคือ คณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รวบรวมรายชื่อถึง 538 คนลงนามจดหมายเปิดผนึกคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เผยแพร่ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ต่อมา คณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ออกแถลงการณ์ในลักษณะเดียวกัน

จะเห็นได้ว่าการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม ได้ลุกลามจากพวกฝ่ายขวากลุ่มเล็ก ขยายมาสู่แวดวงมหาวิทยาลัย เพราะไม่เพียงแต่อาจารย์เท่านั้น กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งสำคัญก็ได้มีการระดมลงชื่อคัดค้านกฎหมายฉบับนี้กับอย่างคึกคัก จากนั้น ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยก็ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยในวันที่ 4 พฤศจิกายน ในที่สุดอธิการบดีมหาวิทยาลัย 25 แห่งก็ได้ออกแถลงการณ์ร่วมคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมเช่นกัน

สำหรับความเคลื่อนไหวด้านมวลชน ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน กลุ่มชุมนุมสวนลุมพินีได้เคลื่อนกำลังมารวมกับกลุ่มชุมนุมที่อุรุพงษ์ โดยกลุ่มผู้นำพันธมิตร คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง พิภพ ธงไชย และ สมเกียรติ พงศ์ไพบูลย์ กลับมาเป็นผู้มีบทบาทนำอีกครั้ง ส่วนการชุมนุมของพรรคประชาธิปัตย์ที่สามเสน ได้ยกระดับการชุมนุมมาตั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน เป็นต้นมา

จนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ ยังมีรายงานข่าวกลุ่มอื่นที่ร่วมเคลื่อนไหว เช่น กลุ่มนักธุรกิจถนนสีลม กลุ่มข้าราชการกระทรวงพานิชย์  และแม้กระทั่งกลุ่มดาราศิลปินคนทำงานบันเทิง และประชาชนกลุ่มอื่นจำนวนมากที่แสดงการคัดค้านอยู่ในโซเชียลมีเดีย ส่วนกลุ่มแพทย์ชนบทก็ได้รณรงค์ให้แพทย์ทั้งลายผลักดันการเคลื่อนไหวต่อต้านให้กระจายตามต่างจังหวัดมากขึ้น ทำให้กระแสต่อต้านนิรโทษกรรมยิ่งโหมกระพือมากขึ้น

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ข้อเรียกร้องจากกลุ่มเคลื่อนไหวเหล่านี้หลายกลุ่ม มักจะมุ่งเป้าไปที่การต่อต้านการนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากคดีทุจริตคอรัปชั่น โดยเสนอว่า ผู้ที่กระทำการทุจริตคอรัปชั่นควรจะถูกลงโทษ แต่ไม่ได้สนใจกรณีนิรโทษกรรมประชาชน และไม่กล่าวถึงการนิรโทษกรรมฆาตกรที่ก่อการสังหารประชาชน และส่วนมากจะไม่พูดถึงเรื่องการเว้นไม่นิรโทษเหยื่อมาตรา 112 ตัวอย่างของกรณีนี้ที่เห็นได้ชัดก็คือ แถลงการณ์ของอาจารย์และนักวิชาการวิชาชีพไอที องค์การต่อต้านคอรับชั่นประเทศไทย คณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแถลงการณ์ของที่ประชุมอธิการบดี เป็นต้น ท่าทีเช่นนี้จึงถูกวิจารณ์เช่นกันว่า ส่วนมากพวกต่อต้านเหล่านี้ก็เป็นพวกแอบเหลือง หรือสนับสนุนเสื้อเหลืองอยู่แล้ว จึงเป็นการคัดค้านการนิรโทษกรรมแบบคับแคบ และไม่สนใจในชีวิตของประชาชนระดับล่างที่ถูกเข่นฆ่า หรือตกเป็นเหยือต้องติดคุกเลย

สรุปแล้ว กระแสที่จุดติดในขณะนี้ ก็คือการรวมพลคนไม่รักทักษิณทั้งหลาย และอาศัยประเด็นความไม่ชอบธรรมของกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง มาสร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหวของพวกเขา ในขณะที่ฝ่ายนักวิชาการปีกประชาธิปไตยส่วนมากก็ไม่มีใครสนับสนุนระเบียบวาระของพรรคเพื่อไทยเลย จึงนำมาซึ่งความยากลำบากอย่างยิ่งแก่ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สถานการณ์จึงทำให้รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์การเมืองครั้งใหญ่ที่สุดเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่บริหารประเทศมา

คงจะต้องกล่าวต่อไปว่า จากความดื้อด้านในการกฎหมายนิรโทษกรรมลักษณะเช่นนี้ได้ทำลายเหตุผลที่ชอบธรรมของการต่อสู้ของฝ่ายตนเอง และทำลายแนวร่วมประชาธิปไตยที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยไปแทบหมดสิ้นเชิงแล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยจึงต้องเผชิญปัญหาและแก้ไขวิกฤตด้วยตนเองตามลำพัง และไม่ว่าท่านนายกจะน้ำตาคลออย่างไร ผมก็ขอเลือกเป็นผู้ชม และไม่เอาใจช่วยใดๆ ทั้งสิ้น นี่เป็นท่าทีอันชัดเจน

หมายเหตุผู้เขียน: บทความนี้เขียนตามความคิดก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะสั่งถอย ความรู้สึกและเหตุผลในขณะนั้น ตามนั้นครับ

 

ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 437 วันที่ 9 พฤศจิกายน 2556
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท